น้ำท่วม64 กับความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาล

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center

In Focus

> ปริมาณน้ำฝนสะสมในปี 2564 มากกว่าปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนภาพความไร้ประสิทธิภาพในการเตือนภัยและการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล

> รัฐบาลจึงควรเร่งยกระดับประสิทธิภาพของการเตือนภัยโดยด่วน เพราะสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่อาจจะยังเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง ตามปรากฏการณ์ลานีญาที่จะยังส่งผลกระทบจนถึงเดือนมกราคม 2565

> รัฐบาลควรเปิดให้หน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบความผิดพลาดในการบริหารจัดการก่อสร้าง/กักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร และทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่กำลังก่อสร้าง

> รัฐบาลควรเร่งประกาศมาตรการชดเชย/เยียวยาที่ชัดเจนและเพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารของรัฐบาล เช่น พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวิบัติการณ์ของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

> ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการเตือนภัยและการชดเชยเยียวยาอุทกภัยจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ “ความสูญเสียซ้ำซ้อน”ต่อเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สำหรับประชาชนจำนวนมาก และจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต

สภาพพพพ!!! แม้ว่า ผู้บริหารประเทศจะพยายามบอกว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานในช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นเหตุสุดวิสัย เช่น พยายามบอกว่าตนเองไม่สามารถถามฟ้าฝนได้ว่า ฝนจะตกที่ไหนเมื่อไร แต่ Think Forward Center เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมคือภาพสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องน้ำและภัยพิบัติของรัฐบาลอย่างแท้จริงใน 3 ประการด้วยกัน


ประการแรก

ภาวะปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าในภาพรวมของปี 2564 จนถึงกลางเดือนกันยายน 2564 (วันที่ 21 กันยายน 2564) ถือว่า มีปริมาณมากกว่าปีปกติ (หรือค่าเฉลี่ย) เพียงเล็กน้อย โดยทั่วทั้งประเทศสูงกว่าปกติประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น แม้กระทั่งในภาคที่มีปริมาณฝนมากกว่าปกติมากที่สุดคือ ภาคตะวันออก ก็มีปริมาณสูกว่าปกติประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น

แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากขึ้นในช่วงเดือนปลายเดือนกันยายน 2564 ถือเป็นผลของปรากฏการณ์ลานีญา ที่ได้มีการคาดหมายไว้ล่วงหน้าประมาณ 4-5 เดือน ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว แต่กลับไม่มีการเตรียมการระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพดีพอจากภาครัฐ ทำให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือ เช่น จ. ตาก จ.สุโขทัย จ. ลพบุรี เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมจากน้ำฝนที่ไหลบ่าลงมา (ไม่ใช่จากน้ำท่าแบบที่เคยเกิดขึ้น) และการระบายน้ำที่ไม่ดีพอ ประกอบกับการขาดระบบการเตือนภัยทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่แทบไม่ได้มีการเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันการณ์

Think Forward Center เห็นว่า ขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่กลับเข้าสู่ปกติ เช่นเดียวกับสถานการณ์ลานีญาที่ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งอาจจะยังมีผลให้เกิดฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และมีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีระดับกับเก็บน้ำเกินกว่าร้อยละ 80 และอาจจำเป็นต้องมีการระบายน้ำฉุกเฉินได้อีก ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในหลายลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ลุ่มน้ำคลองหลวง จ.ชลบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง จ. ปราจีนบุรี จ. นครนายก และ จ. ฉะเชิงเทรา ลุ่มน้ำมูล จ. ศรีสะเกษ และ จ. อุบลราชธานี ฯลฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอดเลยไปจนถึง พื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่อาจต้องเสี่ยงกับพายุหมุนเขตร้อนในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการเตือนภัยโดยด่วนที่สุด เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดและความเสียหายเช่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระบบการเตือนภัยที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการจะต้องให้ความสำคัญทั้งสำหรับพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่กำลังจะเข้าสู่ระยะที่กำลังจะเก็บเกี่ยว (ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564) การเตือนภัยจึงต้องดำเนินการในระยะเวลาที่พี่น้องในชุมชน และเกษตรกร สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันการณ์ด้วย


ประการที่สอง

การเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ เช่น ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิบางส่วน ยังเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด โดยเฉพาะกรณีการระบายน้ำล้นฉุกเฉินและไม่สามารถควบคุมได้ของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าท่วมพื้นที่ท้ายน้ำหลายอำเภอ โดยปราศจากการควบคุม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการวางแผนก่อสร้างประตูระบายน้ำและการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรที่ผิดพลาด เช่น ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับทำการกักเก็บน้ำจนเกิดเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของอ่างเก็บน้ำในระหว่างการก่อสร้าง และนำไปสู่ภัยพิบัติของสาธารณะในที่สุด

ความผิดพลาดในกรณีอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรดังกล่าว สะท้อนว่าข้อจำกัดในการวางแผนจัดการน้ำที่ยังไม่ได้คำนึงถึงผลจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (อันเนื่องจากภาวะโลกร้อน) ไว้อย่างเพียงพอ และความย่อหย่อนในการบริหารจัดการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อาจนำมาสู่สาธารณภัยขนาดใหญ่ เพราะการวางแผนการก่อสร้างและการบริหารความปลอดภัยในการก่อสร้างดำเนินไปภายใต้การตัดสินใจของ หน่วยงานเจ้าของโครงการเท่านั้น โดยปราศจากการตรวจสอบ/สอบทาน แผนการจัดการความปลอดภัย (ในระหว่างก่อสร้าง) ที่เพียงพอขององค์กรอิสระ (หรือของ Third-party safety assessment) เช่น สภาวิศกรฯ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นต้น

Think Forward Center เสนอให้มีการสอบสวนความผิดพลาดในการก่อสร้างอ่างเก็บล้ำน้ำเชียงไกร โดยหน่วยงานอิสระด้านวิชาชีพ โดยด่วนที่สุด และทบทวนแผนความปลอดภัยในการก่อสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำอื่นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเช่นนี้อีก โดยจะต้องมีการเปิดเผยต่อผลการสอบสวนและมาตรการเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยต่อสาธารณะ


ประการที่สาม

มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนและล่าช้า แม้ว่า ผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นผลโดยตรงมาจากแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ในภาคกลาง ซึ่งจะต้องรองรับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนตุลาคม 2564 ทำให้หลายพื้นที่ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งกำลังจะใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว จึงได้รับความเสียหาย และอาจสูญเสียผลผลิตทั้งฤดูกาลไป โดยยังไม่ความชัดเจนเรื่องมาตรการความช่วยเหลือ/ชดเชยของรัฐบาล

Think Forward Center เห็นว่า ในกรณีพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม เพื่อการลดภัยพิบัติในพื้นที่อื่นๆ (ซึ่งในกรณีนี้หมายถึง พื้นที่ตัวเมืองและชุมชนในแนวคันกั้นน้ำ) ควรได้รับการดูแลและการคุ้มครองความเสียหายอย่างเต็มที่ และมีมาตรการการชดเชยที่ประกาศให้ทราบไว้ล่วงหน้าอย่างแน่ชัด เพื่อเป็นการ “ชดเชย” ต่อความเสียสละที่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องแบกรับ เพื่อลดผลเสียหายในพื้นที่อื่นๆ

เช่นเดียวกับ ความเสียหายอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการก่อสร้างของหน่วยงานราชการ เช่น ในกรณีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ก็ควรจะมีมาตรการ “ชดเชย” ที่ชัดเจนและเต็มจำนวน (มูลค่าความเสียหาย) ด้วยเช่นกัน โดยหน่วยราชการเจ้าของโครงการควรจะร่วมรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตนด้วย

Think Forward Center ขอแสดงความเป็นห่วงว่า ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล กำลังทำให้เกิดสถานการณ์ “ความสูญเสียซ้ำซ้อน” หลังจากที่ 2 ปีที่ผ่านครัวเรือน/ชุมชนจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้และสินทรัพย์ (รวมถึงมีหนี้สินเพิ่มขึ้น) ไปไม่น้อย จากสถานการณ์โควิด-19 หากยังต้องมาสูญเสียสินทรัพย์จากอุทกภัยซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ย่อมจะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ทั้งในระดับครัวเรือน ระดับจังหวัด และในระดับภาพรวมของประเทศด้วย

Think Forward Center เห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล จะยุติการแสดงทัศนะในเชิงว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น “อยู่นอกเหนือ” การควบคุมของรัฐบาล แล้วหันมาแสดงความรับผิดชอบ และความพร้อมรับผิดอย่างเต็มที่ ในการพยายามหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ และชดเชย/เยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้ว สังคมไทยย่อมมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงหรือลดทอนสถานการณ์ “ความสูญเสียซ้ำซ้อน”ที่ต้องเผชิญลงได้

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า