พริษฐ์ วัชรสินธุ์
เดชรัต สุขกำเนิด
ในห้วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา สังคมไทยคงตระหนักดีว่า ปัญหาสุขภาพจิตนั้นอยู่แวดล้อมตัวเรามากกว่าและใกล้กว่าที่เราคิด การเรียนออนไลน์ในระยะเวลานาน ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีทางคลี่คลาย อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพจากบ้านพักของตนเป็นเวลานาน หรือการฆาตกรรมหมู่ที่หนองบัวลำภู ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต ความเครียด และโรคซึมเศร้าของคนไทยทั้งสิ้น และกำลังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งระดับปัจเจกบุคคล และระดับประเทศ
และเนื่องในวัน World Mental Health Day 2022 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ซึ่งปีนี้มีธีมงานว่า “Make mental health and wellbeing for all a global priority” หรือ ความพยายามที่จะทำให้ประเด็นทางสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในลำดับต้นๆ Think Forward Center สนับสนุนแนวทางนี้ และขอนำบทความที่สะท้อนการจัดลำดับความสำคัญใหม่ในเรื่องสุขภาพจิตมานำเสนอ
สุขภาพจิตคนไทย: ปัญหาใหญ่ ใหญ่กว่าเดิม และใหญ่กว่าที่อื่น
ปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้าในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ “ใหญ่” “ใหญ่กว่าเดิม” และ “ใหญ่กว่าที่อื่น”
“ใหญ่” – ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทยอาจสูงถึง 1.5 ล้านคน หรือโดยเฉลี่ยคนไทย 40 คน จะพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1 คน
“ใหญ่กว่าเดิม” – สาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเฉพาะกิจอย่างโควิด-19 ที่เพิ่มความเครียดให้กับผู้คน (เช่น นักเรียนจากการเรียนออนไลน์ คนวัยทำงานจากสภาพเศรษฐกิจ) และปัจจัยถาวรต่างๆที่งานวิจัยระบุว่าทำให้คนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มจะประสบปัญหาโรคซึมเศร้ามากกว่ารุ่นก่อนๆ (เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย ที่เสี่ยงทำให้คนรู้สึกผิดหวังในตัวเองง่ายขึ้น จากการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตของคนอื่น)
“ใหญ่กว่าที่อื่น” – หากเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน (25-34 ปี) จะพบว่าประเทศไทยมีจำนวนสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
การเปลี่ยนความคิดและจัดลำดับความสำคัญใหม่
เนื่องจากปัญหาที่ใหญ่ ใหญ่กว่า และใหญ่กว่าที่อื่น เพราะฉะนั้น การออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ควรวางอยู่บนพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดและการจัดลำดับความสำคัญใน 3 ด้าน
ที่มา: pacificprime.co.th
กรอบความคิดที่ 1 = มองและปฏิบัติต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพกาย
แม้ปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิตล้วนเป็นปัญหาด้านสุขภาพเหมือนกัน แต่ปัจจุบันสังคมบางส่วนยังมองและปฏิบัติกับปัญหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพจิตแตกต่างกัน อย่างเช่นการมองว่าอาการซึมเศร้า เกิดจากการคิดไปเองของผู้ป่วย หรือ การตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการพบแพทย์ ในขณะที่หากเป็นอาการป่วยทางกาย (เช่น ขาหรือแขนหัก) คงไม่มีใครคิดหรือตั้งคำถามเช่นนั้น เพราะเหตุนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลายคน จึงอาจรู้สึกกังวลและไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มีสถิติออกมาว่า ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน มีแค่ 28 คนเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษา
หากสังคมทุกส่วนมองและปฏิบัติต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพกาย แนวทางการป้องกันและรักษาผู้ป่วยจากโรคซึมเศร้า จะถูกออกแบบและได้รับการสนับสนุนจากสังคมบนมาตราฐานเดียวกันกับโรคทางสุขภาพกาย
ที่มา: southeastasiaglobe.com
กรอบความคิดที่ 2 = โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมของสังคมด้วย
ข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญมักระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากการผสมผสานของ 3 ปัจจัย ได้แก่ Bio (ชีวะ) Psycho (จิต) และ Social (สังคม) – แม้ปัจจัยด้านชีวะ (เช่น พันธุกรรม) หรือด้านจิต (เช่น การเผชิญกับเหตุการณ์ความสูญเสีย) อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล แต่สังคมและสภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญเช่นกันต่อการเพิ่มความเสี่ยงเรื่องสุขภาพจิต
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในแต่ละช่วงวัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันสร้าง เช่น สถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งสำหรับเด็กเล็ก ระบบการศึกษาที่ไม่สร้างแรงกดดันเกินเหตุสำหรับนักเรียน การเงินที่มั่นคงและการงานที่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอสำหรับคนวัยทำงาน หรือ พื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น
กรอบความคิดที่ 3 = ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมมีส่วนช่วยแก้ไขได้
แน่นอนว่าเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ การรักษาเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา (ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบต่างประเทศอื่น หากวัดจากสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากร)
แต่สังคมมีส่วนในการช่วยบรรเทาปัญหาได้ หากเรามีการเสริมทักษะและความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไป สามารถทำหน้าที่เป็น “นักรบสุขภาพจิต” ในการช่วยสังเกตพฤติกรรมและอาการของคนรอบข้าง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทันเวลา เช่น ผู้ปกครองที่สังเกตอาการของลูก ครูที่สังเกตอาการของนักเรียน ผู้นำชุมชนที่สังเกตอาการของผู้สูงอายุในชุมชน
การร่วมรณรงค์ให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีมองเรื่องสุขภาพจิตตาม 3 กรอบความคิดดังกล่าว จะต้องมาควบคู่กับนโยบายด้านสุขภาพจิตของรัฐ ที่สอดคล้องกับ 3 กรอบดังต่อไปนี้:
นโยบายสุขภาพจิต ในกรอบคิดและลำดับความสำคัญใหม่
1. การพัฒนาระบบบริการและการดูแลสุขภาพจิต ให้มีคุณภาพเช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพกาย เช่น
- พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบประกันสังคม ที่เน้นการเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิต (เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา) และมีการทบทวนบัญชียาหลักในระบบให้เท่าทันกับวิทยาการทางแพทย์
- พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แพลตฟอร์มสุขภาพจิต
- รณรงค์ให้มีการตรวจสุขภาพจิตในระบบตรวจสุขภาพประจำปี โดยอาจทดลองในบางท้องถิ่นหรือบางสถานประกอบการ ก่อนขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
2. สร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า เช่น
- การสร้างแรงสนับสนุนทางสังคม ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการมีทักษะการรับฟัง การสร้างกำลังใจ การให้คำปรึกษา โดยเฉพาะคนใกล้ชิด (เช่น ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เพื่อน)
- การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและถ้วนหน้า เพื่อเป็นตาข่ายรองรับความไม่แน่นอนในชีวิตรูปแบบต่างๆ
- การออกแบบสภาพแวดล้อมและรูปแบบความสัมพันธ์ในชีวิตการเรียนและการทำงานที่เหมาะสม (เช่น คนทำงานมีสภาพการทำงานที่ดี จำนวนชั่วโมงเรียนที่เหมาะสม)
- การเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่คนสามารถแลกเปลี่ยน รับฟัง หรือผ่อนคลาย (เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว)
- การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และลดการเลือกปฏิบัติ ที่เสี่ยงจะเพิ่มความเครียดและความรู้สึกไม่เป็นธรรม
3. ยกระดับให้คนทุกคนในสังคมมาร่วมเป็น “นักรบสุขภาพจิต” ที่มาช่วยสร้างเสริม ดูแล บำบัด และฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนทุกคนในทุกช่วงวัย ตามระดับความเชี่ยวชาญของตน เช่น
- บุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือ พยายาล
- บุคลากรในระดับครอบครัว เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตให้กับเด็กและเยาวชน คู่สมรสที่เท่าเทียม หรือลูกหลานที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ
- บุคลากรในโรงเรียน เช่น นักจิตวิทยาประจำกลุ่มโรงเรียนที่ให้คำปรึกษา คุณครูที่ได้รับการเพิ่มทักษะในการดูแลสุขภาพจิตของผู้เรียน หรือเพื่อนนักเรียนที่ช่วยดูแลกันและกัน
- บุคลากรในสถานประกอบการ เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือ ฝ่ายทรัพยากรบุุคล (HR)
- องค์กรภาคประชาสังคมและภาคเอกชนที่จะให้บริการทางสุขภาพจิต หรือช่วยเป็นที่พึ่งทางสุขภาพจิตให้กับผู้คน
ส่วนในระดับองค์กรภาครัฐ คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ และ กรมสุขภาพจิต ควรเพิ่มบทบาทในการทำงานเชิงรุก และ เปิดให้มีส่วนร่วมขององค์กรที่หลากหลายขึ้น (เช่น ภาคประชาสังคม ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้แรงงาน และเยาวชน) เพื่อให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเป็นองค์กรทางนโยบายที่เข้าใจความยากลำบากของผู้คนในสังคม ภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละคนเผชิญอยู่ อย่างแท้จริง