สรุปรายงานข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบาย (เบื้องต้น) การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำบางบาล

Think Forward Center

1. ที่มาและความสำคัญ

หลังเกิดมหาอุทกภัย ปี 2554 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร  มีผู้ได้รับผลกระทบ 16,224,302 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 5,247,125 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 22.20 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้มากกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้รัฐบาล โดยกรมชลประทานได้เสนอแผนงานระยะยาวโครงการป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคกลาง โดยใช้มาตรการด้านสิ่งก่อสร้าง 5 แนวทาง ได้แก่ (1) การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำทางตอนบนเพื่อชะลอและตัดยอดน้ำหลาก (2) การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำชะลอและรับน้ำหลาก (แก้มลิง) (3) การก่อสร้างระบบระบายน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (4) การป้องกันน้ำทะเลหนุนและเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และ (5) การก่อสร้างคันกั้นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเฉพาะจุด มีจำนวน 145 แห่ง วงเงินประมาณ 303,459 ล้านบาท  สำหรับแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำชะลอและรับน้ำหลาก(แก้มลิง) ได้กำหนดพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ 12 ลุ่ม และพื้นที่ลุ่มขนาดกลาง 1 ลุ่ม เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลาก 2,718 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณ 24,723 ล้านบาท  โดยในแผนนี้ได้มีข้อเสนอให้การลงทุนสร้างโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำบางบาล 2 ขนาดความจุ 279 ล้าน ลบ.ม. งบประมาณ 2,822 ล้านบาท

แม้ว่าในแผนงานระยะยาว โครงการป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคกลางที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ได้ถูกนำไปดำเนินการทั้งหมด แต่ต่อมากรมชลประทานได้มีการปรับแผนและโครงการข้างต้นใหม่และเสนอเป็นแผนบรรเทาอุทกภัยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจำนวน 9 แผน ประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (2) โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย (3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 (4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก (5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ (7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร (8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ (9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง หรือ พื้นที่แก้มลิง โดยคาดหวังว่าแผนและโครงการเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ด้วยการตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ก่อนที่จะไหลออกสู่อ่าวไทย และเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน

สำหรับแนวคิดการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลากหรือแก้มลิงในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มมีการศึกษาโครงการนี้อย่างเป็นทางการ โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กรมชลประทาน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2550-2551 และโครงการแก้มลิงบางบาลถูกนำไปดำเนินการโดยกรมชลประทาน เดิมระบบชลประทานในพื้นที่แก้มลิงบางบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกร แต่เมื่อมีการใช้นโยบายพื้นที่แก้มลิงบางบาล ทำให้ระบบชลประทานในพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อให้สามารถเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ชั่วคราวในการรับน้ำแทนพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม มีการปรับปรุงถนนให้สูงขึ้นจนกลายเป็นคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ และเปลี่ยนหน้าที่ของประตูปิด-เปิดน้ำในพื้นที่ จากเดิมเพื่อการเกษตร มาเป็นการผันน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงบางบาล นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้บ้านเรือนและพื้นที่นาพร้อมรับน้ำท่วม ในช่วงน้ำหลาก โดยการประกาศใช้ปฏิทินการปลูกข้าวตามระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำรงชีพของประชาชนและชาวนาในพื้นที่อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

โครงการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงบางบาลให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำโดยใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลัก แต่กลับละเลยการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจสังคมและการดูแลประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ พี่น้องประชาชนหลายตำบลในพื้นที่โครงการจึงได้รวบรวมข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือดูแลและบริหารจัดการโครงการแก้มลิงบางบาลใหม่ ให้คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ดังจะสรุปไว้ในรายงานฉบับนี้


2.บริบทการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงบางบาล 

2.1 ความเป็นมาของโครงการแก้มลิงบางบาล

จากการศึกษาของโครงการนำร่องการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่รับน้ำนองเพื่อการบรรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริ “แก้มลิงพื้นที่บางบาล(1)” ในปี 2551 ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่แก้มลิงบางบาลและเสนอองค์ประกอบทางวิศวกรรมในการปรับปรุงพื้นที่แก้มลิงบางบาลเพื่อใช้ในการบรรเทาอุทกภัย  ดังนี้

พื้นที่แก้มลิงบางบาล มีขนาดพื้นที่ 55.50 ตร.กม.(34,690 ไร่) เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในฤดูฝนช่วงน้ำหลากจะเกิดน้ำท่วมพื้นที่นี้เป็นประจำ พื้นที่มีความลดเทจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ มีระดับผิวดินผันแปรตั้งแต่ +1.50 ม.รทก. ทางตอนล่างของพื้นที่จนถึง +3.00 ม.รทก. ในทางตอนเหนือของพื้นที่ มีค่าระดับผิวจราจรของเส้นทางคมนาคมผันแปรระหว่าง +3.53 ม.รทก. ถึง +7.28 ม.รทก. พื้นที่บางบาลมีปริมาณฝนเฉลี่ยปีละ 1,036 มิลลิเมตร ในช่วงน้ำหลากจะเกิดเป็นแอ่งน้ำท่วมขนาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่ตอนบนและตอนกลางซึ่งมีระดับพื้นดินสูงกว่าจุดอื่นๆ จะมีน้ำท่วมประมาณ 1.00 เมตร ถึง 1.50 เมตร แต่พื้นที่ตอนล่างซึ่งมีระดับพื้นดินต่ำจะมีน้ำท่วมลึกมากกว่า 2.50 เมตร 

พื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นที่บางบาล มีลักษณะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แบ่งเป็นพื้นที่นา 24,750 ไร่ (ร้อยละ 90) พื้นที่สวน 825 ไร่ (ร้อยละ 3) พื้นที่ชุมชนและโรงอิฐ 1,280 ไร่ (ร้อยละ 5) พื้นที่บ่อทรายและอื่นๆ 690 ไร่ (ร้อยละ 2)  มีพื้นที่ชุมชนจะกระจายตัวไปตามแนวถนนรอบพื้นที่โครงการ และบางส่วนกระจุกตัวอยู่บริเวณกลางพื้นที่ สำหรับพื้นที่ส่วนที่นำมาจัดทำเป็นพื้นที่แก้มลิง จะมีถนน/คันชลประทานล้อมรอบและมีขนาดพื้นที่ประมาณ 44 ตร.กม. (27,450 ไร่)  ประชาชนในพื้นที่บางบาล ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณ อ.บางบาล จ.อยุธยา นอกจากนี้มีบางส่วนอยู่ในเขต อ.เสนา และ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ในเขตพื้นที่โครงการแบ่งเขตการปกครองได้เป็น 14 ตำบล 54 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 5 อบต. ชาวบ้านในพื้นที่บางบาล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และอาชีพอื่นๆ เช่น ทำบ่อทราย โรงอิฐ และทำก้านธูป เป็นต้น 

การปรับปรุงพื้นที่บางบาลให้เป็นพื้นที่แก้มลิง จะต้องดำเนินการทางวิศวกรรม 3 ระบบหลัก คือ

  1. ระบบบริหารจัดการน้ำหลากและระบบระบายน้ำ ประกอบด้วย คันป้องกันน้ำท่วม อาคารชลศาสตร์ควบคุมน้ำ คลองกระจายน้ำและคลองระบายน้ำ และระบบสูบน้ำ 
  2. ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน ประกอบด้วย ระบบสูบน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ อาคารรับน้ำ และการจัดทำคันคูน้ำ
  3. ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ประกอบด้วย การสร้างคันล้อมพื้นที่ชุมชน โรงอิฐ สวนเกษตร การดีดบ้าน การยกระดับสาธารณูปโภค และทางสัญจร การยกระดับพื้นอาคารและการดีดอาคาร/ยกระดับอาคารให้พ้นจากระดับน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ชุมชนในพื้นที่แก้มลิงตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำที่กำหนด โดยจะต้องทำการปรับปรุงยกระดับถนนหรือก่อสร้างคันดินรอบพื้นที่และยกระดับถนนที่ชุมชนใช้สัญจรเชื่อมต่อกับทางหลวงให้พ้นระดับเก็บกักน้ำ ชาวบ้านจึงจะสามารถดำเนินชีวิตและเดินทางไปมาได้ตามปกติ 


2.2 การดำเนินการโครงการแก้มลิงบางบาล

กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการโครงการแก้มลิงบางบาลหลังปี 2554 โดยกำหนดให้พื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ตำบลบางชะนี, วัดยม, บางบาล, สะพานไทย, กบเจา, บางหลวงโดด, บางหัก, วัดตะกู, บางหลวง, หัวเวียง, บ้านกุ่ม,บ้านคลัง, ทางช้าง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่รับน้ำ มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 27,450 ไร่ อยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล คลองบางบาล คลองบางหลวง และคลองบางบาลใหญ่ ในเขตฝายส่งน้ำที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วย คันดิน มีระดับความสูงของพื้นที่ที่สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. ถึง +3.00 ม.รทก. ลักษณะพื้นที่ลาดลงทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ มายังฝั่งตะวันออก มีศักยภาพในการรองรับน้ำได้ประมาณ 130 ล้านลบ.ม. (ที่ระดับ 3.00 ม.)

แผนที่การแบ่งเขตการปกครองในพื้นที่แก้งลิงบางบาล


ต่อมามีการขยายพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมในพื้นที่ทุ่งบ้านแพน ต.บ้านแพน อ.เสนา เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำหลาก โดยมีฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล สำนักงานชลประทานที่ 10 ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่นี้ในการใช้เป็นทุ่งรับน้ำจำนวน 33,230 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่รับน้ำทุ่งบางบาล 27,450 ไร่ กําหนดความลึกระดับน้ำเฉลี่ยในพื้นที่ 2 เมตร ความสามารถในการรับน้ำจริง 2.80 เมตร ส่วนพื้นที่รับน้ำทุ่งบ้านแพนมีประมาณ 5,780 ไร่ กําหนดความลึกระดับน้ำเฉลี่ยในพื้นที่ 2 เมตร ความสามารถในการรับน้ำจริง 1.35 เมตร รวมทั้ง 2 ทุ่งรองรับน้ำได้ 107 ล้าน ลบ.ม. 

ลักษณะสภาพภูมิประเทศจากสภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการฯ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พื้นที่ ดังนี้

พื้นที่ตอนบน : จะมีระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.50 ม. ถึง 1.00 ม. โดยมีพื้นที่น้ำท่วมเพียงบางส่วนของพื้นที่ และสภาวะน้ำท่วมจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปริมาณน้ำท่วมขังจะระบายลงสู่พื้นที่ตอนกลาง

พื้นที่ตอนกลาง : จะมีระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 1.00 – 1.50 ม. และค่อนข้างจะใช้เวลานานในการกลับคืนสู่สภาวะปกติ

พื้นที่ตอนล่าง : เนื่องจากพื้นที่ทางตอนล่างจะรองรับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ตอนบนและพื้นที่ตอนกลางจึงส่งผลให้ระดับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมีความลึกมากกว่า 1.50 ม. และมีระยะเวลาน้ำท่วมขังที่ยาวนาน


แผนที่ระดับความสูงของพื้นที่แก้มลิงบางบาล



2.3 แนวทางการจัดการน้ำหลากเข้าพื้นที่แก้มลิงบางบาล

แนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในช่วงฤดูฝนเข้าสู่ทุ่งบางบาลแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ สภาวะน้ำหลากปกติและกรณีเมื่อเกิดอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ โดยมีแนวทางการปฏิบัติการแก้มลิงสรุปได้ ดังนี้ 

  • กรณีที่สภาวะน้ำหลากปกติหรือน้ำหลากขนาดเล็ก พิจารณาจากปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที  น้ำหลากขนาดนี้จะมีเวลาเคลื่อนตัวของยอดน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงพื้นที่แก้มลิงบางบาล ประมาณ 3 วัน ในสภาวะปกตินี้ระดับน้ำในแม่น้ำและคลองต่างๆ บริเวณรอบพื้นที่แก้มลิงบางบาล จะมีค่าระดับน้ำระหว่าง +4.50 ม.รทก. ถึง +6.00 ม.รทก. ซึ่งมีค่าระดับสูงกว่าระดับผิวดินในพื้นที่แก้มลิงบางบาล ที่มีค่าผันแปรระหว่าง +2.00 ม.รทก. ทางตอนใต้  ถึง +3.00 ม.รทก. ทางตอนเหนือ การนำน้ำเข้าสู่พื้นที่แก้มลิงบางบาล จะกระทำได้โดยการเปิดบานประตูระบายน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองบางหลวง(คลองโผงเผง) และคลองบางบาลเข้าสู่พื้นที่แก้มลิงบางบาล
  • กรณีเกิดอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เมื่อเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการปล่อยน้ำในปริมาณที่มากกว่า 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที การนำน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงบางบาลในกรณีนี้เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ต้องมีการติดตามและประเมินช่วงเวลาและปริมาณน้ำที่จะนำเข้าพื้นที่แก้มลิงบางบาลให้เหมาะสม และต้องแจ้งเตือนล่วงหน้าแก่ประชาชนในพื้นที่ การนำน้ำหลากเข้าไปกักเก็บในพื้นที่แก้มลิงบางบาล จะอาศัยการเปิดบานประตูระบายน้ำของอาคารรับน้ำทั้งหมด ความลึกการกักเก็บน้ำในความลึกไม่เกิน 3.00 เมตร ค่าระดับเก็บกักน้ำสูงสุด +5.10 ถึง + 5.80 ม.รทก. ตามพื้นย่อย 


3. ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

แม้ปัญหาน้ำหลากท่วมในพื้นที่แก้มลิงบางบาลจะเคยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ แต่เมื่อมีการก่อสร้างโครงการแก้มลิงบางบาล ประชาชนในพื้นที่กลับได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นทั้งในเชิงระดับน้ำท่วมที่สูงขึ้นและระยะเวลาน้ำท่วมยาวนานขึ้น รวมทั้งขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมไม่อยู่เพียงในพื้นที่ทุ่งรับน้ำเท่านั้น แต่ยังขยายตัวมาสู่พื้นที่สวน ที่ตั้งบ้านเรือนและชุมชนด้วย ในปีใดที่มีปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 – 3,000 ลบม./วินาที  และผ่านเขื่อนพระรามหก 4.50 ลบม./วินาที พื้นที่ทุ่งรับน้ำบางบาลและพื้นที่ชุมชนรอบทุ่งรับน้ำก็จะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมมากกว่าปกติ อาทิ ปี 2567 ที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่บางบาล ณ วันที่ 25 กันยายน 2567 ในพื้นที่ตำบลพระขาว หมู่ที่ 3, 4 ,5 และ 7 ตำบลกบเจา หมู่ที่ 1, 2, 4, 5 ,6 และ 7 ตำบลวัดยม หมู่ที่ 1, 2, 3 ตำบลสะพานไทย หมู่ที่ 2, 4, 5 ตำบลมหาพราหมณ์ หมู่ที่ 1 ตำบลไทรน้อย หมู่ที่ 2,3,4,5 ,6,7,8,9 และ 10 ตำบลบ้านกุ่ม หมู่ที่ 8 ตำบลบางหัก หมู่ที่ 1 ตำบลบางชะนี หมู่ที่ 3 และ 4 และตำบลบางบาล หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, และ 5 เป็นต้น มีเกษตรกรประสบปัญหาจำนวน 392 ราย พืชไร่/พืชผักเสียหาย 55 ไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้นและอื่นๆ เสียหาย 336 ไร่ รวมพื้นที่เสียหาย 391 ไร่ รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจำนวน 1,467,699  บาท

การผันน้ำเข้าท่วมพื้นที่ทุ่งบางบาลในช่วงฤดูน้ำหลากส่งผลให้ชาวนาต้องปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาใหม่จากเดิมที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปีปีละครั้ง เป็นการปลูกข้าวนาปี 1 ครั้งและข้าวนาปรัง 1 ครั้ง ตามแผนการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำที่ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสำนักงานเกษตรจังหวัดกำหนดให้ ซึ่งแผนการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำบางบาล มีดังนี้

  • การทำนารอบที่ 1 เป็นการปลูกข้าวนาปี ให้ชาวนาปลูกข้าวช่วงวันที่ 15 เมษายน – 20 พฤษภาคม เก็บเกี่ยวช่วงวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน ของทุกปี
  • พักการทำนาและผันน้ำเข้าท่วมพื้นที่ทุ่งรับน้ำบางบาล ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 30 พฤศจิกายน  ของทุกปี
  • การทำนารอบที่ 2 หรือรอบนาปรัง ให้ชาวนาปลูกข้าวช่วงวันที่ 1-31 ธันวาคม และเก็บเกี่ยวช่วงวันที่ 15 มีนาคม-30 เมษายน ของทุกปี



อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะของ ส.ส.เต้ ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พรรคประชาชน และ Think Forward Center ในพื้นที่ ต.ทางช้าง ต.กบเจา และ ต.บ้านกุ่ม พบว่า การผันน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงบางบาล ช่วงวันที่ 16 กันยายน และกักเก็บน้ำในพื้นที่ทุ่งบางบาลไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน นั้น ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แก้มลิงและพื้นที่ชุมชนโดยรอบรุนแรงมากขึ้นทั้งในด้านระดับน้ำท่วมที่สูงขึ้นและระยะเวลาที่น้ำท่วมขังยาวนานยิ่งขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังนี้

1) ผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่:

  • ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน: น้ำท่วมทำให้การเดินทางจากบ้านไปทำงาน โรงเรียนและโรงพยาบาลยากลำบากมากขึ้น จากที่เคยเดินทางสะดวกด้วยรถยนต์ต้องเปลี่ยนมาใช้เรือแล้วจึงต่อรถยนต์ การกินอยู่หลับนอนในบ้านที่น้ำท่วมขังถึงชั้น 2 เป็นไปอย่างยากลำบาก และเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์ร้าย เช่น งูและสัตว์มีพิษอื่นๆ
  • ความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน: บ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • ปัญหาสุขภาพ: น้ำท่วมขังเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน
  • ความเครียดและความวิตกกังวล: การเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความเครียดและความวิตกกังวลให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูน้ำหลากที่ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม


2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ:

  • ความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร: น้ำท่วมสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อนาข้าวในปีที่มีการระบายน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงเร็วกว่าที่กำหนดหรือปีที่ชาวนาปลูกข้าวล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนฝนไม่ตกตามฤดูกาล พืชสวนและผลไม้ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า กล้วยไข่และพืชผักต่างๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้และต้องแบกรับภาระหนี้สิน
  • ผลกระทบต่ออาชีพอื่นๆ: น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ที่ทำงานรับจ้างทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เครื่องไม้เครื่องมือและสินค้าเสียหาย
  • การสูญเสียรายได้และเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู: น้ำท่วมทำให้ชาวบ้านสูญเสียรายได้ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดบ้านเรือน ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ และฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด
  • การเข้าไม่ถึงการชดเชยที่เป็นธรรม : ชาวบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรมและไม่คุ้มกับการสูญเสียด้านอาชีพและรายได้


3) ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน:

  • ความเสียหายต่อถนนและสะพาน: น้ำท่วมทำให้ถนนและสะพานชำรุด เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้า และการเดินทางเข้าออกชุมชน รวมถึงการตั้งงบประมาณเพื่อขอซ่อมแซมก็อาจจะต้องใช้เวลานาน
  • ความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค: น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าและประปา ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับและน้ำประปาไม่ไหลในบางพื้นที่ 


4) ผลกระทบต่อระบบสังคมและชุมชน:

  • การขาดข้อมูลข่าวสาร: ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที
  • ความขัดแย้งในชุมชน: การบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน ทั้งในส่วนของการระบายน้ำเข้าทุ่งและการระบายน้ำออกจากทุ่ง


5) ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง:

  • เด็กและเยาวชน: เด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากน้ำท่วม และขาดโอกาสในการเรียนรู้เนื่องจากโรงเรียนต้องปิดทำการ
  • ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง: ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงมีความยากลำบากในการอพยพ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษในช่วงน้ำท่วม



4. มาตรการที่หายไปในโครงแก้มลิงบางบาล

จริงๆ แล้ว โครงการนำร่องการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่รับน้ำนองเพื่อการบรรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริแก้มลิงพื้นที่บางบาล(1)  ที่เคยศึกษาไว้ในปี 2550-2551 ได้เสนอมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกฏหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินการด้านสิ่งก่อสร้าง แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการในมาตรการเหล่านี้น้อยมากหรือแทบไม่ดำเนินการเลย มาตรการสำคัญที่โครงการนำร่องฯ เสนอไว้มีดังนี้

  • การจัดตั้งองค์กรกลางระดับพื้นที่ขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น การผันน้ำเข้า-ออกจากพื้นที่ การแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนที่จะผันน้ำเข้า รับผิดชอบเกี่ยวกับการประเมินความเสียหายและการจ่ายค่าชดเชย องค์กรที่จัดตั้งใหม่นี้ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการที่มาจากส่วนราชการ ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดการและการยอมรับของประชาชน เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งองค์กรลักษณะนี้ขึ้นมา มีเพียงกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ที่จัดตั้งโดยกรมชลประทานเท่านั้น
  • การกำหนดรูปแบบการชดเชยอย่างเป็นธรรม ควรมีการคำนวณค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม โดยการสร้างข้อตกลง และเงื่อนไข วิธีการชดเชย และระยะเวลาในการชดเชย ที่มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากระเบียบของทางราชการที่ใช้อยู่เดิม และจะต้องทำการประเมินความเสียหายไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำกับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับได้ ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดรูปแบบการชดเชยที่เป็นรูปธรรม และไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องนี้
  • การออกมติคณะรัฐมนตรีรองรับการดำเนินการ การผันน้ำเข้าท่วมทรัพย์สินของประชาชน ปัจจุบันอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 โดยอาศัยเหตุตามนโยบายตามมาตรา 4 เท่านั้นที่ได้ให้อำนาจกับการชลประทานในการดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นทางออกเกี่ยวกับข้อกฏหมายในเรื่องนี้ว่าควรให้คณะรัฐมนตรีออกมติเป็น “มติคณะรัฐมนตรี” เมื่อมีการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ควรจัดตั้งองค์กรที่เข้ามาดำเนินการต่อไป ปัจจุบันยังไม่มีการออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ 
  • การสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ประกอบด้วย การสร้างคันล้อมพื้นที่ชุมชน พื้นที่สวน การดีดบ้าน/อาคาร การยกระดับสาธารณูปโภคถนนหนทางเชื่อมกับถนนหลวงสายหลัก ปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีการลงทุนในด้านนี้น้อยมาก และไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง


5. กฏหมายน้ำกับทางออกของการแก้ไขปัญหา

การดำเนินโครงการแก้มลิงบางบาลที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐคือกรมชลประทานสามารถผันน้ำเข้าท่วมทรัพย์สิน บ้านเรือน ที่นา ที่สวนของประชาชนในพื้นที่บางบาล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ตามนโยบายตามมาตรา 4 เท่านั้น  ซึ่งมีข้อจำกัดในการคุ้มครองดูแล เยียวยาและชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผันน้ำเข้าท่วมทรัพย์สินย์ของประชาชนในพื้นที่บางบาล ปัจจุบัน พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้ให้กรอบในการจัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง และการส่งเสริมให้มีการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายการจัดการน้ำ ดังนี้

 มาตรา 35 ได้กำหนดให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ  รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ในการ (1)  จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบ้ารุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ (2) จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม (3) พิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำและควบคุมการใช้น้ำน้ำ (4) กำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ (5) รับเรื่องร้องทุกข์ ไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ และ (6) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำในเขตลุ่มน้ำ เป็นต้น 

มาตรา 64 ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม โดยในการจัดทำแผนต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม ผังน้ำ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (1) หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน (2) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ (3) การจัดเตรียมข้อมูล (4) การบริหารจัดการความเสี่ยง (5) การจัดทำระบบเตือนภัย (5) การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ (6) วิธีการระบายน้ำที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ (7) วิธีการกักเก็บน้ำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และ (8) การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นต้น 

มาตรา 67  ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของบุคคลใด ๆ เพื่อก่อสร้าง วางสิ่งของ สูบน้ำหรือระบายน้ำผ่านหรือเข้าไปในที่ดิน หรือติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ ในการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างตามมาตรานี้ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนดค่าทดแทนการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างตามความจำเป็นและในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างจากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำในระดับพื้นที่ (ลุ่มน้ำ) ให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการวางแผนรับมือน้ำท่วมอย่างชัดเจน และกำหนดให้รัฐต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างจากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อแก้ไขภาวะน้ำท่วม 


6. ข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบาย

ข้อเสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพื้นที่รับน้ำแก้มลิงบางบาล จากการจัดเวทีสาธารณะ ในพื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 เวที ณ โรงเรียนวัดอินทาราม ต.ทางช้าง  อบต.กบเจา และศูนย์ กศน. ตำบลบ้านกุ่ม สามารถแบ่งข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบายออกเป็น 4 ด้านหลักๆ ดังนี้:


1) การบริหารจัดการน้ำและพื้นที่:

  • ปรับปรุงแผนการระบายน้ำ: ให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่งให้เร็วขึ้น เช่น 1 กันยายน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในทุ่งและนอกทุ่ง
  • พิจารณาจุดอ้างอิงระดับน้ำเพิ่มเติม: นอกเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยา อาจใช้ระดับน้ำที่บริเวณปากคลองโผงเผง และที่ประตูน้ำวัดปราสาททองเป็นจุดอ้างอิงเพิ่มเติม เพื่อให้การพยากรณ์ระดับน้ำในทุ่งบางบาลมีความแม่นยำมากขึ้น และสามารถการบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น
  • การบริหารจัดการกระจายน้ำตั้งแต่ต้นทาง: อย่าให้มวลน้ำมาลงที่บางบาลเพียงแห่งเดียว ต้องกระจายน้ำไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ โดยการเช่าพื้นที่เก็บน้ำ หรือขุดบ่อเก็บน้ำ เพื่อกระจายน้ำและลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาท่วมพื้นที่บางบาล หรือทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะมาถึงบางบาล 
  • เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำทางด้านล่าง: เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เช่น การเปิดประตูระบายน้ำคลองเจ้าเจ็ด และประตูน้ำอื่นๆ ผ่านแม่น้ำน้อย (เช่น ที่สีกุก) และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (เช่น ที่บางไทร) เพื่อลดระดับน้ำและระยะเวลาที่น้ำท่วมขังในทุ่งบางบาลลง 
  • การแบ่งโซนพื้นที่รับน้ำ: ให้มีการแบ่งโซนพื้นที่รับน้ำที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมเข้าน้ำเข้าและออกทุ่งแต่ละโซนได้โดยไม่สร้างผลกระทบข้ามพื้นที่ตำบล  เช่นการสร้างประตูน้ำหรือฝายกั้นน้ำที่บริเวณตำบลบางหัน จะช่วยป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ตำบลบ้านกุ่ม
  • การปรับปรุงประตูน้ำบางกุ้ง: ให้มีการปรับปรุงประตูน้ำบางกุ้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  เนื่องจากประตูน้ำดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อระบายน้ำจากพื้นที่อื่นลงสู่ตำบลบ้านกุ้ง  ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
  • การขุดลอกคูคลอง: เสนอให้มีการขุดลอกคูคลองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคลองที่เชื่อมต่อกับประตูน้ำบางกุ้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 
  • ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในทุ่งรับน้ำ โดยเฉพาะการขุดบ่อทราย จะต้องควบคุมไม่ให้มีการก่อสร้างหรือขยายตัวของบ่อทรายในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการทรุดตัวและอัตราในช่วงฤดูน้ำหลาก
  • การปรับปรุงแนวคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่แก้มลิง และต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนภายในท้องถิ่น
  • การติดตามและประเมินผลกระทบจากโครงการบางบาล-บางไทร   เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่  
  • การจัดตั้งองค์กรกลางในการบริหารจัดการทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ โดยให้ประชาชนทุกพื้นที่ และทุก อปท. ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และรับทราบข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำด้วย


2) การชดเชยและเยียวยา:

  • ค่าชดเชยการเสียโอกาสของพื้นที่ในทุ่งรับน้ำ: จ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของที่ดินในทุ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตรา 1,000 บาท/ไร่/เดือน และต้องจ่ายอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 
  • ค่าชดเชยความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สิน: จ่ายค่าชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินให้กับผู้ประสบภัยตามความเป็นจริง แม้ว่าจะมีการจ่ายเงินดำรงชีพเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือในส่วนค่าซ่อมแซมบ้านที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยอาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 
  • ค่าชดเชยการสูญเสียรายได้: จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงน้ำท่วม เช่น ผู้รับจ้างรายวัน เกษตรกรที่สูญเสียผลผลิตหรือสูญเสียอาชีพ และผู้ประกอบการรายต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
  • เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย: ให้กู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้ประสบภัยที่ต้องการเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการหรือซ่อมแซมบ้านเรือน
  • จัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานพาหนะ เช่น รถยนต์และรถจักรยานยนต์ : เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในการซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายจากน้ำท่วม


3) การช่วยเหลือระหว่างน้ำท่วม:

  • การจัดหาเรือรับส่งไปทำงานหรือไปโรงเรียน: ให้ อบต. มีเรือเพียงพอสำหรับให้ชาวบ้านยืมใช้ในช่วงน้ำท่วม รวมถึงจัดหาคนพายเรือให้กับผู้ที่ไม่สามารถพายเรือเองได้ เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วย
  • การจัดหาเรือกู้ภัยและส้วมลอยน้ำ : โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่บ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง 
  • การจัดหาเสื้อชูชีพให้เพียงพอและกระจายไปยังทุกครัวเรือน โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีเด็ก และผู้ที่ว่ายน้ำไม่คล่อง
  • การจัดตั้งจุดอพยพ: ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น เต็นท์ ห้องน้ำ ไฟฟ้า น้ำสะอาด และพื้นที่จอดรถ อย่างน้อย 1 จุดต่อหมู่บ้าน หรือประมาณ 300 คน/1 จุด ซึ่งจะประมาณ 50 จุด ใน 16 ตำบล ทั่วทั้งทุ่งบางบาล
  • การลดหรือยกเว้นค่าน้ำค่าไฟในช่วงน้ำท่วม
  • การดูแลเรื่องสุขภาพ: จัดตั้งหน่วยแพทย์หรือหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และให้บริการตรวจสุขภาพ แจกจ่ายยา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม
  • การป้องกันผลกระทบจากพื้นที่บ่อทราย: ทั้งผลกระทบจากการสร้างพนังกั้นน้ำของบ่อทราย และการกำหนดเส้นทางการเดินรถของบ่อทรายในช่วงน้ำท่วม และเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม


4) การฟื้นฟูหลังน้ำลด:

  • จัดสรรงบประมาณและทีมงานอาสาสมัครสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ เช่น สะพาน ถนน โรงเรียน วัด โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ และอื่นๆ 
  • วางแผนการจัดสรรน้ำสำหรับการทำนา เพื่อให้ชาวนาในทุ่งบางบาลได้ทำนา 2 รอบ ตามข้อเสนอของงานวิจัย อ.ชูเกียรติ และข้อตกลงของกรมชลประทานที่เคยตกลงไว้กับชาวนาก่อนดำเนินโครงการแก้มลิงบางบาล และรอบที่ 1 ประมาณช่วง ธันวาคม-เมษายน และรอบที่ 2 ช่วง พฤษภาคม – สิงหาคม และเปิดน้ำเข้าทุ่งบางบาลในช่วงน้ำหลากระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน และใช้พื้นที่เป็นแก้มลิง
  • การสนับสนุนการปลูกพืชผักสวนครัว: เช่น แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร มูลค่าประมาณ ครัวเรือนละ 2,000 บาท
  • การสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ชาวนา: เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และน้ำมัน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในช่วงหลังน้ำลด
  • การประกันรายได้พืชผลอื่นๆ : เช่น กล้วย เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพ ในอัตราประมาณ 40,000 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลควรรับประกันทั้งผลผลิต ตลาด และราคา โดยให้ดำเนินการตามแผนที่จะเก็บเกี่ยวให้ทันในปลายเดือนสิงหาคม
  • การส่งเสริมกลุ่มอาชีพเดิมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น : และช่วยหาตลาดให้กับสินค้าของชุมชน
  • การเร่งสำรวจบ้านที่มีระดับพื้นบ้านชั้น 2 ต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหาย เช่น ที่บ้านหัวเวียง บ้านขวาง เพื่อออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนที่สุด 
  • การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านผู้ประสบภัย: ให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึงและตรงตามความต้องการของผู้ประสบภัยโดยแบ่งเป็น 3 กองทุน คือ
  1. กองทุนปลูกพืชผักสวนครัว: ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชผักสวนครัวและได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
  2. กองทุนซ่อมแซมบ้านหรือดีดบ้าน:  ช่วยเหลือผู้ที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยให้กู้ยืมเงินเพื่อซ่อมแซมบ้านโดยไม่คิดดอกเบี้ย
  3. กองทุนชดเชยการสูญเสียจากการทำนา: ชดเชยให้กับชาวนาที่ไม่สามารถทำนาได้เนื่องจากน้ำท่วม ในอัตราไร่ละ 1,000 บาทต่อเดือน


ข้อเสนอต่างๆ นี้จะถูกนำส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขณะเดียวกัน พรรคประชาชนก็จะใช้ช่องทางการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรในการติดตามการแก้ไขปัญหานี้ของหน่วยงานต่างๆ ผ่านการปรึกษาหารือ การตั้งกระทู้ถาม และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมาธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ กรรมาธิการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรรมาธิการตามตามงบประมาณ เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุด

บทความล่าสุด

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการทำประมงปลากะตักด้วยเรืออวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อ (ตามมาตรา 69 ที่กำลังแก้ไข)

เรียนก็ไม่สนุก ให้ประยุกต์ใช้ก็ทำไม่เป็น : ความท้าทายของการเรียนคณิตศาสตร์ในประเทศไทย

กับดักพันธุ์ข้าวด้อยคุณภาพ: วงจรปัญหาเชิงโครงสร้างซ้ำเติมชาวนาไทย

นโยบายข้าวนาปรัง: การไม่ประสานงานของภาครัฐและกรรมของเกษตรกร

สรุปรายงานข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบาย (เบื้องต้น) การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำบางบาล

แนวคิดเบื้องต้นในการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ในระดับปัจเจกชนและระดับเครือข่ายเพื่อความเปลี่ยนแปลง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า