เดชรัต สุขกำเนิด
นนทบุรี ได้รับการจัดอันดับโดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นจังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) สูงที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2563 แม้ว่าจังหวัดนนทบุรีจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของประเทศเป็นเพียงลำดับที่ 18 ของประเทศไทยก็ตาม บ่งบอกถึงภาพรวมของคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวจังหวัดนนทบุรี
อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลึกลงไปในการพัฒนาแต่ละด้าน เราจะพบว่า นนทบุรียังมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยของการพัฒนาอีกหลายประการ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรับรู้และความเข้าใจอย่างกว้างขวาง และนำมาซึ่งการยกระดับการพัฒนาในจังหวัดนนทบุรีอย่างทั่วถึง และอย่างแท้จริง
และเนื่องในโอกาสที่จะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนนทบุรี ของพรรคก้าวไกล ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 Think Forward Center จึงขอชวนผู้อ่านมาศึกษาข้อเด่นและข้อด้อยของการพัฒนาจังหวัดนนทบุรี ก่อนที่จะนำเสนอวิสัยทัศน์การพัฒนา และแนวนโยบายในการพัฒนาจังหวัดนนทบุรี
ข้อเด่นและข้อด้อยใน 5 มิติการพัฒนา
หากพิจารณาใน 5 ด้านของการพัฒนาคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเรียนรู้ ด้านโอกาสในการใช้ชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความปลอดภัย เราจะพบทั้งข้อเด่น และข้อด้อยของการพัฒนาจังหวัดนนทบุรี ดังนี้
เมืองเศรษฐกิจ
ในด้านบวก นนทบุรีก็เป็นจังหวัดที่มีกำไร SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดสูงที่สุดในประเทศไทย (ร้อยละ 49.82 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด) และเป็นสัดส่วนคนจนน้อยที่สุดของประเทศ (ร้อยละ 0.0)
แต่ในทางกลับกัน คนนนทบุรีก็ต้องแบบภาระค่าครองชีพของครัวเรือนแพงที่สุดในประเทศ (33,995 บาท/ครัวเรือน/เดือน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงร้อยละ 57 และแซงภูเก็ตและกรุงเทพมหานครไปแล้ว และในภาคการเกษตรเอง สัดส่วนหนี้เสียต่อเงินกู้ภาคเกษตรในจังหวัดนนทบุรี (ร้อยละ 8.48) ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 2 เท่า แม้ว่าจะเป็นเมืองที่ดินดี น้ำดี และอยู่ใกล้แหล่งตลาดก็ตาม บ่งบอกถึงความเสี่ยงของอาชีพเกษตรกรอย่างชัดเจน
เมืองเรียนรู้
ในด้านการศึกษา นนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับมัธยมปลาย (วัดจากคะแนน O-NET) สูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และมีจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่ประชากรได้รับการศึกษาสูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ (เฉลี่ย 10.7 ปี) นอกจากนี้ นนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ (ร้อยละ 71.46) มีอัตราการอ่านหนังสือของประชากรสูงเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ (ร้อยละ 86.3)
แต่ในมุมกลับกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละของเด็กที่พัฒนาการสมวัย (ร้อยละ 97.20) กลับยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (เป็นอันดับที่ 45 ของประเทศ) ซึ่งแสดงนัยยะว่า ยังมีช่องโหว่ของการพัฒนาการเรียนรู้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
เมืองที่เปิดโอกาสสำหรับทุกคน
นนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีห้องส้วมแบบโถสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ (ร้อยละ 94.21) สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่คนเดียวน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ (ร้อยละ 3.69) และอัตราการเรียนร่วมของนักเรียนพิการสูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ (20 คนต่อโรงเรียน)
แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนนทบุรีก็ยังไม่มีความมั่นคงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันด้านแรงงาน เช่น สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ร้อยละ 5.03) น้อยเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ และหลักประกันด้านที่อยู่อาศัย เพราะชาวนนทบุรีมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองเพียงร้อยละ 45.29 หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ
เมืองสิ่งแวดล้อม
ในแง่สิ่งแวดล้อม นนทบุรีอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่ดีที่สุดของประเทศ ทำให้นนทบุรีมีสัดส่วนครัวเรือนที่เข้าถึงน้ำใช้เพื่อการเกษตรมากที่สุดของประเทศ (ร้อยละ 98.31) มีสัดส่วนเข้าถึงน้ำประปาเป็นอันดับที่ 4 ประเทศ (ร้อยละ 99.67) และมีสัดส่วนหมู่บ้านที่ประสบภัยพิบัติน้อยที่สุดของประเทศ (ร้อยละ 0.0)
แต่ในทางกลับกัน นนทบุรีกลับยังไม่มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ดังจะเห็นได้จากการที่นททบุรีมีสัดส่วนขยะที่นำกลับมาใช้ได้ (ร้อยละ 34.54) ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (ร้อยละ 48.05) นนทบุรีมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนน้อยเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ (ร้อยละ 2.37) และชาวนนทบุรีเองก็มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 4.02 ตารางเมตร/คน ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 9 ตารางเมตร/คน
เมืองปลอดภัย
นนทบุรี เป็นเมืองที่มีอุบัติเหตุทางถนนน้อยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ (3.70 รายต่อแสนประชากร) และมีความรุนแรงในครอบครัวน้อยเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ (1.43 เหตุการณ์ต่อแสนครัวเรือน) ซึ่งนับว่าเป็นอัตราความปลอดภัยในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ
แต่ในทางกลับกัน นนทบุรียังมีอัตราการเกิดอาชญากรรมมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (93 คดีต่อแสนประชากร คิดเป็นอันดับที่ 45 ของประเทศ) และยังมีสัดส่วนคดีที่จับกุมได้ (ร้อยละ 75.54 ของคดีทั้งหมด) น้อยเป็นอันดับที่ 62 ของประเทศ
วิสัยทัศน์นนทบุรี 2570
เมื่อพิจารณาจากข้อเด่น ข้อด้อย ใน 5 ด้านที่กล่าว Think Forward Center เห็นว่า นนทบุรีมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเมืองที่โดดเด่นใน 5 ลักษณะ ภายในปี 2570
- นนทบุรีเป็นเมืองหลวง SMEs ที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศ และสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างถาวร
- นนทบุรีเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สะดวก ทันสมัย และมีความหลากหลาย ทั้งทางเทคโนโลยี และทางศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์
- นนทบุรีเป็นเมืองที่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้คนทุกคน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง และเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน
- นนทบุรีเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- นนทบุรีเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย
แนวนโยบายในการพัฒนานนทบุรี
จากวิสัยทัศน์การพัฒนาทั้ง 5 ด้าน Think Forward Center ขอเสนอแนวนโยบายที่จะตอบโจทย์ของชาวนนทบุรีดังนี้
นโยบายด้านเศรษฐกิจ
- เพิ่ม แต้มต่อ เติมตลาด และเติมทุนให้ SMEs
- การเพิ่มส่วนลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้า/บริการจาก SMEs
- การนำใบเสร็จจาก SMEs มาแลกล็อตเตอรี่
- การให้ส่วนลดค่าเช่าร้านสำหรับ SMEs
- เปิดพื้นที่ตลาดให้ SMEs และเกษตรกร
- เงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs รายใหม่
- ลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในด้าน
- ค่าเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ
- ค่าไฟฟ้าโดยการใช้โซลาร์รูฟท็อป (กล่าวถึงภายหลัง)
- พัฒนาสวัสดิการที่พักอาศัยราคาประหยัด (กล่าวถึงภายหลัง)
- เพิ่มพื้นที่ตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารราคาประหยัด
- ปลดหนี้เกษตรกร/หนี้ครัวเรือน ผ่าน 3 ทางเลือก
- การปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดภาระหนี้ลง 50%
- การลงทุนและแบ่งรายได้จากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา
- การเช่าพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น/พื้นที่สีเขียว เพื่อใช้ชำระหนี้
นโยบายด้านการศึกษาเรียนรู้
- พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เปิดกว้างและทันสมัย และเป็นการศึกษาฟรีที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
- พัฒนาแหล่งเรียนรู้/พื้นที่สาธารณะในจังหวัดนนทบุรี ให้เพียงพอโดย
- การตั้งกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ และสนับสนุนทุนในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้/พื้นที่สาธารณะในจังหวัดนนทบุรี
- การใช้ส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (negative land tax) ในการสนับสนุนการรักษาพื้นที่เรียนรู้สำหรับสาธารณะ
- จัดสรรเงินสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนแบบถ้วนหน้า
- เด็กเล็ก 0-6 ปี 1,200 บาท/เดือน
- เด็กโตและเยาวชน 7-22 ปี 800 บาท/เดือน
นโยบายด้านโอกาสและสวัสดิการ
- เพิ่มสวัสดิการผู้พิการและผู้สูงอายุ
- บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ภายใน 4 ปี
- เบี้ยยังชีพผู้พิการ 3,000 บาท/เดือน ภายใน 4 ปี
- กองทุนดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการระยะยาวสำหรับผู้ป่วยที่ติดบ้าน/ติดเตียง 9,000 บาท/เดือน/ราย
- พัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานสร้างสรรค์ที่ไม่มีนายจ้างประจำ
- สนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย/ห้องพัก ที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในราคาประหยัด
- โดยการเสนอส่วนลดดอกเบี้ยผ่อนบ้าน และ
- งบประมาณจูงใจสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ในการสร้างที่อยู่อาศัย/ห้องพักราคาประหยัด
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในบ้านเรือน โครงการอสังหาริมทรัพย์ และสำนักงาน เช่น โซลาร์รูฟท็อป โดย
- กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่เป็นธรรม
- การสนับสนุนการลงทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการแบ่งส่วนรายได้ร่วมกับภาครัฐ
- ส่งเสริมและออกแบบร่วมกับ อปท. ในการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะที่นำกลับมาใช้ได้ และขยะอินทรีย์
- พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะยานพาหนะไฟฟ้าขนาดต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าและระบบเรือด่วนเจ้าพระยา
- ร่วมกับ อปท. และภาคเอกชน ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว/พื้นที่สาธารณะผ่านการให้ส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือ negative land tax
นโยบายด้านความปลอดภัย
- ร่วมออกแบบและสนับสนุนงบประมาณให้กับเทศบาล/อบต. ต่างๆ ในการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการลดอาชญากรรมผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดอาชญากรรม (Crime Prevention through Environmental Design) เช่น ไฟแสงสว่าง กล้องวงจรปิด พื้นที่อับสายตา ฯลฯ
- ป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง และป้องกันการกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ เช่น บ่อนการพนัน รวมถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมต่อตำรวจ/เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย
- การเพิ่มความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึง
- ระบบขนส่งสาธารณะ และทางเดินสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้
- รถโรงเรียนที่ปลอดภัยและสามารถเช็คข้อมูลและตรวจสอบได้ 100%
Think Forward Center เชื่อว่า หากนนทบุรีได้รับการพัฒนาในทั้ง 5 มิติ ตามแนวนโยบายที่ได้กล่าวมา นนทบุรีจะเป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าของผู้คนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
แหล่งที่มาของข้อมูล
- กระทรวงมหาดไทย เครื่องมือวัดระดับการพัฒนา http://benchmark.moi.go.th/moibenchmarking2561//#cptt-_province-12
- รายงานสรุปจำนวนพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณต่อสัดส่วนประชากร จำแนกตามจังหวัดและประเภทพื้นที่สีเขียว http://thaigreenurban.onep.go.th/reportGreenArea.aspx?reportid=8