หากเราสามารถปลดล็อกท้องถิ่นได้ ชายแดนใต้/ปาตานีจะเปลี่ยนอย่างไร

อันวาร์ อุเซ็ง
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ยะลา เขต 1 พรรคก้าวไกล


ผู้บริหารที่เราเลือกเอง

การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและการทำให้ผู้บริหารทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการกำหนดทิศทางในการพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดต่อไป ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ในสามจังหวัดชายแดนใต้มาจากการแต่งตั้ง และบางครั้งก็ได้ผู้ว่าที่เหลืออายุราชการเพียงแค่หนึ่งปีหรือสองปี ดังนั้นการตัดสินใจเลือกที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรจึงไม่ได้ถูกยึดโยงกับประชาชนและในขณะเดียวกันนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนเรื่องเงินหรือแม้กระทั่งการกำหนดหน้าที่การงานให้เป็นไปตามบริบทความต้องการของคนในพื้นที่ได้เนื่องจากกฎระเบียบกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่มาจากส่วนกลางนั้นไม่เอื้อให้เกิดการริเริ่มให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้ 



การพัฒนาที่ไม่ต้องรอคอย

การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นหลังจากการปลดล็อกท้องถิ่นสิ่งแรกคือการบริการสาธารณะ เราจะได้เห็นระบบขนส่งปัตตานี ยะลา และนราธิวาสที่เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าใต้ดินก็อาจจะกระทำได้ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อให้ท้องถิ่นได้ลงทุนและรับปันผลจากผลประกอบการนั้นๆ ต่อไป เราจะได้เห็นน้ำประปาดื่มได้ในทุกๆ พื้นที่  เราจะได้เห็นไฟส่องสว่าง และถนนหนทางที่ดี และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นบนเขาบนเขาบูโดหรือฮาลาบาลา สร้างการท่องเที่ยวชุมชน ที่สามารถจะดึงดูดนักกีฬาวิ่งมาราธอน หรือนักวิ่งเทรลเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ อาจจะทำในลักษณะของจัดการท่องเที่ยวในเทือกเขา Monblonc ทั้งหมดนี้ให้ อปท. ท้องถิ่นตัดสินใจในการจัดการด้วยตนเอง



เศรษฐกิจท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

ในด้านเศรษฐกิจ หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เกษตรก็สามารถจัดการในรูปแบบที่ต่างๆ กันไป เช่น พื้นที่ธารโต กรงปินัง บันนังสตา ที่มีทุเรียนจำนวนมากอาจจะส่งเสริมให้มีตู้แช่เพื่อจัดเก็บในช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมาก หรืออาจจะทำโรงงานแพ็คกล่องในรูปแบบของท้องถิ่นได้ โดยหากมีการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นตัดสินใจเองโดยสะดวก  ในส่วนของพื้นที่ธุรกิจอย่างตัวเมืองยะลา เทศบาลสามารถส่งเสริม Start Up หรือส่งเสริมธุรกิจ SME ให้คนในพื้นที่มีงานทำ มีการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น ให้คนยะลาได้ทำงานที่ยะลา ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถใช้สินค้าจากท้องถิ่นที่สอดรับกับการท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งหากระบบบริการสาธารณะทุกอย่างดี จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืน



การศึกษาบนฐานอัตลักษณ์และวัฒนธรรม

ด้านการศึกษา ท้องถิ่นสามารถกำหนดหลักสูตรเองให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ก้าวทันยุคสมัย มีทักษะสำหรับโลกอนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกจากอุตสาหกรรมฮาลาลทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารหรือด้านการแพทย์ โดยการที่ส่วนกลางกำหนดวิชาการแกนกลางที่จำเป็น และมอบให้พื้นที่กำหนดหลักสูตรที่เหลือเพื่อไม่ให้นักเรียนมีวิชาเรียนมากเกินไป และมีเวลาเหลือที่จะไปเลือกเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น สถาบันปอเนาะก้าวหน้า ตาดีกาก้าวไกล จะถูกคืนให้ชุมชนเป็นคนกำหนดได้ด้วยชุมชนเอง ส่งมอบงบประมาณ บุคลากรคน และเงินให้ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ จัดการตนเอง



สันติภาพที่เท่าเทียม

และสุดท้ายที่จะละเลยไม่พูดถึงเลยมิได้คือ เงื่อนไขทางการเมือง การยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึก แยกทหารออกจากการเมืองก็จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกอำนาจจากส่วนกลาง และคืนอำนาจให้ท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ลดความมั่นคั่งของทหาร และจะนำพาชายแดนภาคใต้ปาตานีนี้ก้าวหน้าก้าวไกลต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า