โดย อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
In Focus:
- กรุงเทพฯ กำลังเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่ตามลำพังคนเดียว และมีความเหงามากขึ้น แต่ความเหงาและความจนอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว โครงสร้างของเมืองก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญของความเหงาได้เช่นกัน
- ความเหงาของคนกรุงเทพฯ เกี่ยวพันกับเวลาที่ต้องสูญเสียไปในการเดินทาง เวลาที่ต้องใช้ทำงาน และรูปแบบการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวย แพง และไม่ค่อยพบเจอผู้คน
- พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนในกรุงเทพฯ จะได้พอเจอกันก็ยังมีจำกัด ไม่ว่าจะในรูปแบบพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม ทำให้โอกาสในการพบปะผู้คนย่อมลดน้อยลงด้วย
- การดิ้นรนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปิดกั้นทางวัฒนธรรมก็กลายเป็นกำแพงที่มองไม่เห็นที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งในกรุงเทพมหานครสามารถเจอกันได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันเท่ากัน
- Think Forward Center เสนอให้มีการปรับปรุงทั้ง (ก) การเดินทางและการขนส่งที่ง่ายสะดวก และทุกคนเข้าถึงได้ (ข) การเพิ่มพื้นที่สาธารณะในเมือง (ค) การขจัดความไม่ปลอดภัยและการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และ (ง) การพัฒนาระบบสวัสดิการและการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
เนื่องในโอกาส วันวาเลนไทน์ ได้เวียนมาบรรจบอีกปีหนึ่ง กับปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองกรุงเทพฯ จากวาทกรรม “อ้วน-จน-เหงา” ที่ยังไม่มีวี่แววจะแก้ไขได้ และดูเหมือนจะยิ่งแย่ลงระหว่างที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่หมดไป Think Forward Center จึงขอฉายภาพปัญหาเมืองคนเหงาให้ได้เห็น พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คนกรุงเทพฯ ได้ลดน้อยลง
กรุงเทพฯ หรือว่าเทพไม่ได้สร้างให้เรามีคู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ไม่ว่าจะในแง่ของเศรษฐกิจ ประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการผังเมือง โดยรายงานสถิติประชากร สำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย[1] ระบุว่า แม้จำนวนประชากรกรุงเทพจะมีสัดส่วนที่ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) จาก 5,674,843 คน เหลือเพียง 5,527,994 คน แต่สัดส่วนที่น่าสนใจกลับอยู่ที่จำนวนครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 2,459,680 ครัวเรือน เป็น 3,147,231 ครัวเรือน ทำให้อนุมานได้ว่า ลักษณะการอยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเวลา 10 ปีมานี้ มีลักษณะการอยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น
แต่การที่คนกรุงเทพฯ ต้องอยู่คนเดียวมากขึ้นนั้น เป็นเพราะมันคือแนวโน้มของสังคมสมัยใหม่ทั่วๆ ไป หรือเป็นเพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกแบบมาให้เราพบเจอหรือมีคู่ (ได้ง่ายๆ) กันแน่ เดี๋ยวเราลองมาดูปัญหาต่างๆ ในเมืองกรุง ที่ทำให้เราเหงาและพบเจอผู้คนน้อยลงกัน
เมืองโตเดี่ยวที่ต้องเสียเงิน เสียเวลาไปกับการจราจรบนถนน
หากจะพูดถึงกรุงเทพฯ ภาพจำแรกๆ ที่เด้งขึ้นมาในหัวของทุกคนคงหนีไม่พ้น เมืองแห่งความวุ่นวาย เสียงจอแจและปัญหารถติด ด้วยจำนวนประชากรหลักและแฝงรวมเกือบสิบล้านคน การใช้ชีวิตกินอยู่ เล่าเรียน ทำงาน และทำธุรกรรมต่างๆ นำพาให้ผู้คนออกจากบ้านมาอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองใหญ่แห่งนี้
การต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนในเมืองใหญ่นี้เป็นเวลาร่วมหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน นอกจากจะทำให้ผู้คนอยู่ในสภาวะที่เครียด เนื่องจากต้องเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อไปให้ทันที่หมาย การเบียดเสียดกันในระบบขนส่งสาธารณะที่จำกัด ยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเดินทางมากขึ้น กว่าจะถึงที่พักก็ทำให้หลายคนไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไปพบปะผู้คุยกับคนอื่น หรือไปทำกิจวัตรอื่นเพื่อพัฒนาตนเองแล้ว
และหากเราจะตัดปัญหาการใช้รถยนต์หรือขนส่งสาธารณะด้วยการเดินบนทางเท้าที่รัฐจัดสรรให้แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ทุกคนอาจต้องพบคือ กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่มีปัญหาในเรื่องการจัดการทางเท้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง แม้ปัจจุบัน กทม.จะกำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และโรงเรียน ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร แต่จนถึงตอนนี้ หลายพื้นที่กรุงเทพฯ ยังประสบปัญหาทางเท้าที่แคบกว่ามาตรฐาน รวมถึงวัสดุทางเท้าที่ไม่มีความทนทานและรองรับการเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย เป็นเหตุให้หลายคนต้องพบเจอกับความโชคร้ายกับทุ่นระเบิดอิฐตัวหนอนที่มีน้ำขังอยู่ข้างใต้
ยิ่งไปกว่านั้น ทางเท้าของกรุงเทพฯ ยังถูกดัดแปลงให้กลายเป็นที่จัดวางสิ่งของของภาครัฐ เช่น ตู้เก็บสายโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า เป็นต้น หรือแม้แต่กลายเป็นที่ตั้งบรรดาร้านค้าและร้านอาหารริมทาง (Street Food) ที่แม้ว่าบางร้านจะเลื่องชื่อลือชาเรื่องเมนูประจำร้านที่แสนอร่อยแค่ไหน แต่สิ่งเหล่านี้กลับสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า การจัดหาที่ทางให้เป็นหลักแหล่งสำหรับร้านอาหารริมทางยังคงเป็นปัญหาที่หน่วยงานท้องถิ่นของเมืองนี้ไม่สามารถแก้ไขได้
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ UDDC จึงได้สำรวจพบว่า ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่มีศักยภาพในการเดินในระดับที่สูงเพียงประมาณร้อยละ 11 เท่านั้น แน่นอนว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงส่วนใหญ่อยู่ใน 17 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และหากจะขยายไปรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ามาด้วย พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเดินในระดับสูงจะเหลือเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น[2]
เมื่อการเดินทางในระยะไกลหรือใกล้ก็ล้วนแต่พบเจอปัญหา การเลือกใช้ขนส่งสาธารณะจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ต่อเที่ยวกลับสูงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำที่เราได้รับในหนึ่งชั่วโมง แตกต่างจากเมืองใหญ่ระดับอินเตอร์อื่นๆ ที่แรงงานสามารถใช้ค่าแรงงานขั้นต่ำของตนเดินทางไปมากกว่า 2 เที่ยว พวกเราหลายคนจึงต้องอดทนกับถนนที่แสนจะติดขัด[3]
นอกจากปัญหาบนท้องถนนและทางเท้าแล้ว เมื่อพูดถึงการเรียนหรือการทำงานของคนในกรุงเทพฯ ก็พบว่า คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาไปกับการเรียนและการทำงานมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยผลสำรวจของ Kisi บริษัทเทคโนโลยีที่ให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ในหัวข้อ “Cities with the Best Work-Life Balance 2021”[4] พบว่า คนกรุงเทพฯ ชั่วโมงการทำงานสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO กำหนดว่า ชั่วโมงการทำงานที่สมดุลจะต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์
เหตุผลสำคัญที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องทำงานหนักขนาดนี้ เพราะหากเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย กรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูงกว่ามาก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี 2562 พบว่า ผู้คนในกรุงเทพฯ จะมีค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารมากกว่าเมืองอื่นๆ ของไทยถึง 30% มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากกว่าเมืองอื่นๆ ของไทยถึง 65% และมีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยมากกว่าเมืองอื่นๆ ของไทยถึง 65% เช่นกัน
และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ดูเหมือนว่า คนกรุงเทพฯ จะต้องทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากมาตรการ Work From Home ที่อนุญาตในทุกคนทำงานอยู่บ้านได้ แต่การทำงานรูปแบบนี้กลับส่งผลให้ทุกคนต้องพร้อมรับมือกับงานทุกช่วงเวลาของวัน และเป็นเหตุให้ผู้คนสูญเสียเวลาส่วนตัวของตนเองมากขึ้น และเริ่มมีปัญหากับโรคออฟฟิศซินโดรมและโรคอ้วน โดยมีสาเหตุมาจากร่างกายขยับเคลื่อนไหวน้อยจนเกินไป
ด้วยสาเหตุนานาประการที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้เวลาของเราที่ควรจะได้พบปะกับเพื่อนฝูงและผู้คนเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ พร้อมๆ กับโอกาสในการที่เราจะได้พบเจอคู่ของเราด้วยนั่นเอง
เพื่อให้เราได้มีเวลาเป็นของเราเองมากขึ้น พร้อมๆ กับโอกาสในการพบเจอผู้คน ทาง Think Forward Center จึงมีขอเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีทางเลือกที่หลากหลาย รวมทั้งร่นระยะเวลาในการเดินให้ “ไม่ยาวนาน” “ไม่แพง” “ไม่ลำบาก” และ “ไม่เสี่ยง” จนเกินไป เพื่อให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นและกลับมาใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น เพื่อนำไปสู่โอกาสในการเดินทางของผู้คนที่มากขึ้น และทำให้ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างมากขึ้น
2. ปรับปรุงและพัฒนาทางเท้าที่ตอบโจทย์ทั้งการเดินทาง และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ (Transit Area/Route) ที่พอจะสามารถพบปะพูดคุยกับผู้คนได้ รวมไปถึงส่งเสริมจิตสำนึกในการเคารพสัญญาณไฟจราจร และการใช้ท้องถนนร่วมกันทั้งผู้ใช้รถและบุคคลเดินเท้า
3. จัดสรรพื้นที่หรือพัฒนาพื้นที่ศูนย์อาหารขนาดย่อย (แบบ Food Hawker) สำหรับให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถค้าขายสินค้าและอาหาร (Street Food) โดยจะต้องเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้สะดวก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินของผู้คน และต้องเป็นพื้นที่ที่จัดเก็บค่าแผงที่เป็นธรรม
4. การปรับลดค่าครองชีพ และการปรับค่าแรงงานและรายได้คนกรุงเทพฯ มีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าเดินทาง และค่าครองชีพอื่นๆ รวมไปถึงการปรับลดชั่วโมงการทำงานลง และทำให้ผู้คนมีเวลาพักผ่อนที่อำนวยให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
เมืองโตเดี่ยวที่แสนหงอยเหงา เหลื่อมล้ำ และไม่รองรับความหลากหลาย
แม้ปัจจุบัน ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับล่าสุด จะจัดทำและประกาศใช้เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตชุมชนในอนาคต แต่การขยายตัวของชุมชนส่วนใหญ่คือ การผุดขึ้นใหม่ของอพาร์ทเม้นท์ โครงการคอนโดมิเนียม และหมู่บ้านจัดสรรในเขตพื้นที่ที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย โดยที่อยู่อาศัยสมัยใหม่เหล่านี้มักถูกออกแบบให้อำนวยความสะดวกและตอบสนองกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างครบครัน ผ่านการสร้างพื้นที่ส่วนกลาง อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านซักรีด ร้านกาแฟ สวนสาธารณะ และ Co-working space ภายในโครงการ
นัยหนึ่ง การสร้างพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการเหล่านี้ ยังผลให้ผู้อยู่อาศัยมีชีวิตที่สะดวกสบายจริง แต่ผลอีกนัยหนึ่งคือ พื้นที่อำนวยความสะดวกภายในโครงการจัดสรรเหล่านี้ทำให้เกิดชุมชนแบบปิด (Gated Communication) ที่ร้อยวันพันปีเราอาจไม่มีทางพบเห็นเพื่อนบ้านได้เลย หรือถ้าพบเห็นก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เลือกอยู่ในพื้นที่ตนเอง และมองว่าไม่ได้มีผลกระทบใดสืบเนื่องถึงกันหากจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนแบบปิดส่วนมากมักรู้สึกเหงาและไม่มีความสุข แม้จะมีทุกอย่างพร้อมอำนวยความสะดวกแล้วก็ตาม
ครั้นจะออกไปยังพื้นที่สีเขียวส่วนกลาง อย่างสวนสาธารณะ หรือสวนหย่อมที่ กทม.จัดสรรให้ก็พบว่า พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครมีเพียง 6.9 ตารางเมตร/คน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดว่าควรจะมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่า 9 ตารางเมตร/คน ยิ่งถ้าเจาะลึกลงไปในรายเขตแล้วจะพบว่า จากทั้งหมด 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีเพียง 11 เขตเท่านั้นที่มีพื้นที่สีเขียวถึงเกณฑ์ที่กำหนด[5]
นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว พื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม หรือพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ในกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน (ที่เรียกว่า เป็น sub-culture เดียวกัน) ก็เป็นพื้นที่สำคัญที่ให้คนคลายเหงา หรือพบคนที่เข้าใจ/รู้ใจได้
นอกเหนือจากปัจจัยทางกายภาพ กรอบความคิดทางสังคมก็มีส่วนให้ ชาวกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องพบเจอกับ “กำแพงที่มองไม่เห็น” ในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งถืออุปสรรคอย่างมากต่อการสร้างวงสังคมอันประกอบไปด้วยผู้คนที่มีพื้นเพที่หลากหลาย
กำแพงเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่รีบเร่ง และแย่งชิงกันเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดิ้นรนเพื่อมีที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบายกว่า โรงเรียนที่มีคุณภาพที่ดีกว่า สถานที่ทำงานที่มีสวัสดิการที่ดีกว่า และอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากโอกาสที่จำกัดของประชากรกลุ่มหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษาและการทำงานที่ดีกว่า เหตุผลทั้งสองข้อนี้ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยถูกตีกรอบวงสังคมเฉพาะคนที่มีพื้นเพฐานะใกล้เคียงกัน และอาจนำมาสู่ความไม่เข้าใจ อคติ และความรุนแรงเชิงโครงสร้างในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมไปถึงความกังวลใจเรื่อง ความไม่ปลอดภัยด้านต่างๆ ในเมือง และปัญหาการใช้ความรุนแรง ทั้งจากคนที่เราไม่รู้จัก และคนที่อาจอยู่ใกล้ตัว (หรือกำลังเข้ามาใกล้ตัว) ของเรา ที่กลายเป็น “กำแพงที่มองไม่เห็น” ที่มาจำกัดตัวเราและความสัมพันธ์ของเราไว้ในขอบเขตของกำแพงที่มองไม่เห็น และนำไปสู่ความเหงาจากการถูกกำแพงเหล่านี้จำกัดกรอบการเข้าสังคมในที่สุด
การจะแหวกวงล้อมของกำแพงที่มองไม่เห็น และพื้นที่สาธารณะที่มีจำกัด ไปสู่การ ทาง Think Forward Center จึงมีขอเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. จัดสรรพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มเติม โดยเฉพาะ “พื้นที่สีเขียว” ที่ให้ความผ่อนคลายและความร่มรื่นแก่คนกรุงเทพฯ รวมทั้ง “พื้นที่เชิงวัฒนธรรมและสันทนาการ” ที่ตอบโจทย์การรวมกลุ่มของผู้ที่มีวัฒนธรรมย่อย (Sub-culture) รูปแบบเดียวกัน
2. พัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในการทำงานที่ทั่วถึง และเท่าเทียมกันมากขึ้น
3. ส่งเสริมมุมมองและแนวคิดที่โอบรับความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในทุกระดับ เนื่องจาก กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการมีวัฒนธรรมย่อยที่มากมาย ไม่ใช่แค่การรวมกลุ่มเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว แต่รวมถึงผู้คนทุกช่วงวัยด้วย
4. เสริมสร้างเมืองให้ปลอดภัยและส่งเสริมแนวคิดปฏิเสธการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่อความสัมพันธ์ ทั้งในแง่การกระทำต่อร่างกายหรือการกระทำที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความมนุษย์ผ่านทางวาจาหรือทางจิตใจ
[1] สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php
[2] ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC), โครงการเมืองเดินได้ https://www.uddc.net/ui-project01
[3] Mango Zero. พาไปส่อง! อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าจาก 8 ประเทศทั่วโลก https://www.mangozero.com/worldwide-subway-and-skytrain-price/
[4] Kisi, Cities with the Best Work-Life Balance 2021 https://www.getkisi.com/work-life-balance-2021#table
[5] ไทยพีบีเอส คนกรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวไม่พอจริงหรือ https://thevisual.thaipbs.or.th/bangkok-green-space/main/