สร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ด้วยผ้าอนามัยที่ทุกคนเข้าถึงได้

นุชประภา โมกข์ศาสตร์

In Focus

  • การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28 วันทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้น  จนพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลประสบกับความขาดแคลนผ้าอนามัยหรือ “Period Poverty” 
  • หากระยะเวลาการมีประจำเดือนของผู้หญิงอยู่ที่ 40 ปีผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยประมาณ 84,000 บาทตลอดช่วงชีวิตดังนั้นการส่งเสริมให้ผ้าอนามัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเพศหญิงจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรเข้ามาจัดการและดูแล
  • ในหลายประเทศเช่นสก็อตแลนด์หรือนิวซีแลนด์รัฐบาลมีแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิในสุขอนามัยของผู้หญิงโดยจัดให้มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยและจัดให้มีผ้าอนามัยให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงได้อย่างสะดวกเพื่อยุติความยากจนในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน 
  • Think Forward Center เสนอว่ารัฐควรยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยมากขึ้นและเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยเจริญพันธุ์ในเพศหญิงและต่อไปควรขยายถึงอุปกรณ์สุขอนามัยที่จำเป็นของกลุ่มวัยและเพศอื่นๆ
  • ขณะเดียวกันรัฐควรแจกคูปองเงินสดเพื่อใช้เป็นสิทธิในการแลกซื้อให้ครอบคลุมต้นทุนผ้าอนามัยขั้นต่ำที่ผู้หญิงต้องจ่ายในแต่ละเดือนให้ทั่วถึงซึ่งหากคำนวณค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสำหรับผ้าอนามัยจะอยู่ที่  100 – 200 บาท/คน/เดือน
  • เมื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มการเข้าถึงผ้าอนามัยแล้วบริษัทผู้ผลิตที่สามารถขายผ้าอนามัยได้มากขึ้นควรจัดสรรผ้าอนามัย 3-5%  เพื่อนำมาเข้าสู่ระบบกระจายในสถานที่ที่ตลาดไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงได้น้อยเช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียนสถาบันการศึกษาโรงพยาบาลตู้หยอดเหรียญผ้าอนามัยในหมู่บ้านฯลฯ 
  • นอกจากนี้รัฐควรมีแนวทางในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของทุกช่วงวัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่องและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกช่วงวัยมากขึ้นในอนาคตรวมถึงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย 





การเรียกร้องสวัสดิการเกี่ยวกับผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัย รวมทั้งการลดภาษีผ้าอนามัยนั้นเป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องมานานแล้ว เพราะเกิดจากการที่สังคมนั้นมองว่าการมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเพศสภาพในเชิงชีวภาพ ซึ่งเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะเริ่มมีประจำเดือนทุก 28 วัน ซึ่งเป็นไปตามกลไกตามธรรมชาติ ทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายทั่วไปจากสุขอนามัยประจำเดือน อีกทั้งผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในภาษีสีชมพู (pink tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผู้ชาย

เมื่อผู้หญิงเป็นเพศสภาพที่ต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยเมื่อมีประจำเดือน การส่งเสริมให้ผ้าอนามัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเพศหญิงจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรเข้ามาจัดการและดูแล ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาในช่วงที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนแล้วจะครอบคลุมช่วงอายุระหว่าง 13-55 ปี หรือกว่า 40 ปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีมีผู้หญิงจำนวนมากประสบกับความขาดแคลนผ้าอนามัย ที่เรียกว่า “Period Poverty” ซึ่งเป็นผลของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้น้อยหรือกลุ่มที่ยากจน


“Period Poverty” หรือการขาดแคลนผ้าอนามัยและการเข้าถึงสวัสดิการและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลให้เด็กผู้หญิงบางคนไม่ต้องการไปโรงเรียนเนื่องจากการมีประจำเดือนอาจทำให้เกิดการรั่วซึมจนถูกเพื่อนล้อเลียน ขณะที่การมีประจำเดือนสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยทำงานก็เป็นเรื่องที่อาจทำให้เกิดการตัดสินใจลางานเนื่องจากการเข้าไม่ถึงสวัสดิการผ้าอนามัยและอาการที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะประจำเดือนจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ 

ในขณะที่ในเชิงเศรษฐกิจค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานหญิงได้รับอยู่ที่ 331 บาท/วัน หากต้องจ่ายเงินซื้อผ้าอนามัย 4-6 ชิ้น/วัน จะทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายราว 9% ของรายได้ต่อวัน หรือสำหรับผู้หญิงบางคนที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติก็อาจต้องเสียเงินเพื่อซื้อผ้าอนามัยในราคาที่สูงขึ้น

ถ้าคำนวณจากจำนวนการใช้ผ้าอนามัยอยู่ที่ 140 ล้านชิ้น/เดือน หากผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ย 15 ชิ้น/คน/เดือน จะมีผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยตามเกณฑ์มาตรฐานสุขอนามัยเจริญพันธุ์เพียง 9.3 ล้านคน จากจำนวนผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 17 ล้านคน (พ.ศ. 2560)  ดังนั้นจำนวนผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัย (หรือใช้ผ้าอนามัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น) ซึ่งอาจเกิดจากภาวะอื่นๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ รายได้ ความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ทำให้อาจมีผู้หญิงราว 54 % หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เข้าไม่ถึงมาตรฐานของสุขอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาวะสุขอนามัยของผู้หญิงไทย


ในสก็อตแลนด์ รัฐบาลมีแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิในสุขอนามัยของผู้หญิง โดยจัดให้มีการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย รวมถึงมีการทำกิจกรรมการรณรงค์เพื่อยุติความยากจนในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน (period poverty) และจัดให้มีผ้าอนามัยให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงได้อย่างสะดวก รัฐบาลจึงส่งเสริมให้สถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเด็กผู้หญิงที่อยู่ในวัยเรียนและสตรีวัยทำงาน ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน มีหน้าที่ในการจัดหาห้องน้ำสำหรับผู้หญิงที่สะอาด ถูกสุขอนามัยและจัดหาผ้าอนามัยให้ผู้หญิงในสก็อตแลนด์เข้าถึงได้ฟรี และในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะรับผ้าอนามัยที่รัฐจัดสรรให้ฟรี รัฐบาลก็มีเงินอุดหนุนเป็นสวัสดิการให้ผู้หญิงสามารถนำไปซื้อผ้าอนามัยตามความต้องการของตนเองได้เช่นกัน

ในหลายประเทศรัฐบาลออกกฎหมายให้โรงเรียนแจกผ้าอนามัยฟรีให้เด็กผู้หญิง เช่น รัฐบาลของนิวซีแลนด์จัดสรรงบประมาณ 592.9 ล้านบาท (25 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์) เพื่อให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมบริการผ้าอนามัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของเด็กผู้หญิงที่ยากจน และแก้ปัญหาเด็กไม่เข้าเรียนเพราะเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ซึ่งมาตรการนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่อยู่ในวัยเรียน และเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่รัฐควรจัดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ดังนั้นประเด็นเกี่ยวกับสวัสดิการผ้าอนามัยจึงกลายเป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องในหลายประเทศ การเพิ่มการเข้าถึงสินค้าประเภทผ้าอนามัยในกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้น้อยจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรส่งเสริมและผลักดันในประเด็นนี้อย่างจริงจังเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพหรือมีรายได้เป็นอย่างไรก็ควรที่จะเข้าถึงสวัสดิการผ้าอนามัยอย่างเท่าเทียมกัน

หากพูดถึงการส่งเสริมนโยบายเพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยฟรีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ที่เป็นคนจน พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้มีการรณรงค์และแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง Think Forward Center สนับสนุนการดำเนินการและนโยบายสวัสดิการด้านผ้าอนามัยเพื่อผู้หญิง และเห็นด้วยว่าภาครัฐควรเข้ามาดูแลสวัสดิการดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง 

อย่างไรก็ตาม Think Forward Center มีข้อเสนอในการส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวกับสวัสดิการผ้าอนามัย เพื่อให้การผลักดันเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงได้อย่างตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ และเพื่อให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประเด็นเกี่ยวกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ไม่เพียงเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมในทุกช่วงวัย ซึ่ง Think Forward Center มีข้อเสนอดังนี้


1. Think Forward Center สนับสนุนให้มีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยในประเทศไทย 

ที่ผ่านมากฎหมายได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าหลายชนิด เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทปุ๋ย ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ ฯลฯ แต่ยังไม่มีการทบทวนเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มในผ้าอนามัย หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยอื่นๆ

Think Forward Center เห็นว่าข้อดีของการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มในผ้าอนามัย จะช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมสุขอนามัยเจริญพันธุ์ในเพศหญิง ซึ่งการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยอาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปประมาณ 420 ล้านบาท/ปี โดยคำนานจากมูลค่าตลาดผ้าอนามัยที่ 6,000 ล้านบาท/ปี แต่จะแลกมากับการเพิ่มโอกาสให้บริษัทที่ผลิตผ้าอนามัยสามารถส่งเสริมสวัสดิการผ้าอนามัยให้เข้าถึงกลุ่มผู้หญิงได้มากขึ้น

ทั้งนี้ข้อเสนอเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยจะนำไปสู่การลดภาษีประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับสุขอนามัยที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผ้าอ้อมผู้สูงอายุ ผ้าอ้อมเด็ก และสุขอนามัยของแต่ละช่วงวัย ที่ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลอาจจำเป็นต้องมีมาตรการในการส่งเสริมการเข้าถึงสินค้าประเภทสุขอนามัยในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น


2. รัฐแจกคูปองเงินสดเพื่อเป็นสิทธิแลกซื้อผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่การมีประจำเดือน

เนื่องจากผ้าอนามัยมีหลายชนิด/ยี่ห้อ ทั้งผ้าอนามัยแบบแผ่น (pads) ที่ใช้สำหรับกลางวัน และกลางคืน ผ้าอนามัยแบบสอด (tampons) ผ้าอนามัยแบบหนา/แบบบาง ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ผ้าอนามัยแบบแผ่นที่ใช้ซ้ำได้ (reusable sanitary pads) ถ้วยอนามัย (menstrual cup)  และผู้หญิงก็อาจมีความต้องการในการเลือกสรรผ้าอนามัยที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น Think Forward Center จึงเสนอให้รัฐแจกคูปองเพื่อเป็นสิทธิแลกซื้อที่สามารถนำไปใช้แทนตัวเงินสำหรับซื้อผ้าอนามัย 

ทั้งนี้ตามมาตรฐานของสุขอนามัยเจริญพันธุ์ผู้หญิงควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 3-6 ชั่วโมง ทำให้ในหนึ่งวันจำนวนการใช้ผ้าอนามัยจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 ชิ้น โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีประจำเดือนประมาณ 4-7 วัน จำนวนผ้าอนามัยที่ต้องใช้จะอยู่ที่ 15-35  ชิ้น/เดือน 

ปัจจุบันราคาผ้าอนามัยแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับรูปแบบและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น ราคาผ้าอนามัยแบบกลางวันอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาท/ชิ้น ราคาผ้าอนามัยแบบกลางคืนอยู่ที่ 4-10 บาท/ชิ้น ราคาผ้าอนามัยแบบสอดอยู่ที่ 8-10 บาท/ชิ้น ราคาผ้าอนามัยแบบถ้วยอยู่ที่ 200-900 บาท ฯลฯ (รายละเอียดดูในภาคผนวก)

ถ้าลองคำนวณจากราคาผ้าอนามัยแบบมาตรฐานโดยเฉลี่ยที่ 5 บาท/ชิ้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการซื้อผ้าอนามัยจะอยู่ที่ประมาณ 75 – 175 บาท/เดือน หากระยะเวลาการมีประจำเดือนของผู้หญิงอยู่ที่ 40 ปี ผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยประมาณ 84,000 บาท ตลอดช่วงชีวิต 

ดังนั้น Think Forward Center จึงเห็นว่ารัฐควรแจกคูปองให้ครอบคลุมต้นทุนผ้าอนามัยขั้นต่ำที่ผู้หญิงต้องจ่ายในแต่ละเดือนให้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉลี่ยผู้หญิงใช้ผ้าอนามัยแบบกลางวัน 67% และผ้าอนามัยแบบกลางคืน 33% หากคำนวณค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสำหรับผ้าอนามัยทั้งสองแบบต่อเดือนจะอยู่ที่  100 – 200 บาท/คน/เดือน 

ข้อดีของการใช้คูปองเงินสดแลกซื้อผ้าอนามัยจะช่วยให้กลไกตลาดดำเนินไปตามปกติ บริษัทผู้ผลิตผ้าอนามัยสามารถผลิตและจำหน่ายผ้าอนามัยในช่องทางต่างๆได้ตามเดิม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะเหมาะสมกว่าการแจกผ้าอนามัยฟรี ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องการได้รับผ้าอนามัยที่ไม่ตรงกับความต้องการใช้ของผู้หญิงแต่ละคน และการแจกผ้าอนามัยฟรียังอาจทำให้บริษัทผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนอีกด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีผู้หญิงบางรายที่มีภาวะประจำเดือนมากกว่าคนทั่วไป จนสิทธิแลกซื้อที่กำหนดให้อาจไม่เพียงพอสำหรับผู้หญิงบางคน สามารถใช้ใบรับรองแพทย์ยืนยันข้อมูลเพื่อขอรับผ้าอนามัยได้ฟรี และเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้หญิงอาจอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือภาวะของฮอร์โมนในร่างกายที่ทำให้ประจำเดือนมามากหรือมาน้อยผิดปกติ ก็สามารถนำคูปองแลกซื้อไปซื้อสุขอนามัยเจริญพันธุ์ชนิดอื่นแทนผ้าอนามัยได้เช่นกัน


3. การจัดสรรตู้หยอดเหรียญ/สถานที่สำหรับการรับผ้าอนามัย

เมื่อรัฐบาลยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แถมด้วยการให้คูปอง/สิทธิแลกซื้อ (ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อต่อไป) ย่อมทำให้ราคาผ้าอนามัยถูกลง และผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยมากขึ้น (หรือมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นนั่นเอง) เพราะฉะนั้น บริษัทที่เป็นผู้ผลิตผ้าอนามัยย่อมได้รับประโยชน์มากขึ้นไปด้วย Think Forward Center จึงเสนอว่า เมื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มการเข้าถึงผ้าอนามัยแล้ว บริษัทผู้ผลิตควรจัดสรรผ้าอนามัย 3-5%  เพื่อนำมาเข้าสู่ระบบกระจายในสถานที่ที่ตลาดไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงได้น้อย เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ตู้หยอดเหรียญผ้าอนามัยในหมู่บ้าน หรือตามสถานที่ที่อยู่ห่างไกล เช่น หมู่บ้านในชนบท หมู่บ้านห่างไกล ฯลฯ 

ตัวอย่างของการสร้างระบบการรับผ้าอนามัยอาจทำการศึกษาได้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เริ่มต้นโครงการ “ผ้าอนามัยฟรี” เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงสวัสดิการผ้าอนามัย โดยมีการนำผ้าอนามัยไปวางตามจุดต่างๆในมหาวิทยาลัย ผู้ที่ต้องการรับสวัสดิการผ้าอนามัยสามารถสแกน QR Code บนกล่อง พร้อมเลือกประเภทผ้าอนามัยที่ต้องการ และกรอกจำนวนผ้าอนามัยที่ได้รับผ่านแบบฟอร์มได้ทันที  


4. การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์/สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

Think Forward Center เห็นว่า นอกจากการพัฒนาสวัสดิการผ้าอนามัยสำหรับสตรีในประเทศไทยแล้ว การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยจะช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย และสุขอนามัยของสตรี ดำเนินไปพร้อมกันกับการขยายตัวของตลาดส่งออกผ้าอนามัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยอื่นๆ ของผู้คนในกลุ่มเพศและวัยอื่นๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ Think Forward Center สนับสนุนให้บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าอนามัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ เช่น  การพัฒนาผ้าอนามัยเพื่อให้สามารถสวมใส่ง่าย สบาย ซึมซับได้รวดเร็ว หรือผ้าอนามัยที่มีราคาถูกลง การผลิตผ้าอนามัยด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตผ้าอนามัยจากฝ้ายธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เร็วขึ้น หรือวัสดุออแกนิกที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการผลิตผ้าอนามัยทั้งในภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อทำให้ตลาดผ้าอนามัยเกิดการแข่งขัน และการกระจายตัวมากขึ้น และสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับผ้าอนามัยในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการเข้าถึงผ้าอนามัยที่มีคุณภาพ และสามารถเลือกผ้าอนามัยที่ตรงกับความต้องการในการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายได้มากขึ้น

จากแนวทางในการพัฒนาผ้าอนามัยที่กล่าวมานั้นรัฐและบริษัทผู้ผลิตผ้าอนามัยควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาผ้าอนามัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้ผลิตผ้าอนามัย นอกจากนี้รัฐควรส่งเสริมการทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขอนามัยอื่นๆ เช่น ผ้าอ้อมผู้สูงอายุ ผ้าอ้อมเด็ก เพื่อให้สามารถเกิดการส่งออกเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย

ดังนั้น Think Forward Center จึงมองว่ารัฐไม่เพียงต้องคำนึงถึงการส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของทุกช่วงวัย เพื่อสร้างเม็ดเงินและรายได้จากสินค้าและบริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์ให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกช่วงวัยมากขึ้นในอนาคต  โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนภาวะการมีประจำเดือนของผู้หญิงให้เป็นการวิจัยและพัฒนาสินค้าประเภทสุขอนามัยเจริญพันธุ์เพื่อขยายมูลค่าตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ทาง Think Forward Center จะทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงเกี่ยวกับการใช้และการเข้าถึงสวัสดิการผ้าอนามัยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 และจะได้นำผลการสำรวจมาสื่อสาร/แลกเปลี่ยนกันอีกครั้งในโอกาสต่อไป


ตารางภาคผนวก

ตาราง 1 ราคาผ้าอนามัยแต่ละชนิดในตลาด 


ตาราง 2 การคำนวณค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยขั้นต่ำ 

*(คำนวณจากราคาผ้าอนามัยต่ำสุดแต่ละประเภทและจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้เฉลี่ย 5 วัน/เดือน)


ตาราง 3 การคำนวณค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยขั้นสูง 

*(คำนวณจากราคาผ้าอนามัยสูงสุดแต่ละประเภทและจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้เฉลี่ย 5 วัน/เดือน)




เอกสารอ้างอิง

  • กรมสรรพากร. 2563. ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม. https://www.rd.go.th/7059.html
  • กรมอนามัย. 2564. จำนวนประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์. ระบบฐานข้อมูลอนามัยเจริญพันธุ์. https://rhdata.anamai.moph.go.th/index.php/familyplanning/familyplanning1
  • กชกร พลเยี่ยม. 2564. Period Poverty ราคาที่ต้องจ่ายจากการมีประจำเดือน. https://workpointtoday.com/period-poverty/
  • ทิพากร ไชยประสิทธิ์.2562. “ผ้าอนามัย” สินค้าราคาเกินเอื้อม. https://news.thaipbs.or.th/content/287117
  • ปีดิเทพ อยู่ยืนยง และคณะ.2565. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของกลุ่มสตรี ศึกษากรณีนักเรียนหญิงในจังหวัดเชียงใหม่. สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพฯ.
  • The Momentum. 2565. ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยฟรีในมหาวิทยาลัย เริ่มแล้วที่ มช. เป็นแห่งแรก. https://themomentum.co/report-sanitary-napkin-cmu/
  • Nalisa. 2562. ตลาดผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยและยังโตได้อีก. https://marketeeronline.co/archives/136487
  • Warittha Saejia. 2563. ประจำเดือนมาใช้ผ้าอนามัยแบบไหนดี? https://thematter.co/social/lifestyle/period-products-comparison/122773

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า