ติดเตียง แต่เงินไม่ติดขัด ด้วยระบบหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งสิ้น 66.2 ล้านคน และมีผู้ประเมินว่าปี 2566 นี้ จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในจำนวนกว่า 1 ล้านคนจากประชากรทั่วประเทศ (อ้างอิง: รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย)



จากจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 11.6 ล้านคน มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 50 ไม่มีความมั่นคงทางการเงินและอีกร้อยละ 17 อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางการเงิน หมายความว่า กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้สูงอายุไม่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายหากมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งต้องใช้จำนวนเงิน 120,000 บาท หรือภาวะติดเตียงที่ต้องใช้จำนวนเงินถึง 230,000 บาท ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุและการมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกหลานบางคนจำต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการทำงาน การมีรายได้ที่มั่นคง และเติบโตในอาชีพการงานของแรงงานทักษะ ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของแรงงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ทั้งหมดนี้ยืนยันได้ว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ต้องการการพึ่งพาดูแล และความช่วยเหลือในด้านความมั่นคงทางการเงิน รวมทั้งการลดภาระในการที่ลูกหลานต้องเสียสละลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ Think Forward Center จึงขอเสนอระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพื่อเพิ่มทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งจะช่วยรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบทความนี้จะมาแนะนำกันว่า กองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวคืออะไร และสามารถส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้อย่างไรบ้าง และระบบนี้จะสามารถลดการลาออกจากงานให้กับสมาชิกในครอบครัว/ลูกหลานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุได้อย่างไร



กองทุนหลักประกันผู้สูงอายุระยะยาว 200 บาท/เดือน

กองทุนหลักประกันดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 200 บาท/เดือน เป็นกองทุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาล (โดย Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลจัดสรรผ่านเงินบำนาญผู้สูงอายุที่รัฐจัดสรรให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน) การจัดสรรเงิน 200 บาท/เดือน จากเงินบำนาญผู้สูงอายุที่จัดสรรให้ผู้สูงอายุ 11.6 ล้านคน จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ มีงบประมาณสำหรับสร้างหลักประกันผู้สูงอายุที่เปราะบางราว 2,320 ล้านบาท/เดือน

Think Forward Center ได้คำนวณว่า รัฐบาลควรจะจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งหากคำนวณตามสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 167,827 คน จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 1,530 ล้านบาท/เดือน และจะมีจำนวนเงินคงเหลือจากกองทุนจะอยู่ที่ 790 ล้านบาท/เดือน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเก็บสะสมเงินในส่วนนี้ไว้รองรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

Think Forward Center เห็นว่า ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long-Term Care) สามารถแบ่งออกได้เป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 4 ระบบ ประกอบด้วย (ก) ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (ข) ระบบดูแลผู้สูงอายุชมุชน (ค) ระบบดูแลผู้สูงอายุแบบแพลตฟอร์ม และ (ง) ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเอง

ระบบหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุทั้ง 4 ระบบนี้จะช่วยรองรับการให้บริการผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านการดูแลให้กับผู้สูงอายุในระยะยาว และในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เป็นระบบเศรษฐกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ (elderly care economy) เพื่อสร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ในการเลี้ยงตัวเองและนำเงินบางส่วนไปใช้สำหรับจัดบริการสาธารณะในอนาคต ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั้ง 4 ระบบ มีรายละเอียดดังนี้


1. ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นการให้บริการผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง อาทิ ผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง อยู่ในภาวะติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่พิการ ไม่สามารถพิ่งพาตัวเองได้ หรือผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลด้านการทำกิจวัตรประจำวัน ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีทางเลือกในการได้รับการดูแลในระยะยาว (long term care) โดยบุคคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุในชุมชนที่ขาดผู้ดูแล

ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะให้บริการดูแลผู้สูงอายุในสองลักษณะ คือ (1) ระบบการดูแลแบบรายวัน (Day Care) สำหรับผู้สูงอายุที่อาจจะมีลูกหลานคอยดูแลอยู่ที่บ้านแต่ต้องการนำผู้สูงอายุมาฝากให้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นบางครั้งบางคราว และ (2) ระบบการดูแลเป็นรายเดือนหรือรายปี สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ไม่มีญาติพี่น้อง หรือผู้สูงอายุที่ลูกหลานต้องการจะนำมาฝากให้ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดูแลแทน สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จะประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้

  • การเก็บข้อมูลของผู้สูงอายุ โดยศูนย์ดูแลจะทำการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ สภาพร่างกาย สภาพครอบครัว ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หลังจากให้บริการการดูแลผู้สูงอายุระบบศูนย์ดูแลจะสร้างฐานข้อมูลสำหรับการประเมินผลคุณภาพการให้บริการประจำปี เพื่อเพื่อรวบรวมข้อมูลมาปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพการให้บริการ
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถร่วมมือกับโรงพยาบาลของชุมชนเพื่อให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุตามหลักทางการแพทย์ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการดูแลสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ การดูแลด้านอาหารและโภชนาการ ไปจนถึงความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาบุคลากรในด้านนี้มากขึ้น
  • การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง เช่น การตรวจสุขภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมในการดูแลที่มีความปลอดภัย การติดกล้องวงจรปิด การมีปุ่มสัญญาณฉุกเฉิน การใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์หรือมีภาวะสมองเสื่อมเพื่อป้องกันการสูญหายของผู้สูงอายุ รวมถึงการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่อาสาสมัครที่ดูแลผู้สูงอายุ
  • การทำกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง เช่น การฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยการกายภาพบำบัด และการดูแลสภาพจิตใจด้วยการเปิดให้มีการเยี่ยมเยียนโดยอาสมัครในชุมชน/เครือข่ายโรงเรียนในชุมชน รวมถึงอาสาสมัครจากภายนอกพื้นที่
  • การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ในการพัฒนาระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เช่น การเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง การทำกิจกรรมร่วมกันในวันสำคัญ เช่น วันผู้สูงอายุ
  • การสื่อสารข้อมูลของระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ของท้องถิ่นต่อไป


ตัวอย่างระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง มีผู้บริการ 40,000 คน ทั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการให้บริการผู้สูงอายุโดยรวมจะมีพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ มีการวางแผนการดูแลทางด้านสุขภาพ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น สายยาง ถังออกซิเจน มีการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แต่ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ต้องมีเงินสำรองในการใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ



2. ระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชน

ชุมชนถือเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนมีความผูกพันกับผู้สูงอายุ และสามารถเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการเยี่ยมเยียนและดูแลผู้สูงอายุในชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น การแบ่งทีมอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของผู้สูงอายุ การนำปัญหาและข้อเสนอมาพัฒนาระบบบริการผู้สูงอายุในชุมชน และการจัดทำกิจกรรมระหว่างผู้สูงอายุและคนในชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ในส่วนของการดำเนินงานของระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชน ประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้

  • การเปิดรับอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุประจำชุมชนเพื่อตั้งทีมอาสาสมัครในการร่วมทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง จำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง จำนวนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต้องทานยาหรือพบแพทย์เป็นประจำ และมีการแบ่งทีมอาสาสมัครเพื่อลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุตามบ้านอย่างสม่ำเสมอ
    • การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยาว โดยมีแกนนำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ภาคประชาชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาลชุมชน ร่วมกันจัดทำระบบการดูแลในด้านต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ เช่น ด้านการเดินทาง ด้านการรักษาสุขภาพ ด้านการเยี่ยมเยียนที่บ้าน ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ด้านอาหารและโภชนาการ ด้านสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ด้านการให้ความรู้ ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ด้านการจัดกิจกรรมผู้สูงอายุในชุมชน
    • การดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับผู้สูงอายุเป็นประจำทุกเดือน เช่น กิจกรรมด้านการศึกษา กิจกรรมด้านการฝึกอาชีพ กิจกรรมด้านกีฬา กิจกรรมด้านเกษตร กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมด้านสุขภาพ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นชุมชน และให้ระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชนเป็นระบบที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และให้ความสำคัญกับการดูแลสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุและคนในชุมชนมากขึ้น
    • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลชุมชน ภาคเอกชน อาสาสมัครชุมชน สามารถร่วมมือกันในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรวมทั้งการให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ
    • ท้องถิ่นสามารถตั้งหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลผู้สูงอายุและดูแลความปลอดภัยในชุมชน


ตัวอย่างระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชน

เทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดทำโรงเรียนผู้สูงอายุ จัดการสอนในวัดสีบัวเงินซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกวันพุธ มีการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ด้านกฎหมาย พระพุทธศาสนา การดูแลสุขภาพองค์รวม การทำจักรสาน และสมุนไพร มาบรรยายให้ความรู้และทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การนำความรู้ด้านเกษตรไปต่อยอดในสวนหลังบ้านของตัวเอง หรือการปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณชุมชนสำหรับบริโภคและสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุในชุมชน การสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงโดยแบ่งทีมอาสาสมัครเยี่ยมตามบ้าน



3. ระบบดูแลผู้สูงอายุแบบแพลตฟอร์ม

การดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบแพลตฟอร์ม สามารถช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการให้บริการผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งแพลตฟอร์มการดูแลผู้สูงอายุมีรูปแบบการดูแลที่รองรับความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  • แพลตฟอร์มด้านอาหารและโภชนาการ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่บ้านกับลูกหลานสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหารจากร้านอาหารในชุมชน โดยสามารถเลือกอาหารที่ตรงกับความต้องการของร่างกายและเลือกทานอาหารที่หลากหลาย แพลตฟอร์มการทำอาหารและการจัดส่งที่บ้านจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดเวลาในการเลือกซื้อวัตถุดิบ และเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การเลือกสรรแหล่งอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย
  • แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ  ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพและพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ อาจมีปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ทั้งสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมและระยะทางจากบ้านถึงโรงพยาบาลที่ต้องนั่งรถเป็นเวลานานเพื่อไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในเมือง การมีแพลตฟอร์มด้านการดูแลสุขภาพสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ เพราะแพทย์สามารถตรวจสภาพร่างกายและติดตามอาการ (check and follow) ผ่านระบบแพลตฟอร์มโดยใช้โทรศัพท์มือถือ/คอมพิวเตอร์/แทบเล็ตในการสื่อสาร โดยที่ผู้สูงอายุสามารถทำตามขั้นตอนการตรวจร่างกายที่บ้านแทนการเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้แพทย์สามารถสั่งยาผ่านแพลตฟอร์มสุขภาพและส่งยามาให้ที่บ้าน ดังนั้นแพลตฟอร์มประเภทนี้จึงช่วยลดค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง และช่วยให้การดูแลผู้สูงอายุทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
  • แพลตฟอร์มด้านการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุ ปัญหาการเดินทางเป็นปัญหาสำคัญที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุอยู่บ่อยครั้ง ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องเดินทางแต่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้สามารถเลือกใช้บริการรับส่งจากระบบแพลตฟอร์มสำหรับการเดินทางเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการเดินทาง การรับส่งผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ ระยะทาง พิกัดการเดินทาง มีระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อรายงานผลในระบบคลังข้อมูล บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยให้รู้ตำแหน่งของผู้สูงอายุ รวมทั้งการเดินทางที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
  • แพลตฟอร์มสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ ในบางครั้งเมื่อต้องมองหาสินค้าสำหรับผู้สูงอายุแต่ติดข้อจำกัดที่ไม่สามารถซื้อสินค้าที่ต้องการได้ตามร้านสะดวกซื้อในชุมชน/หมู่บ้านได้ ทำให้ต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปซื้อในเมือง การเลือกสินค้าและบริการของผู้สูงอายุผ่านระบบแพลตฟอร์มโดยสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ประหยัดเวลาในการเดินทางไปซื้อสินค้า และได้รับสินค้าที่ตรงตามความต้องการมากขึ้น
  • แพลตฟอร์มบริการผู้ดูแลเพื่อผู้สูงอายุ (care giver) การดูแลผู้สูงอายุในบางครั้งผู้ดูแลประจำอาจจำเป็นต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน ทำให้ไม่มีใครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การใช้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุผ่านแพลตฟอร์มบริการผู้ดูแลเพื่อผู้สูงอายุจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีเวลาจำกัด หรือลูกหลานที่อาจจะไม่สามารถลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้เต็มเวลา ก็สามารถเลือกใช้บริการผู้ดูแลเพื่อผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มความสะดวก และทำให้ลูกหลานมีทางเลือกในการการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาของลูกหลานบางคนที่ไม่ต้องการนำผู้สูงอายุไปฝากไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
  • แพลตฟอร์มด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านเพื่อผู้สูงอายุ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับติดตั้งอุปกรณ์รองรับการดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน  เพื่อลดความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เช่น การลื่น การชน การพลัดตก ฯลฯ และการติดตั้งกล้องวงจรปิด สัญญาณฉุกเฉินตามจุดต่างๆ ของบ้าน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและทำให้การดูแลมีความทั่วถึงมากขึ้น


ตัวอย่างระบบดูแลผู้สูงอายุแบบแพลตฟอร์ม

  • SAIJAI เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการดูแลที่บ้านออนไลน์ (care from home)  เพื่อให้บริการดูแลถึงบ้านตามความต้องการของทุกกลุ่มอายุ แพลตฟอร์มการดูแลที่บ้านให้การดูแลทั้งกลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีบริการจัดหาแม่บ้าน บริการสอนพิเศษ บริการคนขับรถ บริการดูแลสัตว์เลี้ยง เรียกได้ว่าเป็นเป็นบริการดูแลที่บ้านครบวงจร บนแนวคิด Sharing Economy
  • ระบบแพลตฟอร์มการค้นหาผู้ดูแล โดยมีบริษัทเอกชนที่พัฒนาระบบ Care Advice Service Eco Platform เพื่อรวบรวมศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้การจับคู่ตามความต้องการของผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมระบบการจับคู่อัจฉริยะ (smart matching) โดยเป็นแพลตฟอร์มบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยผู้ดูแลจะถูกคัดกรองเฉพาะผู้บริการที่มีคุณภาพซึ่งจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลที่เชื่อถือได้โดยมีหน่วยงานรัฐและสถาบันอาชีพรับรอง

การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุแบบแพลตฟอร์ม เป็นช่องทางหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มเพื่อรองรับความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดูแลผู้สูงอายุทำได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการดูแลผู้สูงอายุและหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มในด้านนี้จะช่วยยกระดับบริการด้านการดูแลผู้สูงอายุให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจชุมชนได้อีกด้วย



4. ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเอง

การที่ลูกหลานมีความจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเอง อาจทำให้คนกลุ่มนี้เสียโอกาสในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัวและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม Think Forward Center เสนอให้มีการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ในยามบั้นปลายให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมา โดยรัฐจะเป็นผู้ให้เงินแก่คนกลุ่มนี้จำนวน 9,000 บาท/เดือน (จำนวนเงินเท่ากับเงินที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในระบบอื่นๆ) ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัวและเป็นหลักประกันทางด้านรายได้ให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น โดยผู้ที่เป็นผู้จัดการระบบคือโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของแต่ละตำบล

ขณะเดียวกันการดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเองอาจจำเป็นต้องอาศัยระบบดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบอื่นๆ ทั้งระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชน และระบบดูแลผู้สูงอายุแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยให้ลูกหลานมีทางเลือกในการให้การดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุก็มีทางเลือกในการได้รับการดูแลจากระบบหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั้ง 4 ทางเลือกเช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยรองรับปัญหาความต้องการที่แตกต่างหลากหลายในการรับบริการด้านการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตได้มากขึ้น


ตัวอย่างลูกหลานดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเอง

พลอยเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว และหลังเรียนจบมีโอกาสเข้าไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ในช่วงที่ทำงานเป็นช่วงที่ทำให้พลอยได้เจอกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่เก่งและน่ารัก พลอยมีความสุขกับการทำงานประจำและอยากทำงานแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พอทำไปได้ 1-2 ปีพลอยคิดถึงความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพื่อจะได้มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้มากขึ้น

แม้ว่าอาชีพการงานของพลอยจะทำพลอยให้มีรายได้ที่มั่นคง และทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตนเองมากขึ้น แต่พลอยก็รู้ว่าวันหนึ่งก็ต้องลาออกจากงานเพื่อไปดูแลพ่อแม่ที่บ้าน เนื่องจากเป็นลูกสาวคนโตที่ต้องกลับไปทำหน้าที่นี้ และหลังจากทำงานได้เพียง 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อาชีพของพลอยกำลังไปได้ดี พลอยก็ตัดสินใจลาออกและกลับบ้านทำให้แผนการของชีวิตเปลี่ยนไป

หลังจากลาออกมาแล้วเพื่อมาดูแลพ่อแม่ตามที่ตั้งใจไว้ก็เกิดความกังวลว่าเงินที่เก็บสั่งสมมาจะเพียงพอหรือไม่ หรือหากเงินที่มีไม่พอจริงๆ อาจจะทำให้พลอยต้องหางานทำเพื่อหารายได้ไปพร้อมกับดูแลพ่อแม่ ซึ่งการทำงานไปพร้อมๆกับการดูแลพ่อแม่นั้นก็เป็นสิ่งที่เหนื่อยเกินไป อีกทั้งไม่รู้ว่าถ้าวันหนึ่งหากตัวเองไม่สบายขึ้นมา จะทำอย่างไร

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของลูกหลานที่ต้องเสียสละในการลาออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์ที่นำเสนอจะเป็นเหตุการณ์สมมติแต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่า ภาระและหน้าที่ของลูกที่ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่นั้นทำให้พลอยซึ่งกำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัวต้องสูญเสียโอกาสในอาชีพการงานที่กำลังไปได้ดีไปอย่างน่าเสียดาย  ดังนั้นจะดีกว่านี้หรือไม่หากรัฐมีทางเลือกให้กับคนที่อยู่ในวัยทำงานให้คลายความกังวลในเรื่องนี้ ด้วยการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั้ง 4 ระบบ ที่ Think Forward Center ได้นำเสนอ เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุให้กับผู้ดูแล/ลูกหลาน โดยรัฐจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับผู้ดูแลในครอบครัว 9,000 บาท/เดือน และให้โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้จัดการระบบ (Care-giving Manager) เพื่อเพิ่มทางเลือกและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กับลูกหลานมากขึ้น




เอกสารอ้างอิง

  • Think Forward Center. 2565. รากฐานความมั่นคงทางการเงินและการดูแลผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าในสังคมแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย Silver Economy เศรษฐกิจสีเงิน: จากวิกฤตแก่ก่อนรวย สู่เศรษฐกิจแบบดูแลกันและกัน. https://think.moveforwardparty.org/paper/silvereconomy/.
  • กรุงเทพธุรกิจ. 2565. SAIJAI แพลตฟอร์มดูแลผู้สูงวัย ให้บริการดูแลที่บ้านครบวงจร. https://www.bangkokbiznews.com/social/985570.
  • เทศบาลตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. 2653. https://www.youtube.com/watch?v=oMTXLlaeLPM.
  • รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563. 2564. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. https://thaitgri.org/?p=39772
  • อรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์และคณะ. 2559. คู่มือระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณะสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (long term care) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า