Safety School Bus เปิดนโยบายรถรับส่งปลอดภัยได้จริง

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
อภิญญา วิศัลยางกูร


ปฏิเสธไม่ได้ว่า รถรับส่งนักเรียนเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องทางการศึกษาที่จะทำให้เด็กเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยข้อมูลจากบทความของ Think Forward Center เรื่อง “ค่าเดินทาง: สิ่งที่ระบบการศึกษามองข้าม?? – ทางออกในการลดภาระค่าเดินทางของนักเรียน/ผู้ปกครอง” ทำให้ทราบในเบื้องต้นว่า รถรับส่งเป็นอีกหนึ่งส่วนของระบบการศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด-19 (เนื่องจากต้องหยุดทำการ เพราะไม่มีนักเรียนโดยสาร) ไม่แพ้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่ตกหล่นไปอย่างมากจากการเรียนออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา


แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติแล้ว รถรับส่งนักเรียนก็ยังเป็นสวัสดิการจำเป็นอย่างมาก ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า และมาถึงโรงเรียนได้ตรงต่อเวลากว่า โดยค่าใช้จ่ายสำหรับรถรับส่งนักเรียนต่อหัวต่ออยู่ที่ 300-500 บาท/เดือน (ตามระยะทาง) หรือ 2,700-4,500 บาท/ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลการศึกษาของสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดอำนาจเจริญ ที่เคยประเมินว่า หนึ่งปีการศึกษา (9 เดือน) นักเรียนจะต้องเสียค่าเดินทางมาโรงเรียนอยู่ที่ประมาณ 3,579 บาท/ปี ดังนั้น รถรับส่งนักเรียนก็น่าจะเป็นทางรอดที่สำคัญทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา หากโรงเรียนมีระเบียบและวิธีการจัดการที่มีมาตรฐานมากพอ 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สังคมไทยก็ต้องพบกับหนึ่งข่าวเศร้าของวงการการศึกษาไทย เมื่อครูขับรถรับส่งและครูเวรประจำรถรับส่ง พบร่างไร้ชีวิตของเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ หรือ น้องจีฮุน นักเรียนชั้น ป.2 อยู่บนรถรับส่งในเวลาหลังเลิกเรียน จากการชันสูตรพลิกศพพบว่า น้องจีฮุนเกิดจากภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จากการขาดอากาศหายใจอยู่บนรถรับส่งนักเรียนเป็นเวลานาน1


เหตุดังกล่าว ทำให้ภาพถูกฉายชัดขึ้นมาว่า หากโรงเรียนไม่มีการจัดระเบียบรถรับส่ง ตั้งแต่การฝึกอบรม การมีใบอนุญาตเดินรถรับส่งนักเรียน การตรวจสอบคุณภาพรถ การจัดเตรียมเส้นทางเดินรถและจุดจอดรถรับส่งภายในโรงเรียนอย่างดี การมีครูที่ทำหน้าที่ดูแลรถรับส่งโดยเฉพาะ รวมถึงระบบตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขึ้น-ลงรถรับส่ง ก็อาจทำให้เกิดเหตุที่น่าสลดใจเช่นนี้ซ้ำๆ ได้เช่นกัน ซึ่ง Think Forward Center จะขอพาทุกคนทบทวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนรถรับส่งนักเรียน ตอบรับข้อเสนอของครอบครัวเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ และชวาล พลเมืองดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล เพื่อจัดทำเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านบทความนี้


สถานการณ์และต้นทางของปัญหา  

ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกได้บรรจุกฎหมายและกฎกระทรวง ให้ทุกโรงเรียนในรัฐจำเป็นต้องจัดหาสวัสดิการรถรับส่งนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันมีรถรับส่งนักเรียนที่สังกัดโรงเรียนรัฐจำนวน 450,000 คันทั่วประเทศ โดยรถรับส่งเหล่านี้จะเดินทางมากกว่า 4.3 พันล้านไมล์ เพื่อส่งเด็กกว่า 23.5 ล้านคน ไป-กลับจากโรงเรียน2  

แม้ว่ารถรับส่งนักเรียนจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการส่งเด็กไปโรงเรียนมากกว่าการให้นักเรียนเดินทางไปโรงเรียนเอง แต่ถึงอย่างนั้น จากรายงานของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางจราจรบนถนนหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Highway Traffic Safety Administration: NHTSA) ในปี 2018รายงานว่า ทุกๆ ปี มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 121 รายจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน นอกจากนั้นจากสถิติของ NHTSA ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2018 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1,207 รายจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในสหรัฐอเมริกา3

ที่มา: griceconnect.com 


ขณะที่ ประเทศไทย โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (ปี 2565) มีจำนวน 4,497 คันทั่วประเทศ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ขบ. แต่จำนวนจริงๆ อาจมากกว่านั้น เนื่องจากรถรับส่งในอีกหลายโรงเรียนยังไม่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงรถรับส่งอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับโรงเรียน และปัญหานี้ก็นำมาสู่การมีรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานและเสี่ยงต่อการลืมเด็กไว้บนรถรับส่ง เนื่องจากไม่มีระบบการเช็คจำนวนนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งในแต่ละวันของครูเวรประจำรถรับส่งนักเรียนที่รัดกุมเพียงพอ 

รวมถึง ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เผยว่า ปี 2557-2563 ประเทศไทยพบเหตุครูเวรประจำรถรับส่งลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรวมทั้งสิ้น 129 คน เฉลี่ยปีละ 18 คน ขณะที่กรณีเด็กเสียชีวิตบนรถตู้หรือรถรับส่งนักเรียนมีมากที่สุดรวม 5 คน หรือเฉลี่ยปีละ 1 คน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี

ทั้งหมดนี้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องออกระเบียบที่มีชื่อว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562”4 ซึ่งกำหนดให้มีการระบุลักษณะของรถรับส่งนักเรียนว่าจะต้องมีการติดสติกเกอร์ที่ระบุชัดเจนว่าเป็นรถรับส่งนักเรียน กระจกรถต้องใสเพื่อให้เห็นนักเรียนโดยสารและสภาพการจราจรชัดเจน รวมถึงการมีอุปกรณ์เพื่อการเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุกับรถรับส่งนักเรียน

นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าวยังได้ระบุหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียน เช่น โรงเรียน (ทั้งการดำเนินการกับผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนภายใต้การกำกับของโรงเรียน และผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนเอกชนนอกกำกับของโรงเรียน) ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน พนักงานขับรถโรงเรียน และผู้ควบคุมดูแลนักเรียน เพื่อการดำเนินการรับส่งนักเรียนอย่างปลอดภัยและสามารถรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางรับส่งนักเรียนได้ 

ถ้าระเบียบที่ออกมาก็ค่อนข้างครอบคลุมประมาณหนึ่งแล้ว อะไรที่ทำให้การบังคับใช้ยังคงไม่สัมฤทธิ์ผลและมีปัญหา?

คำตอบคือ ในช่วงโควิด-19 ที่โรงเรียนไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ รัฐบาลไม่มีมาตรการชดเชยเยียวยาให้กับโรงเรียน และผู้ประกอบกิจการรถรับส่งนักเรียนที่สูญเสียรายได้ จนไม่สามารถตรวจสภาพรถ ทำให้รถอยู่ในสภาพที่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอในการใช้รับส่งนักเรียน และ/หรือไม่สามารถผ่อนชำระค่ารถสำหรับใช้รับส่งนักเรียนได้จนต้องยอมปล่อยให้รถหลุดมือไป ซึ่งผลกระทบตอนนี้ที่หลายโรงเรียนพบคือ การที่รถรับส่งที่ขึ้นทะเบียนกับโรงเรียนมีจำนวนลดลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยสารของนักเรียนในโรงเรียน

เคราะห์กรรมที่สุดจึงตกอยู่ที่นักเรียนและผู้ปกครองที่อาจยอมใช้รถรับส่งนักเรียนที่คุณภาพย่ำแย่ลง และ/หรือยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เพื่อให้ลูกหลานของตัวเองสามารถเดินทางมาโรงเรียนได้ (แต่ไม่รับประกันความปลอดภัยในระหว่างการเดินทาง)


ทางออกที่เป็นไปได้


Think Forward Center เคยนำเสนอประสบการณ์การจัดการรถโรงเรียน ของโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีมาตรการควบคุมและสนับสนุนผู้ประกอบการรถโรงเรียนที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น

(1) จัดฝึกอบรมผู้ขับขี่/ผู้ดูแลรถรับส่งทุกภาคการศึกษา 

(2) เชิญสำนักงานขนส่งจังหวัดมาตรวจสภาพรถให้พร้อมกันที่โรงเรียน (แทนที่ผู้ประกอบการต่างคนต่างไปตรวจสภาพรถกันเอาเอง) 

(3) จัดประตูและเส้นทางการเข้า/ออกโรงเรียนเป็นเส้นทางเฉพาะ และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับนักเรียน (อนึ่ง โรงเรียนฯ ก็เตรียมที่จอดจักรยาน/มอเตอร์ไซด์อย่างดีด้วยเช่นกัน) 

(4) มีการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนที่มากับรถรับส่งนักเรียนทุกวัน (การันตีการมาเรียนทันเวลา 100%)

(5) เตรียมจุดจอดรอระหว่างวันสำหรับรถรับส่งนักเรียนอย่างดี และ 

(6) มีคุณครูผู้รับผิดชอบภารกิจนี้แบบเต็มตัว ทั้งระดับรองผู้อำนวยการจนถึงคุณครูผู้ปฏิบัติงานประจำแต่ละวัน 

Think Forward Center เห็นว่า การมีมาตรการลักษณะเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถโรงเรียนได้เป็นอย่างดี


ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยาว



จากการพูดคุยเพื่อออกแบบนโยบายรถรับส่งปลอดภัยระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล กับครอบครัวของเด็กหญิงเขมนิจ ทองอยู่ และชวาล พลเมืองดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 3 Think Forward Center จึงได้ข้อสรุปเพื่อการแก้ไขปัญหาการลืมเด็กไว้บนรถรับส่งนักเรียนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

ระยะสั้น 

เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาคือ:

  • การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และโรงเรียนที่เกิดเหตุ) เพื่อนำมาสู่การดำเนินการเรื่องการชดเชยเยียวยากรณีที่นักเรียนและผู้ปกครองได้รับความเสียหาย และทบทวนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 อีกครั้ง และปรับแก้หากมีช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดการปล่อยปละละเลยจนเกิดอุบัติเหตุกับนักเรียนในอนาคต
  • ประสานงานและติดตามเรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี เพื่อเข้าไปตรวจสอบและพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เป็นผลดีที่สุดกับโรงเรียนและผู้ปกครอง 
  • ตั้งกระทู้สอบถามความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว ในที่ประชุมรัฐสภา
  • เพิ่มมาตราที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียน ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ระยะยาว

กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน จำเป็นจะต้องออกนโยบาย/มาตรการที่สร้างแรงจูงใจให้โรงเรียน ผู้ประกอบการรถรับส่ง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียน ร่วมกันจัดระเบียบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มจาก:

  • ทบทวนและทำความเข้าใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน และมาตรฐานที่ออกมาต้องเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับการปฏิบัติได้จริง และมีประสิทธิผลในการคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียน
  • มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับการรับรองจากโรงเรียน โดยการอุดหนุนราคาในการตรวจสภาพรถ และ/หรืออุดหนุนราคาน้ำมันตามระยะทางที่ใช้จริง และ/หรือมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (asset warehousing) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินทรัพย์ (รถยนต์) มาให้บริการนักเรียน
  • มีงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนเพื่อพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน โดยอาจเริ่มจากโรงเรียนจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนเข้าร่วมกับโรงเรียนอย่างถูกต้อง มีกระบวนการอบรมผู้ประกอบการก่อนการรับรองเป็นผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนภายใต้สังกัด รวมถึงการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการรถรับส่งในเรื่องข้อปฏิบัติของระเบียบรถโรงเรียนและรถขนส่งได้
  • หากระบบรถรับส่งนักเรียนถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพแล้ว โรงเรียนอาจเพิ่มจูงใจให้เกิดการพัฒนาระบบเพิ่มเติมโดยนำเทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และป้องกันความผิดพลาด ทั้งผู้ประกอบการและนักเรียนได้มากขึ้น
  • สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียน โดยเฉพาะการเดินทางจากพื้นที่ต่างอำเภอ และการเดินทางมาเรียนในพื้นที่เมืองที่มีจราจรแออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน




อ้างอิง

Matichon, สลด! พ่อแม่โศกเศร้า ยังทำใจไม่ได้ ยื่นฝากร่างน้องจีฮุน ไว้นิติเวชชั่วคราว https://www.matichon.co.th/local/crime/news_3537587

California Department of Education, NHTSA’s Unedited Summary of School Bus Report https://www.cde.ca.gov/ls/tn/or/nhtsa3702.asp

National Center for Statistics and Analysis. (2018, January). Schooltransportation-related crashes: 2007-2016 data. (Traffic Safety Facts. Report No. DOT HS 812 476). Washington, DC: National Highway Traffic Safety Administration.

 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/300/T_0002.PDF 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า