การทำงานบนแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม นโยบายการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์ม

นุชประภา โมกข์ศาสตร์
เดชรัต สุขกำเนิด

Think Forward Center


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มส่งอาหารหรือ Food delivery ทำให้มีบริษัทจำนวนมากจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเปิดตลาด และทำการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการส่งสินค้า อาหาร และบริการอื่นๆ ให้รองรับกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มสำหรับนวดไทย แพลตฟอร์มสำหรับบริการทำความสะอาดบ้านเรือน เป็นต้น

ที่มา: brandbuffet.in.th


แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม จะทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มและผู้บริโภคได้รับประโยชน์ แต่แรงงานแพลตฟอร์มโดยเฉพาะไรเดอร์ ซึ่งทำหน้าที่ในการส่งสินค้าและอาหารตามคำสั่งซื้อของผู้บริโภคและคำสั่งงานของธุรกิจแพลตฟอร์ม กลับต้องประสบกับปัญหาความเสี่ยงในการทำงาน ทั้งในเรื่องการทำงานที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุโดยมิได้การคุ้มครองความเสี่ยงดังกล่าว การที่เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถปรับลดค่าตอบแทนการทำงาน ของไรเดอร์ (หรือค่ารอบ) ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า การที่เจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจที่จะระงับสัญญาณในการรับและทำงานของไรเดอร์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไรเดอร์ปฏิเสธคำสั่งจากลูกค้า เป็นต้น

ในบทความนี้ Think Forward Center จะชวนมาดูกันว่าปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์ม (โดยเฉพาะไรเดอร์) นั้นมีอะไรบ้าง และรัฐบาลจะสามารถสร้างกลไกเชิงนโยบายเพื่อทำให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐและเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มได้อย่างไร


ปัญหาของไรเดอร์ที่มองไม่เห็น

ประเด็นปัญหาที่ผ่านมาเกี่ยวกับแรงงานแพลตฟอร์มคือ (ก) สิทธิและสวัสดิการการทำงาน (ข) สถานะของแรงงานที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการยกร่างกฎหมายหรือพระราชบัญญัติแรงงานแพลตฟอร์มหรือการเพิ่มบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน เกี่ยวกับลักษณะของการทำงานในระบบแพลตฟอร์ม เอาไว้อย่างชัดเจน 

ที่มา: bangkokpost.com


ปัญหาทั้งสองประเด็นข้างต้น ได้นำมาสู่ข้อเรียกร้องของสหภาพคนทำงานไรเดอร์ที่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมดังกล่าว รวมทั้งการพยายามผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งที่ผ่านมามีการรวมตัวของไรเดอร์หลายครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอใจที่เจ้าของแพลตฟอร์มหรือบริษัทตั้งเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ เช่น การลดค่ารอบของการส่งอาหารหรือสินค้า การไม่ให้สวัสดิการคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะสวัสดิการด้านประกันอุบัติเหตุ การระงับสัญญาณหากไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัท เป็นต้น

ปัญหาสถานะของแรงงานที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน

ที่มา: bangkokpost.com


ในปัจจุบันไรเดอร์นั้นถูกนิยามว่าไม่ใช่ “ลูกจ้าง” ซึ่งเกิดจากลักษณะของการทำงานในระบบแพลตฟอร์ม ที่เป็นการจ้างงานในรูปแบบงานอิสระไม่ใช่งานประจำเหมือนกับพนักงานบริษัท และที่ผ่านมาเจ้าของแพลตฟอร์มหรือบริษัทมักจะเรียกไรเดอร์ว่าเป็น “พาร์ทเนอร์” 

แต่เมื่อฟังเสียงของไรเดอร์กลับมองว่า บริษัทแพลตฟอร์มปฏิบัติต่อพวกเขายิ่งกว่าเป็นลูกจ้างเสียอีก เนื่องจากบริษัทมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการ การกำหนดค่ารอบ การมีอำนาจในการระงับสัญญาณเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หากไรเดอร์ปฏิเสธไม่รับงาน 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการที่เจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจในการควบคุมการเข้าถึงงานและการทำงานของไรเดอร์ และนั่นคือการกำหนดเงื่อนไขที่ไรเดอร์ต้องทำตาม มิเช่นนั้นไรเดอร์ก็อาจจะถูกตัดสิทธิบางอย่างในการทำงานได้ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่มีการยกร่างกฎหมายหรือพระราชบัญญัติแรงงานแพลตฟอร์มหรือการเพิ่มบทบัญญัติใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เกี่ยวกับลักษณะของการทำงานในระบบแพลตฟอร์มเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านความคุ้มครองในเรื่องสิทธิการทำงานและสวัสดิการ การคุ้มครองด้านรายได้ การคุ้มครองด้านเงื่อนไขและความเป็นธรรมในการทำงาน ส่งผลให้ไรเดอร์ต้องแบกรับความเสี่ยงและความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ รวมทั้งอาจทำให้บริษัทสามารถใช้เหตุผลการไม่มีข้อบัญญัติด้านการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อผลักความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ไปยังไรเดอร์โดยตรง เช่น ให้ไรเดอร์แบกรับความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุด้วยตนเอง และให้ไรเดอร์สมัครเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 ด้วยตนเอง เนื่องจากไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างหรือพนักงานที่มีนายจ้างประจำ ทำให้ไรเดอร์ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ และไม่มีสิทธิและสวัสดิการคุ้มครองดั่งเช่นลูกจ้าง/พนักงานทั่วไป 

แรงงานแพลตฟอร์มคือ รูปแบบการทำงานแห่งอนาคต

ที่มา: bbci.co.uk


แม้ว่า รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสถานะของแรงงานแพลตฟอร์มที่ชัดเจนได้ แต่ Think Forward Center มีความมั่นใจว่า แรงงานแพลตฟอร์มคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และในอนาคตเราอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาและถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจากการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เราก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ งานบริการบางอย่างอาจขยายขอบเขตของรูปแบบการจ้างงานออกไปมากขึ้น นอกเหนือไปจากการส่งอาหารหรือสินค้า แต่อาจรวมถึงการบริการดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ (care economy) การให้บริการดูแลด้านสุขภาพ/การทำอาหารเพื่อผู้สูงอายุ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การจ้างงานเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้าน อาคาร หรือการติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อดำเนินตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน/วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การถ่ายทำและการตัดต่อภาพยนตร์ ดนตรี การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ 

ดังนั้น การพัฒนาคนทำงานเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในอนาคต จึงอาจเป็นโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐและนายจ้าง (หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม) จำเป็นจะต้องมองเห็นถึงประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและหันมาให้ความคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้โดยไม่ด้อยกว่าแรงงานประเภทอื่นๆ โดย Think Forward Center มีข้อเสนอดังต่อไปนี้


หลักการพื้นฐานคือ คนทำงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง

หลักการพื้นฐานที่สุดสำหรับสังคมที่มีสวัสดิการสำหรับคนทำงานคือ “คนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง แรงงานอิสระ หรือแรงงานแพลตฟอร์ม จะต้องได้รับการคุ้มครอง” จากรัฐบาล และจากผู้ที่ควบคุมหรือสั่งการให้เกิดการทำงานนั้นขึ้น 

ในกรณีของแรงงานแพลตฟอร์ม ผู้ที่ควบคุมหรือสั่งการให้เกิดการทำงานของแรงงาน ก็คือเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มนั่นเอง ส่วนแรงงานแพลตฟอร์ม ก็คือคนทำงานทุกคนที่มีการรับงานจากผู้ที่ควบคุมหรือสั่งการ ภายใต้สัญญาการทำงาน และเงื่อนไขการทำงานที่ผู้ที่ควบคุมหรือสั่งการกำหนด


การคุ้มครองต้องครอบคลุมใน 6 ลักษณะ

ทั้งนี้ การคุ้มครองคนทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มที่กล่าวถึงข้างต้นจะต้องครอบคลุมการคุ้มครองคนทำงานรวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มใน 6 ลักษณะด้วยกันคือ

  1. การทำสัญญาหรือข้อตกลงในการรับทำงาน และการสั่งและควบคุมการทำงานที่เป็นธรรม และเป็นแบบแผนมาตรฐานที่ชัดเจน ทั้งสำหรับเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มและแรงงานแพลตฟอร์ม และเป็นที่รับรู้ของหน่วยงานรัฐ และสหภาพ/องค์กรคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม
  2. การคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงาน ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่จะต้องไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงภัย/อุบัติเหตุแก่คนทำงาน ซึ่งรวมถึงชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม (เช่น มีข้อเสนอว่า ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์/ละครไม่ควรทำงานต่อเนื่องเกินกว่า 12 ชั่วโมง) และจะต้องมีกลไกในการคุ้มครองและ/หรือประกันความเสี่ยงนั้นสำหรับคนทำงานทุกคนด้วย
  3. การคุ้มครองค่าตอบแทนพื้นฐานที่สมเหตุสมผลต่อการทำงานตามระยะเวลาที่กำหนด โดยกลไกการคุ้มครองค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลต่อการทำงาน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าค่าตอบแทนที่พึงได้ของลูกจ้างบริษัท หรือของแรงงานอิสระที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และจำเป็นต้องรวมถึง การมีกลไกในการชดเชย/เยียวยาแก่คนทำงาน หากปริมาณการจ้างงานลดลงกว่าปกติหรือยุติลงชั่วคราวหรือถาวร ด้วยเหตุผลจากการสั่งการของรัฐบาล (เช่น การห้ามประกอบกิจการ/ทำงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเหตุโรคระบาด ภัยพิบัติ การประชุมผู้นำนานาชาติ และอื่นๆ) และ/หรือ จากนโยบายหรือจากผลการประกอบการของเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์ม (เช่น การปิดพื้นที่การให้บริการบางพื้นที่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ซึ่งกระทบกับแรงงานแพลตฟอร์มในพื้นที่ดังกล่าว หรือการเลิกการให้บริการของแพลตฟอร์มนั้นไปเลย เป็นต้น)
  4. การคุ้มครองสวัสดิการพื้นฐานของคนทำงาน เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การมีรายได้พื้นฐานที่เพียงพอในยามชราภาพ การลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตร การเข้าถึงแหล่งทุนฉุกเฉินสำหรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิต
  5. การคุ้มครองด้านการพัฒนาทักษะการทำงานของคนทำงาน ทั้งการทำงานในกิจการนั้น และการทำงานในกิจการอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามวัยและเงื่อนไขสุขภาพหรืออื่นๆ ของคนทำงาน และอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธุรกิจแพลตฟอร์มดังกล่าว
  6. การคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือองค์กรคุ้มครองแรงงานแบบอื่นๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของคนทำงาน โดยไม่มีข้อห้ามว่า การรวมตัวดังกล่าวจะต้องเป็นคนทำงานของธุรกิจแพลตฟอร์มแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น 


บทบาทของรัฐบาลในการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม

ภายใต้แนวคิดการคุ้มครองคนทำงาน และแรงงานแพลตฟอร์มใน 6 ลักษณะที่กล่าวถึงข้างต้น Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องทำหน้าที่ยกร่าง/สนับสนุนให้มีการยกร่างต้นแบบหรือแนวทางสัญญามาตรฐานสำหรับแรงงานแพลตฟอร์ม แต่ละประเภท รวมถึงขอบเขตการใช้อำนาจของเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ละเมิดแรงงานบนแพลตฟอร์ม (เช่น การระงับสัญญาณในการเข้าถึงการให้บริการ การเรียกเงินค่าปรับใดๆ) และเมื่อมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มกับแรงงานแพลตฟอร์ม รัฐบาลจะทำหน้าที่รับรู้สัญญาดังกล่าว และทำหน้าที่เป็นคนกลางในการติดตามให้มีการปฏิบัติตามสัญญา เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย และต้องดำเนินการหากพบความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น
  2. รัฐบาลต้องเป็นคนกลางในการกำหนดเงื่อนไขสวัสดิภาพการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงานต่อเนื่อง หรือกระบวนการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการทำงาน เป็นต้น และเงื่อนไขสวัสดิภาพการทำงานเหล่านี้จะต้องกำหนดไว้ในสัญญาการทำงาน (ตามข้อ 1) และเป็นความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มผู้ซึ่งสั่งการหรือควบคุมการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
  3. รัฐบาลต้องเป็นคนกลางในการกำหนดค่าตอบแทนพื้นฐานที่สมเหตุสมผล (ในหนึ่งหน่วยเวลาการทำงาน) สำหรับแรงงานแพลตฟอร์มแต่ละประเภท โดยจะต้องไม่ต่ำกว่าแรงงานที่เป็นลูกจ้างหรือแรงงานอิสระในงานประเภทเดียวกัน และกำหนดไว้ในสัญญา (ตามข้อ 1)
  4. รัฐบาลควรจัดสวัสดิการพื้นฐานในด้านบริการสาธารณสุข รายได้พื้นฐานยามชราภาพ (เบี้ยยังชีพ 3,000 บาท/เดือน) การลาคลอดบุตร (180 วัน โดยได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 5,000 บาท/เดือน) และแหล่งทุนฉุกเฉิน เพื่อเป็นสวัสดิการของคนไทยทุกคน รวมถึงแรงงานบนแพลตฟอร์ม
  5. รัฐบาลควรสนับสนุนสวัสดิการพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับคนทำงาน/คนในวัยแรงงานทุกคน เช่น การ Reskill หรือ Upskill (ประมาณ 5,000 บาท/ปี) โดยเป็นสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะพัฒนาทักษะอาชีพของตนในด้านใด
  6. รัฐบาลจะต้องสนับสนุนสิทธิในการรวมตัวของแรงงานทุกประเภท รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มทุกประเภท โดยไม่มีข้อห้ามว่า การรวมตัวดังกล่าวจะต้องเป็นคนทำงานของธุรกิจแพลตฟอร์มเดียวกันเป็นการเฉพาะเท่านั้น


บทบาทของธุรกิจแพลตฟอร์มในการคุ้มครองแรงงาน

ธุรกิจแพลตฟอร์มคือผู้ที่สั่งการและควบคุมการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มโดยตรง เพราะฉะนั้น ธุรกิจแพลตฟอร์มจะต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานดังต่อไปนี้

  1. ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องจัดทำสัญญาการทำงานกับแรงงานแพลตฟอร์ม ตามแบบ/แนวทางสัญญามาตรฐานที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงขอบเขตการใช้อำนาจที่เหมาะสม และเป็นแนวทางที่ผ่านการหารือกับการรัฐบาลและองค์กรหรือตัวแทนของแรงงานแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งมีการส่งมอบสัญญาการทำงานนั้น เพื่อให้รัฐบาล และองค์กรแรงงานรับรู้ และติดตามการดำเนินการตามสัญญา
  2. ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพการทำงานทั้งหมดของแรงงานบนแพลตฟอร์มของตนเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการประกันอุบัติเหตุ และ/หรือสุขภาพ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มทุกคน ตามที่ระบุไว้ในสัญญาในข้อ 1
  3. ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องกำหนดค่าตอบแทนพื้นฐานและค่าตอบแทนอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยระดับค่าตอบแทนพื้นฐานดังกล่าวจะต้องผ่านการหารือและความเห็นชอบจากภาครัฐ แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถเพิ่มระดับ/อัตราค่าตอบแทนของตนที่สูงกว่าค่าตอบแทนพื้นฐานที่กำหนดไว้ได้ และการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนของธุรกิจแพลตฟอร์มจะต้องแจ้งให้องค์กรของแรงงานแพลตฟอร์มทราบ ในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม (ซึ่งรัฐบาลจะเป็นคนกลางในการกำหนด เช่น ไม่น้อยกว่า 3 เดือน)
  4. ธุรกิจแพลตฟอร์มควรสนับสนุนแรงงานแพลตฟอร์มให้สามารถพัฒนาทักษะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในแพลตฟอร์มของตน นอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐบาล (ที่ได้กล่าวไปแล้ว) 
  5. ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องไม่ขัดขวางการรวมตัวของแรงงานแพลตฟอร์ม ทั้งทางตรง (เช่น การกำหนดเงื่อนไขในการทำงานที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานที่รวมตัวกันหรือเข้าร่วมสหภาพ) และทางอ้อม (เช่น การก่อตั้งองค์กรแรงงานที่ตนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพื่อบั่นทอนความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้น)


บทบาทของแรงงานแพลตฟอร์มในการคุ้มครองแรงงาน

ส่วนบทบาทของแรงงานแพลตฟอร์มเองควรเน้นการรวมตัวกันเป็น “สหภาพแรงงานแต่ละประเภท” เพื่อทำหน้าที่ในการต่อรองกับรัฐบาลและธุรกิจแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการต่อรองที่สำคัญที่สุด 3 เรื่องที่ได้กล่าวไปแล้ว ได้แก่

  1. การจัดทำแบบ/แนวทางสัญญาการทำงานมาตรฐาน และขอบเขตการใช้อำนาจที่เหมาะสมของเจ้าของแพลตฟอร์ม ในธุรกิจแพลตฟอร์มแต่ละประเภท
  2. การกำหนดกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มแต่ละประเภท รวมถึงการประกันอุบัติเหตุและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน โดยเจ้าของแพลตฟอร์มนั้น
  3. การกำหนดค่าตอบแทนพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับแรงงานแพลตฟอร์มแต่ละประเภท เพื่อให้แรงงานแพลตฟอร์มทุกคนได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม


ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้พี่น้องแรงงานแพลตฟอร์มสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยสะดวก และสามารถดำเนินการข้ามขอบเขตของสถานประกอบการ (หรือแพลตฟอร์ม) รายใดรายหนึ่งได้ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือยกร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แทนที่การใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ที่เน้นการรวมตัวและกระบวนการต่อรองในขอบเขตของสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นหลัก


สรุป

เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และสวัสดิการของแรงงาน ตามหลักการการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มทั้ง 6 ลักษณะที่ได้กล่าวถึงข้างต้น Think Forward Center จึงเสนอให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.การทำงานบนแพลตฟอร์ม ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นกระบวนการหรือข้อตกลงที่สำคัญในการกำหนดหน้าที่ อำนาจ สิทธิ และความรับผิดชอบ (รวมถึงความพร้อมรับผิด) ของรัฐบาล เจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์ม องค์กรสหภาพแรงงาน และแรงงานแพลตฟอร์มแต่ละคนด้วย

อนึ่ง หากรัฐบาลจะสามารถดำเนินการให้เกิดความครอบคลุมในการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มทั้ง 6 ลักษณะ ด้วยวิธีการอื่น ที่ไม่ใช่การยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ที่ได้เสนอไว้ในย่อหน้าก่อน ทาง Think Forward Center ก็เห็นว่าสิ่งที่เป็นไปได้เพิ่มเติมคือ การปรับแก้ไข พ.ร.บ.เดิมที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น เพียงแต่การแก้ไขพระราชบัญญัติเดิมแต่อาจมีความยุ่งยาก เพราะจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับไปพร้อมๆ กัน (และให้สอดคล้องกันด้วย) และอาจมีแนวคิดที่แตกต่างหรือขัดกับหลักการเดิม/รูปแบบการจ้างงานเดิมที่กฎหมายฉบับนั้นบังคับใช้อยู่

Think Forward Center เชื่อว่า ความพยายามในการพัฒนาข้อตกลง/กติกาการทำงานบนแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม และการดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการแรงงานบนแพลตฟอร์มทุกคนอย่างครบถ้วนในทุกมิติ ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความ จะช่วยตอบโจทย์ของสังคมและเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่การสร้างธุรกิจใหม่ในโลกดิจิทัล การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในการทำงาน และการตอบความต้องการของผู้บริโภค (หรือประชาชนไทย) ได้อย่างดียิ่งขึ้น



รายการอ้างอิง

  • ประชาไท. 2564. ชวนรู้จักปัญหา ‘ไรเดอร์’ มุมแรงงานสัมพันธ์ที่ยังคลุมเครือ และแนวแก้ไข-คุ้มครองในทางกฎหมายที่อาจต้องถกอีกยาว. https://prachatai.com/journal/2021/08/94442 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า