เดชรัต สุขกำเนิด
นุชประภา โมกขศาสตร์
ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคอีสานได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ซึ่งในปีนี้ผู้ประสบภัยต้องประสบกับระดับน้ำที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์
ปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาระดับประเทศที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพโดยเฉพาะอาชีพในภาคเกษตรที่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับความเสียหายอยากหนัก
โดยก่อนที่ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจนเข้าท่วมนาข้าวและบ้านเรือนของประชาชน เกษตรกร/ชาวนากู้เงินเพื่อนำมาทำนา เมื่อนาข้าวทั้งหมดถูกน้ำท่วมจึงเกิดปัญหาหนี้สินพอกพูน เนื่องจากไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกษตรกรขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้สำหรับการปลูกข้าวในรอบถัดไป ข้าวที่ปลูกไม่เพียงพอที่จะบริโภคต้องรับบริจาคจากหน่วยงานภายนอก และยังกระทบกับการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอีกด้วย
ขณะที่ประชาชนต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพ และหากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และเด็กเล็ก ก็เป็นกลุ่มที่ต้องประสบกับการดำรงชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
Think Forward Center ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงขอเสนอแนวทางในการป้องกันและรับมือกับปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ โดยบทความนี้เสนอแนวทางในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยของพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้งในปี 2566 ว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ภายใน 1 ปี (หรือภายในปี 2566) พรรคก้าวไกลจะทำ 6 สิ่งนี้ให้เกิดขึ้น
1. ระบบเตือนภัยจะทั่วถึง
ในช่วง ปี พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลจะพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม ที่ชุมชนร่วมออกแบบและเข้าใจได้ง่ายให้ครอบคลุมทุกตำบลที่ประสบภัยน้ำท่วม และอำเภอที่มีความเสี่ยง ก่อนที่มวลน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน จะไหลมารวมกันในพื้นที่ภาคกลาง ในเดือนสิงหาคม และลุ่มน้ำมูนในช่วงเดือนกันยายน พร้อมๆกับการกำหนดแนวทางการบริหารน้ำในพื้นที่รับน้ำให้ชัดเจน และไม่เกิดน้ำท่วมสูงและเกิดผลกระทบกับประชาชนจนเกินกว่าระดับที่ได้กำหนดไว้
2. เงินชดเชยจะเปลี่ยนไป
ในด้านของการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พรรคก้าวไกลจะทำการปรับระบบการชดเชย/เยียวยาน้ำท่วมใหม่ โดยจัดสรร “เบี้ยน้ำท่วม” ให้กับผู้ประสบภัย ดังนี้
- เงินเยียวยา 3,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน ในทันทีที่น้ำท่วม (และเพิ่มเติมในกรณีที่มีสมาชิกเกินกว่า 5 คน)
- เงินชดเชยค่าเสียโอกาส 1,000 บาท/ไร่/เดือน หรือ 3,000 บาท/หลัง/เดือน ในพื้นที่รับน้ำ และพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ
โดยเบี้ยน้ำท่วมสามารถจัดสรรให้ประชาชนได้ทันทีโดยนำงบประมาณมาจาก “งบกลาง” ในส่วนของงบประมาณในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน เพื่อนำมาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย
3. ศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิงจะมีมาตรฐาน
ในส่วนของศูนย์อพยพ/ศูนย์พักพิง ในช่วง 4 เดือนหลังจากเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะกำหนดมาตรฐาน และระบบสนับสนุนในการจัดตั้งศูนย์พักพิง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นสถานที่พักพิงของประชาชนชั่วคราว เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประจำชุมชน ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล ฯลฯ และจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค บุคคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ประสบภัย ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และประกาศให้พื้นที่เสี่ยงที่เคยประสบภัย เตรียมการจัดตั้งศูนย์พักพิงในชุมชนรองรับตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดปัญหาด้านมาตรฐาน ด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และป้องกันปัญหาศูนย์พักพิงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ประสบภัย
4. การจัดการทุ่งรับน้ำที่ไม่ใช่ทุ่งรับกรรม
พื้นที่ทุ่งรับน้ำที่รัฐบาลกำหนดไว้ จะต้องถูกใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น และการผันน้ำเข้าทุ่งจะต้องมีหลักเกณฑ์และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงหลักเกณฑ์ระดับน้ำสูงสุดที่จะท่วมในทุ่งรับน้ำนั้น เพื่อให้ชุมชนทั้งหมดได้รับทราบและปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตได้ในระยะยาว
และในกรณีที่ระดับน้ำท่วมใกล้ถึงจุดสูงสุดหรือระยะเวลาที่นานกว่าที่กำหนดไว้ รัฐบาล/หน่วยราชการต้องมีแนวทางทางที่ชัดเจนในการกระจายน้ำจากทุ่งรับน้ำหรือพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำไปยังพื้นที่อื่นๆ มิใช่ต้องปล่อยให้พื้นที่รับน้ำต้องรับภาระเกินกว่าที่กำหนดไว้ รวมถึงรัฐบาลจะต้องปรับปรุงระบบการระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำ (และพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ) และการกระจายน้ำภายในทุ่งรับน้ำให้สมบูรณ์ (สำหรับช่วงฤดูแล้ง) เพื่อลดระยะเวลาในการท่วมลง และลดพื้นที่ที่เกิดการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งลง
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลทำประกันภัยพืชผลสำหรับการทำการเกษตรในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ นอกเหนือจากช่วงเวลาที่กำหนดการรับน้ำ (เช่น 15 กันยายน-30 พฤศจิกายน) โดยเกษตรกรจะต้องได้รับการประกันภัยพืชผลเต็มจำนวนหากเกินความเสียหายเกี่ยวกับน้ำนอกช่วงเวลาดังกล่าว และรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าเบี้ยประกันทั้งหมด และรัฐบาลจะต้องจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในกรณีอื่นๆ เช่น การจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ทุ่งรับน้ำ/พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำเป็นลำดับแรก
5. พื้นที่ประสบภัยจะได้รับการฟื้นฟู
ในด้านของการฟื้นฟูผลกระทบในพื้นที่รับน้ำ พรรคก้าวไกลจะจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่รับน้ำ และพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ และจัดสรรเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการฟื้นฟูศักยภาพของพื้นที่ ในอัตรา 1,000 บาท/ไร่/เดือน เช่น หากถูกมีพื้นที่น้ำท่วม 20,000 ไร่ เป็นเวลา 2 เดือน อปท. จะได้รับการจัดสรรเงินเข้ากองทุนของอปท. เป็นจำนวนเงิน 40 ล้านบาท
เงินจำนวนนี้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ เช่น การพัฒนาระบบชลประทาน การปรับปรุงบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม การปรับมาตรฐานของศูนย์พักพิง การจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับเกษตรกร และข้าวสารที่ใช้ในการบริโภคสำหรับประชาชน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแนวทางของประชาชนและอปท. ในพื้นที่นั้น
เงินจำนวนนี้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ เช่น การพัฒนาระบบชลประทาน การปรับปรุงบ้านเรือนให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม การปรับมาตรฐานของศูนย์พักพิง การจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับเกษตรกร และข้าวสารที่ใช้ในการบริโภคสำหรับประชาชน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแนวทางของประชาชนและอปท. ในพื้นที่นั้น
6. สังคมจะได้ถกทางเลือกในระยะยาว
ภายใน 1 ปีที่ได้เป็นรัฐบาล หลังจากที่ดำเนินมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว พรรคก้าวไกลจะทำการเสนอแผนการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งระยะยาว โดยการประสานงานกันทั้งลุ่มน้ำและ อปท. ที่อยู่ในลุ่มน้ำ เพื่อทำงานร่วมกันในการวางแผนการจัดการน้ำระยะยาว และอาจมีการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดเล็กกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้สำหรับช่วงฤดูแล้งต่อไป
ในปี 2566 พรรคก้าวไกล จะนำเสนอทั้งแผนดำเนินการและงบประมาณระยะยาว สำหรับ
(ก) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน เพื่อให้สามารถรับและระบายน้ำได้มากกว่า 4,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และ
(ข) ลุ่มน้ำมูน และลุ่มน้ำชี เพื่อลดพื้นที่อุทุกภัย และภัยแล้ง ทั้งในลุ่มน้ำมูน และลุ่มน้ำชี
เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้ถกข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการลดอุทกภัย และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อย่างกว้างขวาง และลงลึก และนำไปสู่ข้อสรุปที่ดำเนินการได้จริง และแก้ปัญหาทั้งหมดได้ในภายในปี 2573