น้ำ (เริ่ม) ลด หนี้ (เริ่ม) ผุด – ปัญหาทับถมเกษตรกรและประชาชนผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานี

เดชรัต สุขกำเนิด
ประภัสสร สายเพ็ชร
วิศรุต สวัสดิวร


จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 44 ปี ที่จังหวัดอุบลราชธานี และปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงกว่า 70 เซนติเมตร จากระดับสูงสุด 11.51 เมตร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 แต่พี่น้องชาวอุบลราชธานีจำนวนมาก ก็ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วม ที่ตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน ก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้น จะยังไม่หยุดไปกับสายน้ำ แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องตามมา รวมถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นด้วย


ประภัสสร สายเพ็ชร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 10 พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของพื้นที่ทำการเกษตร หมู่ที่ 3 และ 12 (บ้านเปือย) ต.โนนกาเล็น อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี หลังจากถูกน้ำท่วมและนาข้าวจมอยู่ในน้ำนานกว่า 2 สัปดาห์ ได้รับความเสียหายมากกว่า 900 ไร่ และบ้านเรือนอีกกว่า 80 หลังคาเรือน จนถึง ณ ตอนนี้ บางพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่

แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบัน น้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่พืชผลทางการเกษตรที่จมน้ำก็เน่าเปื่อยเสียหาย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง ทั้งยังพบกับปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูล คราบความสกปรก และกลิ่นเหม็นจากน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานก็ติดอยู่กับตัวบ้าน ยากต่อการทำความสะอาดให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้โดยง่าย และแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือนด้วย

แต่สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ มีความกังวลใจสูงสุด มิใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือน แต่เป็น (ก) ข้าวกิน (ข) ข้าวปลูก และ (ค) หนี้สิน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้


ข้าวกิน หรือข้าวที่ใช้บริโภคในครัวเรือน เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่จะทำนาเพื่อเก็บข้าวไว้กินเองในครัวเรือนทั้งปี และส่วนที่เหลือจะขายเป็นรายได้ ดังนั้นเมื่อนาข้าวเสียหาย ทำให้ไม่มีทั้งรายได้ และข้าวกินภายในครัวเรือน จนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวหน้า ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายนี้อาจสูงขึ้น หากข้าวสารเพื่อบริโภคในพื้นที่มีราคาแพงขึ้น

ข้าวปลูก เมื่อนาข้าวทั้งหมดเสียหาย เกษตรกรทั้งชุมชนจึงไม่เหลือพันธุ์ข้าวที่จะปลูกต่อในฤดูกาลหน้าที่จะมาถึง ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำนาขึ้นไปอีก

หนี้สิน ที่จะเพิ่มพูนขึ้น ทั้งจาก (ก) การฟื้นฟูซ่อมแซมบ้าน (ข) จากการดำรงชีพในช่วงที่ขาดรายได้ (ค) จากการขาดทุนในทำนารอบที่ผ่านมา ซึ่งถูกน้ำท่วมเสียหาย และ (ง) การลงทุนทำนาใหม่อีกครั้ง โดยพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ยังค้างค่าใช้จ่ายในการเตรียมดินในรอบที่ผ่านมาไว้ และคาดว่าจะชำระในช่วงเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ แต่เมื่อถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด วงจรหารหมุนเงินดังกล่าวจึงกระทบไปด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรบางรายยังมีหนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าหญ้า และยากำจัดศัตรู ในรอบที่ผ่านมาอีกด้วย

ประภัสสร สายเพ็ชร สำรวจพบว่า พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ต.โนนกาเล็น อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 12 ไร่ ต่อครัวเรือน ในรอบการทำนาที่ผ่านมา เกษตรกรต้องจ่ายค่าไถนาไร่ละ 250 บาท ค่าปั่นข้าวไร่ละ 250 บาท ค่าปุ๋ยยูเรีย กระสอบละ 1,700 บาท (ครึ่งกระสอบ/ไร่) ค่ายาฆ่าหญ้า แกลลอนละ 600 บาท (5 ไร่/1 แกลลอน) ค่าจ้างฉีดพ่นยาอีก 400 บาท ดังนั้น ต้นทุนการทำนาต่อครัวเรือน (เฉพาะที่เป็นเงินสด) ในรอบที่ผ่านมาจึงอยู่ที่ประมาณ ราว 9,000 – 20,000 บาท (หรือประมาณ 2,000-3,000 บาท/ไร่) เมื่อมาเจอน้ำท่วมเสียหาย ต้นทุนการทำนาที่ลงทุนมานี้ ก็จะเป็นหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้น จากเดิมมีหนี้สินอยู่ประมาณ 5,000 – 15,000 บาทต่อครัวเรือน 

พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีที่ประสบอุทกภัยกว่า 365,000 ไร่ จึงตั้งความหวังถึงมาตรการในการช่วยเหลือ/เยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้ทุกข์หนักได้บรรเทา และสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้


วิศรุต สวัสดิวร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับครัวเรือนในพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบหนักมาก และศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพสำหรับผู้ประสบภัยมีไม่เพียงพอ (เนื่องจากพื้นที่ศูนย์พักพิงส่วนหนึ่งถูกน้ำท่วม) ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องอพยพอีกครั้งและตัดสินใจไปเช่าบ้านพักอาศัยในพื้นที่ที่ปลอดภัย นำมาซึ่งภาระค่าใช่จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก

วิศรุต สวัสดิวร เล่าว่า พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยแต่ละครัวเรือนจะต้องเสียค่าขนย้ายของหนีน้ำท่วมครั้งละประมาณ 1,000 บาท (รวมค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนช่วยขนของและค่าอาหาร) หากย้าย 2-3 ครั้ง ก็เท่ากับว่าเสียค่าใช้จ่ายไปแล้ว 2,000-3,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขนของกลับบ้านหลังน้ำลดอีกหนึ่งครั้ง และเมื่อไปเช่าบ้านอยู่ (โดยส่วนใหญ่เช่าอยู่รวมกัน) ก็เสียค่าเช่า 2,000 บาท/เดือน บวกกับค่ามัดจำอีก 2,000 บาท รวมเป็น 4,000 บาท/ครัวเรือน 

นอกจากนี้ พี่น้องประชาชนยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่แพงขึ้น เช่น ค่าอาหารและน้ำที่แพงขึ้น 50-60 บาท/วัน/ครัวเรือน ค่าเดินทาง (เช่น ต้องโดยสารเรือ) เพิ่มขึ้นอีก 10-20 บาท/วัน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าซักล้างที่แพงขึ้นอีกประมาณ 20-30 บาท/วัน รวมแล้วค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัดจะแพงขึ้นประมาณ 80-100 บาท/วัน หรือประมาณ 2,500-3,000 บาท/เดือน 

ดังนั้น เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน พี่น้องผู้ประสบภัยที่ต้องอพยพโยกย้ายและต้องเช่าบ้าน ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000-15,000 บาท/ครัวเรือน ในช่วงเวลาที่น้ำท่วม ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังน้ำลด

นี่เป็นเหตุให้ วิศรุต สวัสดิวร เรียกร้องให้รัฐบาลค่าเยียวยาผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานีเกือบ 10,000 ครอบครัว (ประชากรประมาณ 30,000 คน) ในอัตรา 3,000 บาท/คน ทั้งนี้ไม่รวมค่าช่วยเหลือเยียวยาในการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งจะต้องประเมินอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมอีกครั้งหลังน้ำลดลงแล้ว

Think Forward Center เห็นว่า ภาครัฐควรเตรียมมาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในช่วงหลังน้ำลดลง โดย (ก) ควรเร่งค่าเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น 3,000 บาท/คน (ข) ควรเร่งจัดเตรียมระบบการช่วยเหลือเป็นข้าวสารเพื่อใช้ในการบริโภคหลังน้ำลด (ค) ควรเตรียมพันธุ์ข้าวปลูกในรอบหน้าสำหรับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย (ง) ควรปรับอัตราค่าเยียวยาพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาให้สะท้อนต้นทุนในการทำนาจริง เช่น ไร่ละ 3,000 บาท เพื่อป้องกันมิให้พี่น้องเกษตรกรต้องประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มเติมขึ้นอีก และ (จ) ค่าช่วยเหลือเยียวยาในการซ่อมแซมบ้านเรือน ควรประเมินอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องกับความเสียหายจริงที่ประชาชนต้องแบกรับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า