สรุปการประชุมสุดยอด เจ้าพระยาก้าวไกล ว่าด้วย “การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์วิกฤต”

เดชรัต สุขกำเนิด


สถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

จากการประชุมสุดยอดว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล หรือ เจ้าพระยาก้าวไกล ว่าด้วย “การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์วิกฤต” เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด แล้วพบว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีน้ำท่วมในวงกว้าง เพราะ (ก) ปริมาณน้ำเหนือยังคงเพิ่มมาเรื่อย (แม้จะไม่มากเท่าปี 54) แต่เขื่อนต่างๆ เริ่มมีความสามารถในการรับน้ำได้อีกไม่มาก และยังต้องระบายออกต่อไป เพราะ (ข) ด้วยอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานิลญา ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังมีฝนต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนตุลาคม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาประกาศว่า อาจจะปล่อยน้ำสูงถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป่าสักอาจปล่อยน้ำสูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที 

สำหรับ สถานการณ์น้ำในแต่ละจังหวัดในลุ่มน้ำพระยาตอนบน ที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละจังหวัดได้นำเสนอ โดยย่อ มีดังนี้

  • ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มปล่อยระบายน้ำมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนน้ำท่วมอย่างรวดเร็วมาก (ประมาณ 60-70 เซนติเมตร/วัน) ในวันที่ 29-30 กันยายน 2565 การเตือนภัยในพื้นที่ไม่ชัดเจนพอ และบางพื้นที่ คันกั้นน้ำแตกเสียหายทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมากก่อน ประชาชนต้องอพยพข้าวของอย่างฉุกละหุก นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนในศูนย์อพยพหลายแห่ง ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เช่น เต้นท์ไม่พอ สุขาไม่พอ
  • สิงห์บุรี และอ่างทอง พื้นที่น้ำท่วมนอกแนวคันกั้นน้ำ และคันดินกั้นน้ำ ริมฝั่งเจ้าพระยา แตกเสียหายเป็นระยะ ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
  • สระบุรี หลังจากเขื่อนป่าสักเพิ่มการระบายน้ำ ชุมชนริมแม่น้ำป่าสักเริ่มได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น และระดับน้ำยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก
  • อยุธยา น้ำท่วมยกระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ และวงกว้างมากขึ้น และที่สำคัญ เกิดความขัดแย้งกันเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่ทุ่งรับน้ำทุ่งบางบาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นปัญหามาจากการจัดการผังเมืองที่ผิดพลาด ทำให้มีบ่อทรายและบ่อขยะอยู่ในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ 

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักปล่อยน้ำมามากขึ้น ทำให้ปริมาณการไหลของน้ำที่จุดบางไทร (ซึ่งเป็นจุดวิกฤตสำหรับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพและปริมณฑล) ปริมาณการไหลของน้ำอาจสูงเกิน 3,300-3,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแปลว่า จะเต็มอัตราความจุของลำน้ำตามธรรมชาติพอดี และยังเป็นข้อจำกัดในการระบายน้ำด้วย แถมด้วยปัจจัยน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่วันที่ 6-10 ตุลาคม 2565 จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ปทุมธานี พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อ.สามโคก และ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ท่วมมา 1 เดือนแล้ว และยังท่วมสูงขึ้นเรื่อย และขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา การป้องกันพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้จำกัดมาก เพราะอุปกรณ์เช่น กระสอบทรายไม่เพียงพอ การเตือนภัยและการดูแลในพื้นที่อพยพยังไม่ดี ส่วนพื้นที่บริเวณคลองรังสิต เป็นพื้นที่ที่ท่วมสูงในช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 และยังคงมีความเสี่ยงสูงมาก จากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสัก และปัจจัยน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่
  • นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จากวันนี้ไป พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และคลองอ้อมนนท์ จะมีความเสี่ยงสูงมาก คันกันน้ำชำรุด น้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ เพราะระบบการระบายน้ำในกรุงเทพมหานครและนนทบุรี ไม่สามารถรองรับฝนหนักมาก ที่มีปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรได้ดีนัก แม้ว่าตอนนี้ อปท. ต่างๆ ทำการพร่องน้ำในคลอง ในท่อ ยังเต็มที่ แต่ความสามารถในการสูบน้ำอาจทำได้จำกัดมากขึ้น อันเนื่องมาจากระดับน้ำในเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนในกรุงเทพมหานครยังต้องระมัดระวัง การระบายน้ำไปในพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานครด้วย



ปัญหาในการรับมืออุทกภัยในปี 2565

โดยภาพรวมแม้ว่า พื้นที่และระดับการท่วมของน้ำจะไม่มากเท่าระดับปี 2554 แต่ก็มีพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยมากกว่าปี 2564 แน่นอน เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือ การเผชิญเหตุ และการเยียวยาขั้นสูงสุด และการจัดการน้ำและอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 สะท้อนให้เห็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ 5 ประการด้วยกันคือ

  1. การเตือนภัยที่ไม่สามารถระบุระดับน้ำที่จะท่วมได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง ต้องอพยพหลายครั้ง หรือต้องยกของเพื่อหนีน้ำหลายหน และบางครั้งก็ยกของไม่ทันการณ์เลย บางจังหวัดที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เช่น ปทุมธานี และนนทบุรี กลับยังไม่มีสถานีเตือนภัยของตนเอง
  2. การบริหารจัดการน้ำ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และไม่ได้ประกาศแนวทางการจัดการน้ำที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน และกลายเป็นความตึงเครียด และความขัดแย้งในที่สุด เช่น ความขัดแย้งเรื่องการผันน้ำเข้าทุ่งที่จังหวัดอยุธยา
  3. การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ล่าช้า และขาดการเตรียมความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับมือภัยพิบัติ เช่น กระสอบทราย หรือเต้นท์สำหรับผู้อพยพ ทั้งนี้เป็นเพราะปัญหาในระบบการเบิกจ่ายงบประมาณ และความกังวลใจจากปัญหาการตรวจสอบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19
  4. การขาดมาตรฐานในการจัดการในศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพ ทำให้ศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพจำนวนมาก ไม่มีอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเต้นท์ที่พัก สุขา น้ำใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ที่เพียงพอ รวมถึงไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีพอด้วย 
  5. ปัญหาจากการวางผังเมือง และการก่อสร้างอาคารหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการรุกล้ำลำน้ำ หรือพื้นที่ทุ่งรับน้ำเดิม หรือพื้นที่หน่วงน้ำเดิม หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพของลำน้ำ รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน หรือท่อระบายน้ำ ที่ไม่ได้รองรับกับปริมาณน้ำฝนที่เกิดจากฝนตกหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่


ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 จึงมีความเห็นพ้องกัน ในการเสนอและเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการมาตรการรับมือ เผชิญ และเยียวยาอุทกภัยโดยเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาล และหน่วยงานรับผิดชอบ (เช่น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน) ต้องประกาศความชัดเจนในแนวทางการบริหารจัดการการระบายน้ำในช่วงอุทกภัยนี้ จนกว่าจะระบายน้ำหมด เพราะระบบการบริหารจัดการน้ำ จะส่งผลต่อการเตือนภัย ระดับน้ำท่วม และระยะเวลาที่น้ำจะท่วมในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งประชาชนในแต่ละพื้นที่จำเป็นที่จะต้องทราบ เพื่อการวางแผนรับมือกับอุทกภัยในครั้งนี้
  2. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน จะต้องเร่งประกาศระบบการเตือนภัยที่สามารถระบุระดับน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทันการณ์ โดยรวมถึงปัจจัยน้ำฝน (ในช่วงฝนตกหนัก) และน้ำทะเลหนุนในแต่ละช่วงเวลาด้วย และควรมีสถานีและ/หรือหน่วยเตือนภัยประจำจังหวัด ที่ทำให้ประสานกับ อปท. ในจังหวัดนั้น ตลอดเวลา
  3. ในการรับมือกับการเผชิญภัยพิบัติครั้งนี้นั้น รัฐบาลและจังหวัดต่างๆ ต้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด รัฐบาลต้องทำให้จังหวัดเกิดความมั่นใจในการใช้งบประมาณ และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ที่ความเสี่ยงอย่างเร่งด่วนที่สุด ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องยกระดับมาตรฐานจัดการและสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศูนย์พักพิงและพื้นที่อพยพทุกแห่ง ให้มีความปลอดภัยและช่วยอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วนที่สุด 
  4. รัฐบาลควรปรับแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา จากการเยียวยาหลังน้ำลด มาเป็นการเยียวยาเร่งด่วนในช่วงประสบภัยอุทกภัย สำหรับผู้ที่มีมาอยู่ในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน (คำนวณมาจาก 100 บาท/คน/วัน)
  5. ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ภายหลังน้ำลด รัฐบาลจะต้องประกาศแนวทางให้ชัดเจนตั้งแต่ขณะนี้ โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การเยียวยาจะต้องเป็นแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่สะดวก เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเสียหายจริง รวดเร็ว และทั่วถึงกว่าปีที่ผ่านมา เช่น การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ในการบ่งชี้พื้นที่น้ำท่วม หรือพื้นที่นาควรได้รับการเยียวยาให้ครอบคลุมต้นทุนที่ได้ลงไปในการทำการเกษตร ที่ 3,000 บาท/ไร่ เป็นต้น



ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า

ส่วนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในระยะยาว ที่ประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไป รัฐบาลควรเร่งดำเนินมาตรการต่อไปนี้โดยด่วนที่สุด

  1. สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานจะต้องทบทวนสภาพและปริมาณความจุลำน้ำของแม่น้ำ คลอง คลองชลประทาน กันใหม่ เพื่อตัวเลขสภาพและความจุลำน้ำ หรือศักยภาพการระบายน้ำของคลอง มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยด่วนที่สุด เพื่อให้การบริการจัดการน้ำมีความแม่นยำ และไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำ เหมือนเช่นครั้งนี้
  2. สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานจะต้องพัฒนาระบบการเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ผ่านระบบดิจิทัล และนำระบบ Big data มาใช้ในการเตือนภัยน้ำท่วม และสามารถส่งข้อความเตือนภัยที่สามารถบอกพื้นที่ ช่วงเวลา และระดับน้ำท่วมได้อย่างชัดเจนและทันเวลา
  3. รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทบทวนการจัดทำผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่รับน้ำ และพื้นที่ที่ความเสี่ยงภัยใหม่ ไม่มีการรุกล้ำลำน้ำ หรือกั้นขวางทางน้ำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในอนาคต รวมถึงจะต้องมีการกำหนดมาตรการออกแบบพื้นที่หน่วงน้ำ (เวลาฝนตกหนัก สามารถรับน้ำได้ 4 ชั่วโมง) สำหรับโครงการ/พื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่
  4. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอแผนป้องกันอุทกภัยระยะยาวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีโครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบ ทั้งการขุดคลองระบายน้ำใหม่ในพื้นที่คอขวดของลำน้ำเดิม การขุดลอกลำน้ำบางส่วน การทำพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำ การทำแก้มลิง เพื่อให้สามารถยกระดับความสามารถในการรับน้ำในลุ่มเจ้าพระยาจากปัจจุบัน 3,500 ลบ.ม./วินาที มาเป็น 5,000 ลบ.ม./วินาที ภายในเวลา 10 ปี (2566-2575) โดยจะต้องมีการประเมินผลกระทบ และการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
  5. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอแนวทางการเยียวยาที่เป็นธรรมสำหรับพื้นที่ทุ่งรับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ ที่ต้องรับน้ำมากกว่า และนานกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่น การประกันภัยพืชผลที่ครอบคลุมความเสียหายเต็มจำนวน หรือพื้นที่ทุ่งรับน้ำที่เป็นพื้นที่การเกษตร ควรจะได้รับค่าชดเชยเยียวยา เพื่อเป็นกองทุนในการพัฒนาพื้นที่ในอัตรา 1,000 บาท/ไร่/เดือน ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับน้ำ เช่น กรณีทุ่งบางกุ่ม อ.ดอนพุด จ. สระบุรี ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 72,000 ไร่ ในปี 2564  รับน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำท่วมประมาณ 3 เดือน เพราะฉะนั้น ทุ่งบางกุ่มก็จะได้รับงบประมาณเยียวยาเข้าสู่กองทุนในการพัฒนาพื้นที่ 216 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาระบบชลประทานเส้นเลือดฝอย และ/หรือ พื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้ง หรือโครงการอื่นๆในพื้นที่ ต่อไป
  6. พรรคก้าวไกล เชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น มีขีดความสามารถในการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น 
    • การจัดตั้งสถานีเตือนภัยและระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับแต่ละท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานกลางในรูปแบบดิจิทัล และมีระบบ Big data ในการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล
    • การจัดทำระบบกักเก็บน้ำ/แก้มลิง/การปรับปรุงแหล่งน้ำในพื้นที่ของท้องถิ่น
    • การลงทุนในระบบป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ เช่น การปรับปรุงประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ พนังกันน้ำ และอื่นๆ โดยจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง และมีการประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสม
    • การจัดทำแผนฟื้นฟูและการลดผลกระทบน้ำท่วมระยะยาว สำหรับพื้นที่รับน้ำและพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ เช่น การปรับรูปแบบอาคารที่พักอาศัยในชุมชน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า