Always Beside You (5): ตื่นจากฝันร้าย ด้วยนโยบายเมืองปลอดภัยและการป้องกันเหตุไม่คาดฝัน

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

อภิญญา วิศัลยางกูร


จากซีรีส์บทความของ Think Forward Center ที่มีชื่อว่า “Always Beside You” ที่เผยแพร่ไปตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา ทำให้เราทุกคนเห็นว่า โครงสร้างเมืองและสังคมที่กดทับคนระดับล่างสุด รวมถึงการไม่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนมีความฝัน เพื่อจะมุ่งมั่นสู่อนาคตในการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมโดยปัญหาทั้งหมดกลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาส สิ้นหวังกับการไขว่คว้าการหาโอกาสให้กับชีวิตของตนเอง และอาจนำไปสู่การจบชีวิตเพื่อหนีปัญหาชีวิตที่รุมเร้าได้

แต่หากปัญหาที่รุมเร้ามาพร้อมกับสถานการณ์ที่กดดันจนเกิดอาหารเครียดอย่างหนัก และตัวผู้ถูกกดดันมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง อาการเครียดก็อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สร้างความสูญเสียมากกว่าหนึ่งชีวิตได้ เช่นเดียวกับ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 36 ราย1


สำหรับสาเหตุที่อาจจูงใจให้ผู้ก่อเหตุกระทำการอย่างอุกอาจมาจาก ผู้กระทำความผิดเป็นอดีตตำรวจที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากทําผิดวินัยร้ายแรง และต้องหาคดีอาญา ข้อหา “มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครอง โดยในวันเกิดเหตุ ตรงกับวันที่อดีตตำรวจต้องไปขึ้นศาลในคดียาเสพติด ด้วยความเครียดที่สั่งสมมาก่อนหน้า จึงตัดสินใจก่อเหตุ ก่อนจะกลับไปปลิดชีวิตตนเองและครอบครัวที่บ้าน2

ครบรอบ 1 สัปดาห์สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว Think Forward Center ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความเครียดที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจให้เกิดการก่ออาชญากรรมหมู่ได้ ผ่านการจัดทำบทความเพื่อหาที่มาและคำตอบเพื่อการป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  และสร้างสังคม/เมืองที่ปลอดภัยและโอบรับการใช้ชีวิตของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม 


ทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมา: เหตุเกิด แต่ไม่เคยถูกแก้ไข

ที่มา: brandinside.asia


นับตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยพบเจอกับเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญครั้งใหญ่อย่าง เหตุการณ์กราดยิงจนคร่าผู้บริสุทธิ์ครั้งละหลายชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง หนึ่งในครั้งที่สะเทือนขวัญคือ กรณีนายทหารยศจ่าสิบเอกกราดยิงผู้บริสุทธื์ในค่ายทหาร วัด และห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองโคราช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) และผู้บาดเจ็บ 58 ราย 

โดยเหตุครั้งนั้นมีที่มาจากปมความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อเหตุกับผู้บังคับบัญชาเรื่องการซื้อบ้านพักในโครงการสวัสดิการทหารที่ตำบลโคกกรวด มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ต่อมามีปัญหาเรื่องการส่งคืนเงินส่วนต่างจำนวนกว่า 500,000 บาท จากการตกแต่งบ้าน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้บังคับบัญชา จนผู้ก่อเหตุเกิดอาการแค้นเคือง จึงตัดสินใจอาวุธสงครามจากคลังอาวุธ กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 มายิงคู่กรณีและผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในบริเวณนั้น ก่อนจะถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ในเช้าวันถัดมา3

ขณะที่อีกสามครั้งถัดมา คือ เหตุกราดยิงที่โรงพยาบาลสนาม จ.ปทุมธานี (มีผู้เสียชีวิต 1 คน) เหตุกราดยิงที่อุบลราชธานี (มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 6 คน) และเหตุหัวรถจักร รถเร็วกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ที่บริเวณสถานีบาลอ-รือเสาะ (ไม่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ) แม้จะไม่ได้มีผู้เสียชีวิตเท่ากับครั้งที่โคราช แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่หากไม่ใช่บุคคลที่เป็นทหาร/ตำรวจ ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงอาวุธ มีอาวุธพกพาติดตัวทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย


ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร?

ที่มา: theguardian.com


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหละหลวมในแง่ของการตรวจตราเรื่องการครอบครอง/พกพาอาวุธในพื้นที่นอกเคหะสถานนั้นเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์ในรูปแบบเดิมซ้ำๆ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืน พกพาอาวุธปืนคือ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่ระบุว่า

  1. มีอาวุธปืนไม่มีทะเบียน (ปืนเถื่อน) อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หากต้องการประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป
  2. มีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตฯ ไว้ในครอบครอง (ปืนผิดมือ) อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 50,000 ขึ้นไป
  3. มีอาวุธปืนมีทะเบียน (พกพาโดยไม่มีใบอนุญาตพกพา) อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 50,000 ขึ้นไป
  4. มีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ไม่ถูกขนาดกับปืนที่มีใบอนุญาต) อัตราโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การประกันตัว (เงินสด) ประมาณ 20,000-50,000 บาท
  5. ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมืองหรือหมู่บ้านฯ (ยิงปืนขึ้นฟ้า ผิด ป.อาญา มาตรา 376) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


แต่ถึงอย่างนั้น จากสถิติการเสียชีวิตด้วยอาชญากรรมปืนที่ผ่านมา รายงานโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล พบว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย (3.91 ต่อประชากร 100,000 คน) รองจากอิรัค และฟิลิปปินส์

ที่มา: news.thaipbs.or.th


ขณะที่ ThaiPBS เผยว่า เมื่อเช็คยอดจำนวนปืนถูกกฎหมายพบว่า ประชากรไทยมีปืนไว้ในครอบครองมากที่สุด 10.3 ล้านกระบอก และสูงเป็นอับดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจำนวนนี้ เป็นปืนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 6.2 ล้านกระบอก แต่มีการคาดการณ์ว่า ปืนนอกระบบที่ไม่ถูกกฎหมายยังมีอีกประมาณ 4 ล้านกระบอก ทำให้สัดส่วนประชากรที่ครอบครองปืนในไทยอาจสูงถึง 10-20% (หากเราคำนวณบนสมมุติฐานว่า คนที่มีปืนจะมีคนละ 1-2 กระบอก) ด้วยปืนนอกระบบที่สูงถึงเกือบ 50% ของปืนทั้งหมดในประเทศ การเพิ่มความรัดกุมในการขอใบอนุญาตครอบครองปืนในระบบ ก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่มีการเอาจริงกับการกำจัดปืนนอกระบบ

นอกจากนี้ ยังพบว่า หากเป็นบุคคลรับราชการทหาร/ตำรวจจะมีสิทธิเข้าถึงปืนได้มากกว่าคนทั่วไป โดยปัจจุบันมีโครงการจัดหาปืนเป็นสวัสดิการให้ข้าราชการในหลายสังกัดได้เข้าถึงและมีการยื่นหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้บังคับบัญชา เพื่อทำให้การขอใบอนุญาตของผู้รับราชการทหาร/ตำรวจง่ายขึ้น โดยสวัสดิการที่ให้นี้มีหลายครั้งที่อาจถูกตั้งคำถามได้ว่า บางตำแหน่งงานในราชการทหาร/ตำรวจมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ปืนในการปฏิบัติหน้าที่? และการเปิดโอกาสให้มีหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้บังคับบัญชานี้นำมาสู่การรับสินบนเพื่อเซ็นหนังสือหรือไม่? อีกทั้งเมื่ออนุมัติใบอนุญาตครอบครองปืน (แบบ ป.4) แล้ว ใบอนุญาตนี้ยังไม่มีวันหมดอายุ และไม่มีกำหนดการตรวจสอบ หรือประเมินความเหมาะสมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจตั้งแต่ก่อนอนุญาตครอบครองปืน และหลังครอบครองปืนเป็นระยะๆ ด้วย4


ถ้าเช่นนั้นความโดดเดี่ยว ความเครียด ส่งผลด้วยหรือเปล่า?

จากหลายๆ กรณีนับตั้งแต่เหตุกราดยิงโคราชมาจนถึงหนองบัวลำภู พบสิ่งที่เหมือนกันคือ ความโดดเดี่ยว ความเครียด ความกดดัน และเนื่องด้วยบุคคลเหล่านี้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลอย่างมากที่ทำให้ผู้ก่อเหตุตัดสินใจกระทำการอุกอาจก่อนจะจบชีวิตตัวเองลง

มีข้อมูลจากหลายวิจัยพบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดการจบชีวิตลง มาจากความโดดเดี่ยวและความแตกแยกทางสังคม โดยดร.วิเวก เมอร์ธี อดีตศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่า ความโดดเดี่ยวอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับโรคหัวใจ ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม กล่าวในแง่ร้ายก็คือ การสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน5 และในแง่ร้ายที่สุดคือ ตัวผู้เครียดเองก็หันไปพึ่งพาสารเสพติดต่างๆ เพื่อลืมเลือนความโดดเดี่ยว ความเครียด และความกดดันไปด้วย ซึ่งสามารถกลายเป็นผลที่เลวร้ายลงในระยะยาวได้

แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น?

ที่มา: thethaiger.com


อันที่จริง ความโดดเดี่ยว (Loneliness) ไม่ได้เกิดจากการอยู่คนเดียว (Alone) เสมอไป เนื่องจากบางคนอาจมีความสุขจากการอยู่หรือทำกิจกรรมคนเดียวโดยไม่ได้รู้สึกขาดอะไร แต่ความเหงาเป็นความรู้สึกที่หลายคนรู้สึกแตกแยกและเข้ากับคนอื่นที่อยู่รอบตัวไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้ากันของทัศนคติ/ความคาดหวังระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมนั้นๆ ทำให้ความเหงาและความโดดเดี่ยวเกิดขึ้นมาได้ หรืออาจมาจากภาวะที่รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจตนเองเช่นกัน

แม้หลายคนจะบอกว่า ปัจจัยทางสังคม การทำงาน การเงิน และเทคโนโลยีหลายอย่างส่งผลให้ผู้คนรู้สึกเหงามากขึ้น แต่หลักฐานที่เพิ่มขึ้นยังชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยมีหลักฐานพบว่า ในแคนาดา ผู้คนในเมืองใหญ่อย่างแวนคูเวอร์กำลังประสบปัญหารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่ โดยผลการสำรวจในปี 2017 พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่คอนโดในแวนคูเวอร์มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าและมีโอกาสน้อยกว่าที่จะรู้จักเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีแต่หอคอยกระจกสูงทำให้ผู้คนรู้สึกถูกตัดขาดออกจากกันมากขึ้น


ปัญหาเช่นนี้เป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพ ซึ่ง Think Forward Center เคยได้รวมรวบปัญหาไว้ในบทความที่มีชื่อว่า “Romantic Town หนทางการแก้ปัญหา “จนและเหงา” ตามแบบฉบับเมืองเทพสร้าง” ว่า การพัฒนากรุงเทพให้กลายเป็นพื้นที่เมืองและชุมชนเพื่อรองรับประชากรที่กำลังจะเพิ่มขึ้นตามการขยาย (ความหนาแน่น) ของเมือง ทำให้เกิดการผุดขึ้นใหม่ของอพาร์ทเม้นท์ โครงการคอนโดมิเนียม และหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเป็นชุมชนปิด และเป็นเหตุให้โอกาสในการพบปะผู้คนยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้งหากมีพื้นที่สาธารณะน้อยก็จะทำให้โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมน้อยลงเช่นกัน หรือหากพื้นที่สาธารณะมีเพียงพอแล้ว แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมทางสังคมใดๆ เกิดขึ้น มันกลายเป็นสถานที่ผ่านไปมาและไม่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

ผลที่ตามมาคือ ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น6 และเมื่อผู้คนประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจฝืดเคือง การมีหนี้สิน และการตกงาน ความเหงาและความเครียดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การจบชีวิตลงเช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง “จนตรอก” เช่นกัน

และแม้ว่าการปิดชีวิตด้วยการก่อเหตุฆ่าตัวตายจะเป็นจุดจบไม่สวยงามในมุมมองของคนส่วนใหญ่ แต่จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2562 กลับพบว่า การฆ่าตัวตายถูกนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงและเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต 20 อันดับแรกของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าโรคไข้มาลาเรีย มะเร็งเต้านม หรือสงครามและการฆาตกรรม 

นอกจากนั้น ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มคนอายุน้อย ตั้งแต่ 15 ถึง 24 ปี คาดว่าการพยายามฆ่าตัวตายมีจำนวนมากกว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายที่ประสบความสำเร็จในแต่ละปีประมาณสิบถึงยี่สิบเท่าในโลก


โดยปัจจัยเสี่ยงหลักของการฆ่าตัวตายคือ ผู้เคยมีประวัติของการพยายามฆ่าตัวตาย โดยในบรรดาผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มีการประเมินว่า 1.6% เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายภายใน 12 เดือน และ 3.9% ภายใน 5 ปี นอกจากประวัติการพยายามฆ่าตัวตายในอดีตแล้ว ผู้ชาย การเป็นหม้าย สถานภาพการสมรสโสดหรือหย่าร้าง การติดสุรา การเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจเรื้อรังร่วมกัน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในชีวิต การพักอาศัยในหอพักหรือการอาศัยคนเดียว หรือในพื้นที่ที่มีประชากรเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้ ก็อาจเป็นแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายได้ 


วัฒนธรรมที่เป็นพิษก็มีส่วนสำคัญ

และเมื่อภาวะสิ้นหวังในทุกหนทางเริ่มคืบคลานเข้ามา การมีใครสักคนคอยอยู่รับฟังปัญหาของเราในวันที่อ่อนแอ ท้อแท้ สิ้นหวังก็อาจเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยต่อลมหายใจของความหวังได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมยอมรับความอ่อนแอที่มีอยู่ในตนเองได้ และยิ่งยากมากกว่าเดิมสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมากับวัฒนธรรมทางสังคมที่เชิดชูความแข็งแกร่ง ครอบงำและแสดงออกซึ่งความรุนแรงของเพศชาย (Toxic Masculinity)

ที่มา: manchestersfinest.com


วัฒนธรรมความเป็นชายที่เป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity มักจะเชิดชูนิสัยที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต โดยบางครั้งมาอาจมาในรูปแบบ “การดูแลสุขภาพกายและจิตของตัวเองเป็นคุณค่าในแบบผู้หญิง ผู้ชายควรปฏิบัติต่อร่างกายเหมือนเครื่องจักรด้วยการอดนอน ต้องออกกำลังกายแม้ร่างกายอยู่ในภาวะไม่พร้อม/บาดเจ็บ และผลักดันตัวเองให้ถึงขีดจำกัดทางร่างกาย/จิตใจ รวมถึง ความเป็นชายที่เป็นพิษยังทำให้ผู้ชายไม่ต้องการไปพบแพทย์/นักจิตบำบัด หรือแม้แต่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นอีกด้วย 

จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร SAGE Publishing ในปี 2011 พบว่า ผู้ชายที่ยึดถือวัฒนธรรมความเป็นชายที่เป็นพิษมีโอกาสเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับผู้ชายที่เลือกเชื่อวัฒนธรรมนี้ (ในบางประเด็น) ที่จะเข้าถึงโอกาสในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ตัวอย่างเช่น การไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งอาจขัดกับความเชื่อของผู้ชายบางส่วนที่เชื่อในเรื่องความแข็งแกร่ง อดทนของตน รวมถึงผู้ชายที่ยึดถือวัฒนธรรมชายที่เป็นพิษมักมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮล์หนัก การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การหลีกเลี่ยงผัก และการต่อยตีกระทบกระทั่งกันในที่สาธารณะ นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้ “เป็นเรื่องปกติ”7

และเมื่อมีความเครียด ความกดดันที่มากขึ้น ผู้ที่มียึดถือในวัฒนธรรมความเป็นชายเหล่านี้จึงเริ่มแสดงความเป็นพิษออกมาเพื่อป้องกันตัวจากสิ่งที่กำลังเผชิญ และเมื่อสิ่งที่พบเจอเริ่มหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจนำมาซึ่งการแสดงออกที่รุนแรงและก่อให้เกิดเหตุไม่คาดฝันกับสังคมในพื้นที่สาธารณะ (โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีบุคคลเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุและสตรี) ได้เช่นกัน


ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาระยะสั้น กลางและยาว 

ด้วยปัญหาการก่อเหตุไม่คาดฝันดังกล่าว เป็นปัญหาที่ทับซ้อนกันในหลายมิติและจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายองค์ความรู้และภาคส่วน Think Forward Center เสนอว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแบ่งการทำงานเป็นระยะสั้นที่น่าจะพอทำได้ ระยะกลางที่ต้องทำต่อเนื่อง และระยะยาวที่จะเข้ามาอุดช่องโหว่เพื่อการสร้างเมืองที่ปลอดภัย และโอบรับคนทุกคนอย่างแท้จริงได้

โดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ได้เคยยื่นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ ดังนี้

ระยะสั้น

  1. ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู (กรณีกราดยิงครั้งล่าสุด) หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุทำนองเดียวกันมาแล้ว ควรต้องตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคประชาสังคม และตัวแทนจากพื้นที่ เพื่อให้การดูแลเยียวยาเป็นไปได้อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยไม่ติดกรอบปัญหาระเบียบราชการใดๆ และครอบคลุมถึงการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และอย่าปล่อยให้ประชาชนต้องดูแลกันเองอย่างเด็ดขาด
  2. สำรวจความเสียหายทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินของผู้เสียหายและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบอย่างละเอียด เพื่อวางแผนเยียวยาในระยะกลางต่อไป โดยจะต้องไม่รวมถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กๆ ที่บางพื้นที่อาจได้ประสบพบเจอกับการใช้อาวุธทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากภาพข่าว ครอบครัวที่อยู่ในสภาวะหวาดกลัวแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่
  3. ออกคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต สำหรับผู้ปกครองและบุคลากรที่ต้องทำงานกับเด็กทุกคนในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสื่อสารกับเด็กเรื่องการสูญเสีย สถานการณ์กราดยิง และวิธีการสังเกตอาการของเด็กและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง โดยทำออกมาให้ง่าย สื่อสารให้ทั่วถึง และบ่อยครั้ง


ระยะกลาง

สำรวจและออกแบบมาตรการชั่วคราวเพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยทั้ง 4 ประเภทภายในเมือง และพื้นที่ที่มีผู้เปราะบางอยู่อาศัย/ทำกิจกรรม อาทิ ที่พักพิงผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดย:

  1. ความปลอดภัยของบุคคลากร หากเกิดเหตุการคล้ายภัยพิบัติหรือโศกนาฏกรรมอย่างไม่คาดคิดอย่างการกราดยิง บุคลากรสามารป้องกันตัวเองได้อย่างไรบ้าง และดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างไร การฝึกเอาตัวรอดจากภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การกราดยิง ควรเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่บุคลากรต้องเรียนรู้มากขึ้น
  2. ความปลอดภัยของอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอกศพด. พื้นที่ของศพด.ปลอดภัยจากอันตรายที่เกิดจากโครงสร้างทางกายภาพหรือไม่ พื้นที่หลบภัยของเด็กและครูมีหรือไม่ เด็กๆ จะได้รับอันตรายจากพื้นที่ศพด.หากเกิดการอพยพหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรนำมาถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกัน
  3. ความปลอดภัยในการเข้าถึงตัวเด็กในศพด. ใครที่เข้าถึงตัวเด็กได้บ้าง และมาตรการสำหรับทุกคนควรเป็นอย่างไร ในบริบทท้องถิ่นศพด.เสมือนเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่ผู้ปกครอง ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาได้อย่างสะดวก จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีระบบคัดกรองผู้ที่เข้ามาภายในพื้นที่ศพด.และจะออกแบบระบบอย่างไรให้เป็นไปตามครรลองวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่มากที่สุด
  4. ความปลอดภัยจากความสัมพันธ์ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็ก ความปลอดภัยโดยเฉพาะสภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่ต้องมั่นคง ผาสุก โดยเฉพาะวัยปฐมวัยที่เป็นรากฐานของชีวิต ประเด็นนี้จำเป็นต้องอาศัยสหวิชาชีพเข้ามาช่วยดูแล และให้ความรู้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมถึงครอบครัว


ระยะยาว

สำหรับระยะยาว Think Forward Center เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่สะท้อนโครงสร้างที่มีปัญหาในหลายเรื่อง จึงเสนอแนวทางหลายด้านในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

ในแง่ป้องกันกรณีเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน
  1. รัฐ/ท้องถิ่นต้องมีระบบเตือนภัยที่ได้มาตรฐานและเข้าถึงง่ายหากเกิดเหตุ เพื่อลดภาวะความสับสน
  2. รัฐ/ท้องถิ่นควรถอดบทเรียนของผู้ก่อเหตุแต่ละเหตุการณ์อย่างละเอียดถึงสภาวะจิตใจต่างๆ เพื่อออกแบบการป้องกันเหตุผ่านการจับสัญญาณอันตรายต่างๆ ของผู้คนที่อยู่ใกล้ชิด รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ช่วยกันสอดส่องดูแลกันและกันภายในชุมชน
  3. ท้องถิ่นต้องออกแบบและอบรมฝึกฝนทุกคนให้เข้าใจถึงการรับมือภัยพิบัติและสถานการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การกราดยิง ให้สามารถจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ในการควบคุม/ตรวจตรา การออกใบอนุญาต การมีใบอนุญาต และการครอบครอง/พกพาอาวุธในที่สาธารณะ
  1. หน่วยงานตำรวจ/ทหาร ต้องประเมินความเหมาะสมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า หน่วยงานส่วนใดจำเป็นต้องพกพาอาวุธ/ไม่จำเป็นต้องพกพาอาวุธ
  2. การออกใบอนุญาตให้ครอบครองอาวุธ (ป.4) หรือพกพาอาวุธ (ป.12) ต้องมาจากการทดสอบความรู้ สมรรถภาพ และความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจจริงๆ รวมถึงต้องหยุดการใช้หนังสือรับรองความประพฤติโดยผู้บังคับบัญชา เพื่อให้การออกใบอนุญาตต่างๆ เป็นไปตามกระบวนการและความพร้อมของบุคคลจริงๆ
  3. ต้องมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ให้ใบอนุญาตครอบครอง/พกพาต้องเป็นใบอนุญาตแบบต่ออายุ เพื่อเปิดให้มีการตรวจสุขภาพทางร่างกายและจิตใจอีกครั้งว่ามีความพร้อมเพียงพอจะสามารถครอบครอง/พกพาอาวุธหรือไม่
  4. เมื่อหน่วยงานใดครอบครองอาวุธ/มีอาวุธติดตัว ต้นสังกัดของบุคคลจำเป็นต้องมีการประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้ครอบครอง/พกพาอาวุธอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด รวมถึงไม่ปล่อยประละเลยให้เป็นเรื่องที่มองข้ามไป
  5. ต้องมีการตรวจตราบุคคลอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการพกพาอาวุธไปยังสถานที่ราชการ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีบุคคลเปราะบางอยู่ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ศูนย์พักพิงต่างๆ เป็นต้น และหากเป็นเจ้าหน้าที่ขอให้มีการประเมินอย่างถี่ถ้วนก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานที่ใดก็ตามว่า สถานที่นั้นมีความจำเป็นต้องพกพาอาวุธหรือไม่ หากบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม

ในแง่ป้องกันสุขภาพจิตจากความโดดเดี่ยว ความเครียดกดดัน และการใช้สารเสพติด
  1. รัฐต้องจัดทำสื่อเพื่อปลูกฝังค่านิยมใหม่ว่า การรู้สึกโดดเดี่ยว เครียด กดดัน และมีความไม่มั่งคงทางจิตใจเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่การเข้าพบนักจิตบำบัดเพื่อปรึกษาและบำบัดอาการในขั้นต้นเป็นเรื่องปกติที่ควรทำ หากไม่สามารถจัดการได้จึงควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการต่อไป
  2. รัฐต้องควบคุมการจัดทำสื่อภาพยนตร์ ละคร หรือมิวสิควิดีโอให้ไม่มีฉากการใช้สารเสพติดทุกชนิดอย่างจริงจัง
  3. รัฐต้องส่งเสริม/สร้างแรงจูงใจให้นักเรียน/นักศึกษาหันมาศึกษาด้านจิตวิทยาและจิตแพทย์มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนมากขึ้น
  4. รัฐต้องกำหนดกฎระเบียบกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานทั้งราชการและเอกชน รวมถึงโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต้องมีนักจิตวิทยาอย่างน้อย 1 คน เพื่อคอยรับฟังปัญหาและดูแลบุคลากรในองค์กร 
  5. รัฐ/ท้องถิ่นต้องเพิ่มพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ประกอบกิจกรรมสาธารณะ สวนสาธารณะ (ที่มีลานกิจกรรม เส้นทางวิ่ง-เดิน และทางจักรยาน) และพื้นที่สีเขียว ในทุกๆ เมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่พบปะผู้คน และพาคนทุกวัยมาทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ร่วมกันได้
  6. รัฐ/ท้องถิ่น ต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้ไม่อยู่ในห้องเรียนนานเกินไปจนนักเรียนเกิดความเครียด แต่ต้องมีรายวิชาอิสระที่พาเด็กออกไปทำกิจกรรมที่สนใจนอกโรงเรียน ได้จับกลุ่มกับเพื่อนทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์และสมวัยต่อพัฒนาการของเด็กมากขึ้น

ในแง่การสร้างสังคมที่ไม่เป็นพิษ
  1. รัฐต้องเพิ่มสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียมให้เด็กตั้งแต่ 0-22 ปี ให้มีเงินอุดหนุนเด็ก ให้เข้าถึงสิทธิการศึกษาที่ฟรีจริง ให้สิทธิและสวัสดิการของเด็กถูกแจกจ่ายอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมจริง
  2. รัฐต้องเพิ่มสิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้มีประจำเดือน ให้สามารถเข้าถึงได้ฟรี ผ่านการให้สิทธิแลกซื้อ/คูปอง ในจำนวนเงิน 200 บาท/คน/เดือน เพื่อให้ประจำเดือนไม่เป็นภาระทางรายได้ของผู้มีประจำเดือน
  3. รัฐต้องเพิ่มสิทธิและสวัสดิการให้คนหลากหลายทางเพศให้สามารถได้รับคำปรึกษาและรับยาเพื่อปรับสภาพฮอร์โมนในขั้นต้น เพื่อไปต่อในการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในฐานะคนข้ามเพศต่อไป
  4. รัฐต้องสร้างสื่อปลูกฝังแนวคิดใหม่เพื่อปลดล็อกวัฒนธรรมความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมารักสุขภาพและหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ การหันมาทำสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์และสร้างโอกาสให้ตัวเอง การลดเลิกอคติทางเพศและการอยู่ร่วมกันโดยให้เกียรติคนทุกเพศทุกวัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า