เดชรัต สุขกำเนิด
จากข้อห่วงกังวลของชาวประมงพื้นฐานและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประมงที่จะทำให้มีการทำประมงปลากะตักด้วยการใช้เรืออวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อในช่วงเวลากลางคืนได้ นอกเขต 12 ไมล์ทะเล โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การทำประมงชนิดนี้ขึ้นมาในภายหลัง (หรือที่เรียกว่า มาตรา 69) ซึ่งอาจส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจจากการทำประมงปลากะตักที่อาจติดสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนขึ้นมาด้วย และอาจกระทบต่อระบบนิเวศและความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ทำการศึกษาในประเด็นนี้ โดยทำการขอข้อมูลจากกรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ Think Forward Center พบข้อสรุปทางวิชาการจากเอกสารที่หน่วยงานทั้งสองชี้แจงมาแยกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. การกระจายตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน
กรมประมงได้ส่งเอกสารชี้แจงเรื่อง การสำรวจแผนที่อยู่อาศัยและการกระจายตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดังนี้
- การศึกษาของนิรชาและคณะ (2556) พบว่า สัตว์น้ำวัยอ่อนมีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในอ่าวไทย มิได้จำกัดหรือมีหนาแน่นกว่าเฉพาะในเขต 12 ไมล์ทะเล หรือเฉพาะในเขตอนุรักษ์เท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีการกระจายตัวซ้อนทับในพื้นที่การทำปลากะตักในเวลากลางคืนด้วย (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 การแพร่กระจายของสัตว์น้ำวัยอ่อนในอ่าวไทย จากการศึกษาของนิรชาและคณะ (2556)
- การศึกษาของไภทูลและคณะ (2550) พบว่า ในฝั่งทะเลอันดามันมีสัตว์น้ำวัยอ่อนกระจายตัวอยู่ทั่วไปในทะเลอันดามัน โดยมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความลึกน้ำทะเล หมายถึง ทะเลยิ่งมีความลึกมากปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อนที่พบยิ่งมากตามไปด้วย (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 การกระจายตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนในทะเลอันดามันจากการศึกษาของไภทูลและคณะ, 2550
นอกจากนี้ เอกสารที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อมูลว่าการศึกษาของ Peter Munk และคณะ (2004) พบว่า บริเวณกลางไหล่ทวีปที่มีความลึก 50-65 เมตร และบริเวณแนวลาดไหล่ทวีปที่มีความลึก 300 เมตร พบแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง
เป็นที่ชัดเจนว่า จากผลการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สัตว์น้ำวัยอ่อนมิได้จำกัดหรือหนาแน่นในเขต 12 ไมล์ทะเล เพราะฉะนั้น การใช้เขต 12 ไมล์ทะเล เป็นเกณฑ์หลักตามร่างของกฎหมาย จึงไม่สอดคล้องกับข้อค้นพบทางวิชาการที่กรมประมงส่งมาชี้แจงเอง
ทั้งนี้ ในการชี้แจงของกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเสนอว่า จะกันพื้นที่เขตอนุรักษ์ออกจากการอนุญาตให้ทำประมงอวนล้อมปลากะตักตามมาตรา 69 แต่จากเอกสารทางวิชาการของกรมประมง ก็พบว่า สัตว์น้ำวัยอ่อนก็มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่เขตอนุรักษ์เช่นกัน หรือการใช้ความลึกของน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ เช่นหากให้ทำประมงอวนล้อมปลากะตักในความลึกที่มากกว่า 50 เมตร ก็พบว่า ยิ่งทะเลในฝั่งอันดามันมีความลึกเท่าไร ยิ่งมีสัตว์น้ำวัยอ่อนหนาแน่นเพิ่มขึ้น
กรมประมงชี้แจงว่า จากการทำประมงเรือล้อมจับปลากะตักกลางวัน พบว่า การทำประมงอวนล้อมจับในเวลากลางวัน นอกเขต 12 ไมลทะเล จะมีองค์ประกอบของปลากะตักน้อยลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อนุญาต คือในพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล จะได้ปลากะตักร้อยละ 68.9 ส่วนในพื้นที่อนุญาตจะได้ปลากะตัก 69.58 ซึ่งจะเห็นว่า แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า จากเอกสารวิชาการของกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเอง การใช้พื้นที่เป็นเกณฑ์หลักในกฎหมายและเป็นเกณฑ์เพิ่มเติมในกฎหมายลูกที่จะตามมา เพื่อลดความสูญเสียจากการทำประมงอวนล้อมปลากะตักย่อมไม่เพียงพอ
2. การสูญเสียสัตว์น้ำเศรษฐกิจจากการทำประมงปลากะตัก
การทำประมงปลากะตักสามารถทำได้ด้วยเครื่องประมงหลายวิธี แต่จากเอกสารทางวิชาการที่กรมประมงส่งมาให้ หรืองานวิจัยของปิยะโชคและคณะ, 2551 การทำประมงปลากะตักด้วยเรืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน (วิธีการที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันตามมาตรา 69) เป็นวิธีการที่ติดปลาผิวน้ำและสัตว์น้ำอื่นๆ ขึ้นมาด้วย หรือเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดการสูญเสียสัตว์น้ำเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 23 ของปริมาณการจับสัตว์น้ำด้วยเรืออวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อแต่ละครั้ง จะมีสัตว์น้ำวัยอ่อนติดมาด้วย (ตารางที่ 1) หรือกล่าวได้ว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จากเรืออวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ
ตารางที่ 1 สัดส่วนสัตว์น้ำที่จับได้จากการทำประมงปลากะตักด้วยเครื่องมือที่แตกต่างกัน

ที่มา: ปิยะโชคและคณะ, 2551
และยิ่งเมื่อมาคำนึงถึงอัตราการจับสัตว์น้ำของเรืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อ ที่สูงกว่าเครื่องมือประเภทอื่นๆ ปริมาณการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นปลาผิวน้ำวัยอ่อน ที่ติดมากับการทำประมงปลากะตักด้วยเรืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อจึงมีมากถึง 263 กก./วัน ซึ่งมากกว่าเครื่องมือประเภทอื่นถึง 3-8 เท่า (ตารางที่ 2)
เมื่อพิจารณาถึงปลาทูวัยอ่อนที่จับได้พบว่า ในการทำประมงด้วยเรืออวนล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อแต่ละครั้ง จะมีปลาทูติดมาด้วย 46.809 กก. และมีปลาทูปลาลังวัยอ่อน (ซึ่งยังเล็กเกินกว่าจะแยกชนิดได้) ติดมาด้วย 73.072 กก. หรือรวมแล้วเท่ากับ 119.879 กก. ซึ่งพบว่ามีปลาทู และปลาทู-ลังวัยอ่อนติดมาด้วยมากกว่าการทำประมงปลากะตักด้วยวิธีอื่นๆ ประมาณ 3-9 เท่า
ตารางที่ 2 ปริมาณปลาผิวน้ำเศรษฐกิจ และปลาทู และปลาทู-ลังวัยอ่อนที่จับได้

ที่มา: ปิยะโชคและคณะ, 2551
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ส่งเอกสารเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบร้อยละของปลากะตักจากเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ ซึ่งก็พบว่า ในฝั่งอันดามัน การทำประมงด้วยอวนล้อมจับปลากะตักโดยใช้แสงไฟล่อจับปลากะตักได้เพียงร้อยละ 39.16 เท่านั้น ซึ่งนั่นแปลว่า อาจมีสัตว์น้ำวัยอ่อนติดมาด้วยในปริมาณมากกว่าปลากะตักเสียอีก
ตารางที่ 3 ร้อยละของปลากะตักที่จับได้ จากพื้นที่ทำประมงและเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ

ที่มา: เอกสารชี้แจงของกรมประมง
3. ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
งานวิจัยของปิยะโชคและคณะ, 2551 ได้คำนวณ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการทำประมงเรืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อแต่ละครั้งเท่ากับ 7,385.40 บาท/ครั้ง ณ ราคาปี 2551 โดยคำนวณมาจากมูลค่าของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 9 ชนิดที่จะเพิ่มขึ้นหากไม่ถูกจับมาจากการทำประมงปลากะตัก (เท่ากับ 10,286.42 บาท/วัน) ลบด้วยมูลค่าของสัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านั้น เมื่อขายเป็นปลาปน ซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์เป็นหลัก (เท่ากับ 2,901 บาท/วัน) ซึ่งเป็นความเสียหายที่สูงกว่าการทำประมงด้วยเครื่องมืออื่นๆ ประมาณ 3-7 เท่า
หากเรานำมูลค่าความเสียหายในราคาปี 2551 มาเทียบกับปริมาณปลากะตักที่จับได้ ตามชนิดเครื่องมือประมงแต่ละประเภทจะพบว่า การทำประมงเรืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อ เป็นการทำประมงที่มีมูลค่าความเสียหายต่อปลากะตัก 1 กก. ที่ได้สูงที่สุดที่ 3.806 บาท/กก. ซึ่งมากกว่าการทำประมงปลากะตักประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในอัตรา 0.888-2.452 บาท/กก. (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 4 มูลค่าความเสียหายเทียบต่อปลากะตัก 1 กก. (บาท/กก.)

ที่มา: คำนวณจาก ปิยะโชคและคณะ, 2556
จากนั้น กรมประมงได้ทำการชี้แจงมาในเอกสารว่า การทำประมงปลากะตักด้วยเรืออวนล้อมจับที่ใช้แสงไฟล่อเพิ่มขึ้น 20,000 ตัน/ปี (เท่ากับส่วนที่กรมประมงจะอนุญาตให้ทำเพิ่มขึ้นตามมาตรา 69) มีมูลค่า 400 ล้านบาท (กรมประมงคิดราคาปลากะตักที่ 20 บาท/กก. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงานของปิยะโชคและคณะที่อัตรา 9 บาท/กก.) และเทียบบัญญัติไตรยางค์ว่า การทำประมงปลากะตักตามมาตรา 69 จะทำให้เกิดความสูญเสียสัตว์น้ำวัยอ่อน 76 ล้านบาท/ปี
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากว่า ปิยะโชคและคณะ, 2551 ได้คำนวณฐานข้อมูลราคาในปี 2551 ซึ่งปลาผิวน้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลาทู ยังมีราคาต่ำมาก (35 บาท/กก.) การเทียบบัญญัติไตรยางค์แบบง่ายๆ ของกรมประมงจึงไม่อาจกระทำได้โดยตรง เพราะกรมประมงยังไม่ปรับราคาปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ (แต่กรมประมงปรับราคาปลากะตัก) เพราะฉะนั้น กรมประมงต้องไปปรับราคาของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่จะสูญเสียจากการทำประมงปลากะตักให้เป็นปัจจุบันเสียก่อน จึงจะนำมาเทียบกันได้
และจากการนำข้อมูลราคาสัตว์น้ำจากสะพานปลามาเทียบกับปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่จะสูญเสียไปจากการทำประมงปลากะตัก เช่น ปรับราคาปลาทูมาเป็น 70-80 บาท/กก. พบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสัตว์น้ำวัยอ่อนเท่ากับ 20,799 บาท/วัน
และหากกรมประมงจะอนุญาตให้ทำประมงปลากะตักเพิ่มขึ้นอีก 10,203 เที่ยว (เพื่อให้ปลากะตัก 20,000 ตัน โดยจับเที่ยวละ 1,940.7 กก./วัน) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจะอยู่ประมาณ 214 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ อาจมีบางฝ่ายพยายามเทียบแบบง่ายๆ ว่า หากจับปลากะตักได้ 400 ล้านบาท/ปี แล้วทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนสูญเสียไป 214 ล้านบาท/ปี แปลว่า คุ้มค่าทางเศรษฐกิจใช่หรือไม่? คำตอบก็คงสรุปยังไม่ได้ เพราะเหตุผล 2 ประการคือ (ก) ยังไม่ได้หักลบต้นทุนในการทำประมงปลากะตักออกจากตัวเลขดังกล่าว และ (ข) แนวโน้มราคาสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งแปลว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
4. ผลกระทบในห่วงโซ่อาหาร
ประเด็นที่สาม สำหรับเรื่อง ห่วงโซ่อาหาร หรือปิระมิดประชากร ที่อาจได้รับจากการลดลงของปลากะตักที่เป็นแหล่งอาหารของปลาผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร กรมประมงไม่ได้ชี้แจงตัวเลขใดในประเด็นนี้ นอกจากชี้แจงว่า ถ้าปลาเหยื่อชนิดใดลดจำนวนลง ปลาชั้นบน (ปลาล่าเหยื่อ) ก็จะไปกินปลาชนิดอื่นๆ ในลำดับเดียวกันของห่วงโซ่อาหารแทน
ในขณะที่ ศ. ทวนทอง จุฑาเกตุ ชี้แจงว่า การลดจำนวนลงของปลากะตักและปลาในลำดับเดียวกัน (ซึ่งเป็นปลาชั้นกลางของห่วงโซ่อาหาร) จะทำให้ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศ เช่น ปลาทูแขก ปลาสีกุน ปลาโอ ปลาฉลาม ต้องกลับมาบริโภคสัตว์น้ำในระดับชั้นที่ต่ำกว่าในปริมาณที่มากขึ้นแทน (เพื่อให้ได้รับพลังงานในระดับเดียวกัน) และจะทำให้เกิดผลเสียหายแบบเป็นลูกโซ่ โดยจะกระทบกับโครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอย่างรุนแรง เนื่องจากปลาวัยอ่อนในลำดับชั้นดังกล่าว ไม่สามารถทำการทดแนได้เต็มที่เพื่อรองรับการบริโภคของผู้บริโภคขั้นสูง
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเด็นนี้คำชี้แจงของกรมประมงกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีความขัดแย้งกันโดยตรง และกรมประมงไม่สามารถมีหลักฐานทางวิชาการมายืนยันข้อสรุปของตนเองได้
5. สรุป
การทำประมงปลากะตักด้วยเรืออวนล้อมจับประกอบแสงไฟล่อ เป็นเครื่องมือประมงปลากะตักที่ทำให้เกิดความสูญเสียของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงมูลค่ามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือประเภทอื่นๆ
เพราะฉะนั้น หากกรมประมงจะทำการเพิ่มปริมาณการจับปลากะตักก็จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติม อย่างน้อยดังต่อไปนี้
- ต้องไม่มีการเพิ่มจำนวนเรืออวนล้อมจับปลากะตักเพิ่มเติม
- การใช้เขต 12 ไมล์ทะเลเป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดกติกาเรื่องการทำประมงปลากะตักด้วยอวนตาถี่ตอนกลางคืน ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อน – หากจะมีการกำหนดเกณฑ์เรื่องพื้นที่ในร่างกฎหมายประมง ก็ควรพิจารณาเกณฑ์พื้นที่ที่สอดคล้องกับข้อมูลการกระจายตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง
- การทำการประมงปลากะตักโดยใช้อวนตาถี่ตอนกลางคืนพร้อมแสงไฟล่อ จะทำให้สัตว์น้ำชนิดอื่นถูกจับติดมาด้วย เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการใช้อวนตาถี่ตอนกลางวัน – เพราะฉะนั้น ในร่างกฎหมายจึงสมควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการควบคุมเรื่องการใช้แสงไฟล่อ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การประมงที่ไม่ยั่งยืน
- การใช้อวนตาถี่ตอนกลางคืนพร้อมแสงไฟล่อ จะนำไปสู่การประมงที่จะมีสัตว์น้ำชนิดอื่นติดเพิ่มขึ้น ในระดับความสูญเสียที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ จากข้อมูลของปิยะโชค สินอนันต์และคณะ (2555) ที่ทางกรมประมงส่งให้แก่วิปฝ่ายค้านและ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ พบว่า เมื่อปี 2551 ในฝั่งทะเลอ่าวไทย สัดส่วนสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ติดมาด้วย เพิ่มจาก 12% ในตอนกลางวัน เป็น 23% ตอนกลางคืน ขณะที่ฝั่งทะเลอันดามัน สัดส่วนสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ติดมาด้วย เพิ่มจาก 18% ในตอนกลางวัน เป็น 61% ตอนกลางคืน (ข้อมูลจากกำพลและคณะ (2555) ที่ทางกรมประมงส่งให้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ) – ดังนั้นในการยกร่างกฎหมาย จึงควรหาแนวทางในการออกแบบกฎหมายเพื่อไม่อนุญาตให้การทำการประมงด้วยแสงไฟล่อในบางพื้นที่อย่างชัดเจน (เช่น ฝั่งทะเลอันดามัน)
- หน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนควรเข้าถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำเพื่อใช้ในการออกแบบนโยบายเพื่อการประมงที่ยั่งยืน – ก่อนการตัดสินใจกำหนดเกณฑ์และพื้นที่ทำประมง กมธ. ในการร่างกฎหมายประมงจึงควรกำหนดขั้นตอนในการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับการแพร่กระจายพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน และอัตราการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่นๆ ที่จะติดมากับการทำประมงปลากะตักในช่วงกลางวัน รวมถึงหาแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพในการคำนวณค่า “การประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” (Maximum Sustainable Yield หรือ MSY)
เอกสารอ้างอิง
นิรชา สองแก้ว, ปิยวรรณ หัสดี, ศักดิ์ชาย อานุภาพบุญ และ ธีรพงศ์ ด้วงดี. 2556. องค์ประกอบและการแพร่กระจายของปลาวัยอ่อนบริเวณอ่าวไทย ใน: การสัมมนาวิชาการเรื่องผลการสำรวจทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในบริเวณอ่าวไทยตอนกลางโดยเรือสำรวจซีฟเดค ปี 2556. หน้า 110-119.
ชุมโชค สิงหราชัย, พัชรี พันธุเล่ง และ อุดมสิน อักษรผอบ, 2567. สัตว์น้ำวัยอ่อนบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เอกสารวิชาการฉบับที่ 1/2567. กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล, กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ไภทูล ผิวขาว, พนิดา ชาลี และ ธรรมรงค์ อินทรสุวารณ์. 2550. สัตว์ทะเลเศรษฐกิจวัยอ่อนทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย. เอกสารวิชาการฉบับที่ 7/2550. สำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล, กรมประมง,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ปิยะโชค สินอนันต์, ทิวารัตน์ สินอนันต์, ปวโรจน์ นรนารถตระกูล, นันทชัย บุญจร และ สุวรรณทนา ทศพรพิทักษ์กุล. 2555. การประมงปลากะตักอ่าวไทย, เอกสารวิชาการฉบับที่ 18/2555. สำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล, กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.