องค์กรภาคประชาชน (whistleblowing) แห่งชาติในการปราบปรามคอรัปชั่น: บทเรียนจากฮ่องกง และเกาหลีใต้ และแนวทางสำหรับประเทศไทย

โดย จุลพงศ์ อยู่เกษ สมาชิกพรรคก้าวไกลแบบตลอดชีพ

ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยมาถึงจุดที่ประชาชนจะนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้ภาครัฐทำหน้าที่ลำพังไม่ได้อีกแล้วเพราะเห็นปรากฎชัดว่าขาดประสิทธิภาพ เล่นพรรคเล่นพวก คอยจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาล เราเห็นการคอรัปชั่นแม้ในวงการการศึกษาที่ไม่น่าจะมี เราเห็นการไม่โปร่งใสในการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 เราเห็นนักการเมืองแย่งชิงตำแหน่งในกระทรวงที่มีงบประมาณการก่อสร้างโครงการและการจัดซื้อหมื่นล้านแสนล้าน

เพราะฉะนั้น จึงอาจจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะมีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน (whistleblowing) แห่งชาติในการปราบปรามคอรัปชั่น ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายรองรับในรูปของร่างพระราชบัญญัติเสนอผ่านรัฐสภา

และเพื่อให้เห็นภาพว่า องค์กรภาคประชาชนแห่งชาตินี้ในการปราบปรามคอร์รัปชั่นทำหน้าที่อย่างไร บทความนี้ขอเสนอ บทเรียนจากประเทศในเอเชียตะวันออกคือ ฮ่องกงและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาในประเทศไทย



บทเรียนจากฮ่องกง

ในอดีต ฮ่องกงก็เคยมีการประสบปัญหาคอรัปชั่นแบบสาหัสสากันเหมือนประเทศไทยตอนนี้ ตัวอย่างปัญหาการคอรัปชั่นระดับชาวบ้านที่เคยมีในฮ่องกง เช่น ตำรวจฮ่องกงเก็บเงินส่วยตามร้านค้า บาร์ สถานบันเทิง เป็นรายเดือน เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในการเปิดเกินเวลาหรือขายยาเสพติด หรือเจ้าของร้านอาหารหากไม่จ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่เทศบาลก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดร้านอาหาร หรือถ้าต้องการก่อสร้างบ้านหรืออาคารก็ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ ฟังตัวอย่างแล้วก็คงคล้ายกับประเทศไทยตอนนี้เลยใช่ไหมครับ?

ในอดีต คอร์รัปชั่นที่ฮ่องกงเคยเลวร้ายถึงขนาดว่า พนักงานดับเพลิงเรียกเงินค่าหัวฉีดน้ำจากเจ้าของบ้านที่บ้านกำลังไฟไหม้ พนักงานขับรถพยาบาลเรียกเงินใต้โต๊ะจากญาติคนป่วยเพื่อจะได้ขับรถพยาบาลไปรับคนป่วย และเคยเลวร้ายถึงขนาดที่ว่าการเข้าไปคลอดลูกในโรงพยาบาลสักครั้ง ก็ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ประจำห้องพยาบาลในการแซงคิวนอกจากค่ารักษาพยาบาลที่ต้องเสียปกติแก่โรงพยาบาลกันเลยทีเดียว

ปัญหาคอรัปชั่นในระดับชาติของฮ่องกงยิ่งเลวร้ายขนาดหนัก เช่น การฉ้อโกงโครงการก่อสร้างบ้านของรัฐบาลหลายพันล้านเหรียญฮ่องกง มีการฉ้อโกงในระบบธนาคารพาณิชย์ถึงขนาดทำให้ธนาคารพาณิชย์ล่ม เป็นต้น

ณ ตอนนั้น ปัญหาคอรัปชั่นในฮ่องกงดูเหมือนจะไม่มีหนทางแก้ไขขจัดให้หมดไปจากฮ่องกงได้ จนกระทั่งฮ่องกงมีการก่อตั้งองค์กรอิสระในปีค.ศ.1974 ที่ชื่อ Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC หรือแปลชื่อเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า องค์กรอิสระเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่น

ทำไมในระยะเวลายี่สิบกว่าปี ICAC จึงประสบความสำเร็จในการปราบปรามคอรัปชั่นจนทำให้ฮ่องกงได้รับการจัดอันดับความโปร่งใสปลอดคอรัปชั่นสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2000 จาก 90 ประเทศทั่วโลกโดยองค์การระหว่างประเทศชื่อ Transparency International

แน่นอนว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการปราบปรามคอรัปชั่นนั้น ความมุ่งมั่น ความกล้าหาญและความซื่อสัตย์สุจริตของเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามคอรัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และเหนือสิ่งอื่นใดรัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการปราบปรามด้วย

ในปี 1982 เจ้าหน้าที่ ICAC ได้รับข้อมูลเชิงลับที่น่าเชื่อถือจากอดีตหัวหน้าคนงานคุมงานก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยจำนวน 26 อาคารของรัฐบาลฮ่องกงว่า มีการคอรัปชั่นขนาดใหญ่โดยการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานตามสัญญาและตามที่กฎหมายกำหนดทำให้มีความเสี่ยงในการที่อาคารที่พักอาศัยเหล่านั้นอาจถล่มลงมาได้ ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ของ ICAC ได้รับหลักฐานมาในช่วงปี 1982 แต่โครงการก่อสร้างดังกล่าวได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960-1970 หรือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว

บางทีคุณอาจคิดว่า ถ้าอุปสรรคเช่นนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทย เราจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาสอบสวนหาคนผิดหรือไม่ เพราะหลักฐานต่างๆทั้งเอกสารและตัวบุคคลคงหายากแล้ว แต่อุปสรรคเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในใจของเจ้าหน้าที่ 9 คนของ ICAC ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาสอบสวนการคอรัปชั่นที่ถือเป็นการคอรัปชั่นในการก่อสร้างโครงการของรัฐที่ใหญ่โตมากในยุคนั้นของฮ่องกง

เจ้าหน้าที่ของ ICAC ได้เริ่มตรวจสอบประวัติผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ทำการก่อสร้างทุกบริษัทที่ทำการก่อสร้างทั้ง 26 อาคาร รวมทั้งบริษัทผู้รับเหมาช่วง ตรวจสอบทุนจดทะเบียนและทุนการดำเนินการรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ แม้มีบางบริษัทจะเลิกกิจการไปแล้วก็ตาม มีการตรวจสอบทางวิศวกรรม ตรวจสอบบริษัทขายวัสดุก่อสร้างที่ทั้งยังประกอบกิจการและที่เลิกไปแล้ว ตรวจสอบการดำเนินชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งครอบครัวย้อนหลัง นำเอาหัวหน้าคนงานและคนงานที่ยังมีชีวิตมาตรวจสอบรายคนร้อยกว่าคน หรือแม้กระทั่งบินไปต่างประเทศเพื่อสอบสวนพยานบุคคลที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศแล้ว

รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศสนับสนุนการตรวจสอบของ ICAC อย่าง”ไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น” โดยสนับสนุนทั้งงบประมาณพิเศษและกำลังคนในการช่วย ICAC ทำการสอบสวน โดยการสอบสวนของ ICAC ใช้เวลาถึง 5 ปี ถึงได้มีบทสรุปว่าการก่อสร้างโครงการอาคารที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้ง 26 อาคารในช่วงปี 1960-1970 นั้นมีการคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬารโดยการใช้วัสดุก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎหมายและไม่เป็นไปตามสัญญาก่อสร้างโดยเป็นความร่วมมือกันโกงของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ บริษัทก่อสร้างและบริษัทรับเหมาช่วงและหัวหน้าคนงานก่อสร้างบางคน

ในที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 1987 มีการยื่นฟ้องคดีคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำเลยต่อศาล และศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินในเดือนมีนาคม 1988 (เขียนไม่ผิดหรอกครับ ศาลฮ่องกงใช้เวลาเพียง 5 เดือนในการพิจารณาคดี) ลงโทษจำคุกและปรับจำเลยจำนวนหลายสิบคนที่มีทั้งอดีตนักการเมือง อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้างและผู้รับเหมาช่วงและอดีตหัวหน้าคนงาน โดยได้รับโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และลดหลั่นถึง 6 เดือนแตกต่างกันไป

ผลจากคำพิพากษาทำให้รัฐบาลฮ่องกงต้องรื้อถอนอาคารที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้ง 26 อาคารเพราะผลการตรวจสอบทางวิศวกรรมพบว่ามีความสุ่มเสี่ยงว่าอาคารดังกล่าวอาจถล่มลงมาได้วันใดวันหนึ่ง

ผลงานของ ICAC ในครั้งนี้ ทำให้วงการก่อสร้างในฮ่องกงตื่นตัวขึ้นมาร่วมต่อต้านและขจัดคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางและจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะผลงานของ ICAC ที่ว่าไม่ว่าคุณจะทำชั่วมานานแค่ไหนมาแล้ว เรากัดไม่ปล่อย

ผลพวงของการปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจังและได้ผลของ ICAC ทำให้รัฐบาลฮ่องกงกล้าประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติและคนฮ่องกงเองลงทุนในฮ่องกงโดยยกเอาการมี ICAC เป็นข้อได้เปรียบประการหนึ่งในการแข่งขันของฮ่องกงที่มีต่อคู่แข่งต่างประเทศที่พยายามดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศอย่างไทยหรือเวียดนาม

ในแง่ของการจัดตั้งและโครงสร้างองค์กร หน่วยงาน ICAC ของฮ่องกง ตามกฎหมายการจัดตั้ง ICAC โดยถือเป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการฮ่องกง พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ICAC ไม่ถือเป็นข้าราชการแต่ถือเป็นตัวแทนประชาชนฮ่องกง การคัดเลือกเจ้าหน้าที่จะคัดเลือกอย่างเข้มงวด ต้องทั้งเก่ง มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ มีเงินเดือนและสวัสดิการสูง ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและวินัยโดยเคร่งครัด จนถึงปลายปี 2019 ICAC มีพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวน 1,500 คน

ICAC แบ่งหน่วยงานใหญ่ออกเป็น 3 ฝ่ายคือฝ่ายดำเนินการ ฝ่ายป้องกันคอรัปชั่น และฝ่ายประชาชนสัมพันธ์

  • ฝ่ายดำเนินการ มีอำนาจพิจารณาคดีคอรัปชั่นจะมีหน้าที่สอบสวนและดำเนินคดีอาญาคอรัปชั่นโดยมีผู้อำนวยการของ ICAC มีอำนาจสูงสุดในการสอบสวนคดี ในการสอบสวนความผิดเฉพาะในความผิดเกี่ยวกับคอรัปชั่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนในฝ่ายนี้มีอำนาจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น จับกุมผู้ทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมในคดีคอรัปชั่นและคดีเกี่ยวกับการตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงและการยักยอกทรัพย์ มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และที่น่าสนใจคือ ICAC มีอำนาจตามกฎหมายในการประกาศเรื่องคอรัปชั่นต่อสาธารณชนโดยเปิดเผยชื่อจริงของบุคคล หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ถูก ICAC ดำเนินคดีคอรัปชั่นโดยไม่ต้องรอผลคำพิพากษาแต่อย่างใด
  • ฝ่ายป้องกันคอรัปชั่น มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบกฎระเบียบรวมถึงขั้นตอนการภาคปฏิบัติของกระทรวง หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรท้องถิ่นว่าจะมีเกิดช่องว่างให้คอรัปชั่นได้หรือไม่ นอกจากนี้เมื่อได้รับการร้องขอจากภาคเอกชน ฝ่ายป้องกันคอรัปชั่นนี้ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือแนะนำและตรวจสอบกฎระเบียบของบริษัทหรือองค์กรเอกชนต่างๆที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการโกงในองค์กรและเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ
  • ฝ่ายประชาชนสัมพันธ์ โดยหน่วยงานนี้เข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมากในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ปัญหาและการป้องกันคอรัปชั่น เผยแพร่มาตรฐานจริยธรรมการไม่โกง ให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนทุกระดับ มีการนำหลักสูตรการเรียนรู้ถึงภัยคอรัปชั่นและการต่อต้านการคอรัปชั่นเข้าไปบทเรียนแก่นักเรียนชั้นประถม มัธยมและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในภาคธุรกิจ ฝ่ายประชาชนสัมพันธ์ ของ ICAC ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านจริยธรรมทางธุรกิจของฮ่องกง ( Hong Kong Business Ethics Development Center” เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่จริยธรรมทางธุรกิจที่ไม่นำไปสู่การคอรัปชั่นโดยในปัจจุบันศูนย์แห่งนี้มีสมาชิกเป็นหอการค้าขนาดใหญ่ในฮ่องกงจำนวน 10 แห่ง นอกจากนี้ ฝ่ายประชาชนสัมพันธ์ ของ ICAC ยังเป็นเจ้าภาพจัดโครงการ “ Starting-up Rights ! Connectors” สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลของ Start-up ในฮ่องกงโดยมีการแทรกในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจและการต่อต้านการให้สินบนเข้าไปด้วยอย่างชาญฉลาด


สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือ หน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายของ ICAC จะมีคณะกรรมการที่เรียกว่า The Citizens Advisory Committee”หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคพลเมืองในการตรวจสอบและให้คำปรึกษาในแต่ละฝ่าย นอกจากนี้ ICAC ยังมีคณะกรรมการย่อยต่างๆภาคประชาชนโดยจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเชื่อมการทำงานกับภาคประชาชน

การสำรวจความคิดเห็นของคนฮ่องกงในปี 2019 โดยองค์กรสำรวจความคิดเห็นอิสระในหัวข้อการสนับสนุนของคนฮ่องกงที่มีต่อ ICAC ผลการสำรวจความคิดเห็นปรากฎว่าร้อยละ 96 ของคนที่ตอบให้การสนับสนุนการทำงานของ ICAC อย่างเต็มที่และเกือบจะทั้งหมดของผู้ถูกสำรวจจะบอกตรงกันว่า “การเป็นสังคมที่ปลอดจากคอรัปชั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาฮ่องกง”


บทเรียนจากเกาหลีใต้

คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เห็นเช่นเดียวกับคนฮ่องกงว่าสังคมที่ปราศจากคอรัปชั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศของตน ตั้งแต่ปี 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีอดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ถึง 4 คนพร้อมเครือญาติและคนใกล้ชิดถูกกล่าวหา ถูกจับกุมและถูกลงโทษด้วยข้อหาการรับสินบน

  • ปธน. Kim Dae-Jung ( ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1998-2003) ที่แม้จะได้รับรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพในปี 2000 แต่หน่วยงานปราบปรามคอรัปชั่นของเกาหลีใต้ในสมัยนั้นที่มีชื่อว่า Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC ได้ร่วมมือกับอัยการเข้าจับกุมและกล่าวหาอดีตปธน.คนนี้หลังจากเขาเพิ่งพ้นจากตำแหน่งในข้อหาคอรัปชั่นผ่านบุตรชายของเขาสามคนรวมทั้งมีส่วนการสนับสนุนให้บริษัท Hyundai จ่ายสินบนแก่เกาหลีเหนือ ในที่สุด Kim ถูกศาลจำคุก 20 ปี
  • ปธน.Roh Moo-Hyun (2003-2008) แม้ตัวเองจะไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องคอรัปชั่นโดยตรง แต่สมาชิกในครอบครัวของเขาถูกจับกุมในข้อหารับสินบนในช่วงที่ Roh ดำรงตำแหน่ง ในปี 2009 พี่ชายของเขาถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ส่วนตัว Roh เองได้ฆ่าตัวตายในปีเดียวกันโดยทิ้งจดหมายแสดงความเสียใจในความอัปยศจากเรื่องคอรัปชั่น
  • ปธน. Lee Myung-Bak ( 2008-2013) ถูกจับกุมหลังจากที่พ้นตำแหน่งมาแล้วเกือบ 5 ปี โดยในเดือนเมษายน 2018 Lee ในวัย 76 ปีพร้อมสมาชิกในครอบครัวสองคนและอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนถูกอัยการเกาหลีใต้เข้าจับกุม และอดีตปธน.Lee ถูกกล่าวหาในข้อหาสนับสนุนคอรัปชั่นหลายเรื่อง ตั้งแต่การรับสินบนจากบริษัทเอกชนหลายแห่ง การใช้เงิน 10 ล้านเหรียญของหน่วยสืบราชการลับเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและการเลี่ยงภาษี
  • ปธน. Park Geun Hye (2013-2017) ถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2017 ในหลายข้อหาเกี่ยวกับการรับสินบนของบุคคลใกล้ชิดโดยตามกฎหมายเกาหลีใต้ถือเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) ที่เป็นการผิดกฎหมาย ในเดือนเมษายน 2018 อดีตปธน. Park ถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปี


ดังนั้น เราจึงเห็นว่าได้ว่าเกาหลีใต้เอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีคอรัปชั่น ไม่ว่าคุณเคยใหญ่โตเพียงใดก็ตาม

ในเกาหลีใต้ หน่วยงานปราบปรามคอรัปชั่นของเกาหลีใต้แรกเริ่มนั้นมีชื่อว่า Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC ต่อมาในปี 2008 นี่เองที่ ICAC ของเกาหลีใต้ถูกยกระดับขึ้นเป็น The Anti-Corruption and Civil Rights Commission หรือ ACRC โดยติดปีกองค์กรปราบคอรัปชั่นนี้โดยการดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามาในการปราบการโกงให้มากที่สุดและร่วมมือกับอัยการเกาหลีใต้ให้มากขึ้น

ในปี 2011 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญให้แก่หน่วยงานปราบคอรัปชั่นที่มีชื่อย่อว่า ACRC คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปราบคอรัปชั่นโดยการออกกฎหมายชื่อ Act on Protection of Public Interest Whistleblowersกฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนที่แจ้งเบาะแสหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการโกงในทั้งภาครัฐและในภาคเอกชนให้แก่ศูนย์ Whistleblowers Report Centre ของ ACRC โดยการรายงานหรือการแจ้งเบาะแสของประชาชนทำได้ทั้งทางโทรศัพท์หรือโดยทางเอกสารภายใต้การคุ้มครองที่เข้มข้นตามกฎหมายและมีการให้เงินรางวัลสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐหากมีการเปิดเผยจนเป็นผลให้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำผิด

ช่วงปี 2011-2018 มีการส่งข้อมูลจากประชาชนให้ ARCR ผ่านศูนย์ Whistleblowers Report Centre ถึงจำนวน 24,629 เรื่อง โดยจากสถิติ 2015-2017 แสดงว่าในปี 2015 มีคดีที่ผู้ทำผิดถูกลงโทษถึง 70% ในปี 2016 76% และในปี 2017 สูงถึง 80% ของจำนวนการแจ้งเบาะแสจากประชาชน

นอกจากนี้ ACRC ยังจัดให้มีระบบให้ประชาชนร้องขอให้ตรวจสอบหรือ Citizen Audit Request System โดยให้ประชาชนสามารถยื่นขอให้ตรวจสอบโครงการของรัฐที่สงสัยว่ามีการคอรัปชั่นหรือการใช้เงินภาษีอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ( เหมือนโครงการปฏิมากรรมเสาไฟฟ้าในประเทศไทย) และทุกๆปี ACRC จะต้องจัดทำรายงานเผยแพร่แก่ประชาชนถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบและผลการตรวจสอบ

การมีส่วนร่วมของประชาชนอีกอย่างหนึ่งคือการที่ ACRC ได้ทำการประเมินด้านประสิทธิภาพด้านคุณธรรมของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือ Integrity Assessment ในทุกๆปีและต้องเปิดเผยผลสำรวจทุกปีต่อสาธารณชน หัวข้อในการประเมินเรื่องหนึ่งคือการประเมินการให้บริการแก่สาธารณะ โดยเป็นการประเมินจากภาคประชาชน นอกจากมีการประเมินโดยประชาชนแล้วก็มีการประเมินตัวเองจากหน่วยงานรัฐ กลุ่มสุดท้ายที่จะประเมินคือบุคคลและองค์กรอิสระจากวิชาชีพต่างๆ ผลของโครงการนี้คือหน่วยงานของรัฐเองแข่งขันการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นทุกปี !


แนวความคิดสำหรับประเทศไทย

จากที่ศึกษาในกรณีของฮ่องกงและเกาหลีใต้ ทำให้เกิดแนวความคิดในเสนอการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนในการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศไทย เพราะประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ดังนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบการคอรัปชั่นในวงราชการทุกรูปแบบและทุกหน่วยงาน และการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของประชาชนจะมีผลให้ผู้กระทำผิด(หรือกำลังจะกระทำความผิด) คอรัปชั่นจะเกรงกลัวการถูกเปิดเผย ความโปร่งใสและการถูกตรวจสอบโครงการ ตามแนวปฎิบัติในการปราบคอรัปชั่นที่ได้ผลดีอย่างชัดเจนมาแล้วในฮ่องกงและเกาหลีใต้


ขอบเขตหน้าที่ขององค์กรภาคประชาชนแห่งชาติในการปราบปรามคอรร์รัปชั่น :

1)      เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่นโดยวิธีการการรับแจ้งจากประชาชนทั่วไปที่มีข้อมูลหรือสงสัยว่าจะมีการคอรัปชั่นในโครงการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐทุกแห่งรวมทั้งศาลและทหาร

2)      ร่วมมือกับสื่อมวลชนและสำนักข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศในการปราบปรามคอรัปชั่น

3)      ร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรภาคประชาชนในประเทศที่มีอยู่แล้วในการตรวจสอบและปราบปรามคอร์รัปชั่น

4)      ตรวจสอบข้อมูลในครงการที่ได้รับข้อมูลและสงสัยและส่งข้อมูลให้ปปช.หรือปปท.หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจ

5)      หากไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐข้างต้น องค์กรเป็นผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับคอรัปชั่นตามแนวความคิดว่าประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ดังนั้นประชาชนย่อมเป็นผู้เสียหายในการคอรัปชั่นด้วย

6)      ประกาศโครงการที่สงสัยว่าจะมีคอรัปชั่นเกิดขึ้นต่อสาธารณชนโดยไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

7)      เผยแพร่ความคิดความเลวร้าย การป้องกันและการต่อต้านของการคอรัปชั่นแก่นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป

การจัดตั้งองค์กร: จะมี 2 ระดับคือระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยองค์กรระดับประเทศจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกไม่ใช่การกำกับองค์กรระดับจังหวัดเพื่อป้องกันการครอบงำและไม่ให้เกิดเป็นระบบราชการ ส่วนจำนวนผู้บริหารระดับสูงในระดับจังหวัดรวมทั้งคุณสมบัติควรเป็นไปตามการตัดสินใจของท้องถิ่น

องค์ประกอบขององค์กร : องค์กรทั้งสองระดับจะมาจากการเลือกตั้งที่สามารถทำพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีองค์ระดับประเทศ และ/หรือพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรณีองค์ระดับจังหวัด

งบประมาณขององค์กร: จากงบประมาณแผ่นดินจำนวนหนึ่งที่มีการกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนเหมือน เช่นตามพรบ.จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และมาจากเงินบริจาค

วิธีการแจ้งข้อมูลจากประชาชน : ทางสื่อสังคมออนไลน์หรือวิธีการอื่นๆ

แรงจูงใจแก่ประชาชน : ประชาชนผู้แจ้งข่าวจะได้รับรางวัลจำนวนหนึ่งเมื่อมีการฟ้องร้องผู้กระทำความผิด

ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องมีรายละเอียดหัวข้ออื่นๆที่ต้องพิจารณาและช่วยกันออกแบบต่อไปเช่น

o   มาตรการทางกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนผู้แจ้งข่าว

o   การรักษาความลับของผู้แจ้งข่าว

o   ความผิดฐานการส่งข่าวเท็จของผู้แจ้งข่าวหรือการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ขององค์กรเอง

o   จำนวนและคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการองค์กรระดับประเทศและระดับจังหวัด

o   การขัดกันซึ่งผลประโยชน์ของบุคคลากรในองค์กร

o   จำนวนและที่มาของบุคคลากรในองค์กรทั้งสองระดับ เป็นต้น

แม้ว่าจะยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาอีกบางประการ แต่ประสบการณ์จากประเทศที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว บ่งชี้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นทางการ ผ่านทางองค์กรของภาคประชาชนที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนและเพียงพอ รวมถึงทรัพยากรที่มากพอในการดำเนินการ จะเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งบทเรียนดังกล่าวก็น่าจะเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการในประเทศไทยเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า