แนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการ : บทความเนื่องในวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม 2564

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center

In Focus

  • ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งหมด จากการสำรวจในปี 2560 และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น
  • ผู้พิการประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการมีงานทำ มีผู้พิการเพียง 1 ใน 25 คน ที่ได้เรียนระดับอุดมศึกษา เทียบกับ 1 ใน 5 ในกรณีของคนไม่พิการ หรือผู้พิการเพียง 4 ใน 10 คนที่จะมีงานทำ เทียบกับ 8 ใน 10 คนในกรณีของคนที่ไม่พิการ
  • มีผู้พิการเพียงร้อยละ 44.4 ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมาย และมีเพียงร้อยละ 43.8 ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้น ที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ และมีผู้พิการอีกเกือบ 6 แสนคน ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วย/อุปกรณ์ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ 
  • ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีสัดส่วนความพิการสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ถึงประมาณ 3.5 เท่า เช่นเดียวกับสัดส่วนความยากจนในครัวเรือนที่มีผู้พิการก็สูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการด้วย
  • การเพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้พิการ ช่วยลดสัดส่วนความยากจนของครัวเรือนผู้พิการลงได้มาก จากร้อยละ 9.4 ในกรณีฐาน (หรือกรณีปัจจุบัน) เหลือเพียงร้อยละ 2.56 หากเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท/เดือน Think Forward Center จึงเสนอแนวนโยบายให้ผู้พิการทุกคนได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาท/เดือน ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 61,500 ล้านบาท/ปี
  • รัฐบาลจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันการดูแลผู้พิการระยะยาว เพื่อใช้ในการพัฒนา การจ้างผู้ดูแลที่ผ่านการฝึกอบรม และ/หรือการสนับสนุน (หรือชดเชยรายได้) ผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน โดยดำเนินการควบคู่ไปกับระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการให้บริการ โดยใช้วงเงินทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี รวมถึงรัฐบาลควรสนับสนุนการเข้าถึงอุปกรณ์/เครื่องช่วย และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้พิการ ให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย





เนื่องในโอกาสที่สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม เป็นวันคนพิการสากล Think Forward Center ขอนำเสนอสถานการณ์ และปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้พิการในประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการในประเทศไทย


สถานการณ์ของผู้พิการในประเทศไทย

รายงานการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (การสำรวจความพิการจะทำทุก 5 ปี) พบว่า ผู้พิการในประเทศไทยมีประมาณ 3.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งหมด

แนวโน้มจำนวนผู้พิการในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีสัดส่วนความพิการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.6 หรืออาจกล่าวได้ว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุจะมีความพิการในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน


ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา

ปัจจุบัน โอกาสและสวัสดิการที่ผู้พิการในประเทศไทยได้รับ ยังคงเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก ถ้าพิจารณาจากโอกาสทางการศึกษาจากการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 พบว่า ผู้พิการอายุ 5-24 ปีที่ยังศึกษาอยู่มีเพียงประมาณร้อยละ 34.7 (หรือประมาณ 1 ใน 3) ในขณะที่คนที่ไม่พิการในวัยเดียวกัน ยังศึกษาอยู่ถึงร้อยละ 71.9 เลยทีเดียว

และหากจะเทียบอัตราการเรียนตามเกณฑ์อายุที่ควรจะเป็นตามรายงานการสำรวจความพิการ (ภาพที่ 1) จะพบว่า ผู้พิการวัย 6-11 ปีที่ได้เรียนในระดับประถมศึกษามีร้อยละ 58.7 (เทียบกับผู้ที่ไม่พิการในวัยเดียวกันได้เรียนในอัตราร้อยละ 87.7) ในระดับมัธยมศึกษา (อายุ 12-17 ปี) มีผู้พิการในวัยนี้ได้เรียนเพียงร้อยละ 38.2 (เทียบกับร้อยละ 76.9 ของผู้ที่ไม่พิการในวัยเดียวกัน) ส่วนในระดับอุดมศึกษา (อายุ 18-24 ปี) มีผู้พิการเพียงร้อยละ 2.4 ของผู้พิการในวัยนี้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา (เทียบกับร้อยละ 21.1 ของผู้ไม่พิการในวัยเดียวกัน) หรืออาจกล่าวได้ว่า มีผู้พิการเพียง 1 ใน 25 ของผู้พิการในวัยนี้ ที่ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา (เทียบกับ 1 ใน 5 ในกรณีผู้ที่ไม่พิการ)


ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการทำงาน

ผู้พิการมีโอกาสในการทำงานที่จำกัดมาก การสำรวจความพิการพบว่า ผู้พิการที่มีอายุ 15-59 ปี มีงานทำเพียงร้อยละ 40.6 เทียบกับคนที่ไม่พิการในวัยเดียวกันที่มีอัตรามีงานทำถึงร้อยละ 78.5 และเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการในช่วงวัยนี้ที่มีงานทำก็ลดลงเหลือร้อยละ 15.2 เทียบกับร้อยละ 45.2 ของคนที่ไม่พิการนช่วงวัยเดียวกัน

หากจำแนกการมีงานทำตามช่วงอายุ จะพบว่า ผู้พิการในช่วงอายุ 20-29 ปี จะมีโอกาสในการทำงานเพียงร้อยละ 25.2 เท่านั้น (เทียบกับร้อยละ 72.8 ของคนที่ไม่พิการในวัยเดียวกัน) และผู้พิการในวัย 30-39 ปี มีสัดส่วนการทำงานเพียงร้อยละ 38.7 (เทียบกับร้อยละ 91.4 ของคนที่ไม่พิการในวัยเดียวกัน) โอกาสในการทำงานของผู้พิการที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวไม่เพียงแต่น้อยกว่าคนที่ไม่พิการในวัยเดียวกัน แต่ยังน้อยกว่าคนพิการที่มีอายุ 40-49 ปี และ 50-59 ปีเสียอีก ซึ่งมีอัตราการทำงานร้อยละ 46.0 และ 48.4 ตามลำดับ 


ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการ

ในแง่สวัสดิการ พบว่า จากจำนวนผู้พิการทั้งหมด 3.7 ล้านคน ในการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 มีเพียงร้อยละ 44.4 เท่านั้น ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้พิการตามกฎหมาย และมีเพียงร้อยละ 43.8 ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้น ที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ

ในจำนวนผู้พิการทั้งหมด 3.7 ล้านคน มีผู้พิการประมาณร้อยละ 35.8 จำเป็นต้องมีเครื่องช่วยหรืออุปกรณ์สำหรับคนพิการ ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 ได้รับเครื่องช่วย/อุปกรณ์ที่จำเป็น แต่ก็ยังมีอีกร้อยละ 42 หรือประมาณ 558,000 คน ที่ยังไม่ได้รับเครื่องช่วย/อุปกรณ์ ทั้งๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยและอุปกรณ์เหล่านั้น

ในแง่ของบริการสาธารณสุข ผู้พิการประมาณ 155,000 คน (ประมาณร้อยละ 4.2 ของผู้พิการทั้งหมด) ไม่ได้เข้ารับการรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพเมื่อจำเป็น ทั้งนี้เพราะ ไม่มีผู้ดูแลในการพาไป ไม่มีค่ารักษาพยาบาล/ค่าเดินทาง หรือเดินทางไม่สะดวก

ในแง่ของผู้ดูแลคนพิการพบว่า จำนวนผู้พิการที่มีความยากลำบากในการดูแลตนเอง ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ดูแลคนพิการเท่ากับ 716,263 คน (ร้อยละ 19.4 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของผู้พิการทั้งหมด) ในจำนวนนี้ มีผู้พิการร้อยละ 9.1 หรือประมาณ 65,000 คนที่ไม่มีผู้ดูแลเลย ในขณะที่ผู้พิการส่วนใหญ่ร้อยละ 85.0 มีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัว ซึ่งต้องใช้เวลาในการดูแลประมาณ 11-12 ชั่วโมง/วัน ทำให้มีสมาชิกในครัวเรือนจำนวนประมาณ 66,000 คน (ร้อยละ 10.8 ของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัว) ต้องลาออกจากงานมาดูแลผู้พิการ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 10,104 บาท/เดือน/ราย


ความยากจนของผู้พิการ

จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2563 สัดส่วนคนจนในประเทศไทยโดยรวมเท่ากับร้อยละ 6.84 แต่สัดส่วนความยากจนของผู้พิการตั้งแต่เกิด จะพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 11.5 และผู้พิการแต่มิได้พิการตั้งแต่เกิด สัดส่วนความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 เทียบกับ ผู้ที่ไม่พิการซึ่งมีสัดส่วนความยากจนร้อยละ 6.6 จึงกล่าวได้ว่า สัดส่วนความยากจนจะกระจุกตัวสูงขึ้นในครัวเรือนผู้พิการ

ทั้งนี้ รายงานฉบับเดียวกัน ยังพบว่า ในจำนวนผู้พิการที่ยากจนทั้งหมด 306,409 คน มีผู้พิการที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ (ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะครัวเรือนยากจน) 235,684 คนเท่านั้น (หรือร้อยละ 76.9 ของผู้พิการที่ยากจน) หรือกล่าวได้ว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้พิการที่ยากจนยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ

นอกจากนี้ Think Forward Center ได้วิเคราะห์สัดส่วนของผู้พิการต่อสมาชิกทั้งหมดของครัวเรือน โดยจำแนกตามระดับรายได้ (ภาพที่ 2) จะพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (เช่นกลุ่ม Decile ที่ 1 และ Decile ที่ 2) มีสัดส่วนความพิการสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง (เช่นกลุ่ม Decile ที่ 9 และ Decile ที่ 10) ถึงประมาณ 3.5 เท่า

เพราะฉะนั้น การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับผู้พิการจึงมีส่วนสำคัญในการลดความยากน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไปด้วยในตัว


เบี้ยยังชีพ: สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการ

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้พิการแต่ละคนมีความจำเป็นและความต้องการสวัสดิการที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ซึ่งมีรายละเอียดในการจำแนกค่อนข้างมาก แต่ในภาพรวม การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพก็น่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพของผู้พิการ เพราะฉะนั้น การเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการเป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการเพิ่มสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้พิการ

Think Forward Center จึงนำข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้พิการให้เพิ่มขึ้นเป็น (ก) 1,000 บาท/เดือน (ข) 1,500 บาท/เดือน (ค) 2,000 บาท/เดือน และ (ง) 3,000 บาท/เดือน แบบถ้วนหน้า ตามลำดับ

ผลการวิเคราะห์ ปรากฏว่า การเพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้พิการ ช่วยลดสัดส่วนความยากจนของครัวเรือนผู้พิการลงได้มาก จากร้อยละ 9.4 ของผู้พิการทั้งหมด (กรณีฐาน) ลดลงเป็น 

  • ร้อยละ 8.43 หากเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,000 บาท/เดือน แบบถ้วนหน้า 
  • ร้อยละ 5.21 หากเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,500 บาท/เดือน แบบถ้วนหน้า 
  • ร้อยละ 3.47 หากเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 2,000 บาท/เดือน แบบถ้วนหน้า และ 
  • ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.56 หากเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท/เดือน แบบถ้วนหน้า 
Think Forward Center ขอนำเสนอสถานการณ์ และปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้พิการในประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการ
:
บทความเนื่องในวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม 2564

และเนื่องจากผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพของผู้พิการขึ้นเป็น 3,000 บาท/เดือน สามารถช่วยลดความยากจนของครัวเรือนผู้พิการลงได้มาก Think Forward Center จึงเสนอแนวนโยบายให้ผู้พิการทุกคนได้รับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาท/เดือน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 61,500 ล้านบาท/ปี


สวัสดิการสำหรับผู้ดูแลและเครื่องช่วยผู้พิการ

แม้ว่า การเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการจะมีส่วนช่วยลดความยากจนของผู้พิการลงได้มาก แต่ความจำเป็นของผู้พิการแต่ละคนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้พิการที่มีความยากลำบากในการดูแลตนเอง กว่า 7 แสนคน ยังต้องการผู้ดูแล ซึ่งเบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการ 3,000 บาท/เดือน ก็คงไม่เพียงพอในการหาผู้ดูแล (หรือชดเชยการสูญเสียรายได้ของสมาชิกในครอบครัวที่มาดูแล) รวมถึง ผู้พิการอีกกว่า 5 แสนคน ที่ยังไม่ได้รับเครื่องช่วย/อุปกรณ์ และอีกกว่า 1 แสนคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ก็ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเช่นกัน

Think Forward Center มีความเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันการดูแลผู้พิการระยะยาว เพื่อใช้ในการจ้างผู้ดูแลที่ผ่านการฝึกอบรม และ/หรือการสนับสนุน (หรือชดเชยรายได้) ผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ผู้พิการได้รับการดูแลที่ทั่วถึง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันการดูแลผู้พิการระยะยาว อาจดำเนินการร่วมกับกองทุนหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ตามแนวทางที่ Think Forward Center จะนำเสนอ เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ/ผู้พิการ หรือแพลตฟอร์มในการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการตามบ้าน โดยศูนย์และแพลตฟอร์มการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้พิการนี้ควรจะดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อนึ่ง ในจำนวนผู้พิการ 3.7 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.36 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63.9 ของผู้พิการทั้งหมด และมีผู้พิการและสูงอายุที่มีความยากลำบากในการดูแลตนเองเท่ากับ 498,628 คน หรือเท่ากับร้อยละ 69.6 ของผู้พิการที่ต้องการผู้ดูแลทั้งหมด เพราะฉะนั้น การรวมบริการผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการจึงถือเป็นการช่วยลดความซ้ำซ้อนในแง่บริการและทรัพยากรสำหรับการดูแลผู้พิการ/ผู้ดูแลลงได้มาก

นอกเหนือจากผู้ดูแลผู้พิการที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว ยังมีผู้พิการในช่วงวัยอื่นๆ ที่ต้องการผู้ดูแลอีกประมาณ 217,635 คน ดังนั้น Think Forward Center จึงเสนอให้ในระยะเริ่มต้น (ปี พ.ศ. 2565-2570) มีการพัฒนาผู้ดูแลผู้พิการ และมีการสนับสนุนผู้ดูแลผู้พิการอย่างน้อย 50,000 คน รวมถึงให้มีงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการเข้าถึงอุปกรณ์/เครื่องช่วยคนพิการ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี


สวัสดิการที่สำคัญอื่นๆ

นอกจากสวัสดิการเบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการ 3,000 บาท/เดือน และการพัฒนาระบบดูแลผู้ดูแลผู้พิการ/ผู้สูงอายุระยะยาวแล้ว Think Forward Center เห็นว่า ยังจำเป็นต้องมีสวัสดิการอื่นๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการอีกหลายประการ อาทิ

  • การพัฒนาการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษาของผู้พิการ โดยการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของครูการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการ การพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับผู้พิการ ทั้งระบบการศึกษาพิเศษ ระบบการเรียนร่วม และการศึกษานอกระบบสำหรับผู้พิการ (รวมถึงการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา) และหลักประการศึกษาฟรีจนจบมหาวิทยาลัยสำหรับผู้พิการ
  • การเพิ่มงบประมาณสนับสนุนสำหรับการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สำหรับผู้พิการที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมจำนวนประมาณ 7 แสนราย ในวงเงินประมาณ 20,000-50,000 บาท/ราย รวมถึง การออกแนวทางและข้อบังคับสำหรับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เพื่อรองรับผู้พิการ และสังคมสูงวัย
  • การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการจัดหางาน และการฝึกทักษะอาชีพสำหรับผู้พิการ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงการทำงานได้มากขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรคูปองการฝึกอาชีพสำหรับผู้พิการ (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง/คน) และสนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยสำหรับการลงทุนในการประกอบอาชีพของผู้พิการด้วย




สรุป

Think Forward Center เห็นว่า สังคมไทยอาจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความพิการเพิ่มมากขึ้น โดยผู้พิการในแต่ละช่วงวัยล้วนประสบความจำกัดในการเข้าถึงโอกาส สวัสดิการ และการใช้ชีวิตตามปกติ จนกลายเป็นสถานการณ์ที่ผู้พิการต้องเผชิญกับความยากจน และความเหลื่อมล้ำมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

เพราะฉะนั้น เพื่อสนับสนุนให้สังคมก้าวเข้าสู่สังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง Think Forward Center จึงเสนอให้เพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้พิการเป็น 3,000 บาท/เดือน ในแบบถ้วนหน้า เพื่อลดภาวะความยากจนในครัวเรือนผู้พิการ จากร้อยละ 9.4 เหลือร้อยละ 2.6 พร้อมๆ กับการพัฒนาระบบการดูแลผู้พิการระยะยาว โดยดำเนินการร่วมระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และพัฒนาผู้ดูแลผู้พิการระยะยาวให้ได้ 50,000 คนในระยะเวลา 5 ปี รวมถึงพัฒนาสวัสดิการของผู้พิการในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า