“ถ้าคนในชุมชนไว้ใจเรา เขาจะกล้าบอกว่าตัวเองใช้ยา” : 4 เรื่องราวจากชุมชนพื้นที่ปลอดภัย แม้ไม่ปลอดจากยาเสพติด

วริษา สุขกำเนิด

ณปกรณ์ ภูธรรมะ


“สังคมปลอดยาเสพติด” อาจเป็นอุดมคติที่ใครหลายคนฝันถึง

อาจเป็นเพราะการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดที่ผ่านมา ที่เปลี่ยนสารกระตุ้นเพื่อการทำงาน หรือกล่อมประสาทเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้กลายเป็นอาชญากรรมที่ต้องปราบปราม การรณรงค์ที่เผยแพร่ ‘พิษภัย’ ของยาเสพติดทั้งในสื่อ และในห้องเรียนสุขศึกษา ยังทำให้คนมองผู้ใช้ยาในฐานะ ‘คนร้าย’ ที่ต้องกำจัดออกไปจากสังคม

‘สังคมปลอดยาเสพติด’ จึงกลายเป็นภาพฝันของชุมชนมากมาย แต่แม้เราจะมองตนเองห่างจากยาเสพติดขนาดไหน ก็มิสามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหายาเสพติดไม่อาจหมดไปในเวลาอันใกล้ ยังมีชุมชนอีกมากมายที่ผู้คนอยู่ร่วมกับยาเสพติดเป็นเวลานาน ซึ่งพวกเขา รวมถึงเครือข่ายภาพนอกหาทางป้องกันอันตรายจากยาเสพติด รวมถึงปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน

ในบทความนี้ ผู้เขียนจากศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ทั้งสอง จะพาทุกท่านก้าวเข้าไปยังชุมชนที่มีผู้ใช้ หรือเคยใช้ยาเสพติด พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร อะไรทำให้ยาเสพเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้ พวกเขารับมือและดูแลทั้งคนที่ใช้และไม่ใช้ยาอย่างไร รวมถึงสนทนากับผู้ใช้ยาในชุมชน (แม้ว่าพวกเขาจะเต็มใจให้สัมภาษณ์ แต่เราขอปกปิดตัวตนเพื่อความเป็นส่วนตัว)


ถ้าจะป้องกันไม่ให้เด็กใช้ยา เราต้องฟังเด็กว่าเขาอยากทำอะไร

ชุมชนวัดอัมพวา ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แม้ภายนอกแลดูอบอุ่นและปลอดภัย แต่ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ชุมชนนี้เคยเผชิญกับปัญหายาเสพติดอันยากจะแก้ไข

พวกเราเดินเข้ามายังที่ทำการชุมชนซึ่งอยู่ในวัด ภายนอกมีกระโจมที่ขีดเขียนข้อความและภาพวาดจากปากกาสี ส่วนภายในคือห้องสมุดเล็กๆ ที่มีโต๊ะญี่ปุ่นเรียงราง และเด็กๆ นั่งคุยเล่นกันอย่างสนุกสนาน เราจอดตัวเองบนโต๊ะเดียวกับ ‘ลุงตี๋’ รังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ผู้นำชุมชนวัดอัมพวา 

บุคลิกที่ใจดีของลุงตี๋ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กๆ อยากเข้าหา แต่มีส่วนสำคัญในการชักชวนเยาวชนออกจากวงจรยาเสพติด ลุงตี๋เล่าว่า สมัยที่เขายังเป็นหนุ่ม ชุมชนแห่งนี้เคยเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ที่สมาชิกของชุมชนจำนวนหนึ่งทำอาชีพค้าหรือส่งยา ยาเสพติดเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย เพราะผู้เสพส่วนหนึ่งคือผู้ขาย (รายย่อย) ขณะที่เยาวชนในชุมชนอาจเข้าถึงมันผ่านการสืบทอด หรือรับภารกิจจากครอบครัวของเขาที่ค้ายา หรือใช้ยาที่ซื้อได้จากเพื่อนฝูง นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรง ผู้คนที่เขาคุ้นหน้าก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมทีละคน พื้นที่ปลอดภัยในชุมชนเริ่มเหือดหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ที่ถูกเหวี่ยงเข้าชีวิตที่รับภัยจากสองด้าน

จนกระทั่งกลุ่มเด็กตัวน้อยในชุมชนได้หยิบเอาวัสดุเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระป๋อง เศษผ้า และกล่องกระดาษ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี รวมถึงหุ่นตุ๊กตามาทำการละเล่นที่พวกเขาเรียกกันเองว่า ‘เชิดสิงโต’ แบบ DIY เมื่อลุงตี๋เห็นดังนั้น จึงเกิดความคิดในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กและเยาวชนมารวมตัวกัน โดยเขาซื้อหัวสิงโตให้เด็กๆ 3 หัว จนนำไปสู่คณะเชิดสิงโตยุ่นเยาวชน

ลุงตี๋เล่าว่า “การเชิดสิงโตทำให้กลุ่มเด็กๆ มีรายได้ถูกจ้างออกไปแสดงในสถานที่ต่างๆ และเด็กๆ ยังได้มุ่งมั่นฝึกซ้อม” ซึ่งเป็นการดึงเด็กออกมาจากวงจรการส่งยาตามผู้ปกครอง รวมถึงการมั่วสุมใช้สารเสพติด การทำกิจกรรมจึงเป็น “การดึงเด็กมาในที่สว่าง” ณ ที่ที่ผู้นำชุมชนจะรู้จักและดูแลพวกเขาได้อย่างเต็มที่ กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็น ‘การป้องกัน’ เยาวชนเข้าสู่วงจรยาเสพติด “เรายึดเด้กของเราเป็นหลัก ถ้าจะป้องกันไม่ให้เด็กใช้ยา เราก็ต้องฟังว่าเด็กอยากทำอะไร”


การแสดงเชิดสิงโตของเยาวชนในชุมชนวัดอัมพวา ในกิจกรรมบางกอกนี้ดีจัง รูปจากเพจสารส้ม


นอกจากลุงตี๋แล้ว ‘พี่ตัวเล็ก’ นิวัฒน์ ทองประเสริฐ คืออดีตผู้นำชุมชนที่เคยจัดกิจกรรมให้เด็กๆ เหล่านี้เช่นกัน พวกเขาเริ่มจากการเปิดคณะรำ โดยสอนและฝึกให้นักเรียนออกไปรำในงานต่างๆ เช่นงานศพ จนพวกเขามีรายได้ เมื่อคณะรำเติบโต พวกเขาจึงเข้าประกวดในเวทีใหญ่ จนพวกเขาได้รางวัลและมีทุนทรัพย์ในการซื้อชุดนางรำ และสานต่อกิจกรรมเหล่านี้ พี่ตัวเล็กมองว่า การรำไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กมีรายได้  แต่ให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเองที่ได้ทำเพื่อชุมชน

ในปัจจุบัน พี่ตัวเล็กเดินยังสายจับไมค์นำกิจกรรมตามเยาวชนมากมาย ซึ่งเท่าที่พี่ตัวเล็กเล่าให้ฟัง บรรยากาศของค่ายก็แตกต่างจากการบรรยายยาเสพติดที่กดดันและน่ากลัวโดยสิ้นเชิง พี่ตัวเล็กเล่าว่า “ถ้าเปิดด้วยการถามเด็กเรื่องยา ไม่มีเด็กคนไหนกล้าตอบ เราชวนเด็กคุยเรื่องอื่น เน้นความสนุก แล้วเด็กเขาจะค่อยๆ เล่าให้เราฟัง” เขาเคยเปิดประเด็นถามเด็กๆ ว่า ทำไมถึงไม่อยากอยู่บ้าน และเด็กคนหนึ่งตอบว่า “เพราะพ่อแม่ใช้ยา” เขาจึงมีโอกาสได้ชวนเพื่อนๆ และเด็กคนนั้นพูดคุยเรื่องยาเสพติดในชุมชนตนเอง

เมื่อพูดคุยกับพี่ตัวเล็กสักพัก ‘ม็อบ’ สุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ ผู้ประสานงานชุมชนจึงตามเข้ามา ม็อบคือเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาในชุมชนแห่งนี้ และเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน จนกลายมาเป็นพี่ที่คอยช่วยเหลือน้องๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของเขาเคยค้ายาเสพติด เขาจึงต้องช่วยครอบครัวส่งยา แต่ต่อมา เมื่อเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้น ความสนุกสนาน และเพื่อนใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่พาเขาออกมาจากวงจรของยาเสพติด 


‘ม็อบ’ สุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ ผู้ประสานงานชุมชนวัดอัมพวา รูปจากเพจสารส้ม


การที่เขาได้ทุ่มสุดตัวให้แก่กับกิจกรรมของชุมชนนอกจากจะสร้างความสุขให้กับน้องๆ และตัวเขาเองแล้ว มันยังทำให้เขารู้สึกได้รับความยอมรับ และไว้ใจจากคนในชุมชน “ก่อนหน้านี้มีน้องเล่าให้ฟังว่า แม่ของเขาไม่อนุญาติให้เขามากับเรา เพราะเขารู้ว่าครอบครัวของเราทำอะไร แต่พอวันนี้ ถ้าแม่น้องเขารู้ว่าน้องมากับเรา แม่น้องเขาอนุญาตเลย และอยากให้มากับเราด้วย” ความไว้ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ “ถ้าคนในชุมชนไว้ใจเรา เด็กก็จะกล้ามาหาเรา และพ่อแม่ก็กล้าฝากลูกไว้กับเรา” ลุงตี๋บอก

ยาเสพติดอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คน แต่สำหรับชุมชนนี้ เขาได้ใช้สิ่งที่ตรงข้ามกับความน่ากลัว อย่าง ‘ความสนุก’ เป็นอาวุธในการต่อสู่กับยาเสพติด เมื่อการสัมภาษณ์จบลง พวกเราบอกลาทุกคน และเดินออกไปพร้อมกับ ‘ความสนุก’ ที่ปรากฎขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย


เราจะอยู่ร่วมกับผู้ใช้สารเสพติดได้อย่างไร

ไม่ไกลจากเขตเมืองชุมชนขยะหนองแขม ยังมีชุมชนที่เกิดขึ้นจากการใช้กองขยะในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ของผู้คนในท้องที่ พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ ๆ มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดรุ่นพ่ออย่าง ‘เฮโรอีน’ ที่ได้กลับมาแพร่ระบาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เฮโรอีน ถือเป็นยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมากกว่ายาบ้า เนื่องด้วยฤทธิ์ที่กดประสาทและอาการถอนยาที่มีความรุนแรง ต่างจากยาบ้าที่ให้อันตรายหลังใช้น้อยกว่าเป็นอย่างมาก 


รูปชุมชนกองขยะหนองแขม กรุงเทพมหานคร


ชุมชนขยะหนองแขมยังได้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะ Harm Reduction ซึ่งการติดยาเสพติดนั้นมีอยู่หลายระดับตามหลักเกณฑ์ของกระบวนการคัดกรองยาเสพติด ผู้เสพทั่วไปอาจจะใช้ยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือใช้เพื่อสังสรรค์ ที่สามารถรักษาโดยในกลุ่มนี้สามารถกระบวนการ Harm Reduction ได้ แต่ในกรณีขั้นจิตเวชจำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์

‘เฮียบู้’  (บรรจง แซ่อึ้ง) หัวหน้าชุมชนผู้เป็นดั่งพ่อของเยาวชนภายในชุมชน ซึ่งภายในพื้นที่ทีมงานได้สัมผัสถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้นำกับผู้เสพ ด้วยความเชื่อที่ว่า “เราไม่ควรมองผู้ใช้ยาเสพติดว่าเป็นคนที่น่ากลัว แต่เราควรมองว่าพวกเขาเป็นคนที่น่าสงสาร” เนื่องด้วยปัญหายาเสพติดนั้นเป็นสิ่งที่มีมานานสิ่งสำคัญที่ชุมชนนี้ให้ความสำคัญ 

นอกจากการป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่แล้วสิ่งที่ชุมชนนี้ให้ความสำคัญ คือ การกำกับการใช้ยา (Harm Reduction) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เสพให้ใช้ยาโดยที่ไม่เกิดอันตรายต่อตนเองและชุมชน 


‘เฮียบู้’   บรรจง แซ่อึ้ง ผู้นำชุมชนกองขยัหนองแขม รูปจากเพจสารส้ม


คุณบู้ได้ เริ่มจากการใช้ยาทดแทนอาการถอนยา เช่น น้ำมันกัญชา ในมุมมองของ คุณบู้ มองว่า การติดยาเสพติดนั้นบำบัดให้หายขนาดไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ หรือทำได้น้อยมาก (ในกรณีที่ส่งไปบำบัดในโรงพยายาลที่เห็นได้ทั่วไป) การกำกับการใช้ยาและการใส่ใจกับผู้เสพจึงเป็นสิ่งสำคัญ


คนข้างบนสั่งการ คนข้างล่างก้มหน้าทำ

ทางทีมงานได้มีโอกาศเข้าไปคุยกับผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด และได้พบกับ ‘คุณตูน’ วัชรพงศ์ พุ่มชื่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทาป่าสัก ต.ทาปลาดุก  อ.ทาป่าสัก จ.ลำพูน ซึ่งยาเสพติดที่แพร่ระบาดภายในชุมชนแห่งนี้ก็ยังหนีไม่พ้นยาบ้า


‘คุณตูน’ วัชรพงศ์ พุ่มชื่น ร่วมวงสนทนา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทาป่าสัก ต.ทาปลาดุก  อ.ทาป่าสัก จ.ลำพูน รูปจากเพจสารส้ม


เช่นเดียวกับ ชุมชนขยะหนองแขม ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่า การติดยาเสพติดนั้นบำบัดให้หายขาดไม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ปัญหาที่พวกเขาสะท้อนให้เห็นคือ มุมมองที่มาจากรัฐบาลในการจัดการกับยาเสพติด พวกเขาให้ความเห็นว่า ฝั่งภาครัฐนั่นมองปัญหายาเสพติดอย่างไม่เป็นไปตามความจริง 

ดังที่เราจะเห็นได้จากวาทะกรรมทำนองว่า “ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด” นั่นหมายความว่าฝั่งภาครัฐมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาเพื่อให้ชุมชนนั่นปลอดยาเสพติด 100 เปอร์เซนต์ จึงทำให้เกิดตัวชี้วัดที่มีความเกินจริงและเป็นไปได้ยากกับปฏิบัติงาน 

หากพิจารณาเป็นลำดับขั้นในการแก้ปัญหายาเสพติด สามารถแบ่งได้ดังนี้ 1.ป้องกัน 2.ดูแล 3.ยับยั้งและควบคุมพฤติกรรม 4.บำบัด/ฟื้นฟู  จึงเห็นได้ว่า การให้ความสำคัญในชุมชนนี้ควรที่จะอยู่ที่ งานดูแล หรือกล่าวอีกอย่างคือ การอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและขยับไปสู่งานยับยั้งและความคุมพฤติกรรม เมื่อมีการงานดูแลไม่สามารถทำได้จึงจะต้องไปสู่กระบวนการยับยั่งและควบคุมพฤติกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากทางภาครัฐยังไม่เห็นภาพในจุดนี้จะกระบวนการการแก้ปัญหายาเสพติดไม่เกิดประสิทธิผล 


บรรยายกาศวงสนทนา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทาป่าสัก ต.ทาปลาดุก  อ.ทาป่าสัก จ.ลำพูน รูปจากเพจสารส้ม


ปัญหาในภาคการปฏิบัติการ พวกเขาให้ความเห็นว่า “ทางภาครัฐหรือคนข้างบนที่คอยสั่งการไม่มีความเข้าใจปัญหาในท้องที่ อีกทั้งยังไม่มีการฝึกอมรมแก่คนข้างล่าง” การทำงานด้านยาเสพติดในชุมชุนจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังแต่เป็นการทำตามตัวชี้วัด อีกทั้งยังมีการตัดเงินอุดหนุนการป้องกันยาเสพติด โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 

การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดของประเทศไทย ในปัจจุบัน เราขาดการพัฒนามุมมองในการแก้ปัญหานี้ เพราะจริง ๆ แล้ว เราอาจไม่กล้ามองประเด็นปัญหานี้อย่างจริงจัง เราอาจเริ่มจากการเปลี่ยนจาก ชุมชนปลอดยาเสพติด เป็น เป็นชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด 

ทั้ง คุณตูน  ยังได้ชี้ให้เห็นว่า “การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดในมุมมองแบบเดิมเรามักจะมองว่าต้องใช้อำนาจจากตำรวจ จากปปส.จึงทำให้เกิดช่องว่างของความสัมพันธ์ในชุมชน แต่ชุมชนที่เข้าใจเรื่องชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติดจะใช้ความรักและความเข้าใจต่อผู้เสพและเห็นมิติในการแก้ปัญหาที่มากขึ้น”  

คุณตูนยังได้กล่าวอีกว่า “สิ่งที่น่ากลัวกว่าการเสพยาเสพติดนั่นก็คือ ประโยชน์ที่ได้จากยาเสพติด” กล่าวอีก อย่างหนึ่งก็คือการเข้าไปอยู่ในวงจรการค้ายาเสพติด 


เพราะฝิ่นเข้าถึงง่ายกว่าหมอ หมอเลยต้องขึ้นไปแทนฝิ่น

พระอาทิตย์ยังไม่ถึงกลางหัว พวกเราออกตัวจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ. เชียงราย ที่รายล้อมด้วยทุ่งนา มุ่งหน้าสู่จุดหมาย เส้นทางเริ่มสูงชันขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศซ้ายขวาเริ่มเปลี่ยนจากพืชไร่เป็นพืชป่าและพืชสวน มะม่วงต้นเตี้ยเรียงรายตลอดแนวหุบเขา ก่อนจะถึงแนวบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน ที่มีเด็กวิ่งเล่นและผู้สูงอายุนั่งใต้ถุนบ้าน

ชุมชนพนารักษ์ ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้ง เฮี้ยน และลาหู่ ที่ตั้งรกรากและทำงานหาเลี้ยงชีพ (การเกษตร) อยู่บนภูเขา ชุมชนของพวกเขาไม่เพียงแต่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ยังห่างไกลจากโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงพยาบาล หรือแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามีเพียงแค่หมู่บ้าน ไร่สวน …และยาเสพติด


บรรยากาศการพูดคุยถึงปัญหายาเสพติดในชุมชนพนารักษ์ ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย รูปจากเพจสารส้ม


ยาเสพติดไม่ได้เข้ามาในชุมชนอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อพวกเขาทำงานในไร่สวน เมทแอมเฟตามีน หรือ ‘ยาบ้า’ ที่มีการค้าขายจากนอกและในชุมชนมักถูกใช้เป็นสารกระตุ้นในการทำงาน เพื่อให้พวกเขาทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น 

ในทางกลับกัน เมื่อเขาเผชิญกับความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน หรือปัญหาสุขภาพ ‘ฝิ่น’ พืชฤทธิ์กดประสาทซึ่งอยู่ตัวกับพวกเขามากกว่าโรงพยาบาล ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาพึ่งพาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ผู้ใช้ยาในชุมชนแห่งนี้จึงไม่ได้มีแค่เยาวชน แต่ยังมีผู้สูงวัยที่สูบฝิ่นเพื่อระงับอาการปวดข้อ และลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ การเสพติดฝิ่นอาจมาจากวิถีชีวิตครอบครัว ที่ผู้ปกครองสูบฝิ่น และลูกอาจได้รับควันเข้าไปด้วย

ด้านกลับของการติดสารเสพติดคือปัญหาทางสุขภาพที่ตามมา การใช้ยาบ้าเป็นเวลานานเปลี่ยนผู้ใช้ที่ทนงาน เป็นร่างกายที่ยากจะเคลื่อนไหว และลุกขึ้นทำงานต่อได้ การติดฝิ่นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพจิต แต่ยังนำไปสู่โรคปอด โรคที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสูบ และหากมีปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นทุนเดิม การใช้ยาก็อาจทวีคูณความป่วยไข้ให้กลายเป็นโรคจิตเวช ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้เสพ และคนใกล้ตัว

นั่นทำให้ผู้ใช้ยาบางรายจากชุมชนพนารักษ์เดินทางจากหุเขาลงมายังโรงพยาบาลเพื่อรับการบำบัด แต่ด้วยการเดินทางที่ยากลำบากและใช้เวลานาน คนไข้หลายๆ คนจึงอาจขาดนัด หรือไม่ได้รับการบำบัดต่อ คุณดวงใจ บุญพัฒน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.พญาเม็งราย และผู้ให้การบำบัดคนอื่นต่างเล็งเห็นปัญหา


คุณดวงใจ บุญพัฒน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.พญาเม็งราย รูปจากเพจสารส้ม


จึงเกิดเป็นโครงการร้อยใจรักฯ ที่กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ได้ชักชวนโรงพยาบาลส่วนตำบลเม็งราย ทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เดินทางขึ้นยังชุมชนพนารักษ์ เพื่อเยี่ยมเยี่ยนตามบ้าน เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้สารเสพติด รวมไปถึงเปิดให้มีการตรวจสารเสพติด และเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจด้วยการใช้ยาเมทาโดน (Methadone) ซึ่งให้ฤทธิ์ระงับการเจ็บปวดแทนฝิ่น โครงการดังกล่าวยังให้ความรู้เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา แม้ผู้บำบัดบางรายอาจไม่สามารถเลิกยา แต่เขาสามารถลดปริมาณการใช้ลงได้ รวมถึงการให้การรักษาพยาบาลและยาประเภทอื่นๆ ตามอาการโรคแทนการใช้ฝิ่น

การที่กลุ่มงานจิตเวชและคณะทำงานลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านไม่ได้สร้างความตื่นกลัว หรือหวาดระแวงสักเท่าไหร่ ในทางตรงข้าม คุณดวงใจเล่าให้ฟังว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน ยิ่งทำให้คนในชุมชนไว้ใจในการเล่าประวัติการใช้ยา เข้ารับการตรวจ และเปิดรับการบำบัดด้วยความเต็มใจ คุณดวงใจยังเล่าว่า “วัยรุ่นที่เคยบำบัดกับเรา ตอนนี้เขาก็ชวนเพื่อนมาเลิกยาด้วย” 

แต่นอกจากการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ลดความอันตรายจากการใช้ยาได้แล้ว ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็มีส่วนช่วยเช่นเดียวกัน ผู้นำชุมชนมีบทบาทสำคัญในการเยี่ยมเยียนและปรับทุกข์ผูกมิตร เพื่อสร้างความไว้ใจและติดตามพฤติกรรมการใช้ยา รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อาจให้กำลังใจสมาชิกในการลดยา หรืออาจผลักไสให้เข้าสู่วงจรของยาได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นโครงการร้อยใจรักฯ งบประมาณสำหรับทำโครงการและทีมงานฝ่ายความมั่นคงที่เดินทางเยี่ยมเยียนก็หายไป กลุ่มงานจิตเวชจึงต้องจัดสรรงบประมาณของตนเพื่อลงพื้นที่ตรวจในชุมชน โดยอาศัยความช่วยเหลือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และความร่วมมือของผู้นำ และคนในชุมชน แม้ว่าพวกเขาจะขึ้นมาตรวจได้แค่เดือนละครั้ง แต่ผลของโครงการที่ดำเนินมาอย่างเนิ่นนานก็ทำให้ชุมชนมีความไว้วางใจ และเข้าหาการบำบัดรักษามากขึ้น


สะท้อนคิด

ปัญหายาเสพติดไม่ใช่เรื่องที่ดำมืดเกินกว่าจะมอง ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ขาวสะอาดเกินกว่าจะเมินเฉย 

สารเสพติดที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คน สังคม รวมถึงรัฐ ไม่อาจใช้มุมมองด้านอาชญากรรมและความมั่นคงได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการมุมมองด้านสาธารณสุข จิตวิทยา สังคมวิทยา และอื่นๆ ในการทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว 

แต่นอกจากองค์ความรู้ที่มากมายแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังต้องใช้การสร้างความไว้วางใจ และความผูกพันภายในชุมชน เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการจัดการกับปัญหายาเสพติดในชุมชน คือการมองจากล่างขึ้นบน หรือการสนับสนุนคนในชุมชนหรือบุคคลากรผู้ให้บริการในการแก้ไขปัญหาของพวกเขา มากกว่าการมองจากบนลงล่าง หรือการสั่งการจากรัฐเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวดดยละทิ้งบริบทเชิงพื้นที่


บรรยากาศการพูดคุยถึงปัญหายาเสพติดในชุมชนพนารักษ์ ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย รูปจากเพจสารส้ม


พวกเราจึงของสรุปสะท้อนคิดจากการลงพื้นที่ 4 ชุมชนออกมาดังนี้

1. ปลอดภัยก่อน ถ้ายังไม่ปลอด (จากยาเสพติด): การตั้งเป้าว่ายาเสพติดต้องหมดไปอาจเป็นเป้าหมายที่นอกจากจะเป็นไปได้ยาก แต่ยังอาจนำไปสู่ปฏิบัติที่มีความรุนแรงตามมา นโยบายการเกี่ยวกับยาเสพติดจึงควรตั้งเป้าหมายที่เริ่มจากการลดความอันตรายจากการใช้ยา แล้วจึงลดการใช้ยา หรือบำบัด

2. อย่ามองแค่ “ยา” แต่ให้มองชีวิตให้รอบด้าน: การใช้ยาเสพติดในชุมชนมีความสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และความสัมพันธ์ของคนในชุมชน การแก้ปัญหายาเสพติดจึงต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่าง ๆ รอบตัวของพวกเขา รวมถึงมองว่าการป้องกันการใช้ยา และการเชิญชวนผู้คนเข้ารับการบำบัดคือสิ่งที่สัมพันธ์กัน ดังนั้น งบประมาณเพื่อการป้องกัน และงบประมาณเพื่อการบำบัดจึงเป็นสิ่งที่ควรมาควบคู่กัน และชุมชนควรมีส่วนตัดสินใจและบริหารงบประมาณเหล่านั้นร่วมกัน

3. การบำบัดที่ดีที่สุด คือการสร้างความไว้วางใจ: ความไว้ใจจากผู้ให้บริการ หรือผู้นำชุมชุนต่อผู้ใช้ยา ทำให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดคลายความอับอายที่มาพร้อมการถูกตีตรา และกล้าเข้ารับการบำบัดรักษามากขึ้น ความไว้ใจยังสัมพันธ์กับเป้าหมายโครงการบำบัดยาเสพติด โครงการเหล่านี้อาจเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายให้คนมาเข้าร่วมการบำบัดจำนวนมากในปีแรก สู่การสร้างความไว้วางใจ ให้ผู้ที่มาบำบัดอยู่แล้วบำบัดต่อจนจบโครงการ หรือกล้าชวนคนอื่นๆ มาเข้ารับการบำบัด

4. ความไว้วางใจไม่สามารถสั่งจากบนลงล่าง แต่ต้องเสริมสร้างจากล่างขึ้นบน: การแก้ไขปัญหายาเสพติดมักเป็นการสั่งการจากส่วนกลาง เช่นการกำหนดตัวเลขผู้เข้ารับการบำบัดต่อชุมชน ซึ่งขาดการมองบริบทเชิงพื้นที่ เพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การตรวจสารเสพติดอย่างไม่เต็มใจ และการบำบัดที่ขาดความร่วมมือ การแก้ปัญหายาเสพติดจึงไม่ควรกำหนดตัวชี้วัดจากส่วนกลาง แต่ควรสนับสนุนวิธีการออกจากบริบทของชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า