“CAT FEVER” แค่ความชอบ หรือ โอกาสในการสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่?

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ในปัจจุบัน “แมว” กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสัตว์เลี้ยง และเป็นผลให้กลุ่มคนเหล่านี้หันมาให้ความสนใจกับการเลี้ยงแมวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสถิติจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีสัตว์เลี้ยงมากถึง 13.7 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ 13.2 ล้านตัว โดยในจำนวนนี้ เป็นแมวทั้งหมด 24% 

จากจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์ สินค้าและหยูกยาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ลงทุนแมน เคยประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงแมวต่อเดือน พบว่า การเลี้ยงแมว 1 ตัวอาจมีค่าใช้จ่าย 1,800 – 6,000 บาทต่อเดือน


และเป็นผลให้ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงต่างเติบโตไปพร้อมกับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดย Marketeer สำนักข่าวออนไลน์ด้านธุรกิจและการตลาด ได้รวบรวมข้อมูลและระบุว่า ปี 2560 ตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มีมูลค่าอยู่ที่ 29,300 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2561 ตลาดสินค้าดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 32,230 ล้านบาท (หรือเติบโตขึ้นกว่า 10%) โดยจำนวนนี้ แบ่งเป็น ตลาดอาหารสัตว์ 14,630 ล้านบาท ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพสัตว์ 10,230 ล้านบาท และตลาดเสื้อผ้าและของเล่นสัตว์เลี้ยงอีก 7,370 ล้านบาท

โดยมูลค่าตลาดสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์นี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตลาดส่งออกสินค้าสัตว์เลี้ยง จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปี 2562 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารสัตว์ มีมูลค่าอยู่ที่ 36,650.74 ล้านบาท และเพิ่มสูงมากขึ้นอีกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยพบว่า ปี 2563 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารสัตว์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 44,792.98 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 22.21%) ซึ่งยอดส่งออกอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และนับตั้งแต่เดือนม.ค. – พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงก็เติบโตราว 41,800 ล้านบาท ทำให้ตลาดส่งออกอาหารสัตว์ของไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 รองจากเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องประมาณ 10% ทำให้ปัจจุบันมีผู้เล่นเพิ่มเข้ามาในตลาดราวหลายร้อยแบรนด์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากช่วงก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงเติบโตในไทยนั้น Marketeer ได้สรุปออกเป็น 4 ปัจจัย คือ

  1. จำนวนครอบครัวเดี่ยวและคนโสดมีมากขึ้น
  2. คนแต่งงานแล้วมีบุตรน้อยลง จึงมองหาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อนแก้เหงา
  3. พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของคนในปัจจุบัน ที่เน้นตอบสนองสัตว์เลี้ยงเหมือนกับคนในครอบครัวมากขึ้น จึงต้องหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
  4. พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป เช่น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คน Work from home มากขึ้น


เนื่องในวันที่ 8 สิงหาคม นี้ เป็นวันแมวสากล Think Forward Center เห็นว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทยจะสามารถขยับขยายเป็นผู้นำของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงได้ หากรัฐบาลมีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ตรงจุด แต่ก่อนจะไปถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย Think Forward Center จะพาทุกคนไปดูตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการธุรกิจ ภายหลังหันมาจับตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโตขึ้นทุกๆ ปี เพื่อนำไปสู่การหาสูตรสำเร็จในเชิงนโยบายที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการให้สามารถอยู่รอดและเติบโตไปพร้อมๆ กับตลาดได้


ตัวอย่างธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงสัญชาติไทย “Lifemate”

ปัจจุบัน ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงคิดเป็นสัดส่วน 45% ของตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงทั้งหมด และจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดในตลาด ยังสามารถจำแนกตลาดเป็นกลุ่มย่อยได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่ม Economy Market คิดเป็น 60% ของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด โดยกลุ่มนี้เป็นอาหารราคาประหยัดที่เน้นให้สัตว์กินอิ่ม แต่ไม่ได้คำนึงถึงโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตมากนัก
  2. กลุ่ม Standard Market คิดเป็น 30% ของตลาดอาหารสัตว์ทั้งหมด เป็นอาหารมีคุณภาพอยู่ระหว่างกลุ่ม Economy Market และกลุ่ม Premium Market อีกทั้งยังมีราคาวางจำหน่ายที่ไม่สูงมากนัก
  3. กลุ่ม Premium Market คิดเป็น 10% ของตลาดอาหารสัตว์ทั้งหมด โดยกลุ่ม Premium Market จะเป็นกลุ่มอาหารสัตว์คุณภาพสูงและเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก มีราคาแพง


ภาพจาก rsmall.com


อาหารสัตว์เลี้ยง “Lifemate” เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่สัญชาติไทย ผลิตโดยบริษัท Lifestar จำกัด หนึ่งในบริษัทเครือ RS Group (เครือบริษัทค่ายเพลงและเอนเตอร์เทนเมนท์) ที่หันมาจับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และคิดค้นสูตรขึ้นเพื่อส่งเสริมให้น้องหมาน้องแมวมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว โดยอาหารสัตว์เลี้ยง “Lifemate” เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและปรุงแต่งให้มีรสชาติที่หลากหลาย เพื่อรองรับสุนัขและแมวที่ทานยากได้เลือกสรรรสชาติที่ชื่นชอบ ในราคาที่จับต้องได้

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่องเกือบ 10% ทุกปี แม้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่ม Economy บ้าง แต่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่ม Standard ขึ้นไปกลับมีอัตราการเติบโตมากขึ้นจากการที่คนต้องถูกจำกัดให้อยู่บ้าน และเป็นผลให้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุดของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าว

“เซกเมนต์ Upper Standard ของ Lifemate จะเป็นเซกเมนต์ที่สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดเกือบ 10% ในปี 2565 ได้ จากการที่เข้ามาเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาด Standard ที่ต้องการอาหารหมาและแมวที่มีคุณภาพมากกว่าปัจจุบัน แต่ไม่ต้องการจ่ายเงินให้กับค่าอาหารที่สูงในระดับ Premium” พรพรรณ กล่าว

ทั้งหมดทำให้ อาหารสัตว์เลี้ยง “Lifemate” เปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ซื้อสินค้าระดับ Standard ขึ้นไปให้สัตว์เลี้ยงบริโภค พร้อมกับเป้าหมายว่า Lifemate จะประสบความสำเร็จด้วยยอดจำหน่าย 320 ล้านบาท พร้อมส่วนแบ่งตลาดเกือบ 10% ในปี 2565


ตัวอย่างธุรกิจทรายแมวจากมันสำปะหลังสัญชาติไทย “Hide & Seek”

ภาพจาก intrend.trueid.net


บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Hide & Seek ได้ทำการศึกษาและสำรวจตลาด พบว่า ทรายแมวที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ทรายแมวที่ผลิตในไทย แต่กลับเป็นทรายนำเข้าเกือบ 100% อีกทั้งทรายแมวในท้องตลาด 70-90% ทำจากแร่เบนโทไนท์ (ในประเทศไทย พบได้ในปริมาณที่น้อยมาก) โดยแร่ดังกล่าวนอกจากนิยมเอามาทำทรายแมวแล้ว ส่วนใหญ่ยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างผ่านการนำมาผสมปูนซีเมนต์อีกด้วย ซึ่งแร่เบนโทไนท์ที่พบตามธรรมชาติ มักจะมีสารอนุพันธ์อื่นปะปนมาด้วย เช่น ผลึกแร่ใยหิน (หรือคริสตัลซิลิการ์) เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะก่อให้เกิดโรคมากมายทั้งต่อแมวและคน อาทิ โรคทางเดินหายใจ มะเร็ง แม้กระทั่งโรคไตได้

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้อภินันท์ มหาศักดิ์สวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ ทดลองนำวัตถุดิบชนิดต่างๆ มาทำเป็นทรายแมว จนกระทั่งพบว่า “มันสำปะหลัง” มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการนำมาผลิตเป็นทรายแมว โดยการนำเอามันสำปะหลังมาผ่านกระบวนการ Pregetinization เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติเชิงโมเลกุลของสตาร์ชในมันสำปะหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติที่ช่วยเก็บกลิ่นปัสสาวะของแมวได้ดีที่สุดในท้องตลาด ซึ่งหลังจากแมวใช้งานเสร็จ ทรายแมวจากมันสำปะหลังนี้จะจับตัวเป็นก้อน ทำให้สะดวกในการเก็บและสามารถนำไปทิ้งชักโครกได้โดยไม่เกิดการอุดตัน เนื่องจากมันสำปะหลังมีคุณสมบัติที่สามารถละลายแตกตัวในน้ำได้เร็ว และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของแมวและผู้เลี้ยงอีกด้วย 

คุณสมบัติเหล่านี้เองที่ตอบโจทย์การเลี้ยงแมวในระบบปิดตามพฤติกรรมของผู้เลี้ยงที่นิยมอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมมากขึ้นในปัจจุบัน และยังให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาเมืองและคุณภาพอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศด้วย

และนับตั้งแต่วางจำหน่ายสู่ท้องตลาด ทรายแมว Hide & Seek ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก (ต้นปี 2563) แต่ ทรายแมว Hide & Seek ก็ยังคงเติบโตได้เฉลี่ย 20% ต่อเดือน 

แต่หลังจาก COVID-19 ระลอกล่าสุด (กลางปี 2564) ส่งผลกระทบให้ร้านค้าอาหารและสินค้าสัตว์เลี้ยงปิดตัวลงไปจำนวนมาก Hide & Seek จึงหันไปชดเชยด้วยช่องทางออนไลน์ พร้อมใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างโอกาสการสื่อสารทำคอนเทนต์ถึงข้อดีและข้อเสียของทรายแมวแต่ละประเภท เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และใช้เวลาดังกล่าวนี้พัฒนาธุรกิจในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนเพื่อขยายโรงงาน เพิ่มศักยภาพและความสามารถในตลาดแข่งขัน รวมถึงมาตรฐานโรงงานเพื่อการส่งออก เป็นต้น

นอกจากนี้ Hide & Seek ยังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ผ่านการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุน SMEs ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นสปอตไลท์ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเมื่อเข้าโครงการไปแล้ว และมีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากเจ้าอื่น ก็จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ทรายแมว Hide & Seek มีโอกาสได้เข้าถึงความต้องการของลูกค้า ให้เกิดการพัฒนาทรายแมวให้มีกลิ่นต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น หรือไปร่วมงานกับแบรนด์อื่นเพื่อทำสินค้าร่วมกัน เป็นต้น


ตัวอย่างการส่งออกพันธุ์แมวไทยไปต่างประเทศ

ภาพจาก my.thaibuffer.com


จากข้อมูลของลงทุนแมน ที่เปิดเผยถึงสถิติประชากรผู้เลี้ยงแมวทั่วโลกว่า ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่มีประชากรเลี้ยงแมวมากที่สุด 59% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 43% และอาร์เจนตินา 41% ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรผู้เลี้ยงแมวอยู่ที่อันดับ 8 (33%) เป็นเหตุให้มีผู้จัดทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดการส่งออกพันธุ์แมวไทยไปยังต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ภาคนิพนธ์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “โอกาสในการส่งออกแมวสายพันธุ์ไทยไปยังประเทศรัสเซีย” (2563) โดย อสมาภรณ์ อังกินันทน์ 

ภาคนิพนธ์ดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ด้วยลักษณะโดดเด่นของแมวสายพันธุ์ไทยที่มีอุปนิสัยฉลาด รักบ้านรักเจ้าของ เป็นตัวของตัวเอง รู้จักประจบ ก็ทำให้ชาวรัสเซียให้ความนิยมและยกย่องแมวสายพันธุ์ไทยว่า เป็นพันธุ์แมวที่มีความมหัศจรรย์กว่าสายพันธุ์อื่น อีกทั้งยังกินง่ายอยู่ง่าย เช่น ข้าวคลุกปลาทู โดยปลาทูเป็นอาหารที่แมวสายพันธุ์ไทยชื่นชอบ ส่วนอาหารเม็ดหากฝึกให้ลูกแมวกินตั้งแต่ยังเด็กก็จะกินได้ 

จากความต้องการเลี้ยงแมวโดยเฉพาะแมวไทยของชาวรัสเซียที่มีมากขึ้น ทำให้ตลาดธุรกิจส่งออกแมวสายพันธุ์ไทยเติบโตในประเทศรัสเซีย ประกอบกับพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมาก ทำให้เกิดช่องทางติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง ที่ช่วยผลักดันให้ตลาดธุรกิจเกี่ยวกับแมวเติบโตขึ้น

ปัจจุบันมีเว็บไซต์ของรัสเซียที่นำเสนอข้อมูลและการซื้อขายแมวสายพันธุ์ไทยทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ russia.irr.ru มีข้อมูลว่า กำลังมองหาบ้านใหม่ให้กับแมวสายพันธุ์ไทย เช่น แมววิเชียรมาศ ซึ่งเป็นแมวที่ผ่านการฝึกฝนเพื่อเข้ากับสังคมของมนุษย์ ตั้งแต่วัยเด็กแมวเหล่านี้จะคุ้นเคยกับมือที่อ่อนโยน ทั้งยังมีความสามารถพิเศษที่สามารถนั่งในกระเป๋า ทำให้เกิดการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ป้ายประกาศในรถไฟใต้ดิน เพื่อดึงดูดความสนใจกับผู้เลี้ยงแมวที่กำลังมองหาลูกแมวสายพันธุ์ไทยไปเลี้ยง 

ขณะที่การส่งออกแมวสายพันธุ์ไทยส่วนใหญ่ต้องพบและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งแมว คือ ระยะทางและระยะเวลาในการขนส่ง เนื่องจากประเทศไทยและรัสเซียมีที่ตั้งอยู่ห่างไกลกัน ซึ่งอาจส่งผลให้แมวพบกับโรคระบาด หรือมีอาการเจ็บป่วยได้ โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก หลายประเทศมีความกังวลว่า สัตว์เลี้ยงจะมีโอกาสติดเชื้อและเป็นพาหะโรค แม้จะยังไม่มีการรายงานว่าการติดเชื้อโควิด-19 จากสัตว์ที่สามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ แต่การนำสัตว์เลี้ยงเดินทางไปบางประเทศต้องมีเอกสารรองรับสัตว์เลี้ยงที่ระบุว่า สัตว์เลี้ยงมาจากพื้นที่ปลอดภัย และไม่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

จากการสัมภาษณ์บริษัทขนส่งสัตว์เลี้ยงระหว่างประเทศพบว่า หากผู้ประกอบการไทย ต้องการส่งออกแมวสายพันธุ์ไทยไปยังประเทศรัสเซีย แมวจะต้องไปรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และต้องฝังไมโครชิพ ก่อนการเดินทาง 30 วัน โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางราคาประมาณ 25,000 บาท เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสายการบินและเมืองที่ต้องการนำเข้าแมวสายพันธุ์ไทย

โดยการนำสัตว์เลี้ยงออกนอกประเทศ ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีดังนี้

1. ต้องกรอกแบบคำขออนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (แบบ ร.1/1) แบบออนไลน์ผ่านระบบ e-Movement โดยยื่นเรื่องไปที่ด่านกักกันสัตว์ท่าออก เช่น ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น

2. ต้องตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นที่ด่านฯ ก่อนวันเดินทาง 3 วัน เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เอกสารรับรองการฝังไมโครชิพตรวจอายุสัตว์เลี้ยงซึ่งต้องมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป การเดินทางไปประเทศปลายทางหลายประเทศ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงจีน กำหนดให้สุนัขแมวตรวจค่าภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Titer Test) ด้วย 

3. ผู้โดยสารชำระเงินค่าใบคำขอและค่าธรรมเนียมนำออก สำหรับการนำออกสุนัขหรือแมว 1 ตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอนุมัติออกใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (แบบ ร.9) และหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ฉบับภาษาอังกฤษ (Health Certificate) มอบให้แก่ผู้โดยสารเพื่อนำไปยื่นแก่สายการบินตอนเช็คอิน และด่านกักกันสัตว์ที่ประเทศปลายทางสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินมี 2 แบบคือ 

  • นำติดตัวผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Hand Carry) และทาง Air Cargo โดยโหลดไว้ที่ห้องบรรทุกสัมภาระพิเศษใต้ท้องเครื่องที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงผู้โดยสารสามารถตรวจสอบรายละเอียดการขนส่งกับเจ้าหน้าที่แต่ละสายการบิน สำหรับกล่องบรรจุ
  • หรือกรงสัตว์ต้องได้ตามมาตรฐานของ IATA (สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ) 



ข้อเสนอเชิงนโยบายจาก Think Forward Center


Think Forward Center เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากต่อการพัฒนาธุรกิจในตลาดสินค้าและการเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงเพื่อส่งออกต่างประเทศ จึงมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาและขยายตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ ดังนี้

  1. รัฐต้องมีนโยบายเพื่อสนับสนุนการสร้างตัวของธุรกิจ SMEs ในตลาดที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ โดยอาจเริ่มจากสนับสนุนทุนตั้งตัวให้กับผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ แล้วจึงสนับสนุนทุนสร้างตัวให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพทางการค้า รวมถึงออกนโยบายช่วยลดภาษีอื่นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรและนำกำไรไปพัฒนาคุณภาพสินค้าและศักยภาพทางการตลาดได้
  2. รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาตลาดเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการในตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงที่มากขึ้น เช่น
    1. ส่งเสริมให้หน่วยบริการของราชการ เช่น กรมปศุสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัย และร้านค้าสินค้าสัตว์เลี้ยง สนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าสัญชาติไทย
    2. ส่งเสริมให้มีร้านค้าและ Shelf แสดงสินค้าตัวอย่างของ SMEs ไทย โดยให้จัดวางขายฟรีในทุกสนามบินนานาชาติทั่วประเทศ
    3. หากเป็นการค้าพันธุ์สัตว์เลี้ยง เช่น แมวไทย รัฐต้องสนับสนุนผ่านการกำหนดคุณภาพ/มาตรฐานเพื่อให้ได้แมวสายพันธุ์ไทยที่มีลักษณะสวยงาม 
    4. ติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศคู่ค้าที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าในตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยง เพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในเชิงการค้าเพื่อส่งออกสินค้าสัญชาติไทยไปยังต่างประเทศ
  1. รัฐต้องสนับสนุนให้หน่วยงานราชการ/เอกชน จัดทำวิจัยเพื่อศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อตอบสนองต่อคตวามต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า