สวัสดิการไทยก้าวหน้า ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต

Think Forward Center



ชุดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล คือ การประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า หากเราเป็นรัฐบาล เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า-ครบวงจร ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ เพื่อตัดวงจรความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเรื้อรัง ปลดล็อกศักยภาพของประชาชน และสร้างสังคมที่พร้อมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขซึ่งกันและกันในการเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ระบบสวัสดิการจะช่วยให้คนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิด-เติบโต-ทำงาน-สูงวัย ใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องกังวลใจกับอนาคตข้างหน้า ไม่ต้องพะวงถึงคนข้างหลัง สามารถเดินตามความฝัน แสวงหาความสุข และประสบความสำเร็จได้ตามศักยภาพ ไม่ถูกจำกัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ

เพราะรัฐสวัสดิการ จะสร้าง “ตาข่ายรองรับ” คุณภาพชีวิตและโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และยังเป็น “กุญแจปลดล็อก” ศักยภาพของมนุษย์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เปรียบเหมือน ‘เตียงสปริง’ ที่ประชาชนล้มลงไปก็ไม่เจ็บ แถมยังเด้งกลับขึ้นมาได้ไกลกว่าเดิม

ระบบสวัสดิการของพรรคก้าวไกล ถูกออกแบบบนหลักคิดว่า

  1. สวัสดิการควรถ้วนหน้า เพื่อป้องกันการตกหล่น และเพื่อให้ถูกมองเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ
  2. สวัสดิการควรมีทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินสด และรูปแบบของสิ่งของหรือบริการสาธารณะ
  3. สวัสดิการต้องทำได้จริง มีงบประมาณเพียงพอ ไม่เพิ่มภาระทางการคลังที่ไปตกแก่ลูกหลาน

โดยระบบสวัสดิการของพรรคก้าวไกล จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนทุกคน ในทุกวันที่อยู่บนโลกใบนี้ ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต :

“เกิด”

  1. ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก
  2. เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท
  3. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
  4. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน-ที่ทำงาน

“เติบโต”

  1. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
  2. คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
  3. ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน

“ทำงาน”

  1. ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก
  2. สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  3. แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
  4. ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ
  5. เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สมทบด้วยคูปองเรียนเสริม

“สูงวัย”

  1. เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง
  2. ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท

“ทุกอายุ”

  1. บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง
  2. น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่
  3. เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ
  4. เติมเน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน
  5. เงินคนพิการเดือนละ 3,000 บาท

เราขอชวนมาดูรายละเอียด ว่าเมื่อเราได้เป็นรัฐบาล “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ที่จะสร้างให้คนแต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้าง


สวัสดิการ: เกิด

ปัจจุบันอัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในระดับปีละ 800,000 คนในช่วงปี 2546-2554 ลดลงเหลือเพียง 544,570 คนในปี 2564 ยิ่งไปกว่านั้น 2564 นับเป็นปีแรกตั้งแต่มีการเก็บสถิติ ที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศ น้อยกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิต ซึ่งตอกย้ำถึงวิกฤตสังคมสูงวัยที่สัดส่วนคนวัยทำงานมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่หลายคน ตัดสินใจมีลูกน้อยลง มีส่วนมาจากความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีบุตร ซึ่งถูกสะท้อนออกมาผ่านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรการเลี้ยงดูลูก (เช่น นมแม่ โภชนาการ หนังสือนิทาน)



พรรคก้าวไกลจึงต้องการยกระดับสวัสดิการในช่วงวัย “เกิด” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและภาวะความยากจนของครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก และเพื่อให้เด็กเล็กทุกคน โดยเฉพาะอายุ 0-6 ปี (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของพัฒนาการเด็ก) ได้เติบโตอย่างสมวัย ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และการเรียนรู้ ผ่านนโยบายดังนี้

  1. ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท
    – แจกคูปองให้พ่อแม่ของเด็กเกิดใหม่ มูลค่า 3,000 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อสิ่งของสำหรับพัฒนาการเด็ก จากรายการสินค้าที่มีให้เลือกจำนวนมาก (เช่น อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงเด็ก อุปกรณ์พัฒนาทักษะ หนังสือนิทาน)
  2. เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท
    – เพิ่มและขยายเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีเด็กเล็ก 0-6 ปี มาเป็นเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท โดยให้ทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ตกหล่น ซึ่งต่างจากเดิมที่รัฐจัดสรรให้เพียงเดือนละ 600 บาทต่อคน สำหรับคนที่เข้าเกณฑ์และลงทะเบียนเข้ามา (ซึ่งทำให้เกิดการตกหล่นของเด็กในครอบครัวที่ยากจนประมาณ 30% ที่ไม่ได้รับเงินในส่วนนี้)
  3. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
    – ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
    – แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม
    – แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
    – พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก
  4. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน-ที่ทำงาน
    – เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน ตั้งแต่การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก (เช่น ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก ห้องเรียนปูพื้นยาง/หุ้มนวมลบเหลี่ยมมุมเสาป้องกันอุบัติเหตุ) การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน หรือนำไปจ่ายเป็นเงินรายหัวเพิ่มเติมให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้
    – ใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่


สวัสดิการ: เติบโต

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละครัวเรือน ทำให้เด็กและเยาวชนของไทยเข้าถึงการศึกษาและช่องทางการเรียนรู้ – ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน – ในระดับและคุณภาพที่แตกต่างกัน ยังไม่นับการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ที่เพิ่มขึ้นตามวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การตกหล่นจากระบบการศึกษาหรือการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนรุ่นถัดไป (หรือที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น) เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในปัญหาทางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน การท้องไม่พร้อม หรือยาเสพติดและอาชญากรรม



พรรคก้าวไกลจึงต้องการยกระดับสวัสดิการของเด็กและเยาวชนในช่วงวัย “เติบโต” เพื่อเป็นตาข่ายรองรับที่ป้องกันการตกหล่นทางการศึกษาอันเนื่องมาจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และเพื่อเป็นสปริงบอร์ดให้เด็กและเยาวชนของไทยสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพและความต้องการของตน

  1. เรียบฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
    – เพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันการตกหล่นทางการศึกษา และเพิ่มกลไกอื่น ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาสามารถกลับเข้าสู่ระบบหรือเข้าถึงช่องทางการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้
    – ปรับสูตรคำนวณเงินรายหัวนักเรียนใหม่ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    – เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าอาหาร ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย (รวมถึง ปวช.) เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน
    – เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าเดินทาง ระดับประถม 200 บาท/เดือน ระดับมัธยม 300 บาท/เดือน
  2. คูปองเปิดโลก
    – แจกคูปองพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัย แบ่งเป็น ระดับประถมปีละ 1,000 บาท ระดับมัธยมปีละ 1,500 บาท ระดับอุดมศึกษาปีละ 2,000 บาท เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้ กิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ
    – สนับสนุน อปท. และชุมชน รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่ร่วมสมัยในแต่ละท้องถิ่น
  3. ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน
    – ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้มีประจำเดือน โดยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์
    – นำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (หรือ Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี


สวัสดิการ: ทำงาน

คนทำงานและแรงงานทุกคนเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกคนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้คนทำงานมีภาระ มีข้อจำกัด และมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมาก ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน แรงงานกว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศทุกอาชีพ กำลังเผชิญความท้าทายหรือความไม่เป็นธรรมหลายประการ เช่น ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สถานภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การกำหนดค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำงานเกินวันเวลาโดยไม่มีค่าชดเชย หรือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่อันตราย

ยิ่งในปัจจุบัน คนทำงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจจะถูกเลิกจ้างหรือยุติการทำงาน อันเนื่องมาจากการถูกทดแทนโดยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ จากภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย หรือจากเหตุสุดวิสัยต่างๆ (เช่น การแพร่ระบาดของโรค การเกิดภัยพิบัติ) ควบคู่กับกลไกที่ยังขาดประสิทธิภาพในการสนับสนุนการปรับตัวของคนทำงาน (เช่น การฝึกอบรมทักษะแรงงาน) หรือการช่วยเยียวยาความเสี่ยงของพี่น้องแรงงาน


พรรคก้าวไกลจึงต้องการยกระดับสวัสดิการในช่วงวัย “ทำงาน” เพื่อเพิ่มการคุ้มครองและการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมแบบถ้วนหน้าทุกกลุ่ม รวมถึงสนับสนุนให้พี่น้องแรงงานสามารถปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ

  1. ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก
    – ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
    – เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554
    – แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
  2. สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    – กำหนดมาตรฐานของสัญญาจ้างที่ต้องเป็นธรรม โดยให้เปลี่ยนการจ้างลูกจ้างรายวันที่ทำงานลักษณะรายเดือน ให้เป็นลูกจ้างรายเดือน
    – กำหนดให้ต้องมีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง สำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 35 ชั่วโมง สำหรับงานอันตราย
    – กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 10 วันทำงานต่อปี
    – งานจ้างเหมาบริการในภาครัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบหรือได้รับการคุ้มครองต่ำกว่ามาตรฐานแรงงาน
  3. แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการ ILO
    – ปรับมาตรการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการจัดตั้งและรวมตัว
    – นิยาม “แรงงาน” ให้ครอบคลุมคนทำงานรูปแบบใหม่ (เช่น ฟรีแลนซ์ แรงงานแพลตฟอร์ม) เพื่อช่วยให้ลูกจ้างในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีผู้ว่าจ้างคนละคน สามารถรวมตัวกันได้
    – รับรองให้แรงงานสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งสถานที่ทำงาน (เช่น สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พนักงานของรัฐ ฯลฯ)
    – เพิ่มช่องทางให้สหภาพแรงงานหลายแห่ง ยื่นข้อเรียกร้องร่วมกัน โดยได้รับการคุ้มครองจากการถูกลงโทษหรือกลั่นแกล้ง
    – กำหนดกลไกที่ชัดเจนในการต่อรองกับผู้ว่าจ้าง รวมถึงสิทธิของแรงงานในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (เช่น ผลประกอบการ ความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อแรงงาน)
  4. ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ
    – นำประชาชนวัยแรงงานทุกคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม (แรงงานนอกระบบ) เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มงบประมาณจากการสมทบของภาครัฐ
    – หากจำเป็นต้องลาพบแพทย์: ได้รับค่าชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน และได้ค่าเดินทางพบแพทย์ 100 บาทต่อวัน
    – หากลาคลอด: ได้รับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน
    – หากจำเป็นต้องหยุดงาน (เช่น หยุดตามประกาศของรัฐบาล): ได้รับเงินชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 25 วันต่อปี
    – หากเสียชีวิต: ได้รับค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ 10,000 บาท
    – กำหนดไว้ว่าประชาชนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จะได้รับการยกเว้นจากการสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยรัฐจะสมทบฝ่ายเดียว
  5. เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัด
    – สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน
    – แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี จำนวน 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม (แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน)


สวัสดิการ: สูงวัย

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ – จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากยังไม่มีความมั่นคง หรือที่เรียกว่าสภาวะ “แก่ก่อนรวย”

ที่ผ่านมา ระบบการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมสถานการณ์ปัจจุบัน การจ่ายเบี้ยยังชีพยังเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ตั้งแต่เดือนละ 600-1,000 บาท โดยไม่มีการปรับเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2556 การดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างจำกัด และเป็นไปในลักษณะการสงเคราะห์ มากกว่าจะเป็นสวัสดิการที่แท้จริง

จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ของ Think Forward Center พบว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

  • รายได้ในการดำรงชีวิต – ผู้สูงอายุกว่า 66.7% หรือกว่า 2 ใน 3 ไม่มีความมั่นคงทางการเงินพอสำหรับการเกษียณ 
  • ภาวะเจ็บป่วยติดบ้าน/ติดเตียง – 89% ของผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญภาวะป่วยติดบ้าน/ติดเตียง แต่ปรากฏว่าผู้สูงอายุไทย กว่า 88.5% ไม่มีเงินมากเพียงพอสำหรับการจ้างผู้ดูแลหากกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
  • เสียชีวิต – ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ เพราะเกรงวาจะตกเป็นภาระของลูกหลานที่จะต้องมาดำเนินการ

ภาวะความเป็นห่วงทั้งสามข้อ ไม่ได้เป็นความเป็นห่วงของผู้สูงอายุเองเท่านั้น หากยังเป็นความเป็นห่วงร่วมกันของลูกหลานที่อยู่ในวัยทำงานด้วย



พรรคก้าวไกลจึงต้องการยกระดับสวัสดิการในช่วง “สูงวัย” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นภาระของลูกหลานหรือคนในครอบครัว

  1. เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง
    – เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น จากเดิมที่รัฐมีการจัดสรรเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงวัยแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ตั้งแต่เดือนละ 600-1,000 บาท
    – สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผ่านการสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานผู้ดูแล
    – จัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ (ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน) และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน) โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 2 คน
  2. ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท
    – จัดสรรเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 10,000 บาท จากระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ที่รัฐบาลจะร่วมสมทบให้กับประชาชนทุกคน


สวัสดิการ: ทุกอายุ

ที่ผ่านมา ปัญหาค่าครองชีพและปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายครัวเรือนในประเทศ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีสูงถึง 30-40% ของค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่สามารถปรับลดลงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ทั้งค่าเช่าบ้านและค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร-โทรคมนาคม และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้าและน้ำดื่มที่สะอาด

นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว บริการสาธารณะหลายด้านมีปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็น ขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอหรือราคาสูง ที่พักอาศัยที่ราคาแพงและไม่ได้มาตรฐาน น้ำประปาที่ดื่มไม่ได้ในเกือบทุกพื้นที่ และ อินเทอร์เน็ตที่ยังเข้าไม่ถึงทุกครัวเรือนแม้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นต่อการเรียนรู้-ทำงาน-ใช้ชีวิต

พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า นอกเหนือจากระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าแล้ว การปรับปรุงบริการสาธารณะที่ดีขึ้น และการสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้มากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการลดภาระค่าครองชีพ และขณะเดียวกัน ก็เพิ่มความมั่นคงในชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อีกด้วย



พรรคก้าวไกลจึงต้องการยกระดับสวัสดิการสำหรับคน “ทุกอายุ” เพื่อสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นและมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
เป้าหมายของนโยบายสวัสดิการในการลดความเหลื่อมล้ำ

นอกเหนือจากเป้าหมายของสวัสดิการในแต่ละหมวดที่กล่าวถึงไปแล้ว ระบบสวัสดิการของพรรคก้าวไกลในภาพรวม ยังมีเป้าหมายโดยรวม ดังต่อไปนี้

  1. บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง
    – รัฐบาลช่วยค่าผ่อนบ้าน สำหรับผู้ซื้อบ้าน-ที่พักอาศัยใหม่เป็นหลังแรก จำนวน 100,000 ราย ในอัตรา 2,500 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 30 ปี สำหรับบ้าน-ที่พักอาศัยราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท
    – รัฐบาลช่วยค่าเช่าบ้าน-ห้องพัก สำหรับผู้เช่าบ้าน-หอพัก จำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาท/เดือน สำหรับบ้านเช่า-ห้องเช่าที่มีราคาไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
  2. น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่
    – ออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคุณภาพน้ำ ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำประปาทั่วประเทศ และอุดหนุนงบประมาณปีละ 7,500 ล้านบาท เป็นแผนระยะยาว 8 ปี เพื่อให้ประชาชนสามารถดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำได้ ภายใน 10 ปี ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการซื้อน้ำดื่ม-น้ำใช้
  3. เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ
    – อุดหนุนงบประมาณ สนับสนุน 10,000 ล้านบาท ให้ท้องถิ่นในการเพิ่มปริมาณของบริการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
    – ใช้ระบบตั๋วร่วมค่าโดยสารร่วมในกทม. เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง (รถเมล์ 8-25 บาทตลอดสาย รถเมล์และรถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดสาย)
    – พัฒนาและควบคุมมาตรฐานการบริการขนส่งสาธารณะอย่างเข้มงวด
    – ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น รถเมล์ไฟฟ้า) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และลดมลพิษในแต่ละเมือง
  4. เติมเน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน
    – เพิ่มเน็ตให้ประชาชนใช้งานได้คนละ 1 GB ต่อเดือน โดยการลงทะเบียนกดรับสิทธิผ่านมือถือ
    – จัดสรรงบประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


สวัสดิการก้าวหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย 650,000 ล้านบาท
 มีเงินจ่าย ทำได้จริง

เมื่อพูดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการที่มุ่งรับรองคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน หลายคนคงจะเริ่มตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน?”

พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าชุดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ที่ประกอบไปด้วยนโยบาย 19 ข้อ ในการสร้างระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายไม่ได้เป็นข้อเสนอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ และไม่ได้เป็นข้อเสนอที่เกินเลยไปกว่าสิ่งที่ประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกได้รับอยู่แล้ว

เราไม่ปฏิเสธว่าในประเทศที่ยังคงมีงบสวัสดิการดั้งเดิมน้อยนิดอย่างประเทศไทย ชุดนโยบายของเราจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเป็นจำนวนไม่น้อย หรือประมาณ 650,000 ล้านบาท

ในฐานะพรรคการเมือง การอธิบายแหล่งที่มาของงบประมาณทั้งหมด นับเป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่เราต้องแสดง เพราะในมุมหนึ่ง การอธิบายที่มางบประมาณอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน จะเป็นหนทางในการช่วยเพิ่มความมั่นใจกับประชาชน ว่านโยบายทั้งหมดที่เรานำเสนอนั้น สามารถทำได้จริง และในอีกมุมหนึ่ง การวางแผนแนวทางการหารายได้ให้เพียงพอต่องบประมาณที่เพิ่มขึ้น จะเป็นหนทางในการป้องกันไม่ให้การได้มาซึ่งสวัสดิการในวันนี้กลายไปเป็นภาระของลูกหลานเราที่ต้องมาใช้หนี้ในอนาคต

จากงบประมาณสวัสดิการที่คาดว่าจะต้องเพิ่มขึ้น พรรคก้าวไกลยืนยันว่าหากเราเป็นรัฐบาล เราจะสามารถหารายได้เพิ่มเติมเพียงพอสำหรับทั้งหมด 650,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี ของวาระรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ชุดนโยบายสวัสดิการที่เราเสนอ ไม่เป็นภาระต่องบประมาณเพิ่มเติม

ในบรรดา 10 แหล่งที่มาของรายได้ที่เราเสนอ พรรคยึดหลักว่าจะต้องเป็นการหารายได้เพิ่มเติมที่

(1) ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่คนหมู่มาก

(2) คำนึงถึงความเป็นธรรม

(3) จัดเก็บได้จริง อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มต้นที่การจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นก่อน ตั้งแต่การประหยัดงบประมาณจากการปฏิรูปกองทัพ (เช่น ลดขนาดกองทัพ เรียกคืนธุรกิจกองทัพ) การประหยัดงบประมาณจากการตัดโครงการรัฐที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น หรือ การประหยัดงบประมาณจากงบกลางที่หลายครั้งถูกใช้อย่างขาดวินัยและอย่างไม่โปร่งใส

หรือไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่แล้ว ทั้งการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคล ระหว่างรายได้จากเงินเดือนกับรายได้จากค่าเช่าหรือทรัพย์สินอื่นๆ และการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคล ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย

หรือไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาภาษีก้าวหน้าประเภทใหม่ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งการลดช่องโหว่ในการเก็บภาษีที่ดินรายแปลง การจัดเก็บภาษีที่ดินรวมแปลงในกรณีที่มีที่ดินจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมดทั่วประเทศ และการพิจารณาภาษีความมั่งคั่งแบบขั้นบันไดสำหรับบุคคลที่มีทรัพย์สินสุทธิรวมกันเกิน 300 ล้านบาท

ในห้วงเวลาของการเลือกตั้ง คงไม่มีกูรูทางการเมืองคนไหนแนะนำให้เราแถลงนโยบายที่มีส่วนในการเก็บภาษีเพิ่ม แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่าการซื่อสัตย์ต่อประชาชน และการพูดถึงสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำอย่างตรงไปตรงมา คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ผู้ที่เราเสนอตัวมาเป็นตัวแทน

พรรคก้าวไกลมีความเชื่อ ว่าคนที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยในประเทศนี้เข้าใจดีว่าความสำเร็จของเขา อาจมีบางส่วนที่มาจากโชค หรือเป็นความสำเร็จที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับที่เราเชื่อ ว่าหลายคนมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือกันในยามลำบากและเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับคนในสังคม ซึ่งเห็นได้ผ่านการบริจาคที่ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศที่ใจบุญชอบบริจาคสูงสุดแทบทุกปี

สำหรับคนที่มีทรัพย์สินและที่ดินระดับหลายร้อยล้าน “ภาษี” ที่ต้องจ่ายอาจสูงขึ้น แต่เราเชื่อว่าพวกเขาเองก็เข้าใจดี ว่าตราบใดที่เงินภาษีถูกใช้อย่างโปร่งใสและอย่างเป็นประโยชน์กับคนส่วนมากอย่างแท้จริง ทั้งหมดนั้นเป็น “ราคา” ที่คุ้มค่า สำหรับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ทุกคนต้องเจอร่วมกันในวันข้างหน้า

การสร้างระบบสวัสดิการ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ได้เป็นประโยชน์กับแค่บางกลุ่ม แต่เป็นประโยชน์กับทุกคนในสังคม เพราะไม่มีประเทศไหนที่สังคมจะอยู่ได้อย่างสงบสุขถ้าความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมนั้น

การสร้างระบบสวัสดิการแบบก้าวไกล จะเป็นจริงได้ หากเราร่วมกันเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า