พอกันที! “ทรมาน-อุ้มหาย” ปรับรื้อโครงสร้างเอื้อเจ้าหน้าที่กระทำการนอกกฎหมาย กับ Think Forward Center

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


หากเราจะกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงของวิชาชีพตำรวจและทหาร หนึ่งในปัญหาที่มักจะถูกกล่าวถึงคือ การกระทำทรมานต่อผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหาร ซึ่งอาจทำไปเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ทราบเบาะแสเพิ่มเติม หรือเพียงข่มขู่ให้กลัว โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ การทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายหรือจิตใจหรือทั้งสองอย่าง (ผลลัพธ์จะแตกต่างกันออกไปตามสิ่งที่ผู้ถูกกระทำพบเจอ) รวมไปถึงส่งผลต่อชีวิต ซึ่งหากเจ้าหน้าที่กระทำการอำพรางศพและปิดซ่อนข้อมูลข้อเท็จจริง การกระทำที่เกิดขึ้นจะเรียกว่า การกระทำให้บุคคลสูญหาย

การกระทำทั้งหมดนี้ เป็นการกระทำนอกเหนือกฎหมายที่ตำรวจ/ทหารไม่สามารถกระทำต่อผู้ต้องสงสัย/ผู้กระทำความผิดได้ แต่ด้วยช่องโหว่ทางกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งผู้บังคับบัญชาและสถานที่สอบสวน ทำให้การกระทำทรมานยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ คงอยู่ และไม่ถูกแก้ไข

ที่มา: Realframe.co


เนื่องในวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) Think Forward Center ขอฉายภาพสถานการณ์การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยล่าสุด พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อทำให้เหตุการณ์การทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายลดลงและไม่เกิดขึ้นอีก


สถานการณ์การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยล่าสุด

แม้ประเทศไทยจะลงนามและให้สัตยาบัน ในอนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) เมื่อปี 2550 ซึ่งมีผลผูกพันให้รัฐภาคีสมาชิกจำเป็นต้องดำเนินการด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น การบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ ให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ รวมถึงกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน เป็นต้น

แต่ด้วยการดำเนินการร่างกฎหมายของภาครัฐที่ล่าช้า ทำให้ผู้คนในหลายพื้นทั่วประเทศยังประสบกับการถูกซ้อมทรมานซ้ำๆ ด้วยผู้กระทำการส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ประกอบกับสถานะของผู้ถูกกระทำที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมในท้องที่ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะเงียบและยอมบอกเล่าข้อมูลตามที่ตำรวจต้องการ เพราะไม่อยากถูกซ้อมทรมานซ้ำ 

เมื่อกระทำการซ้ำหลายๆ ครั้ง โดยไม่ถูกหน่วยงานตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงหลงคิดว่า การซ้อมทรมานคือเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการเรียกข้อมูลเบาะแสจากผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยได้ ทำให้เกิดการส่งต่อกระบวนการซ้อมทรมานจากรุ่นสู่รุ่น ขณะที่บางคดี เมื่อการจับกุม/ควบคุมตัวที่ไม่ได้เกิดจากการสืบค้นพยานหลักฐานใดๆ และใช้วิธีการจับผู้บริสุทธิ์ (หรือ “แพะ”) มาเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน และพบเจอกับเหตุดังกล่าว เช่น กรณีเมื่อปี 2552 ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร หรือ ช็อป (ขณะนั้นอยู่ชั้นม.6) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดปราจีนบุรี ซ้อมทรมานด้วยการเตะเข้าที่สีข้างและลำตัว พร้อมกับใช้ “ถุงดำ” คลุมหัวให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์ในท้องที่ หลังเหตุการณ์นั้นทำให้ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เป็นพ่อต้องดำเนินการพาลูกชายร้องขอความยุติธรรมผ่านสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ เป็นเวลากว่า 13 ปี 1


นอกจากกรณีที่เกิดกับผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยแล้ว เหตุเช่นนี้ กรณีรับราชการตำรวจหรือทหาร หากผู้น้อยกระทำการผิดวินัย บางครั้งผู้บังคับบัญชาก็อาจกระทำการนอกเหนือกฎหมายกับผู้น้อยเช่นกัน ดังเช่นกรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกเจ้าหน้าที่ทหารรวม 10 คน รุมซ้อมทรมานร่างกายในหน่วยฝึกทหารใหม่ สังกัดค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตหลังถูกซ้อมทรมานได้ 4 วัน เนื่องจากไตวายเฉียบพลัน ในปี 2554 จากเหตุการณ์นี้ทำให้ นริศรา แก้วนพรัตน์ ผู้เป็นหลานต้องดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อและหน่วยงานต่างๆ เป็นเวลากว่า 11 ปี 2

แม้ว่าทั้งสองกรณีนี้ จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งศาลอาญา ศาลแพ่ง และศาลทหาร (เฉพาะกรณีพลทหารวิเชียร) แต่ด้วยคดีทรมานส่วนใหญ่มักมีพยานหลักฐานน้อยและหาได้ยาก ทำให้คดีของฤทธิรงค์ สิ้นสุดลงที่คำพิพากษาของศาลสั่งให้ตำรวจ 1 ราย จาก 7 รายที่ยื่นฟ้องเท่านั้นที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ขณะที่คดีของพลทหารวิเชียร ศาลทหารยังอยู่ในขั้นตอนนัดสืบพยานเท่านั้น 3

ที่มา: posttoday.com


ขณะที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) โดยก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญา CED เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 รวมถึงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ลงมติเห็นชอบให้ประเทศไทยประกาศให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา CED ทว่าหลังจากนั้นการออกกฎหมายอนุวัติการอย่าง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ก็มีเหตุให้ต้องล่าช้าไป 4 จนกระทั่งร่างดังกล่าวถูกนำกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งผ่านการผลักดันของภาคประชาชน หลังได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดล่าสุด จากการเลือกตั้งปี 2562 

และแม้ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการปรับแก้ไขโดยสมาชิกวุฒิสภา และผ่านการลงมติเห็นชอบเพื่อผ่านร่างโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่รายละเอียดหลายส่วนที่เป็นใจความสำคัญกลับถูกลดทอนออกไป อาทิ 

  1. การให้ศาลไม่รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการทรมาน 
  2. การดักทางมิให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดตามกฎหมายนี้สามารถนิรโทษกรรมตัวเองได้ 
  3. การระบุให้คดีการอุ้มหาย มีอายุความ 40 ปี ลดลงมาเหลือ 20 ปี (แต่ยังคงไว้ซึ่งส่วนที่ให้อายุความเริ่มนับจากวันที่ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกอุ้มหาย)
  4. การได้มาซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ตัดสัดส่วนของตัวแทนผู้เสียหาย 2 คน และสัดส่วนที่ผ่านการเสนอโดย ส.ส.
  5. การให้อำนาจคณะกรรมการฯ สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่มีการควบคุมตัวโดยพลัน 5

สำหรับการกระทำให้บุคคลสูญหาย นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ถูกบังคับให้สูญหายแล้วจำนวนกว่า 9 ราย โดยรายล่าสุดคือ กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะถูกลักพาตัวออกไปจากสถานที่พักใจกลางกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม 


อะไรคือต้นทางของปัญหา?

ต้นตอของการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อำนวยให้เกิดการตรวจสอบและคานอำนาจกันตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง โดยที่มาของปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่มาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไม่มีการบัญญัติให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้เกิดการลักลั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายกระทำการนอกเหนือกฎหมาย โดยเราจะพบว่า พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476 มีช่องโหว่หลายประการที่อาจนำไปสู่ 

  1. การกำหนดโทษเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่กระทำการผิดวินัย ตามมาตรา 5 ไม่ถูกทำให้คำนึงถึงสัดส่วนของการกระทำความผิดตามกฎหมาย ทำให้มีช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำทรมาน (ตามที่มีระบุในอนุสัญญา CAT) 
  2. การกำหนดระดับชั้นของผู้สั่งทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ ตามมาตรา 10 ที่เปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชายศสูงสามารถใช้อำนาจของตนในการกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่ถูกตรวจสอบและไม่ต้องรับโทษใดๆ 
  3. หมวด 3 อำนาจลงทัณฑ์ ที่กำหนดองค์ประกอบความผิด และโทษหรือทัณฑ์ไว้อย่างจำกัด ทำให้การปรับปรุงวินัยทหารในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ไม่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดและโทษ รวมถึงกรณีกำหนดความผิดตามดุลพินิจ ก็ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเหมือนประมวลกฎหมายอาญา/ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ทำให้เกิดปัญหาในการกำหนดความผิดและโทษ และนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบได้

แต่ในแง่หนึ่ง ปัญหาเหล่านี้ก็มาจากวัฒนธรรมองค์กรทหาร ทำให้ค่ายทหารกลายเป็น “แดนสนธยา” ที่ทำให้เกิดปัญหาการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางการทหาร ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บซ่อนไว้และมีน้อยกรณีนักที่กล้าออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม 

ที่มา: asia.nikkei.com


และหากเลือกที่จะต่อสู้ทางกฎหมาย วิธีสืบค้นความจริงที่ทำได้จำกัดและไม่เอื้อให้ทหารใต้บังคับบัญชาสามารถหาหลักฐานได้ ก็ทำให้การต่อสู้ในทางกระบวนการยุติธรรมอาจถูกทำให้ชะงักไปได้ หรือหากสู้จนจบกระบวนการก็จะพบกับการเอื้อประโยชน์แก่กันตามระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ทุกภาคส่วนของระบบราชการ ทำให้การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นไปได้ลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย 6

ส่วนปัญหาของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ก็พบว่า 1) พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีทับซ้อนกัน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งลงโทษทางวินัยต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่าไม่เหมาะสมให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะ ทำให้เกิดความไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร 2) การอุทธรณ์คดีวินัยของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีผู้บังคับบัญชา เป็นการรับเรื่องอุทธรณ์และตรวจสอบภายในองค์กรเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์เกิดความกังวลใจว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และ 3) ระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คดีวินัยตำรวจที่ให้เวลาพิจารณาได้ถึง 240 วัน และสามารถยื่นต่อได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และไม่อาจทำให้การอุทธรณ์ช่วยลดทอนการบังคับโทษได้ 7

เมื่อช่องโหว่ของกฎหมายทั้งสองฉบับก่อนหน้านี้ มาประกอบกับกฎหมายในสถานการณ์พิเศษอย่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ก็เป็นผลให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในแง่ของการให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือฝ่ายพลเรือนในการระงับ ปราบปราม รักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการตรวจรื้อค้นหรือยึดสิ่งของจากสถานที่ต้องสงสัย ตรวจสอบและสั่งระงับการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีความอาญา (พ.ร.บ.กฎอัยการศึก) และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูลตามความจำเป็นไม่เกิน 7 วัน (พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) และเจ้าหน้าที่สามารถร้องขอต่อศาลให้ขยายวันควบคุมตัวต่อไปได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน (เฉพาะ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่งการควบคุมตัวเช่นนี้อาจนำมาสู่การกระทำนอกเหนือกฎหมาย เช่น การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้


และแม้ว่าปัจจุบัน เราจะมีกฎหมายบางฉบับขึ้นมาเพื่อชดเชยเยียวยาและคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่กฎหมายเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา ที่แม้จะมีมาตรการต่างๆ รองรับความปลอดภัยของพยานขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยขั้นตอนบางประการยังยุ่งยาก เช่น การต้องเบิกความต่อหน้าศาลและจำเลย ทำให้พยานรู้สึกไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจถูกข่มขู่ ทำร้าย หรือมีผลกระทบต่อครอบครัวและคนรอบข้างได้ และอาจนำไปสู่การทำให้พยานเบิกความผิดพลาด กลับคำให้การ หรือไม่มาเบิกความได้ 8

ขณะที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้กำหนดว่า หากเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้เสียหายฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ ฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้เสียหายฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง ห้ามฟ้องหน่วยงานของรัฐ การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงกระบวนยุติธรรมทางตุลาการและได้รับการเยียวยาความเสียหายที่รวดเร็ว และหากศาลปรากฏข้อเท็จจริงว่า การฟ้องคดีของผู้เสียหายไม่ถูกต้อง ทำให้ศาลต้องยกฟ้องคดี ก็อาจเป็นผลกระทบต่อผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาล่าช้าออกไป 9 ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมอบความยุติธรรมให้กับประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยได้


การกระทำนอกเหนือกฎหมาย: วิธีแก้ปัญหาในต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา

ที่มา: middleeasteye.net


สหรัฐอเมริกามีรัฐบัญญัติอยู่หลายฉบับที่สามารถปกป้องพลเมืองอเมริกัน จากการกระทำนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการยืนฟ้องต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น เช่น

  • Title 8 of the United States Code – ทำให้เป็นการผิดกฎหมาย หากเกิดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจงใจปิดปาก หรือรู้เห็นเป็นใจกันกับหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนแสดงหรือเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองใดๆ กฎหมายสามารถใช้ได้กับการใช้ความรุนแรงของตำรวจหลายรูปแบบ รวมถึงการข่มขู่ การใช้กำลังทหารที่มากเกินไป การล่วงละเมดทางเพศ การใช้แรงเกินกำลัง และการใช้สเปรย์พริกไทยในลักษณะทไม่เหมาะสม
  • Title 6 of the Civil Rights Act – จะถือเป็นการผิดกฎหมายสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นและของรัฐในการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองตามเชื่อชาติ สัญชาติ เพศ และ/หรือความเกี่ยวข้องทางศาสนา
  • The Americans with Disabilities Act: ADA – สร้างการคุ้มครองทางกฎหมายต่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และ/หรือการเลือกปฏิบัติของตำรวจสำหรับบุคคลทุพพลภาพ โดย ADA สามารถใช้กับสถานการณ์ที่มีการเหยียดเชื่อชาติ การกักขังอย่างไม่ยุติธรรม การใช้กำลังมากเกินไป เป็นต้น ภายใต้กฎหมายสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ และกฎหมายคนพิการบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจหรือประสบกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจสามารถยื่นฟ้องคดีแพ่งได้

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีกระบวนการจัดการกับการกระทำนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยกระทรวงยุติธรรม จะดำเนินคดี/สอบสวนทางปกครอง กับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่กระทำการนอกเหนือกฎหมาย โดยการพิสูจน์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ต่ำกว่า “การพิสูจน์ให้เห็นถึงพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่า (preponderance of evidence)” อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมจะพยายามแก้ไขนโยบายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมการประพฤติมชอบ และหากเหมาะสมอาจต้องมีการช่วยเหลือเปืนรายบุคคลสำหรับผู้ถูกกระทำ 10


สวีเดน 

ที่มา: ohchr.org


ปัจจุบัน สวีเดนมีคำจำกัดความของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไว้ใน Universal Crimes Act: UCA ซึ่งความคล้ายคลึงกับคำจำกัดความที่มีอยู่ในธรรมนูญกรุงโรม โดยการกระทำดังกล่าวจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรือเป็นผลต่อประชาชนในภาพรวม โดย UCA ระบุนิยาม การทรมานและการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ไว้ว่า 

  • การทรมาน คือ การกระทำที่ทำให้บุคคล ซึ่งอยู่ในกลุ่มประชากรเจ็บปวด หรือเป็นอันตราย หรือทำให้บุคคลนั้นได้รับความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือทำให้บุคคลได้รับความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรง บทบัญญัติเป็นไปตามคำจำกัดความของการทรมานตามธรรมนูญแห่งกรุงโรม และอ้างอิงเพิ่มจากอนุสัญญาเจนีวา และหลักนิติศาสตร์ของศาลระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia: ICTY)

ในส่วนของความรับผิด สวีเดนมีข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับรูปแบบความรับผิดที่แตกต่างกัน โดยหมวด 23 มาตรา 4 ของ Swedish Criminal Code: SCC นี้จะถูกนำมาใช้กับอาชญากรรมภายใต้ UCA ด้วยอีกทั้ง UCA ยังมีรูปแบบความรับผิดในการบังคับบัญชาที่แยกต่างหากซึ่งใช้กับอาชญากรรมใน UCA เท่านั้น โดยมาตรา 16 ของ UCA ยังกำหนดความผิดต่อความพยายาม การเตรียมการ และการสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ตลอดจนละเว้นการเปิดเผยหรือป้องกันอาชญากรรมดังกล่าว 11



ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

แม้ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … จะอยู่ระหว่างการรอพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีใจความขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อยื่นเสนอต่อพระมหากษัตริย์เพื่อออกพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ด้วยใจความสำคัญหลายประการที่หายไป รวมถึงกฎหมายก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหารยังมีช่องโหว่อยู่มาก Think Forward Center จึงขอเสนอให้:


ด้านกฎหมาย

  1. ควรมีการทบทวนหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่? พบอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้กฎหมายอย่างไร? เพื่อยื่นเสนอแก้ไขกฎหมาย และนำเอาใจความสำคัญที่ขาดหายกลับเข้ามาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้
  2. ต้องมีการทบทวนกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวของกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหาร เช่น พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และ พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการกระทำนอกเหนือกฎหมายกับประชาชน และเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ

ด้านปฏิบัติการ

  1. ควรออกมาตรการ ระเบียบ และข้อบังคับประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหมฉบับใหม่มาเพื่อปิดโอกาสการกระทำนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ทั้งระบบ มีระบบติดตามการดำเนินการ และรายงานสถานการณ์การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ภายในองค์กร และต้องมีการเตรียมความพร้อมกับระบบการตรวจสอบการธำรงวินัยโดยองค์กรอิสระภายนอก เพื่อถ่วงดุลอำนาจ
  2. ควรมีการจัดทำ Workshop ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายใหม่ กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เพื่อให้หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติหน้าที่ และกระบวนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  3. ควรมีการจัดทำ Workshop ฝ่ายตุลาการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายใหม่ และกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อรับทราบถึงตัวบทกฎหมาย อำนาจและขอบเขตในการตีความพิจารณาคดีหลังจากนี้ เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
  4. อัยการ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้ามามีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการร่วมสืบสวนสอบสวน เพื่อถ่วงดุลกระบวนการสืบสวนสอบสวนเดิมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
  5. สำหรับกรณีตรวจสอบการธำรงวินัย ต้องมีการออกแบบระบบและหน่วยงานอิสระเพื่อรองรับระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหาร โดยที่มาของหน่วยงานดังกล่าวต้องมาจากภาคประชาชนและตุลาการในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และให้หน่วยงานอิสระเหล่านี้ขึ้นตรงต่อศาล เพื่อให้ข้อมูลถูกส่งถึงศาลโดยตรงได้ 


เชิงอรรถ


1) The Matter, “ไม่มีแพะตัวสุดท้ายในประเทศนี้” การต่อสู้ของครอบครัวชื่นจิตร กับการซ้อมทรมานจากตำรวจ  https://thematter.co/social/politics/police-torture-chuenjit-family/154743 

2) Matichon, เกือบ 10 ปี คดีพลทหารวิเชียร ถูกร้อยโทซ้อมจนตาย จับตา ศาลทหารนัดตัดสิน เม.ย.นี้ https://www.matichon.co.th/politics/news_2635203 

3) Prachatai, ศาลทหารเลื่อนนัดสืบพยาน คดี ‘พลทหารวิเชียร’ ถูกทหารซ้อมทรมานตายในค่ายทหาร เมื่อ 11 ปีก่อน https://prachatai.com/journal/2022/06/99312 

4) Amnesty International Thailand, การบังคับบุคคลให้สูญหาย https://www.amnesty.or.th/our-work/enforced-disappearance/

5) พรรคก้าวไกล – Move Forward Party, ผ่านแล้ว! กฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน แม้ ส.ว. ปัดตกหลายประเด็น https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/pfbid02s15VNvrhzEoxzVgZm5MNM2g5FZ5s8sW5sa1Fhms1EL4gXN5Vu1SxK7UFCb2u6Qzel 

6) พินิจพงษ์ จรรยาลิขิต (2561), การปรับปรุงวินัยทหาร: ศึกษาประกอบอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและ การประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

7) ร.ต.อ.หญิง จารุวรรณ ชูราศรี และ รศ.ดร.วีระ โลจายะ, ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการตำรวจ https://shorturl.asia/Ib1Dt 

8) สุทธิชัย หล่อตระกูล, ปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rmuj/article/download/24646/20974/54227

9)  ตรีเพชร์  จิตรมึหมา พัชฌา จิตรมึหมา และณัฐภณ อันชัน, ปัญหาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ศึกษาและพิเคราะห์การแยกความรับผิดทางละเมิด กรณีการปฏิบัติหน้าที่กับกรณีที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ https://so05.tci-thaijo.org/index.php/researchjournal-lru/article/download/246154/171531/907631 

10) Study.com, Police Brutality Laws in the United States https://study.com/academy/lesson/police-brutality-laws-in-the-united-states.html

11) Open Society Foundation, UNIVERSAL JURISDICTION LAW AND PRACTICE IN SWEDEN https://trialinternational.org/wp-content/uploads/2020/04/Universal-Jurisdiction-Law-and-Practice-in-Sweden.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า