4 ปีที่ผ่านไปของรัฐธรรมนูญปราบโกง

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

ในช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หนึ่งในประเด็นหลักที่ฝ่าย คสช. พยายามประชาสัมพันธ์กันมากที่สุดคือ การเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 4 ปี (ไวยิ่งกว่ากินรีปีนเสาไฟประติมากรรม) เราลองมาดูความรู้สึกของประชาชนไทยต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นกันสักหน่อยครับ

Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นผู้ที่พัฒนา Corruption Perception Index ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ และมีการนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการพัฒนา รวมถึงในประเทศไทย ได้จัดทำรายงานขึ้นมาซีรีส์หนึ่งชื่อว่า People and Corruption: Asia Pacific

ในรายงานดังกล่าวได้มีการสำรวจการรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น ในแถบเอเชียแปซิฟิกจำนวนประมาณ 20,000 กว่ารายจาก 16 ประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน โดยทาง Transparency International เรียกว่าเป็น Corruption barometer (barometer คือ เครื่องวัดแรงกดอากาศ) หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่า “แรงกดทับจากการคอร์รัปชั่น” ที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ รับรู้

2017 คอร์รัปชั่นไทยในวันโลกสวย

ผลการสำรวจในรายงาน ปี 2017 (ในไทยสำรวจเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2559) และ ปี 2020 (ในไทยสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563) มีผลการสำรวจเปรียบเทียบกันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ผลการสำรวจตามรายงานปี 2017 (ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้) พบว่า มีประชาชนไทย (ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง) เพียง 14% ที่คิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ

ขณะเดียวกัน ในปี 2017 ประชาชนไทยที่คิดว่า รัฐบาลจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีก็มีถึง 72% เรียกว่า สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย แปซิฟิก 15 ประเทศ

กล่าวโดยย่อว่า ในปี 2559 (ที่มีการสำรวจ) ประชาชนไทยมองแง่ดีสุดๆ เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

2020 คอร์รัปชั่นไทยในรัฐหม่นหมอง

แต่พอมีการใช้รัฐธรรมนูญปราบโกงผ่านมา 3 ปีกว่า (ในวันที่ทำการสำรวจครั้งที่ 2) กลับปรากฏว่า ในปี 2563 คนไทยกว่า 55% เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยกำลังเพิ่มมากขึ้น

โดยสัดส่วน 55% ดังกล่าวถือว่าเป็นประเทศที่มีประชาชนเห็นว่า มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิก (16 ประเทศ) เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เปอร์เซ็นต์ของประชาชนไทยที่คิดว่า รัฐบาลจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีก็ลดลงจาก 72% ในรายงานปี 2017 เหลือเพียง 26% ในรายงานปี 2020 ซึ่งเป็นอันดับรองสุดท้ายของประเทศในเอเชียแปซิฟิก 16 ประเทศเลยทีเดียว

ส่วนเปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่คิดว่า รัฐบาลจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ไม่ดี ก็เพิ่มขึ้นจาก 28% ในปี 2017 เป็น 73% ในปี 2020

รัฐบาลจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ไม่ดี ก็เพิ่มขึ้นจาก 28% ในปี 2017 เป็น 73% ในปี 2020

เรียกว่า ทุกอย่างกลับตาลปัตรกันหมดเลย


แรงกดทับจากการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น

ในรายงานดังกล่าว ได้มีการสำรวจว่า มีประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บริการสาธารณะต่างๆ และต้องจ่ายสินบนให้กับหน่วยงานให้บริการ ก็พบว่า ประชาชนไทย 47% ต้องจ่ายสินบนให้กับตำรวจ (ค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกคือ 23%) และประชาชนไทย 21%  ต้องจ่ายสินบนหรือเงินให้เปล่าให้กับโรงเรียนของรัฐ (ค่าเฉลี่ยของเอเชีย แปซิฟิกคือ 14%)

ในรายงานปี 2020 ได้สำรวจด้วยว่า มีประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศนั้นๆ ทำงานได้ดี

ผลปรากฏว่า มีประชาชนไทย 34% ที่เห็นว่าหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทยทำงานได้ดี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกเลยทีเดียว

การปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ไม่ค่อยได้ผล น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สัดส่วนของประชากรไทยที่เชื่อว่า คนทั่วไปก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตนี้ ลดลงจาก 76% ในรายงานปี 2017 เหลือ 65% ในรายงานปี 2020

กล่าวโดยสรุปจะเห็นว่า “แรงกดทับ” จากการคอร์รัปชั่นที่ประชาชนสัมผัสได้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

 “แรงกดทับ” จากการคอร์รัปชั่นที่ประชาชนสัมผัสได้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ


คอร์รัปชั่นในมุมมองของรัฐบาล

แต่เมื่อเปิดดูในเอกสารงบประมาณปี 2565 ฉบับที่ 6 หน้าที่ 7 ที่รัฐบาลเพิ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจะพบว่า รัฐบาลได้บอกในเอกสารดังกล่าวว่า “คะแนนเฉลี่ยในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน” สูงขึ้นจากปีก่อน และจำนวนคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในภาพรวม ลดลงจากปีก่อน ที่มีคดีทุจริต 506 คดี เหลือเพียง 245 คดีในปี 2563

เรียกได้ว่า ดัชนีที่รัฐบาลใช้วัดในการทุจริตคอร์รัปชั่นส่งสัญญาณที่สวนทางกับ “แรงกดทับ” ที่ประชาชนรับรู้อย่างชัดเจน

ดัชนีที่รัฐบาลใช้วัดในการทุจริตคอร์รัปชั่นส่งสัญญาณที่สวนทางกับ “แรงกดทับ” ที่ประชาชนรับรู้อย่างชัดเจน


อันดับใน Corruption Perception Index แย่ลง

ส่วนคะแนน Corruption Perception Index ของไทยนั้น มีคะแนนลดลงจาก 37 คะแนนในปี 2017 เหลือ 36 คะแนนในปี 2020 และมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 96 ในปี 2017 มาเป็นอันดับที่ 104 ในปี 2020 หรือลดลงไป 8 อันดับในช่วงเวลา 4 ปี

โดยประเทศที่มีอันดับใน Corruption Perception Index ดีขึ้นจนแซงประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็มีอย่างเช่น คาซักสถาน มัลดีฟส์ บราซิล เปรู เอธิโอเปีย เอควาดอร์ แทนซาเนีย และแกมเบีย มิใช่เป็นเพราะมีจำนวนประเทศเข้าสู่การจัดอันดับเพิ่มมากขึ้นอย่างที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น หากเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศไทย การจัดการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลไทยมิได้ดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลบอกในเอกสารงบประมาณ

การจัดการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลไทยมิได้ดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลบอกในเอกสารงบประมาณ

จากข้อมูลดังกล่าวของ Transparency International คงสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนไทยต่อ “แรงกดทับ” ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และเราก็ไม่ควรจะปล่อยให้สังคมไทยต้องทนกับ “แรงกดทับ” ที่ไม่เป็นธรรมนี้ เหมือนกรณีของเสาไฟประติมากรรมราคาแพงทั้งหลาย

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” ก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่มีใครสนใจจริงจังอีกต่อไป

Think Forward Center จะได้นำเสนอบทความเรื่องแนวทางการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างจากกรณีของประเทศในเอเชีย แปซิฟิก ต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า