อย่าทิ้งเหมียวจรไว้ข้างหลัง เปิดนโยบายดูแลแมวถ้วนหน้า เนื่องในวันแมวสากล

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


เนื่องในวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแมวสากล โดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ (International Fund for Animal Welfare) ประกาศให้มีวันดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงให้วาระเรื่องการช่วยเหลือและพิทักษ์รักษาแมวเป็นวาระที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

ขณะที่ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการจัดการแมวจร และยังไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหานี้ Think Forward Center จึงขอขยายภาพสถานการณ์แมวจรทั่วประเทศในปัจจุบันให้ชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยให้ปัญหาแมวจรได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีได้


สถิติและสถานการณ์แมวจรทั่วประเทศล่าสุด

อ้างอิงหน้าเว็บไซต์ http://164.115.40.46/petregister# 


จากข้อมูลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้เก็บข้อมูลจำนวนสุนัขและแมวจรเพื่อรวบรวมส่งให้ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว (Pet Register) เมื่อปี 2562 พบว่า สถิติแมวไม่มีเจ้าของอยู่ที่ 55,021 ตัว

ขณะที่ ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ เมื่อปี 2559 เผยว่า ทั่วกรุงเทพมหานคร มีจำนวนแมวไม่มีเจ้าของอยู่ที่ 89,269 ตัว และเมื่อรวมกับจำนวนแมวไม่มีเจ้าของทั่วประเทศอยู่ที่ 474,142 ตัว อีกทั้งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมในปี 2562 ว่า จำนวนแมวที่ไม่มีเจ้าของและกำลังอยู่ในสถานะด้อยโอกาสอาจมีอยู่ราว 1 ล้านตัว

แม้ว่าตัวเลขจาก 2 แหล่ง จะคลาดเคลื่อนกันอยู่มาก แต่แมวจรก็เป็นปัญหาที่ชาวบ้าน/ชุมชนในหลายท้องที่กำลังประสบพบเจอ โดยปัญหาที่ตามมาส่วนใหญ่คือ 1) แมวจรออกลูกเพิ่มจำนวนเร็วมาก ซึ่งปกติแมวสามารถออกลูกได้ 4 คอกต่อปี (โดย 1 คอก สามารถออกได้มากสุด 4 ตัว) เท่ากับในปีหนึ่งแมวสามารถออกลูกได้มากสุด 10-16 ตัว 2) สุขลักษณะของชุมชนที่ลดต่ำลง จากการที่คนในชุมชนสงสารและนำอาหารมาให้แมว และ 3) แมวจรคือ แมวที่ไม่มีเจ้าของ ทำให้แมวเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและการรักษาโรคได้ เป็นเหตุให้แมวจรเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคร้ายมาสู่สัตว์เลี้ยงในบ้านและมนุษย์ได้ โดยข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 และ ปี 2560 ระบุว่า พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 13 ราย และ 11 ราย ตามลำดับ 

การแก้ปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้านี้ เป็นวาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่ง โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เคยให้ข้อมูลผ่าน BBC-Thai ว่า ประเทศไทยเริ่มกำจัดสุนัขเร่ร่อนมาตั้งแต่ปี 2498 หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า และมาปรับแก้ พ.ร.บ. ใหม่อีกครั้งในปี 2535 แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดลงเลย จนกระทั่งรัฐหันมาทำหมันและฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว ทำให้จำนวนโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้นลดลงอย่างมาก จนในปี 2557 สถานการณ์คือไม่พบการเจ็บป่วยในคน แต่สถานการณ์ก็กลับมาระบาดอีกครั้งในปี 2559

ภาพจาก naewna.com


ปัญหาหลักคือ ภายหลังการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงเข็มแรกแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรกประมาณ 1 เดือน และจำเป็นต้องกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยผู้เลี้ยงน้อยรายที่จะทราบถึงข้อมูลนี้ และงบประมาณที่รัฐต้องรับผิดชอบในการจัดฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในสัตว์เองก็ค่อนข้างมาก (จากจำนวนของสุนัขและแมวจรที่มีมากกว่า 3.6 ล้านตัวทั่วประเทศ) ก็ทำให้การแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถาวรไม่เกิดขึ้น

ชนัดดา เครือประดับ สัตวแพทย์ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) เคยกล่าวว่า สุนัขและแมวจรไม่ใช่ต้นตอของปัญหาทั้งหมด โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้น หนู ชะนี ลิง หรือกระต่ายก็สามารถเป็นพาหะได้หมด เพียงแต่สุนัขและแมวมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่า เราจึงเห็นข้อมูลว่าคนส่วนใหญ่เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัขและแมวที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งที่เราเป็นเจ้าของเอง หรือยังไม่มีเจ้าของ

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จริงๆ แล้วมาจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายและมาตรการจากภาครัฐในการควบคุมฟาร์มเพาะเลี้ยงและร้านขายสัตว์ ขาดการจัดระเบียบศูนย์พักพิงสัตว์ (ซึ่งควรมีในทุกท้องถิ่น) ขาดการสำรวจจำนวนสัตว์เลี้ยงและการขึ้นทะเบียนสัตว์ เพื่อเช็คจำนวนสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรในท้องที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ขณะที่ผู้เลี้ยงก็ขาดความรับผิดชอบ ไม่คำนึงว่าการรับสุนัขหรือแมวมาเลี้ยง เราจะต้องสามารถเลี้ยงเขาไปตลอดชีวิตได้ ทำให้เกิดปัญหาสุนัข/แมวจรเพิ่มจำนวนขึ้น โดยปัญหาสุดท้ายนี้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ระบุว่า หากพบผู้ปล่อยทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สามารถแจ้งตำรวจให้จัดการได้เลย มีโทษปรับ 40,000 บาท

และแม้ว่ารัฐบาลจะมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … เพื่อเพิ่มเรื่องของการบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เนื่องจากกฎหมายเดิม ไม่มีบทบัญญัติให้ประชาชนต้องจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง ทำให้เกิดปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการผลักภาระให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่สามารถเลี้ยงสัตว์อะไรได้จำนวนเท่าไหร่ เช่น การเลี้ยงสุนัข ซึ่งท้องถิ่นมองว่าเป็นเหตุทำให้เพื่อนบ้านรำคาญ จึงกำหนดให้เลี้ยงได้ 1-2 ตัว/บ้าน ซึ่งอาจนำไปสู่ลิดรอนสิทธิของประชาชน แทนที่จะแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง อีกทั้งช่องโหว่ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมนี้ อาจไปเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องในระบบอุปถัมภ์มากกว่า เช่น อนุญาตให้เปิดฟาร์มงู เพราะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไม่อนุญาตให้องค์กร/มูลนิธิด้านสิทธิสัตว์ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสัตว์ หรือการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ค่าขึ้นทะเบียน 450 บาท แต่จำนวนเงินเหล่านี้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นสวัสดิการให้สัตว์เลี้ยง/สัตว์จร บางท้องถิ่นอาจใช้วิธีฝังไมโครชิปสำหรับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ขณะที่บางท้องถิ่นอาจใช้วิธีทำรอยสัก หรือใส่ปอกคอ ซึ่งเป็นปัญหาจากการที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้กำหนดให้มีบัญญัติกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน


เมื่อรัฐขาดศูนย์พักพิงดูแลสัตว์จร ปัญหาจึงไม่จบสิ้น


ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เคยจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับปัญหาสุนัข-แมวจร เมื่อปี 2562 พบว่า ร้อยละ 76.1 คิดว่าสุนัข-แมวจร เป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข และร้อยละ 87.6 เคยเคยพบเห็นสุนัข-แมวจร ในบริเวณที่อยู่อาศัย ขณะที่เมื่อสอบถามถึงวิธีการแก้ปัญหา ร้อยละ 84.2 อยากให้หน่วยงานภาครัฐมีกระบวนการนำสุนัข-แมวจรไปดูแลในสถานที่ที่เหมาะสม และร้อยละ 47.9 อยากให้ผู้ที่ให้อาหารสุนัข-แมวจร ที่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หยุดพฤติกรรม

ประกอบกับ จนถึงขณะนี้มีเพียงสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย และศูนย์พักพิงสุนัขจรกรุงเทพมหานคร (เขตประเวศและอุทัยธานี) เท่านั้นที่เป็นหน่วยงานรับดูแลสุนัข/แมวจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศกลับมีเพียงศูนย์พักพิงสุนัขจรเพียงบางแห่ง และมีโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าที่คอยดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น ส่วนหน้าที่สำหรับการฉีดวัคซีนโรคติดต่ออื่นๆ หรือการทำหมันในสัตว์จรจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องจัดสรรงบประมาณ (ที่น้อยอยู่แล้ว) มาใช้ในการดูแลสัตว์จรในท้องที่

ภาระหน้าที่จึงมาตกอยู่ที่สถานสงเคราะห์สัตว์เอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานในประเด็นสิทธิสัตว์ ซึ่งมีรายได้ต่อปีที่ไม่มากนัก ทำให้อัตราส่วนพื้นที่สถานสงเคราะห์ต่อจำนวนสุนัขและแมวจรจัดอาจไม่ได้มาตรฐาน และทำให้คุณภาพของสถานสงเคราะห์สุนัขและแมวจรเหล่านี้ไม่ถูกสุขลักษณะทั้งต่อสัตว์และผู้ดูแลในทุกด้าน


Catster by Kingdom of tigers ธุรกิจที่เกิดมาเพื่อช่วยเหลือเหมียวจร


Catster by Kingdom of tigers เป็นคาเฟ่และสถานที่พักพิงแมวจร ตั้งอยู่ที่อาคารทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น 1 คูหา ภายในโครงการ BIZTown พระราม 3 – สุขสวัสดิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ก่อตั้งโดย นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจชื่อดังอย่าง ทูนหัวของบ่าว ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน ซึ่งเพจดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ของคนที่มี/ไม่มีสัตว์เลี้ยงแต่มีความชื่นชอบแมว ไปจนถึงคนที่พบเห็นน้องแมวจรและต้องการให้น้องแมวได้รับการช่วยเหลือ ก็สามารถติดต่อให้ทีมของเพจ ทูนหัวของบ่าว สามารถลงไปดูน้องแมวยังพื้นที่นั้นๆ ได้ แต่เมื่อกรณีขอความช่วยเหลือแมวจรเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการจัดหาสถานที่พักพิงให้แมว 

Catster by Kingdom of tigers จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชมทำความรู้จักแมวจร และหากต้องกลับนำกลับไปเลี้ยงก็สามารถทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แต่ต้องผ่านการสัมภาษณ์และประเมินความพร้อมของผู้รับเลี้ยงก่อนนำแมวกลับไป) โดยภายในร้านจะมีสินค้าจำพวกอาหารแมวและของใช้แมวให้เลือกซื้อกลับไปให้น้องแมวใช้เช่นกัน

“เงินทุนตั้งต้นของก็มาจากตอนที่เราทำเพจ ทูนหัวของบ่าว แล้วมีคนมาจ้างแมวของเราไปถ่ายโฆษณา เป็นพรีเซนเตอร์อาหารสัตว์/ของใช้สัตว์เสี้ยง เงินที่ได้เหล่านี้เราก็แบ่งมาช่วยแมวจรประมาณ 30% และเปิดเป็นหน้าร้านคาเฟ่ให้ทุกคนได้เข้าถึงแมวจรมากขึ้น โดยคาเฟ่ของเราจะต้องทำความสะอาดทุกวันเพื่อให้สถานที่สะอาดและได้มาตรฐาน ปลอดภัยกับทั้งแมวและผู้มาเยี่ยมมากที่สุด”

นัชญ์ กล่าว

แต่เมื่อให้ความช่วยเหลือน้องแมวจรมากขึ้นเรื่อยๆ Catster by Kingdom of tigers ก็เริ่มประสบกับปัญหาภาวะเงินฝืด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแมวจรในแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เพราะน้องแมวจรเหล่านี้ถูกทิ้งให้ใช้ชีวิตอยู่ภายนอก ต้องหากินตามลำพัง ทำให้บางครั้งเผลอไปกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และเกิดเป็นโรคในช่องปาก ทำให้น้องแมวกินข้าวยาก มีอาการน้ำลายไหล หรือถ้าน้องได้รับอุบัติเหตุหรือถูกแมวตัวอื่นทำร้ายร่างกาย ก็จะมีบาดแผลตามร่างกายทำให้เราต้องรักษาเขาในโรงพยาบาลสนามของสัตว์จนกว่าจะหายดี และจึงนำมาอยู่ที่คาเฟ่ได้

เราจึงสอบถามต่อว่า “เคยมีหน่วยงานรัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาอาสาช่วยเหลือ/ให้เงินสนับนุน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาแมวจรกับเราหรือไม่?”


คำตอบที่ได้รับจาก นัชญ์ คือ ไม่มี และเราก็เฝ้ารอมาตลอดว่า จะมีคนมาให้ความสำคัญกับปัญหาแมวจรหรือไม่ เพราะแมวจรถือเป็นปัญหาชุมชน ทำให้เกิดสุขลักษณะที่ไม่พึงประสงค์กับทั้งผู้อยู่อาศัยและแมว โดยเมื่อมีแมวจร คนในชุมชนบางส่วนที่พบเห็นแมวจรก็จะนำข้าวและน้ำมาให้ แต่เมื่อถามว่า ทำไมไม่รับแมวจรเหล่านี้ไปเลี้ยงดูในบ้านให้ถูกสุขลักษณะเลย ชาวบ้านก็มักจะบอกว่า “ไม่ใช่แมวของฉัน”

ปัญหานี้ทำให้ นัชญ์ เคยตัดสินเข้าไปพบกับหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แต่ทั้งสองหน่วยงานต่างก็บอกว่า หน่วยงานของเขาไม่ใช่ผู้รับผิดชอบการจัดหาที่พักพิงให้สุนัขและแมวจร

“จนเราติดต่อเข้าไปคุยเรื่องนี้กับส.ส. และก็พบว่า จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแหละ แต่รัฐไม่มีงบประมาณมาให้จัดการในเรื่องนี้”

นัชญ์ กล่าว

เราจึงชวน นัชญ์ คุยต่อว่า “คิดว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐยังไม่จัดให้ปัญหาสุนัข/แมวจรเป็นวาระระดับชาติที่จะต้องเร่งแก้ไขเสียที?”

“ปัญหานี้มันยากตรงที่ ทุกวันนี้เรายังมอง “คนไม่เท่ากัน” เลย ถ้าจะต้องมามองถึงสิทธิของสุนัขและแมวมันก็อาจจะยากไปอีก”

นัชญ์ กล่าว

คำตอบที่มาพร้อมสีหน้าที่เจ็บปวดและเหนื่อยใจนี้ ทำให้ นัชญ์ ต้องกล่าวต่อว่า เมื่อรัฐไม่มีวิธีการและความใสใจที่จะแก้ไขปัญหา ก็ทำให้ภาคประชาชน เช่น สถานสงเคราะห์สัตว์เอกชน หรือ ทีมงาน Catster by Kingdom of tigers ต้องเข้าไปช่วยเหลือแมวจร เช่นเดียวกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดกลุ่มเส้นด้ายเข้ามาช่วยจัดการปัญหา



ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดฉบับ Catster by Kingdom of tigers

เราจึงถาม นัชญ์ ต่อว่า “หากรัฐจะแก้ปัญหาสุนัข/แมวจรจัดอย่างยั่งยืนได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?”


นัชญ์ ตอบว่า สำนักงานเขตหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับชุมชนในการเสนอแผนในการจัดการปัญหาสุนัข/แมวจร อาจเริ่มจาก

  1. จัดให้มีระบบ สุนัข/แมวชุมชน โดยสมาชิกชุมชนนั้นๆ จะต้องทำประชามติร่วมกันว่า ชุมชนจะรับผิดชอบเลี้ยงสุนัข/แมวจรในพื้นที่ร่วมกันหรือไม่ หากไม่ต้องการรับเลี้ยงก็ต้องไปสู่ขั้นตอนการกำจัดต่อไป 
  2. สำนักงานเขต/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดทำศูนย์พักพิงสุนัข/แมวจรภายในท้องถิ่น โดยอาจใช้พื้นที่ราชการอย่าง ที่ดินราชพัสดุ หรือค่ายทหารในการจัดทำศูนย์พักพิงฯ มีการจัดสรรงบประมาณ และกำหนดมาตรฐานศูนย์พักพิงฯ ทั่วประเทศร่วมกัน รวมถึงต้องจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุนัข/แมวจร มาทำหน้าที่ดูแลศูนย์พักพิงฯ และมีการจัดอบรมการดูแลสุนัข/แมวจร กับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการสร้างงานในชุมชนมากขึ้น
  3. หากจัดตั้งศูนย์พักพิงสุนัข/แมวจรสำเร็จ ควรต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสุนัข/แมวจร โดยอาจมีการวางขายสินค้าอุปโภคบริโภคของสุนัข/แมว รวมถึงของที่ระลึกชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกิดรายได้กลับเข้าชุมชนและศูนย์พักพิงฯ ในการดูแลสุนัข/แมวจรต่อไป
  4. รัฐต้องโปรโมต/ส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเลือกรับสุนัข/แมวจรไปเลี้ยงแทนการซื้อขาย เพื่อลดปริมาณสุนัข/แมวจรในศูนย์พักพิงฯ โดยต้องมีการออกข้อกำหนดเรื่องเอกสารและขั้นตอนการรับเลี้ยงร่วมกันทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนที่รับสุนัข/แมวจรไปเลี้ยงจะไม่นำกลับมาคืนศูนย์พักพิงฯ อีก และหากมีการนำกลับมาคืน ต้องมีการจ่ายค่าปรับกับผู้นำสัตว์เลี้ยงมาคืน
  5. รัฐต้องมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ อย่างจริงจัง โดยต้องจัดให้มีตำรวจสัตว์เลี้ยงเพื่อสอดส่อง/ควบคุมไม่ให้การนำสัตว์เลี้ยงไปทิ้งในพื้นที่ชุมชน



โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้ Think Forward Center ขอน้อมรับไปพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุนัข/แมวจรอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนและประเทศต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า