3 สิ่งที่ทำให้ครูไทยได้ในปี 2565


เดชรัต สุขกำเนิด และธีรศักดิ์ จิระตราชู

ในสถานการณ์ที่ครูไทยต้องเผชิญความยากลำบาก ทั้งการเรียนการสอนที่ต้องสอนแบบออนไลน์ เด็กๆ นักเรียนบางส่วนที่จำเป็นต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา ค่าครองชีพของคุณครูที่เพิ่มสูงขึ้น ภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภารกิจการสอน (แต่ต้องทำ) ฯลฯ รวมถึงความเครียดที่เพิ่มขึ้น ทั้งสำหรับตัวคุณครูและตัวเด็กๆ

ปี 2565 น่าจะเป็นปีที่สังคมไทยต้องเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หดหายไปอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และแน่นอนว่า ครูก็จะต้องเป็นผู้มีบทบาทหลักในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กๆ ดังนั้น เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2565 Think Forward Center เสนอว่า รัฐบาลและสังคมไทยสามารถดำเนินการ 3 สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ และบรรเทาภารกิจอันหนักอึ้งของสำหรับครูไทยได้ ภายในปี 2565 ดังนี้


(1) ต่อยอดและพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับครูไทย โดยแบ่งเป็น แพลตฟอร์มการเรียนรู้อย่างน้อย 3 ส่วนด้วยกันคือ

1.1 สนับสนุนและพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกลยุทธ์ วิธีการสอน เทคนิค ด้านการจัดการเรียนการสอน (ฐานสมรรถะ) ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากรอยต่อของหน้างานเดิมไปสู่หน้างานใหม่ให้ครอบคลุมระบบนิเวศทางการศึกษาที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปและเปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม

1.2 สนับสนุนและพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการเงิน การลงทุน การจัดการหนี้เพื่อเพิ่มการรู้เรื่องการเงินให้แก่ครูจัดการตนเองให้รู้เท่าทันลดปัญหาการเป็นหนี้เรื้อรังสะสม โดยดำเนินการรวมกับการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหนี้ การชำระหนี้ และการก่อหนี้ ให้มีความเป็นธรรม และป้องกันการก่อหนี้และภาระการชำระหนี้ที่เกินสมควร

1.3 สนับสนุนและพัฒนาแพลตฟอร์มการรู้เรื่องการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยในสังคม (หรือ generation gap) ที่มีความหลากหลาย อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้ครูสามารถนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์ตนเอง วิเคราะห์นักเรียน และให้คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น



(2) เสริมสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงาน ทั้งในและนอกโรงเรียน

2.1 รณรงค์ให้การบริหารงานระดับโรงเรียนลดการใช้อำนาจบังคับและคุกคามครู เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน จากการใช้อำนาจสั่งการ มาเป็นการใช้และเสริมอำนาจร่วมกันแทน รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมการใช้และเสริมอำนาจร่วมกันในห้องเรียนด้วย

2.2 ยอมรับและเปิดโอกาสให้ห้องเรียนและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหรือทดลอง (ห้อง lab) สำหรับการเรียนรู้และการสอนรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะต้องผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกและการพัฒนาจนกลายเป็นต้นแบบ/และรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลได้ ทั้งนี้ โดยผู้บริหารต้องเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้ครูสามารถทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนานักเรียน

2.3 รณรงค์ให้เกิดการต่อต้านการประทุษร้ายทางวาจา ลดการข่มขู่ คุกคาม ภายในโรงเรียน และการใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ต่อครูและต่อนักเรียน ทั้งในและนอกโรงเรียน



(3) งบประมาณสนับสนุน ในสถานการณ์ที่รูปแบบการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ด้าน Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของคุณครูดังนี้

3.1 งบประมาณสนับสนุนค่าสื่อการสอนที่นำไปใช้ในห้องเรียน/ห้องเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของคุณครู และกระตุ้นการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ

3.2 งบประมาณสนับสนุนค่าทำงานสอนล่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอนเพื่อแก้ไขปัญหาการถดถอยในการเรียนรู้ (หรือ learning loss) ของนักเรียนจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการเรียนออนไลน์ในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา

3.3 ทุกฝ่ายควรช่วยกันลดภารกิจอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือภารกิจการสอนของครู และหากเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีครูในการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว หน่วยงาน/องค์กรนั้นๆ ควรมีระบบสนับสนุนค่าตอบแทนจากการทำงานส่วนต่างๆนอกเหนือจากการสอนที่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินการเช่นนั้น ก็น่าจะช่วยลดทอนการมอบภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่สมควรต่อครูในระยะยาวด้วย



ด้วยแนวทางทั้ง 3 ข้อ Think Forward Center เชื่อว่า จะช่วยให้คุณครูของสังคมไทยทุกคนสามารถทำหน้าที่ของครู ได้อย่างเต็มที่ อย่างมีความสุข (มากขึ้น) อย่างมีศักยภาพ และเติบโตไปพร้อมๆ กับนักเรียนและสังคมไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า