ตำรวจหญิงกับกระบวนการยุติธรรมที่ขาดหายในคดีการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ

ภัสริน รามวงศ์
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางซื่อ ดุสิต (แขวงนครไชยศรี) พรรคก้าวไกล


ประเทศไทยมีการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 71 ประเทศ (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2560) ถือว่า มีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจากการสำรวจพบว่า มีผู้หญิงไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน  

อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย เรากลับพบว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมผ่านการแจ้งความโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 29 และจากร้อยละ 29 ของการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น มีเพียงร้อยละ 27 ของคดีทั้งหมดที่ผู้กระทำความรุนแรงถูกดำเนินคดี (รายงานสรุปเวทีเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้พิการหญิง, 2565)


แม้ความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นความผิดทางอาญาที่มิอาจยอมความได้ รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมดไม่เคยถูกรายงาน และข้อมูลสถิติจากกระทรวงยุติธรรม พบว่า ผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75% เคยถูกคุกคามทางเพศและเลือกที่จะไม่แจ้งเหตุ โดยผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่กล้าเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ด้วยเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากคือ ‘ความไม่สบายใจ’ ในการให้การกับตำรวจหรือพนักงานสอบสวนชาย เนื่องจากผู้เสียหายจะสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง แต่สถานีตำรวจจำนวนมากในประเทศไทยกลับไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงที่จะเป็นผู้สอบสวนและดำเนินคดีได้


ปัญหาการขาดพนักงานสอบสวนหญิง 



จากประสบการณ์การสอบปากคำของพนักงานสอบสวนชายหลายครั้ง พบว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนไม่ได้คำนึงความละเอียดอ่อนทางจิตใจของผู้ถูกกระทำ อีกทั้งยังมีอุปสรรคในด้านทัศนคติ ความคิด ความเชื่อหรือมุมมอง การมีอคติต่อผู้ถูกกระทำ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงซ้ำสองโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการเพิกเฉยหรือหัวเราะเยาะต่อคำพูดของผู้ถูกกระทำ ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินคดี และสร้างความไม่มั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรมให้กับผู้ถูกกระทำ เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ 

นอกจากนี้ เจ้าพนักงานสอบสวนยังขาดความเข้าใจในประเด็นพื้นฐานบางประการ เช่น การข่มขืนเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา (marital rape) ที่สังคมยังไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง และไม่เห็นความจำเป็นในการใช้กฎหมายคุ้มครองผู้หญิงในฐานะภรรยา หรือการกล่าวโทษว่าผู้ถูกกระทำมีส่วนผิด เช่น การตั้งคำถามต่อบุคลิกลักษณะของผู้ถูกกระทำ เช่น การแต่งกาย ความประพฤติ รวมถึงสถานีตำรวจหลายแห่งทำการสอบสวนผู้เสียหายในพื้นที่รวมกับผู้อื่น ซึ่งมีผลให้คนอื่นได้ยินการสอบสวนด้วย พฤติการณ์และสภาพแวดล้อมเหล่านี้สร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้กับผู้ถูกกระทำยิ่งขึ้น และมีความวิตกกังวลว่า ตนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหายเป็นอย่างมาก และทำให้ผู้ถูกกระทำหลายรายถอดใจไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในที่สุด


ตำรวจหญิงในประเทศไทย



ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนทั้งหมดจำนวน 11,607 คน แบ่งเป็นพนักงานสอบสวนหญิงจำนวน 763 คน (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 2565) หรือเท่ากับร้อยละ 6.6 ของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนสถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,482 แห่ง ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่า จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงยังไม่เพียงพอกับสถานีตำรวจทุกแห่งด้วยซ้ำ 

ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแผนในการผลิตพนักงานสอบสวนหญิงและชายอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีนโยบายในการผลิตอัตรากำลังคนพนักงานสอบสวนจาก 3 ทางด้วยกัน คือ 

  1. นักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบจากการศึกษาจากโรงเรียนในระบบตำรวจประมาณ 300 นาย ซึ่งในแต่ละปีจะมีจำนวนไม่เท่ากัน 
  2. การสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลจากภายนอกที่มีวุฒิปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต เข้าบรรจุเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการกำหนดจำนวนของผู้หญิง ขึ้นอยู่กับภารกิจและอัตรากำลังพลตำแหน่งที่ว่าง 
  3. การสอบเลื่อนขั้นจากข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในสายงานสอบสวน 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 มีการยกเลิกรับนักเรียนนายร้อยหญิง โดยมีการอ้างว่า การยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจะไม่กระทบในส่วนของจำนวนตำรวจหญิงที่จะทำหน้าที่พนักงานสอบสวนโดยเฉพาะคดีเพศและเด็ก แต่การเปิดรับสมัครพนักงานสอบสวนหญิง ในปี 2565 ที่ให้สัดส่วน ผู้สมัครหญิง 100 คนจากที่เปิดรับสมัครทั้งหมด 400 คนนั้น ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงได้เพียงพอกับจำนวนผู้เสียหาย และสถานีตำรวจที่มีอยู่


การพัฒนาตำรวจหญิงในต่างประเทศ 

ในหลายประเทศมีแนวทางการพัฒนาตำรวจหญิงที่น่าสนใจ โดยข้อมูลจาก (DCAF, OSCE/ODIHR, UN Women, 2019) ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาตำรวจหญิงในหลายประเทศ เช่น

แอฟริกาใต้ มีตัวแทนผู้หญิงที่ทำงานในสายงานตำรวจรวมถึงในระดับอาวุโส ในฐานะที่ส่วนหนึ่งการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทึกรูปแบบ (CEDAW) รัฐบาลแอฟริกาใต้ทุกรัฐบาล กระทรวงและองค์กรทุกแห่งต้องมีศูนย์ประสานงานกลางด้านเพศสถานะ มีการขับเคลื่อนการสร้างเสริมอำนาจผู้หญิงทั่วแอฟริกาใต้ เพื่อชักชวนให้ผู้หญิงสมัครเข้ารับการเลื่อนตำแหน่ง 

ลัตเวีย ถือเป็นประเทศที่มีอัตราสัดส่วนตำรวจหญิงมากที่สุดในโลกคือ ร้อยละ 37.40 อีกทั้งยังมีผู้พิพากษาหญิงสัดส่วนสูงที่สุดในยุโรป โดยที่ผู้พิพากษามากกว่า 3 ใน 4 ของประเทศลัตเวียนั้นเป็นผู้หญิง 

อินเดีย มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจหญิงล้วน (all women police units -AWPUs) ขึ้นในรัฐเคราลาและขยายครอบคลุมมากขึ้นในรัฐทมิฬนาฑู ในปี 2560 มีหน่วยตำรวจหญิงล้วนทั้งสิ้น 613 หน่วยทั่วประเทศ โดยหน่วยงานเหล่านี้มุ่งเน้นที่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง 

บราซิล มีสถานีตำรวจสำหรับผู้หญิงในบราซิล เรียกว่า เดเลกาซีอาส ดิ มุลแยร์ (Delegacias de Mulher-DMs) จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองแรงกดดันของนักเคลื่อนไหวผู้หญิงในสถานการณ์ที่มีอัตราการฆาตกรรมผู้หญิง การประทุษร้ายทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวที่สูงมาก ในขณะที่ผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวล สถานีตำรวจสำหรับผู้หญิงยังออกแบบให้มีการทำหน้าที่ลงบันทึกการร้องเรียน สืบสวน และการดำเนินคดี โดยมีจุดมุ่งหมายว่าผู้เสียหายที่รอดชีวิตมาได้จะต้องได้รับการดูแลโดยหน่วยงานเฉพาะทาง และหลีกเลี่ยงการตกเป็นผู้เสียหายซ้ำสอง  

มาเลเซีย การทำงานของตำรวจหญิงในมาเลเซีย มีหน่วยงานของตำรวจหญิงในการปฏิบัติงานเชิงรุกนอกพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความคุ้นเคยกับคนในชุมชน อีกทั้งจำนวนคดีที่เกี่ยวกับเพศ เด็ก ผู้หญิงในประเทศมาเลเซียที่ตำรวจหญิงเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำคดีก็มีมากขึ้น เพื่อเป็นการลดช่องว่างให้กับประชาชน 


ความจำเป็นในการเพิ่มตำรวจหญิง



หากไม่มีการเพิ่มตำรวจหญิงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็จะทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าพอ/ ไม่ไว้ใจ/ ไม่เชื่อใจ ที่จะออกมาแจ้งความเนื่องจากความไม่สบายใจ หรือเท่ากับว่า รัฐไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการบังคับใช้กฎหมาย และแปลว่า ความรุนแรงของผู้หญิงก็อาจจะยิ่งเพิ่มพูนต่อไป และยืดเยื้อไม่สิ้นสุด (เพราะผู้กระทำส่วนใหญ่ไม่ถูกดำเนินคดี) ดังนั้น การเพิ่มสัดส่วนโครงสร้างพนักงานสอบสวนหญิง จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเอาผิดทางคดีตามกฎหมาย ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพต่อไป

‘ตำรวจหญิง’ หรือพนักงานสอบสวนหญิงที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีในการต่อสู้ที่ท้าทายกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศแล้ว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อองค์กรตำรวจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสาธารณชน ให้เป็นไปในวิถีของการให้บริการที่ดูแลประชาชน ด้วยความเข้าใจและละเอียดอ่อนไหวในประเด็นทางเพศ

ดังนั้น รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ควรจัดให้มีตำรวจหญิงทุกสถานีตำรวจ เพื่อทำหน้าที่ในส่วนของการรับเรื่องคดีเด็กและสตรี โดยอาจจัดสรรให้มีตำรวจหญิงจำนวนสถานีละ 2 นาย หรือมากกว่านั้น และควรพิจารณาในการเพิ่มจำนวน/การรับสมัครตำรวจหญิง และเพิ่มวุฒิในการรับสมัครตำรวจหญิง เนื่องจากปัจจุบัน เปิดรับเฉพาะวุฒินิติศาสตร์ เท่านั้น


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ

นอกจากการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงและพนักงานสอบสวนหญิงแล้ว เพื่อลดการกระทำรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำรุนแรงต่อผู้หญิง และเพื่อเยียวยาผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ รัฐบาลควรดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. จัดตั้งหน่วยงานคดีความรุนแรง คดีความผิดแห่งเพศ ต่อเด็ก ผู้หญิง และเพศอื่นๆ เป็นกลไกเชิงสถาบัน โดยจัดตั้งหน่วยงานตำรวจหญิง พนักงานสอบสวนหญิง ที่มีความเฉพาะทางด้านคดีล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
  2. เพิ่มสาย hotline รับเรื่องคดีทางเพศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแยกหน่วยงานที่รับแจ้งเกี่ยวกับคดีความผิดแห่งเพศ
  3. เพิ่มทีมสหวิชาชีพ รวมถึงแพทย์ พยาบาล นักคุ้มครองเด็ก นักจิตวิทยาเฉพาะทาง เพื่อดูแลผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นการเฉพาะ 
  4. การออกแบบห้องสอบสวนคดีความในสถานีตำรวจ โดยต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัย และไม่รู้สึกอับอายที่จะมีผู้อื่นได้ยินการสอบสวนนั้นด้วย
  5. เพิ่มความปลอดภัยทั้งในพื้นที่เมือง และพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยและแจ้งเหตุที่เพียงพอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า