เดชรัต สุขกำเนิด
จากเทศกาลวัยรุ่นโคราช เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ TK Knowledge Square เทศบาลนครนครราชสีมา ตั้งชื่อธีมงานได้อย่างน่าสนใจว่า “เมืองที่ (ไม่) อนุญาตให้ฝัน” บทความนี้ ในซีรีส์สุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย ภายใต้ชื่อ “Always Beside You” Think Forward Center จึงชวนทุกคนมาเรียนรู้ “บทบาทของความฝัน” และแนวทางการสร้าง “พื้นที่เติมฝัน” ของเหล่าวัยรุ่นโคราช ที่สะท้อนผ่านงาน “วัยรุ่นโคราช” ครั้งนี้กัน
ความฝันสำคัญอย่างไร?
สำหรับวัยรุ่น ความฝันเป็นส่วนสำคัญของการสร้าง “ตัวตน” ของวัยรุ่น เพราะความฝัน และความหวังก็คือ ส่วนสำคัญของความมุ่งมั่นสู่อนาคต (หรือ future orientation) ของวัยรุ่นแต่ละคน โดยทั่วไปพบว่า วัยรุ่นที่มีความมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ชัดเจนมักพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับภาพอนาคตนั้น โดยเฉพาะเรื่องหากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จนสามารถค่อยๆ สร้างเป็น “ตัวตน” และ “เส้นทางอาชีพ” ของตนเองได้ ดังนั้น จึงพบว่า วัยรุ่นที่มีความมุ่งมั่นสู่อนาคตชัดเจน มักมีความพึงพอใจในชีวิตที่สูงกว่า
นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นสู่อนาคตยังเป็นเสมือนกันชนในยามที่วัยรุ่นต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายในชีวิต (เช่น การสูญเสียบุพการี การเผชิญภัยพิบัติ) เพราะความมุ่งมั่นสู่อนาคตจะเป็นเหมือนกับสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวให้วัยรุ่นที่เผชิญเหตุการณ์ร้ายในชีวิต ได้กลับมาสู่เส้นทางข้างหน้าที่ตนหวังไว้ และพยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเดินหน้าต่อไป
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ความมุ่งมั่นสู่อนาคตของวัยรุ่นจึงเป็นเสมือนเครื่องป้องกันของวัยรุ่น ไม่ให้วัยรุ่นเข้าไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ (เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์) ขณะเดียวกัน ก็มีผลการศึกษาว่า วัยรุ่นที่มีความมุ่งมั่นสู่อนาคตมักจะมีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (เช่น การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ) ที่ดีกว่าเช่นกัน เพราะฉะนั้น กล่าวโดยรวมๆ ได้ว่า ความฝันหรือความมุ่งมั่นสู่อนาคตมีผลดีต่อสุขภาพจิต (และสุขภาพกาย) ของวัยรุ่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ด้วย
หาก (ไม่) อนุญาตให้ฝัน
อย่างไรก็ดี นักจิตวิทยาก็ได้เตือนว่า ความแตกต่างระหว่าง ความหวัง (หรือ hope) กับความคาดหวัง (หรือ expectation) หรือความเป็นไป (ไม่) ได้ที่ความหวังจะเป็นจริง (หรือ Quixotic hope หรือความหวังที่เพ้อฝัน) ก็อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิต และความซึมเศร้าของวัยรุ่นได้เช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างความฝันและความเป็นจริง เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น (ก) การไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ เช่น พ่อแม่ โรงเรียน หรือผู้ใหญ่ (ข) ความไม่รู้/ไม่แน่ใจในเส้นทางที่มุ่งหวัง (ค) การขาดชุมชนร่วมฝันร่วมพัฒนา และ/หรือ (ง) การขาดพื้นที่ที่จะได้ทดลองและประเมินความเป็นจริงและความคาดหวัง ทั้งนี้ การขาดเหตุและปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ยังส่งผลให้ผลกระทบทางลบเมื่อความหวังไม่อาจเป็นจริงได้จะรุนแรงขึ้น จนอาจเกิดเป็นความซึมเศร้าได้
ในการเสวนา น้องๆ ได้พูดถึงภาวะการไม่อนุญาตให้ฝันในหลายแง่มุม เช่น การมีสายการเรียนที่จำกัดในระดับมัธยมปลาย ทำให้น้องๆ จำเป็นต้องเลือกสายการเรียนที่ไม่ตรงกับความฝันของตนเอง การขาดพื้นที่และชุมชนที่ร่วมสานฝัน การไม่มีเสียงของเยาวชนในการออกแบบและพัฒนาเมือง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอิสระของเยาวชนผู้พิการ และการไม่มีงานและโอกาสทางเศรษฐกิจในโคราชที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต เป็นต้น
“เมืองที่ “ไม่” อนุญาตให้ฝัน” จึงเป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า ความแตกต่างระหว่าง “ความฝัน” กับ “ความเป็นไปได้ที่จะลงมือทำจริง” ที่เป็นอยู่ในโคราช อาจอยู่ในระดับที่ด้อยลงมาก จนอาจส่งผลเสียหายต่อจิตใจและการเติบโตของวัยรุ่นโคราชได้ในอนาคต
บททดลองการอนุญาตให้เติมฝัน
ในขณะที่ในด้านหนึ่ง เทศกาลวัยรุ่นโคราชจะตั้งชื่อธีมงาน เป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างชัดเจน ในอีกด้านหนึ่ง เทศกาลวัยรุ่นก็ได้พยายามแสดงให้ดูว่า การสร้าง “พื้นที่และชุมชนเติมฝัน” ของวัยรุ่นโคราชนั้นทำกันอย่างไร?
น้องๆ หลายๆ กลุ่มความสนใจในโคราช จึงมารวมตัว และช่วยกันจัดงานเทศกาลวัยรุ่นโคราช โดยไม่มีองค์กรสนับสนุนหลัก (ทางการเงิน) เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับน้องๆ ในโคราชได้มาร่วมแจม ร่วมแสดงผลงาน และร่วมเป็นชุมชนในการสร้างและสานฝันในโคราช ไม่ว่าจะเป็น การแสดงดนตรี 2 เวที การแสดงคอสเพลย์ การเต้นบี-บอยและอื่นๆ การแสดงงานศิลปะ ทั้งศิลปะแบบเดิม ศิลปะดิจิทัล การทำอาหารแบบต่างๆ การแสดงทัศนะและมุมมองที่มีต่อการศึกษา การพัฒนาเมืองโคราช และการเมืองไทย ฯลฯ
“เราอยากแสดงให้ดูว่า หากอนุญาตให้เราฝันแล้ว เราจะเปลี่ยนแปลงเมืองโคราชได้อย่างไร” คือคำประกาศในเวทีเสวนาของน้องที่เป็นผู้ร่วมจัดงานเทศกาลวัยรุ่นโคราช สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งอยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นของน้องๆ ในการจัดงานนี้ ในขณะที่น้องอีกคนหนึ่งก็ได้ประกาศว่า “เราเชื่อว่า งานนี้จะนำไปสู่การสร้างตัวตนหรือจิตวิญญาณของคนโคราชขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”
จากการเติมฝันสู่พื้นที่สาธารณะ
นอกเหนือจากบรรยากาศความคึกครื้น คึกคัก เสียงหัวเราะ เสียงปรบมือ และแววตาแห่งความสนุกและความหวังในเทศกาลวัยรุ่นโคราชแล้ว สิ่งหนึ่งที่น้องๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือ การทำให้ “พื้นที่สาธารณะ” ที่เคยเป็นเพียงสวน เป็นพื้นที่รอรถของผู้ปกครองที่มารับ กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย และเป็นมิตรขึ้นในทันตา
ในทางวิชาการ การสร้างพื้นที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ 4 ด้านคือ
- หนึ่ง เป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (หรือ Green) ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงมีผลดีต่อสุขภาพจิตของผู้คน วัยรุ่น และเด็กๆ โดยตรง
- สอง เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนสามารถแสดงออกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่นั้นได้ (หรือ Active) ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในเชิง กิจกรรมทางกาย กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม หรือกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะมีผลดีต่อสุขภาพจิตโดยตรง
- สาม เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (หรือ Pro-social) ไม่ว่าจะเป็นการพบปะ พูดคุย การแลกเปลี่ยนทัศนะ ความสนใจ และผลงาน ของเพื่อนกลุ่มเดียวกัน หรือกลุ่มใหม่ๆ ที่อาจอยู่ในกลุ่มความสนใจหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเดียวกัน หรือต่างกลุ่มกันก็ได้
- สี่ เป็นพื้นที่ปลอดภัย (หรือ Safe) ความรู้สึกปลอดภัยและความมั่นคง/มั่นใจในสถานการณ์ที่อยู่รอบตัว เป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของสุขภาพจิตของมนุษย์ ทั้งนี้ ความรู้สึกปลอดภัยจะต้องคำนึงถึงทั้งความปลอดภัยในเชิงกายภาพ (หมายถึง การทำร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน) และการถูกดูหมิ่น/เหยียดหยาม/ตีตราทางสังคม
บรรยากาศหนึ่งที่น่าประทับใจในเทศกาลวัยรุ่นโคราช คือ บรรยากาศที่เด็กๆ และวัยรุ่นได้พาผู้ปกครองของตัวเอง มาดูมารู้จักกับบุคคลต้นแบบ (หรือ ไอดอล หรือ role model) หรือผลงานอ้างอิง (หรือ reference cases) ที่กำลังอยู่ในความฝันของตน รวมถึงมาชมผลงานของตนเองด้วย บรรยากาศการเรียนรู้ข้ามช่วงวัยแบบนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการอนุญาตให้ฝัน และการสนับสนุนความฝันของวัยรุ่น
เทศกาลเมืองวัยรุ่นโคราชจึงได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เพียงแค่อนุญาตให้ความฝันของวัยรุ่นได้ถูกเติมเข้าไปในพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ องค์ประกอบของการเป็นพื้นที่สาธารณะที่โอบเอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีก็ปรากฎชัดเจนขึ้นในทันตา แม้กระทั่ง ข้อเสนอแนะและเสียงเรียกร้องให้ พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ปรับตัวเองให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้ รวมถึง การปรับสภาพพื้นที่ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และการขยายพื้นที่เติมฝันของคนโคราชให้ทอดยาวจนตลอดคูเมืองเดิมโคราช ก็ชัดเจนขึ้นเช่นกัน
เพียงอนุญาตให้ฝัน เราก็เข้าใจกันมากขึ้น
แน่นอนว่า เพียงการอนุญาตให้ฝันใน 2 วัน และในพื้นที่เล็กๆ ของเมืองโคราช คงยังไม่อาจบอกได้ว่า ความฝันทั้งหลายของน้องๆ จะเป็นจริงได้ทั้งหมดหรือไม่? แต่อย่างน้อย การอนุญาตให้ฝันก็เปิดพื้นที่แห่งความเข้าใจ และแรงสนับสนุนของกันและกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญมากของการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี
Think Forward Center เชื่อมั่นว่า หากวัยรุ่นโคราชได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ และส่งแรงสนับสนุนทางสังคมซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ออกไป ความเข้มแข็งทางจิตใจของน้องๆ ความเข้มแข็งทางสังคมของชาวโคราช และความสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมจะเติบโตในจังหวัดนครราชสีมาแน่นอน
Think Forward Center ขอขอบคุณ #Kollage #เทศกาลวัยรุ่นโคราช #ก้าวไกลนครราชสีมา ที่ชวนมาร่วมงานครั้งนี้
ภาพประกอบจากเพจ #Kollage #โคลาจ
เอกสารอ้างอิง
Katharine H. Greenaway , Margaret Frye , and Tegan Cruwys’ 2015. “When Aspirations Exceed Expectations: Quixotic Hope Increases Depression among Students.” In PLOS One https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0135477
Mccay Layla, et al., 2017. Urban Design and Mental Health. In Mental Health and Illness in the City. https://www.researchgate.net/publication/315864757_Urban_Design_and_Mental_Health
Hildie Leung, 2016. Dreams, Aspirations and Related Behavior in Children and Adolescents: Impacts on Child Developmental Outcomes – Uknowledge. https://www.academia.edu/en/61764486/Dreams_aspirations_and_related_behavior_in_children_and_adolescents_impacts_on_child_developmental_outcomes