วิกฤตลุ่มน้ำมูน: วิกฤตการจัดการน้ำของรัฐ

เดชรัต สุขกำเนิด


ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลุ่มน้ำมูนเป็นลุ่มน้ำที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการอีสานเขียว โครงการเขื่อนปากมูล โครงการเขื่อนราศีไศล และโครงการโขงชีมูล แต่ลุ่มน้ำมูนกลับเป็นลุ่มน้ำที่ต้องประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยสลับกันไปมาตลอดเวลา เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 จ.สุรินทร์ ก็ประสบภัยแล้งถึงขั้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ที่เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับการใช้ทำน้ำประปาของเมืองสุรินทร์แห้งขอด แต่ในเดือนถัดมา (กันยายน 2562) อุบลราชธานีก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่สร้างความเสียหายมากมาย 

ล่าสุดหลังจากพายุโนรูในปลายเดือนกันยายน 2565 ลุ่มน้ำมูนก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง และปัจจุบันนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำมูนยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 17.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำมูนที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (หรือจุด M.7) ได้สูงถึงระดับ 11.02 เมตร หรือสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี พ.ศ. 2562 ไปเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่า น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นน้ำท่วมครั้งที่มีระดับสูงที่สุดในรอบ 44 ปี เลยทีเดียว (ระดับน้ำท่วมสูงสุดครั้งก่อนคือ ปี 2521)

ปัญหาของการจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูนคืออะไร ทำไมโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐจำนวนมาก จึงไม่สามารถป้องกัน/แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากทิ้งรอยบาดแผลไว้จากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในพื้นที่ โดยเฉพาะระบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม และระบบนิเวศเกาะแก่งและการประมง บทความนี้จะมาค้นหาคำตอบกัน


ความย้อนแย้งของการจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำมูน

ความน่าสนใจของภาพรวมการจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำมูนคือ การเต็มไปด้วยความย้อนแย้งหลายประการ โดยพบว่าแม้ว่าลุ่มน้ำมูนจะมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งจำนวนมาก แต่ในภาพรวมแล้ว ลุ่มน้ำมูนกลับเป็นลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุน (ที่กักเก็บไว้ได้) สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำอยู่เสมอ โดยในปี 2563 ลุ่มน้ำมูนมีปริมาณน้ำต้นทุน (ที่กักเก็บไว้ได้) สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมากถึง 2,006 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี 

ในปี 2563 จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำมูน มีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 735 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย และจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำมูน มีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 706 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สูงเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย แม้กระทั่ง จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่กลางลุ่มน้ำมูน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำต้นทุนส่วนเกินน้อยที่สุดในลุ่มน้ำ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำ 171 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 136 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

แต่ในขณะที่ทุกจังหวัดในลุ่มน้ำมูนมีปริมาณต้นทุนส่วนเกินจำนวนมาก และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ สัดส่วนหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีของทุกจังหวัดในลุ่มน้ำมูน กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ จังหวัดในลุ่มน้ำมูนที่มีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีมากที่สุดคือ ศรีสะเกษ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีร้อยละ 52.33 ของหมู่บ้านทั้งหมด ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 52.73% ส่วนจังหวัดที่มีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีต่ำที่สุดในลุ่มน้ำมูนคือ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีเพียงร้อยละ 37.87 ของหมู่บ้านทั้งหมด ตามมาด้วยบุรีรัมย์ ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีน้ำการเกษตรใช้เพียงพอตลอดทั้งปีเพียงร้อยละ 40.87 เท่านั้น (ภาพที่ 1)

ที่มา: ฐานข้อมูลการพัฒนากระทรวงมหาดไทย


ความย้อนแย้งของปริมาณน้ำต้นทุนส่วนเกินจำนวนมากกับสัดส่วนหมู่บ้านที่มีน้ำใช้การเกษตรเพียงพอจำนวนน้อย เกิดขึ้นจากการมีสัดส่วนพื้นที่ชลประทานที่จำกัดมาก แม้ว่าจะมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ในพื้นที่ แต่โครงการเหล่านี้กลับมีการกระจายน้ำในกับพื้นที่การเกษตรได้น้อย และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ สัดส่วนพื้นที่ชลประทานใน 5 จังหวัดลุ่มน้ำมูนมีเพียง 11.2% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (22.1%) เกือบเท่าตัว จังหวัดในลุ่มน้ำมูนที่มีสัดส่วนพื้นที่ชลประทานสูงที่สุดในลุ่มน้ำมูนคือ สุรินทร์ ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่ชลประทานเพียง 12% เท่านั้น ในขณะที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำต้นทุนส่วนเกินมากเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 9.2% ของพื้นที่การเกษตรทั้งจังหวัดเท่านั้น (ภาพที่ 2) 

ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการพัฒนากระทรวงมหาดไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


ความย้อนแย้งทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลลัพธ์จากการที่รัฐบาลหรือหน่วยราชการให้ความสนใจกับโครงการชลประทานหรือโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่เป็นหลัก ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดอุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2562 ก็มีการเสนอโครงการคลองผันนํ้าเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ผ่านพื้นที่บริเวณเขต อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี มีความยาวถึง 97 กิโลเมตร และมีศักยภาพที่จะระบายนํ้าได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 45,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 7 ปี และต้องมีพื้นที่การเกษตรที่ต้องถูกเวนคืนเกือบ 9,000 ไร่ 

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดภาวะภัยแล้งครั้งใหญ่ในปีเดียวกัน (สิงหาคม 2562) จังหวัดสุรินทร์ก็ได้ร้องของบประมาณในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร) และอ่างเก็บน้ำอำปึล (ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญสำหรับการทำประปาเลี้ยงพื้นที่เมืองสุรินทร์ และมีการก่อสร้างมานานถึง 40 กว่าปีแล้ว เพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากขึ้น รัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉินสำหรับจังหวัดสุรินทร์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจำนวนเงิน 500 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า จนกระทั่งปัจจุบัน การขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึลก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด และล่าสุดอ่างเก็บน้ำทั้งสองก็มีน้ำกักเก็บเต็มความจุ และไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อีก และปล่อยน้ำเหลือทิ้งและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ สะท้อนภาพความไม่อาจริงเอาจัง ในการแก้ปัญหาของรัฐบาลและราชการ (ภาพที่ 3)


ความย้อนแย้งอย่างไม่น่าเชื่ออีกประการของการจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูนคือ ศักยภาพในเตือนภัยพิบัติที่ต่ำมาก แม้ว่าจังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำมูนจะเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเผชิญอุทกภัยอยู่เสมอ แต่ปรากฏว่า จำนวนระบบพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้าในจังหวัดลุ่มน้ำมูนตอนกลางและตอนล่างมีน้อยมาก รวมกัน 4 จังหวัด (ไม่รวมนครราชสีมา) มีเพียง 12 ระบบเท่านั้น และหากแยกเป็นรายจังหวัดจะพบว่า จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้งกลับมีระบบเตือนภัยเพียง 4 ระบบ ศรีสะเกษและสุรินทร์มีระบบพยากรณ์และเตือนภัยเพียง 3 ระบบ และบุรีรัมย์มีระบบเตือนภัยเพียง 2 ระบบเท่านั้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการมีระบบพยากรณ์และเตือนภัยทั้งประเทศคือ 41 ระบบ/จังหวัด (ภาพที่ 4)

ที่มา: ฐานข้อมูลการพัฒนากระทรวงมหาดไทย


การให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบพยากรณ์และเตือนภัยที่น้อยกว่าปกติ (หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ) ยังส่งผลกระทบต่อความแม่นยำในการเตือนภัย โดยหากพิจารณาจากช่วงเวลาการเกิดอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ที่นับจากวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่เริ่มมีน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี-วารินชำราบ เป็นต้นมา ระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก กล่าวคือ เพิ่มจากระดับ 8.73 เมตร ในวันที่ 28 กันยายน มาเป็น 11.02 เมตร .ในวันที่ 4 ตุลาคม หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.29 เมตร ภายในเวลาเพียง 6 วัน (หรือเฉลี่ยวันละ 38 เซนติเมตร) แต่การคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในครั้งแรก (วันที่ 29 ก.ย. 65) กลับมีการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในวันที่ 4 ต.ค. 65 ถึงประมาณ 35 ซ.ม. และเมื่อมีการคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 (ซึ่งคาดว่าน้ำจะขึ้นสูงสุด 11.30 เมตรในวันที่ 8 ตุลาคม 2565) พบว่าระดับการคาดการณ์ใหม่สูงกว่าการคาดการณ์น้ำท่วมสูงสุดในครั้งแรกถึง 96 ซ.ม. หรือเกือบหนึ่งเมตรเลยทีเดียว (ภาพที่ 5)

ความคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์ระดับน้ำสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้การเตรียมความพร้อมของพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในภาวะสับสน และฉุกละหุกเป็นอย่างมาก พื้นที่ศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพที่ถูกน้ำท่วมซ้ำ และจำต้องย้ายไปหาพื้นที่ตั้งแห่งใหม่ พี่น้องชาวอุบลราชธานีจำนวนไม่น้อย ต้องพายเรือกลับเข้าไปขนข้าวให้พ้นจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งนี้ ไม่ต้องกล่าวถึง พี่น้องในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษที่แทบจะมีการเตือนภัยถึงระดับน้ำท่วมสูงสุดให้ประชาชนทราบเลย

ที่มา รวบรวมจากเพจ UbonConnect


ความย้อนแย้งประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ ในขณะที่ระดับน้ำท่วมในปี 2565 นี้เป็นระดับน้ำท่วมที่สูงที่สุดในรอบ 44 ปี แต่หากพิจารณาจากปริมาณการไหลน้ำที่ไหลผ่านจุด M.7 แล้ว กลับพบว่า ปริมาณการไหลของลำน้ำมูนในปี 2562 :ซึ่งเท่ากับ 5,265 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และ ปี 2565 (ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2565) ซึ่งเท่ากับ 5,425 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งนั่นยังต่ำกว่าปริมาณการไหลของน้ำมูนในปี 2545 ซึ่งมีปริมาณการไหลเท่ากับ 6,242 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เสียอีก แต่กลายเป็นระดับน้ำในปี 2562 และปี 2565 สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2545 ถึง 20 และ 32 เซนติเมตรตามลำดับ (ภาพที่ 6)

(อนึ่ง ระดับน้ำท่วมสูงสุด และปริมาณการไหลของน้ำในปี 2565 จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะถึงระดับสูงสุดในช่วงวันที่ 8-10 ตุลาคม 2565)


ปรากฏการณ์ที่ระดับน้ำท่วมสูงสุดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำการไหลของน้ำยังคงต่ำกว่าปี 2545 และปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการรับน้ำของลำน้ำมูนที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ชุ่มน้ำสองฝั่งแม่น้ำมูน ทั้งในฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี และในฝั่งอำเภอวารินชำราบ มาเป็นอาคารพาณิชยกรรมต่างๆ ทำให้ความจุลำน้ำลดลง และระดับน้ำท่วมเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 7) แต่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาอุทกภัยของหน่วยราชการกลับไม่ให้ความสนใจในประเด็นนี้แม้แต่น้อย มีแต่มุ่งไปผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น คลองผันน้ำเลี่ยงเมือง 45,000 ล้านบาท เป็นต้น


ศักยภาพที่ถูกมองข้ามของลุ่มน้ำมูน

กล่าวได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ลุ่มน้ำมูนจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจในการพัฒนาโครงการย่อยมากๆ ตลอดลุ่มน้ำสาขาย่อยของลุ่มน้ำมูนที่มีมากถึง 31 สาขาย่อย ไม่ว่า จะเป็นโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำเดิม การขุดเพิ่มสระ/อ่างเก็บน้ำใหม่ การพัฒนาระบบการกระจายน้ำไปยังไร่นาเกษตรกร การพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัย การเฝ้าระวังและหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่ส่งผลเสียต่อความจุลำน้ำและระบบนิเวศตามธรรมชาติ ฯลฯ ทั่วทั้งพื้นที่ 26 ล้านไร่ของลุ่มน้ำมูน ไม่ใช่การมุ่งเน้นที่โครงการขนาดใหญ่หลายหมื่นล้านบาทที่ตอบโจทย์เพียงในพื้นที่จำกัดเท่านั้น


ตัวอย่างหนึ่งของโครงการขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จคือ โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น การวางโครงข่ายน้ำของชุมชนห้วยน้ำติมที่ อบต.โนนสำราญ อ.กันทราลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยขนุน และมีลำน้ำติมผ่านด้านตะวันตกของหมู่บ้าน มีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่เนื่องจาก พื้นที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน หรือ “มีลักษณะเป็นสันดอน” ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้านได้

พี่น้องจึงเริ่มต้นทำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ด้วยสำรวจพื้นที่ของตนเองอย่างละเอียด มีการเดินสำรวจแปลงเกษตรทุกแปลงในหมู่บ้าน ดูทิศทางน้ำและบ่อน้ำทุกบ่อ โดยใช้แผนที่จาก Google map ขนาดใหญ่ และมีการจับวัดระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ตาม GPS ด้วยแอพพลิเคชันในมือถือ จนพบว่า จุดต้นท่อ (ห้วยน้ำติม) และจุดปลายท่อที่วางแผนไว้ (พื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน) มีระดับสูงต่ำต่างกัน 70 เซนติเมตร และคาดว่าน่าจะสามารถส่งน้ำได้ไปยังพื้นที่การเกษตรดังกล่าวได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ (ภาพที่ 8)

เมื่อสำรวจครบถ้วน พี่น้องในทีมวิจัยก็เริ่มแผนขุดท่อ (โครงข่ายน้ำ) ระยะทางประมาณ 400 เมตร) จากลำห้วยติม ฝังดิน ตามแนวระดับความสูง/ต่ำมาจนถึงปลายท่อ และมีระบบแอร์แว (ระบบลดความดันอากาศในท่อ) จนสามารถปล่อยน้ำมาถึงจุดที่กำหนดไว้ โดยใช้งบลงทุนเพียง 300,000 บาท เพราะไม่เสียค่าแรงงานเลย เนื่องจากพี่น้องเกษตรกรมาช่วยกัน (ภาพที่ 9)


ปรากฎว่า โครงการของพี่น้องทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่น สามารถจัดหาน้ำให้ไร่นาได้ทั้งหมด 1,600 ไร่ (เกือบ 100 ครัวเรือน) ทำให้พี่น้องทำนาปีได้โดยไม่ขาดน้ำ หลังจากทำนาปีแล้ว พี่น้องเกษตรกรก็ทำมันสำปะหลังหลัง และมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นบาท จนความยากจนในหมู่บ้านลดลงอย่างมากจากสัดส่วนความยากจนร้อยละ 82 ของครัวเรือนทั้งหมด เหลือเพียงร้อยละ 41 ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น


เส้นทางสู่อนาคต

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการขนาดเล็กจำนวนมาก และการกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบการจัดการน้ำในไร่นา ในพื้นที่ชุมชน และในลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ของลุ่มน้ำมูนจนเต็มศักยภาพ รวมถึงการจัดการแก้ไขปัญหาผังเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แทนที่จะทำแต่โครงการขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ในพื้นที่จำกัด สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทิ้งศักยภาพและปัญหามากมายของลุ่มน้ำมูนไว้เบื้องหลัง

ในระยะ 4 ปีจากนี้ (2566-2570) Think Forward Center เสนอให้มีโครงการพัฒนาชลประทานขนาดเล็ก และระบบพยากรณ์และเตือนภัยที่เชื่อมโยงกันผ่านระบบ Big data โดยตั้งเป้าหมายที่จะจัดการกระจายน้ำต้นทุนส่วนเกิน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สู่พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน และการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำต้นทุนเพิ่มเติมใน 31 ลุ่มน้ำย่อย อีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำมูนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวของพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน (3 ล้านไร่) ภายในวงเงินงบประมาณที่จะกระจายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท

Think Forward Center เชื่อมั่นว่า การกระจายโอกาส อำนาจ และทรัพยากรน้ำอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ และให้ทุกพื้นที่สามารถบริหารจัดการน้ำของตนได้ จะเป็นคำตอบสำหรับการจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูน และเป็นคำตอบที่รัฐราชการที่ผ่านมามองข้าม เพราะมุ่งเน้นแต่การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จนมองข้ามศักยภาพที่แท้จริงของท้องถิ่นและประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า