วิกฤตลุ่มน้ำมูน น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 44 ปี และข้อเสนอเร่งด่วนของพรรคก้าวไกล

เดชรัต สุขกำเนิด

วิศรุต สวัสดิ์วร
(ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคก้าวไกล)


จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำมูนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 17.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำมูนที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (หรือจุด M.7) ได้สูงถึงระดับ 11.02 เมตร หรือสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี พ.ศ. 2565 ไปเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นน้ำท่วมครั้งที่มีระดับสูงที่สุดในรอบ 44 ปี (ระดับสูงสุดคือ ปี พ.ศ. 2521)


ภายใต้สถานการณ์วิกฤต พี่น้องชาวอุบลราชธานีประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตหลายประการมาก พรรคก้าวไกล  จังหวัดอุบลราชธานี และ Think Forward Center ได้สรุปสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญไว้ 4 ประการ พร้อมข้อเสนอแนะ ดังนี้


ปัญหาเส้นทางการสัญจรถูกน้ำท่วม 

วิกฤตการณ์ล่าสุดที่พบในพื้นที่ตัวเมืองอุบลราชธานี-วารินชำราบ คือ เส้นทางสัญจรที่เคยใช้ข้ามระหว่างสองฝั่งของลำน้ำมูนถูกน้ำท่วมไปเรื่อยๆ รถเล็กแทบผ่านไม่ได้ จนเหลือเส้นทางที่ใช้งานได้เพียงเส้นทางเดียว คือเส้นรอบเมืองช่วงกุดลาด-บัวเทิง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัด และประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรข้ามฝั่งแม่น้ำสองฝั่งก็ต้องเฝ้ารอเป็นเวลานาน เพราะรถที่มาให้บริการยังมีจำนวนจำกัด 

พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี และ Think Forward Center เห็นว่า จังหวัดอุบลราชธานีควรประกาศให้หยุดราชการ หรือทำงานแบบ work from home ในช่วงนี้ จนกว่าจะผ่านช่วงน้ำท่วมสูงสุดไปก่อน และควรเร่งเพิ่มจำนวนเที่ยวรถบริการสัญจรข้ามฝั่งแม่น้ำสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสัญจร โดยด่วนที่สุด


การคาดการณ์ระดับน้ำท่วม

นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ที่เริ่มมีน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี-วารินชำราบเป็นต้นมา ระดับน้ำท่วมได้เพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก กล่าวคือ เพิ่มจากระดับ 8.73 เมตร ในวันที่ 28 กันยายน มาเป็น 11.02 เมตร.ในวันที่ 4 ตุลาคม หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.29 เมตร ภายในเวลาเพียง 6 วัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การเตรียมความพร้อมของพี่น้องประชาชนอยู่ในภาวะสับสน และฉุกละหุกอย่างมาก พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี ได้เห็นถึงปัญหาพื้นที่ศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพที่ถูกน้ำท่วมซ้ำ และต้องย้ายไปหาพื้นที่ตั้งแห่งใหม่ รวมถึงปัญหาพี่น้องชาวอุบลราชธานี ต้องพายเรือกลับเข้าไปขนข้าวให้พ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 38 เซนติเมตร 

นอกจากนี้ พี่น้องชาวอุบลราชธานียังไม่สามารถทราบการคาดการณ์ระดับน้ำท่วมและพื้นที่ปลอดภัยได้ เพราะตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนมักจะเทียบเคียงกับระดับน้ำท่วมในปี 2562 (ซึ่งเป็นครั้งที่สูงที่สุด ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติในปีนี้) แต่ในเมื่อการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่คาดว่า ระดับน้ำในแม่น้ำมูนจะยังเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 45 เซนติเมตร หรือเกือบครึ่งเมตร (คาดการณ์ว่าจะท่วมสูงสุดในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2565) พี่น้องชาวอุบลราชธานีและชาววารินชำราบจึงตกอยู่ในภาวะกังวลใจและสับสนว่า น้ำจะท่วมถึงระดับใด

พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี และ Think Forward Center จึงเรียกร้องให้ รัฐบาล จังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดทำแผนที่คาดการณ์ระดับน้ำท่วมสูงสุดมาเผยแพร่โดยด่วนที่สุด เพื่อให้พี่น้องชาวอุบลราชธานีเตรียมความพร้อมในการอพยพหรือย้ายข้าวของไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย


การดูแลพื้นที่ประสบภัยและศูนย์อพยพ

ปัจจุบัน พบว่า พื้นที่รองรับผู้ประสบภัยยังมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอกับจำนวนของผู้อพยพ ทั้งยังมีปัญหาในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต ทั้งเต็นท์ที่พักซึ่งไม่เพียงพอ สุขาและน้ำใช้ที่ไม่เพียงพอเป็นส่วนใหญ่ และไฟฟ้าที่มีปัญหาในบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องย้ายศูนย์อพยพที่เคยย้ายมาแล้วอีกด้วย

ขณะเดียวกัน พี่น้องชาวอุบลราชธานี-วารินชำราบ ก็ประสบปัญหาอย่างมากในการประสานงานและขอข้อมูลในการช่วยเหลือ สอบถามเส้นทาง และศูนย์อพยพ เพราะเมื่อติดต่อสอบถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็กลับโยนให้ไปสอบถามหน่วยงานระดับท้องถิ่น แต่หน่วยงานในระดับท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้มีมากกว่า 10 แห่ง ทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างสับสนวุ่นวาย สร้างความขุ่นเคืองใจกับพี่น้องประชาชนที่ประสานขอความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก 


พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี และ Think Forward Center จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และจังหวัดอุบลราชธานีดูแลพื้นที่/ผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงและดีที่สุด โดยควรมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (หรือ war room) ในการประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และจัดสรรและกระจายไปยัง อปท. หน่วยอาสาสมัคร และศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงในพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และทันการณ์ที่สุด 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประสบอุทัยภัยต้องประสบภัยซ้ำซ้อนจากความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยราชการ


การเยียวยาเร่งด่วน 

เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานีในปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี และพี่น้องประชาชนจำนวนมาก เพิ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2562 และจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563-2564 หรือกล่าวได้ว่า เผชิญวิกฤตการณ์ต่อเนื่องมาตลอดทั้ง 4 ปี เพราะฉะนั้นการเผชิญอุทกภัยครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างสาหัสด้วย โดยเฉพาะการที่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

พรรคก้าวไกล จังหวัดอุบลราชธานี และ Think Forward Center จึงเสนอให้รัฐบาลปรับแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย จากการเยียวยาหลังน้ำลด มาเป็นการเยียวยาเร่งด่วนทันที ในช่วงที่กำลังประสบภัยอุทกภัย สำหรับผู้ที่มีมาอยู่ในศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน (คำนวณมาจาก 100 บาท/คน/วัน)

ขณะเดียวกัน การจ่ายเงินเยียวยาบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ภายหลังน้ำลด รัฐบาลจะต้องประกาศแนวทางให้ชัดเจนตั้งแต่ขณะนี้ โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การเยียวยาจะต้องเป็นแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่สะดวก เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเสียหายจริง รวดเร็ว และทั่วถึงกว่าปีที่ผ่านมา เช่น การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA หรือการใช้ Big data ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการบ่งชี้พื้นที่น้ำท่วม หรือการเยียวยาพื้นที่นาควรได้รับครอบคลุมต้นทุนที่ชาวนาได้ลงทุนไปในการทำการเกษตร เช่น อย่างน้อย 3,000 บาท/ไร่ เป็นต้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า