Always Beside You (1): “จนตรอก” การจบลงของชีวิตที่ไร้หนทางข้างหน้า และไม่เหลือสิ่งใดภายหลัง

วริษา สุขกำเนิด


เนื่องในวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี จะเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล Think Forward Center จึงขอนำเสนอซีรีส์บทความที่มีชื่อว่า “Always Beside You” ที่จะชวนคิดว่าถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และการป้องกันการฆ่าตัวตาย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และออกแบบและพัฒนานโยบายสาธารณะในการพัฒนาสุขภาพจิตของสังคมไทยต่อไป โดยเริ่มจากบทความนี้เป็นบทความแรก (หมายเหตุ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา ‘จนตรอก’ โดย ชาติ กอบจิตติ)

“เอ็งอยู่ก็ลำบาก ไปกับพ่อดีกว่านะลูก” ถ้อยคำในหัวก่อนที่พ่อ บุญมา จะเอาน้ำอัดลมผสมยาเบื่อให้ตัวเขาเองและ ดำ ลูกคนเล็กของเขา เพื่อให้พวกเขาได้จบชีวิตแสนสาหัส และไปอยู่กับปู่ที่จบชีวิตตนเองไปก่อน 

บุญมาเป็นตัวละครในนวนิยายขนาดสั้น จนตรอก ของ ชาติ กอบจิตติ สมาชิกครอบครัวคนจนท่ามกลางการเติบโตของเมืองใหญ่ เขาเก็บเงินก้อนหนึ่งและพาครอบครัวย้ายจากห้องเช่าไปปลูกบ้านสังกะสีพร้อมกับหวังว่า พวกเขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ร่วมกัน ทว่า พวกเขาต่างเผชิญกับชีวิตอันแสนอับโชคทำให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนต้องดำเนินและจบชีวิตลงในเส้นทางที่ตนเองไม่ได้เลือก ขณะที่บุญมาเลือกไปเป็นแรงงานบนเรือประมงและโดนตำรวจจับอยู่ชายแดนพม่า ปู่ พ่อของบุญมาก็ย้ายมาอยู่บ้านเดียวกันและต้องทำงานรายวันจนเผชิญกับปัญหาสุขภาพ แม่ ที่ทำงานโรงงานเกิดตั้งท้องจนทะเลาะเบาะแว้งกับบุญมาและหนีออกจากบ้าน สีดา ลูกสาวของบุญมาหนีเข้าไปทำงานค้าบริการ ออด ลูกชายของบุญมาโดนจับขณะที่ขโมยเหล็กจากโรงงานเพื่อมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้ปู่ ทำให้ปู่ต้องดูแล ดำ หลานชายในบ้านสังกะสีที่ผุพังลงทุกวัน ในตอนสุดท้าย บ้านสังกะสีก็ตกอยู่ในที่ดินของโรงงาน และชีวิตที่หลงเหลือในบ้านก็จบลงอย่างสิ้นหวัง เหลือเพียงแต่บุญมาที่แพทย์ยื้อชีวิตไว้ทัน และต้องจำคุกข้อหาฆ่าคนตาย

ที่มา: ThaiBookFair.com


ในทุกถ้อยคำของหนังสือจำนวน 128 หน้า ชาติ กอบจิตติ ได้ถ่ายทอดความขัดแย้งในทุกระดับของคนจนเมือง ถลกฝันไม่มีวันไปถึง แล้วสกัดเหลือแต่ความขมขื่นที่พวกเขาผจญแล้วผจญเล่า ปูทางมาจนถึงการจบชีวิตด้วยตนเองของทั้งสาม ซึ่งเปรียบเสมือนบทจบที่น่าเศร้า แต่ก็สมจริงที่สุด แม้ในช่วงเวลาหนึ่ง การฆ่าตัวตายอาจถูกมองอย่างเหยียดหยามว่าเป็นการคิดสั้นหรือการทำบาป หรือแม้แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนจะมองการฆ่าตัวตายอย่างเข้าใจมากขึ้น แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวก็มักโยนไปว่า เป็นสุขภาพจิตของปัจเจก และการเสนอให้กินยาเพื่อปรับสารเคมีในสมองของผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หนังสือ จนตรอก ได้สะท้อนการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน จากที่ผู้อ่านเห็นได้ในสื่อต่างๆ สถานการณ์โรคระบาดและพิษเศรษฐกิจทำให้หลายคนและหลายครอบครัวตัดสินใจจบชีวิตลง โดยความตายของพวกเขายังสัมพันธ์กับสถานะและอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่พวกเขามีอยู่ก่อน การฆ่าตัวตายของคนจึงไม่ใช่แค่ความอ่อนแอของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นจากลำดับชั้นทางสังคม ที่เพียงแต่ไม่สามารถทำให้เขาก้าวไปถึงชีวิตที่ดีได้ แต่ยังพรากชีวิตที่หลงเหลืออยู่ของเขาไปทีละส่วนด้วย

ที่มา: healthline.com


Johann Hari สื่อมวลชนคนหนึ่งผู้หนึ่งที่เผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า ได้เดินทางสัมภาษณ์ผู้คนมากมายเพื่อค้นหาสาเหตุของมันด้วยตัวเอง ในหนังสือ Lost Connection เขาโต้แย้งกับแนวคิดจิตเวชกระแสหลักที่อธิบายโรคซึมเศร้าในฐานะความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง และแก้ปัญหาด้วยการทานยาจนสมองดื้อยา และพาเราสำรวจสาเหตุเชิงสังคมที่ทำให้คนเป็นโลกซึมเศร้า ผ่านการทดลองของนักจิตวิทยาหลายแขนง จนทำให้ผู้อ่านรับรู้ว่า โรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำ 

ในบทหนึ่งของหนังสือ Hari ได้ยกงานของ Robert Sapolsky นักวิจัยธรรมชาติวิทยา ผู้ศึกษาวิถีชีวิตและโครงสร้างสังคมของลิงบาบูน เพื่อจะค้นหาคำตอบของปัญหาสุขภาพจิตจากญาติใกล้ชิดของมนุษย์ เขาพบว่า ฝูงของลิงบาบูนจะมีจ่าฝูงซึ่งเป็นตัวผู้ที่มีร่างกายกำยำ และสามารถเอาชนะตัวผู้ตัวอื่นๆ จนขึ้นมามีอำนาจได้ ซึ่งจ่าฝูงจะเป็นผู้ที่ได้ทรัพยากรทุกอย่าง ทั้งอาหารที่มากที่สุด และจะมีลิงเพศเมียคอยดูแล เขาเรียกลิงจ่าฝูงที่เขาเจอว่า  โซโลมอน ในอีกด้านหนึ่ง เขาได้พบลิงอีกตัวที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่ม ลิงตัวนี้ไม่มีเพื่อนฝูง และมักจะถูกรังแก แย่งอาหาร และผลักใสให้ไปอยู่ตัวเดียว เขาเรียกลิงตัวนี้ว่า โยบ

Sapolsky ศึกษาว่า ลิงที่อยู่ในลำดับชั้นที่แตกต่างกันจะมีสุขภาพจิตที่แตกต่างกันหรือไม่ โดยการวัดระดับ Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดที่อยู่ในกระแสเลือดของลิงในระดับชั้นต่างๆ เขาพบว่า ลิงที่อยู่ในระดับรั้งท้ายที่สุด เช่นโยบ จะเป็นลิงที่มีระดับความเครียดสูงที่สุด และมีระดับความเครียดสูงนี้ตลอดเวลา นอกจากนี้ โยบยังมีท่าทางขดตัว ไม่มีแรง ไม่อยากอาหาร ไม่ขยับตัว อาการเหมือนคนซึมเศร้า รวมทั้งมีปัญหาสุขภาพ เช่น ตัวสั่น ชัก และขนร่วง

ที่มา: mpalalive.org


Sapolsky สรุปว่า ลิงบาบูนที่ตกอยู่ในสถานะต้อยต่ำจะเผชิญกับความเครียดและอาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งความเครียดดังกล่าวมาจากการที่มันถูกทำร้ายทุกวันๆ จนมันอยู่ในสถานะจำยอม คืออ่อนแรงเกินกว่าจะสู้ และยอมให้สิ่งต่างๆ มาย่ำยีมัน Paul Gilbert นักจิตวิทยาอธิบายสาเหตุดังกล่าวว่า โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจาก “ตอบสนองว่าศิโรราบ”

ข้อค้นพบข้างต้นไม่เพียงแต่จะให้คำอธิบายต่อปัญหาสุขภาพทางวิวัฒนาการที่ลิงบาบูนมีร่วมกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนลำดับชั้นทางสังคมที่ลิงบาบูนและคนมีเหมือนกัน สังคมลิงบาบูนที่ลิงตัวผู้ต้องใช้กำลังแข่งขันกันเป็นจ่าฝูง และมีลิงที่อ่อนแอที่สุดถูกกดทับจนไร้ทางสู้ คล้ายคลึงกับลำดับชั้นของมนุษย์ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ ที่ผู้มีโอกาสต่างแข่งขันและเหยียบหัวกันไปมา เพื่อจะให้ได้เป็นคนที่มีสถานะสูงสุด หรือคนที่ครอบครองทรัพยากร อำนาจทางการเมือง รวมไปถึงแสวงหาผลประโยชน์ที่อาจกีดกันคนที่มีสถานะต่ำกว่าออกไป ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคนอีกกลุ่มที่มีสถานะต่ำที่สุดในสังคม พวกเขาแทบไม่มีเงินติดตัวแขวนชีวิตขอตนไว้บนเส้นด้าย และอาจโดนดูถูกเหยียดหยามจากคนอื่นๆในสังคม 

ความย้อนแย้งดังกล่าวอาจเห็นได้จากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของคนรวยที่ตั้งอยู่ขนานกับชุมชนหลังคาสังกะสีที่ตั้งเรียงราย การขับไล่ชุมชนที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองไร้เอกสารสิทธิและเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชนชั้นกลาง รวมไปถึงการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ที่ดินและราคาค่าเช่าบ้านพุ่งสูงจนคนรายได้น้อยต้องย้ายที่อยู่ออกไป 

แม้ว่าพวกเขาจะไม่ถูกทำร้ายทางกายภาพโดยตรงเหมือนที่โยบโดนกระทำ แต่การที่พวกเขาถูกผลักใสไล่ส่งทางเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือพวกเขาต้องตกอยู่ในสถานะที่ถูกพรากความมั่นคง ทั้งทางรายได้ อาชีพ ที่อยู่อาศัย สิทธิ ของตนเองจนต้องยอมจำนนต่อการกดทับของสังคมจากชนชั้นบน ผลกระทบในเชิงรูปธรรมที่เราเห็นได้ทางสื่อมากมาย อาจนำไปสู่เรื่องราวที่เจ็บปวดในจิตใจ หรือสภาวะ “จนตรอก” เหมือนที่นวนิยายจนตรอกนำเสนอ

นอกจากการอยู่ตกอยู่ในสถานะจำยอม อีกสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้าคือการไม่เห็นอนาคตหรือหนทางชีวิตของตนเอง สำหรับ Hari แล้ว ความรู้สึกสิ้นหวัง อับจนหนทาง จนมองไม่เห็นว่าอนาคตของตนเองนั้น ไม่เป็นแค่เพียง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจาการเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่การที่ผู้คนเผชิญกับสถานการณ์ชีวิตที่ติดขัด จนพวกเขาไม่สามารถควบคุมปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตของตนเองได้เลย ก็ทำให้พวกเขาอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

ที่มา: Los Angeles Times


Hari ได้เล่าเหตุการณ์ในประเทศแคนาดา ที่หลังจากเจ้าอาณานิคมจากตะวันตกได้บุกยึดผืนป่า ที่ราบ และไล่ชนพื้นเมืองออกไปจากถิ่นของตน ชนพื้นเมืองก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงต่างๆ มากมาย เช่น การห้ามไม่ให้พูดภาษาของตน การจับบุตรหลานของชนพื้นเมืองแยกออกจากพ่อแม่และนำเข้าสู่โรงเรียนประจำ การกีดกันสิทธิต่าง ๆ มากมาย ความรุนแรงต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ทำให้คนชนพื้นเมืองเผชิญกับกดดัน จนอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น Micheal Chandler นักจิตวิทยาชาวแคนาดาพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นนี้ สัมพันธ์กับอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตตนเองของชนพื้นเมืองในแต่ละชนเผ่าที่น้อยลง เช่นเดียวกับ Jonathan Lear ที่กล่าวว่า ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองนั้นแยกขาดออกจากเป้าหมายและถูกพรากจากโลกทัศน์ที่พวกเขาต้องการจะไปถึง สิ่งที่พวกเขาเหลืออยู่คือการเอาชีวิตรอดในแต่ละวันอย่างไร้จุดหมาย

ความรู้สึกสิ้นหวังและไร้อนาคตไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมืองเท่านั้น กลุ่มแรงงานเสี่ยง หรือแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำและสัญญาจ้างที่ไม่มั่นคงก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดย Hari เล่าถึงเพื่อนของเขาคนหนึ่งนามว่า Angella เธอมีชีวิตที่ดีมาตั้งแต่สมัยมัธยม และเรียนจบถึงระดับปริญญาโท แต่หลังจากนั้นเธอต้องเจอกับปัญหาในเรื่องการงาน เพราะไม่มีบริษัทไหนรับเธอด้วยฐานเงินในระดับปริญญาโทที่สูงเกินไป ท้ายที่สุด เธอต้องทำงานเป็นคอลเซนเตอร์ขอรับบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลโดยมีค่าแรงเพียงวันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเธอก็มักจะขอเงินไม่ได้และถูกตำหนิจากหัวหน้างานตลอดเวลา เมื่อบริษัทรับคนเข้าทำงานใหม่ เธอก็ถูกลดเวลางาน และรู้สึกกังวลว่าบริษัทจะไล่เธอออกหรือไม่ จนเธอกลายเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่เธอรู้สึกมาตลอด คือการจมปลักอยู่กับงานเดิมๆ ที่เธอไม่อยากทำ รายได้ที่น้อย และการที่เธอไม่เห็นชีวิตของตนเองต่อจากนี้ นี่คือสิ่งที่แรงงานเสี่ยงต้องเผชิญบนโลกที่ไร้ความมั่นคง

การฆ่าตัวตายของ ปู่ บุญมา (และดำ) มีที่มาไม่ต่างจากเหตุผลทั้ง 2 ที่ Hari กล่าวมามากนัก ครอบครัวของพวกเขาอยู่ในสถานะที่ถือได้ว่าต่ำที่สุดในสังคม พวกเขาจึงถูกสังคมกดทับให้มีทางเลือกไม่มากนัก ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ไม่มีใครอยากเลือก ทุกทางที่เขาเดินไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรค แต่ยังเป็นทางที่จ้องจะกลับมาทำร้ายพวกเขา บุญมาคงไม่อยากเป็นแรงงานผีบนเรือประมงที่ไม่เพียงแต่โดนผู้ดูแล ใช้งานหนัก กดค่าแรง แต่ยังเสี่ยงต่อการโดนจับ แม่คงไม่อยากทำงานในโรงงานจนดึกดื่นไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ปู่คงไม่อยากทำงานรับจ้างขัดรองเท้า และโดนทำร้ายจนร่างกายบอบช้ำ พวกเขาทุกคนกลายเป็น “โยบ” ที่โดนความเจริญเติบโตของเมืองและระบบเศรษฐกิจทำร้าย เช่นเดียวกัน ไม่มีใครในนวนิยายเรื่องนี้เห็นถึงทางออกของชีวิต กระท่อมที่ค่อยๆ ผุพัง ปู่ที่เจ็บปวดไปทั้งร่างก็คงไม่มีความหวังว่า สักวันตนเองจะมีเงิน หรือมีแรงมาเลี้ยงหลาน บุญมาที่กลับมาจากคุกพม่าก็ไม่เห็นความหวังว่า สักวันครอบครัวที่แตกละแหง และบ้านของตนที่กำลังจะถูกรื้อและสร้างโรงงานจะกลับมาเหมือนเดิม ทุกคนในเรื่องถูกพรากความหวังไปบนอนาคตที่หมองหม่นของความยากจน

ที่มา: theguardian.com


ในอีกซีกหนึ่งของโลก หญิงชราชาวตุรกีที่พักอยู่ชานกำแพงเบอร์ลินกำลังฆ่าตัวตายเพราะจะถูกยึดบ้าน เธออยู่ในชุมชนสลัมที่ติดกับพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ที่กำลังถูกผลักให้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เธอแปะข้อความก่อนสุดท้ายที่บ้าน คนในชุมชนก็เข้ามาเยี่ยมเธอเป็นจำนวนมาก พวกเขารวมหัวกันวางแผนบางอย่าง จนได้คำตอบออกมาเป็นการประท้วงเรียกร้องการลดค่าเช่าที่ ในวันต่อมา ผู้คนในสลัมทั้งสองฝั่งกำแพง ทั้งแรงงานตุรกี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ วัยรุ่นที่ย้ายออกจากบ้าน คนจน และกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เข้าหน้ากัน ต่างก็ออกมาปิดถนนประท้วงอย่างมีพลัง พวกเขาได้รับความสนใจจากผู้คนในเมืองและสื่อเป็นอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ ซึ่งแต่ก่อนถูกกดทับจนไม่สามารถโงหัวขึ้นได้ คือการเห็นว่าเพื่อนๆ ของเขา ทั้งที่รู้จัก หรือไม่รู้จัก ชอบหรือไม่ชอบหน้ากัน กลายเป็นกลุ่มคนที่ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหวัง

และเหตุการณ์นี้ ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องจนตรอก และจุดจบของใครหลาย ๆ คน ได้

Think Forward Center จะนำเสนอบทความต่างๆ ที่สะท้อนมิติต่างของปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในสังคมไทยในสัปดาห์ และได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในวันที่ 10 กันยายน 2565 นี้



อ้างอิง

  • ชาติ กอบจิตติ. 2561. จนตรอก. พิมพ์ครั้งที่ 24. สำนักพิมพ์หอน. กรุงเทพ.
  • Hari, Johann. 2018. Lost Connection: Uncovering the Real Causes of Depression and the Unexpected Solution. แปลเป็นภาษไทยโดย ดลพร รุจิวงศ์ ในชื่อ โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลืกใหม่ในการเยียวยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป. กรุงเทพ.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า