สร้างรากฐานแรงงานไทยก้าวไกล ด้วยนโยบาย “ห้องให้นมทั่วถึง” เพื่อเด็กไทยก้าวหน้า

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
Think Forward Center


จากการเปิดตัวนโยบายทั้ง 2 ครั้งของพรรคก้าวไกล ที่มีชื่อว่า “การเมืองไทยก้าวหน้า” และ “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 นโยบายต่างได้ให้น้ำหนักความสำคัญที่สุดอยู่ที่ การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เข้าถึงความหวังและความฝันของตนเอง ผ่านการจัดสรรงบเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการช่วยเหลือมารดาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดบุตร และเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งจบการศึกษา 


การเปิดตัวนโยบายทั้ง 2 ครั้งของพรรคก้าวไกล จึงถือเป็นการปักธงทางความคิดให้กับประชาชนว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป หนทางหนึ่งที่จะทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น คือ การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน/สวัสดิการให้กับแม่และเด็กในประเทศ ทั้งเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ครอบครัวผลิตประชากรออกสู่สังคมเพิ่มขึ้น และเพื่อยืนยันว่าแรงงานคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ รัฐลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการของเด็กในทุกด้านอย่างแท้จริง

และเพื่อฉายภาพให้ชัดมากขึ้น Think Forward Center ขอนำเสนอความสำคัญของการส่งเสริมนโยบายเพื่อแม่และเด็กอย่าง “ห้องให้นมบุตร” ในบริบทของหลากหลายประเทศ ตลอดจนวิธีคิด วิธีทำ เพื่อยืนยันว่า รากฐานทางเศรษฐกิจเกิดจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการเพื่อโอบรับแม่และเด็กอย่างแท้จริง 


ทำไมแม่และเด็กจึงสำคัญในทางเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลานั้น ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปได้กลายเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อย การนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตส่งผลให้ระบบการทำงานของมนุษย์เปลี่ยนไป เนื่องจากนายจ้างได้กำหนดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดเวลาเข้า-ออกทำงานที่ชัดเจน รวมถึงกฎระเบียบอื่นๆ ในการเข้าทำงานเพื่อให้ลูกจ้างอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

การกำหนดกฎระเบียบในการทำงานของนายจ้าง นำมาซึ่งความขัดแย้งหลังจากนั้นมากมาย เนื่องจากแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากกฎระเบียบของนายจ้างบ่อยครั้ง เช่น การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน การได้รับค่าจ้างที่ต่ำ การทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กและผู้สูงอายุ 

ที่มา: nps.gov
ที่มา: gettyimages.com


ทั้งหมด ทำให้เกิดการเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำตามแนวคิดสังคมนิยมมประชาธิปไตย (Social Democracy) ตั้งแต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับนายจ้าง การหยุดงานประท้วง ไปจนถึงการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการแรงงาน สวัสดิการผู้สูงอายุ หรือแม้แต่สวัสดิการแม่และเด็ก

จากการเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน ทำให้ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มประเทศนอร์ดิกอย่าง นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก ได้ประกาศใช้กฎหมายที่มีชื่อว่า “The Child Welfare Act” ที่เข้ามาจัดระเบียบทั้งการส่งเสริมสวัสดิการให้กับเด็กและมีกฎหมายอาญาเพื่อป้องกันอันตรายกับเด็กในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยจากกฎหมายนี้ ทำให้นอร์เวย์มีบริการที่เรียกว่า “บริการสวัสดิการเด็ก” (The Child Welfare Services) ในแต่ละเทศบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวที่กำลังประสบความยากลำบากภายในครอบครัว รวมถึงเด็กที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อสุขภาพและ/หรือพัฒนาการของพวกเขา 

จาก The Child Welfare Act ของกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ออกมาครั้งแรก ก็ได้ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาสังคม เช่น นักสังคมสงเคราะห์ ครู สมาคมสตรี และขบวนการแรงงาน ถึงจุดมุ่งหมายเพื่อดูแลเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย รวมถึงยกระดับสถานะและความเป็นอยู่ของเด็กจากทุกชนชั้นทางสังคมให้ได้รับสิทธิเท่ากัน เป็นผลให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เริ่มจากนอร์เวย์ (ในปี 2493) สวีเดน (ในปี 2503) หรือฟินแลนด์ (ในปี 2526)

เช่นเดียวกับ ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่เริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยในเด็ก เช่น สหราชอาณาจักร ที่ประกาศใช้ Children Act ในปี 2491 (ก่อนจะปรับปรุงให้ครอบคลุมสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจาก Children Act for England and Wales ปี 2532 ตามด้วย Children Act for Scotland ปี 2538 และ Children Order for Northern Ireland ปี 2538) หรือออสเตรเลีย ที่ประกาศใช้ The Child Welfare Act ในปี 2490 (ก่อนจะบัญญัติเพิ่มเติมในปี 2550 ภายใต้ชื่อใหม่ “The Care and Protection of Children Act” และกฎหมายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแม่และเด็ก ซึ่งจะกล่าวนับจากนี้)

ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จากหมุดหมายแรกที่ต้องการจะปกป้องสิทธิและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก นำมาสู่การศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อพัฒนาเป็นนโยบายสวัสดิการที่สอดคล้องกับบริบทสังคมแวดล้อมของเด็กในประเทศนั้นๆ มากขึ้น และเป็นที่มาของนโยบายสวัสดิการของมารดา (ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด) ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด และนโยบายสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงกระทั่งบรรลุนิติภาวะ ทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้ระบบการจ้างงานมีผลกระทบกับการตั้งครรภ์และการเพิ่มจำนวนประชากรในภายภาคหน้า


นโยบายและแนวทางปฏิบัติในแต่ละประเทศ

ออสเตรเลีย = 

นอกจาก The Care and Protection of Children Act ปี 2550 (ปรับแก้เพิ่มเติมในปี 2552 และ 2554) ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสวัสดิการของเด็ก คุ้มครองเด็กจากการถูกทำร้ายและแสวงประโยชน์ และเพิ่มโอกาสสูงสุดในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยรัฐสนับสนุนผ่านครอบครัวและบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลเด็กและสุขภาวะของเด็กสิทธิแล้ว 

ออสเตรเลีย โดยหน่วยงาน ACT Health Directorate ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่มีชื่อว่า “Australian National Breastfeeding Strategy 2010-2015” (จะกำหนดแผนใหม่ทุกๆ 5 ปี) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดลำดับความสำคัญและการดำเนินการสำหรับรัฐบาลทุกระดับที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุน และติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากการให้นมแม่เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการป้อนอาหารลูกน้อย ทำให้กลไกทางสรีระของแม่กลับมาปกติ (ทั้งน้ำหนักตัว ความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและรังไข่ รวมถึงโรคกระดูกพรุน) และช่วยให้พัฒนาการของลูกเป็นไปอย่างสมวัยได้ โดยนมแม่จะสามารถให้สารอาหารที่ครบถ้วนสำรับลูกน้อยที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก

ที่มา: shop.breastfeeding.asn.au


เพื่อการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นประชากรคุณภาพ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงวางแผนให้ครอบคลุมตั้งแต่

ก่อนตั้งครรภ์: มีคู่มือสำหรับว่าที่พ่อและแม่คนใหม่ ให้ต้องเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนตั้งครรภ์ 3-6 เดือน เพื่อเพิ่มการเจริญพันธุ์ เช่น เพิ่มการรับอาหารที่มีกรดโฟลิกและไอโอดีน รวมถึงตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ตั้งแต่การมาของรอบเดือน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การตรวจโรคติดต่อทางทางเพศ และการเป็นพาหะที่ส่งทอดมาจากพันธุกรรม

ระหว่างตั้งครรภ์: เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการในครรภ์ การรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับสารอาหารจำพวก กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และวิตามินดี มีผลดีต่อการเจริญเติบโตของสุขภาพและพัฒนาการของทารก และสามารถป้องกันภาวะบกพร่องของท่อประสาทได้ โดยอาหารสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์จำเป็นจำต้องทานอย่างสมดุลทั้ง 5 หมู่ โดยอาจเน้นอาหารจำพวก โฮลเกรนและซีเรียล ผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว เนื้อไม่ติดมันและสัตว์ปีก ปลา ไข่ เต้าหู้ และอาหารจำพวกนม รวมถึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ อาหารแปรรูปมักจะมีน้ำตาล ไขมัน และเกลือสูง และควรจำกัดจำนวนปริมาณคาเฟอีนไม่เกิน 200 มก./วัน

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังกำหนดแนวทางที่มีชื่อว่า “10 Steps to Successful Breastfeeding” โดยเริ่มจาก 

  1. มีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ – มีนโยบายจากภาครัฐพร้อมวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่ามารดาว่า รัฐบาลจะส่งเสริมและมีหลักค้ำประกันว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย
  2. เจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการอบรมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ – เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) เข้าถึงข้อมูลความรู้ คำแนะนำ และการสนับสนุนที่เป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด
  3. การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ – การเรียนรู้วิธีการและเหตุผลในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด
  4. ส่งเสริมการสัมผัสกันระหว่างแม่กับลูก ทันทีหลังคลอด – โรงพยาบาลต้องสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่พยาบาลนำทารกมาวางไว้บนหน้าอกของมารดาหลังคลอด เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการดูดนมโดยสัญชาตญาณให้กับทารก
  5. ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ – เจ้าหน้าที่รัฐ (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ส่งเสริมการเข้าถึงคำแนะนำ/วิธีการให้นมลูกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนคลอด หลังคลอด และในขณะที่ลูกของคุณเริ่มเติบโต
  6. สร้างค่านิยมในสังคมว่า “นมแม่เป็นสิ่งที่ทารกต้องการ” – เนื่องด้วยน้ำนมแม่เป็นอาหารชนิดเดียวที่ทารกต้องการ ดังนั้นหากรัฐจะส่งเสริมค่านิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องไม่แนะนำให้ใช้อาหารเสริมสำหรับลูกน้อย เว้นแต่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพโดยเฉพาะ เพราะการแนะนำอาหารเสริมอื่นให้ลูกน้อย อาจส่งผลต่อความสามารถในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  7. ให้แม่และลูกอยู่ด้วยกัน – โรงพยาบาลต้องสนับสนุนให้ พ่อแม่ได้ “อยู่ในห้อง กับลูกน้อย ตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงวันแรกหลังคลอด นี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้พ่อแม่รู้จักกับลูกน้อยและเสริมสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงดูลูกในฐานะพ่อแม่มือใหม่
  8. ลงมือปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ – ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งที่สำคัญคือการป้อนนมลูกน้อยของคุณเมื่อพวกเขาหิว พร้อมทั้งเรียนรู้พฤติกรรมและช่วงเวลาที่ลูกน้อยของคุณหิวได้
  9. ไม่ใช้จุกนมของเล่นกับลูกน้อย – สิ่งนี้อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อความสามารถในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากจะทำให้พฤติกรรมและช่วงเวลาที่ลูกน้อยต้องการอาหารผิดเพี้ยนไป
  10. มีบริการสนับสนุนการให้นมบุตรหลังจากออกจากโรงพยาบาล – จัดสรรบริการที่หลากหลาย เช่น ห้องให้นมในสถานที่ทำงาน/สถานที่สาธารณะ หรือ Day Care ที่รับดูแลลูกน้อยพร้อมให้คุณแม่ได้มาให้นมในสถานที่ทำงาน เพื่อสนับสนุนให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้เมื่อกลับบ้าน ออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือกลับไปทำงาน


ไต้หวัน = 

ที่มา: unicef.cn


แม้ว่ากฎหมายที่ระบุถึงสวัสดิการของแม่และเด็กในไต้หวันอย่าง “Public Breastfeeding Act” จะเพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2562 แต่ด้วยสาระสำคัญที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ว่า “กฎหมายฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิงในการให้นมบุตรในที่สาธารณะและต้องจัดหาสภาพแวดล้อมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ปราศจากความกังวลให้กับผู้ที่ต้องการทำเช่นนั้น”

รวมถึง ในมาตรา 5 กฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดว่า สถานที่ต่อไปนี้ควรจัดให้มีห้องให้นมบุตร และต้องติดป้ายให้ชัดเจน:

  1. สถานที่ราชการที่ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประกอบกิจการ/บริการพื้นที่รวมกว่า 500 ตร.ม.
  2. หน่วยงานรัฐที่มีอาคารธุรกิจที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 500 ตารางเมตร
  3. สถานีรถไฟ สนามบิน หรือสถานีรถไฟฟ้า MRT ที่มีผู้โดยสารขาเข้าและขาออก (รวมถึงสถานีเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้า) พร้อมสถานบริการที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 1,000 ตร.ม.
  4. ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก รูปแบบโรงแรมท่องเที่ยวต่างประเทศและโรงแรมท่องเที่ยวทั่วไปที่มีสถานที่ประกอบการ ซึ่งมีพื้นที่รวมมากกว่า 5,000 ตร.ม.
  5. รถไฟด่วนพิเศษและรถไฟความเร็วสูง ยกเว้น รถไฟโดยสารประจำทาง
  6. สถานที่อื่น ๆ ตามที่หน่วยงานกลางประกาศกำหนด


โดยภายในห้องให้นมบุตรสาธารณะ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความปลอดภัย เช่น แสงสว่าง การระบายอากาศ รวมถึงการจัดการและการบำรุงรักษาตามมาตรฐานในการใช้งานห้องให้นมบุตรในสถานที่สาธารณะ

ที่มา: worldmomsblog.com


นอกจากนี้ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีสถานที่ให้นมบุตรชั่วคราว โดยจำนวนห้อง เงื่อนไข ประเภท และมาตรฐานของสถานที่ให้นมชั่วคราวของกิจกรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่จะถูกกำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ประเทศไต้หวัน

นโยบาย แนวทางในการปฏิบัติ รวมถึงการมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่ปรากฏอย่างชัดเจนทั้งในกฎหมายของประเทศออสเตรเลียและไต้หวัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้สวัสดิการอย่างห้องให้นมบุตรสามารถลงหลักปักฐานและประสบความสำเร็จได้ 

สำหรับประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเรามีกฎหมายที่ครอบคลุมการจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 39 ทวิ (6) ที่ระบุว่า “ทั้งนี้ สำหรับอาคารที่ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการผู้ทุพพลภาพ คนชรา หรือผู้สูงอายุ ตามที่กฎหมายกำหนดให้รับรองการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นด้วย” และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2562 มาตรา 103 ระบุว่า ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานให้นายจ้างดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพียงแต่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการต้องเห็นความสำคัญ เพื่อการจัดสรรงบประมาณและสถานที่ใหม่ให้โอบรับแม่และเด็ก รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางมากขึ้น


ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม-ให้นมบุตร เริ่มได้ที่พรรคก้าวไกล

ด้วยห้องให้นมบุตร เป็นนโยบายที่สะท้อนการมีวิสัยทัศน์เพื่อกลุ่มคนเปราะบางที่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติรองรับแล้ว พรรคก้าวไกลในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ในส่วนของสวัสดิการแรกเกิด ที่ระบุว่า ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน-ที่ทำงาน

A picture containing text, floor

Description automatically generated


Think Forward Center จึงร่วมพูดคุยหารือกับ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขตสายไหม และ พุธิตา ชัยอนันต์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้อาคารอนาคตใหม่มีพื้นที่รองรับบุคคลทุกกลุ่มที่เข้าติดต่อธุระกับพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นห้องให้นมบุตร โซนหนังสือและของเล่นเด็ก หรือแม้แต่อุปกรณ์เสริมในห้องน้ำสำหรับผู้พิการ 

การพูดคุยหารือครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารอนาคตใหม่ ซึ่งปกติเป็นพื้นที่ของ Sol Bar และที่นั่งรับรองแขกที่มาเยือนอาคารอนาคตใหม่ สามารถจัดสรรพื้นที่ให้สามารถรองรับห้องให้นมบุตร โซนหนังสือและของเล่นเด็ก และห้องน้ำแบบ Universal Design ได้ โดยปรับปรุงพื้นที่บริเวณห้องน้ำและโซนจัดจำหน่ายสินค้าของ Sol Bar เดิม ให้มีอุปกรณ์อาทิเช่น โต๊ะ ปลั๊กไฟ และโซฟา สำหรับเป็นมุมให้นมบุตร ราวจับข้างโถสุขภัณฑ์ ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม และ Baby Carrier สำหรับผู้พิการและแม่ลูกอ่อนในห้องน้ำ ซึ่งสามารถจัดสรรให้เรียบง่าย และไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ


ตัวอย่างพื้นที่ที่จะถูกปรับปรุง:

พื้นที่สำหรับจัดทำ Breastfeeding Corner หรือ ห้องให้นมบุตร

จุดที่เพิ่มเติมอุปกรณ์อย่าง ราวจับสำหรับผู้พิการ และ Baby Carrier

จุดที่เพิ่มเติมอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก

พื้นที่ของ Kids Corner หรือ โซนหนังสือและของเล่นสำหรับเด็ก

และเนื่องจากการจัดทำพื้นที่เหล่านี้ ใช้เนื้อที่ภายในอาคารเพียงเล็กน้อย ทำให้การจัดหาสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวกสามารถทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนสำหรับจัดทำไม่มากนัก ซึ่งนับจากนี้ไป พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าจะเป็นผู้รับข้อเสนอ ประเมินราคา และจัดหาสิ่งของมาเพื่อทำให้อาคารอนาคตใหม่เป็นอาคารที่รองรับผู้คนทุกคนอย่างแท้จริง


ข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล

ตามที่ได้เปิดตัวชุด 2 นโยบาย อย่าง “การเมืองไทยก้าวหน้า” และ “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” พรรคก้าวไกลได้เสนอแนวนโยบายที่จะยืนยันว่า การจะสร้างรากฐานสังคม (แรงงานไทย) ให้แข็งแรง ต้องเริ่มจากการจัดสรรสวัสดิการเพื่อแม่และเด็ก โดยพรรคก้าวไกลเสนอให้:

  1.  ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท

แจกคูปองให้พ่อแม่ของเด็กเกิดใหม่ มูลค่า 3,000 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อสิ่งของสำหรับพัฒนาการเด็ก จากรายการสินค้าที่มีให้เลือกจำนวนมาก (เช่น อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงเด็ก อุปกรณ์พัฒนาทักษะ หนังสือนิทาน)

  1. เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท

เพิ่มและขยายเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีเด็กเล็ก 0-6 ปี มาเป็นเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท โดยให้ทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ตกหล่น 

  1. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และทำให้หน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงบุตรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งพ่อและแม่ พรรคก้าวไกลเสนอให้ 

  • ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
  • แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม
  • แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
  • พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก


  1. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน-ที่ทำงาน
  • เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน ตั้งแต่การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก (เช่น ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก ห้องเรียนปูพื้นยาง/หุ้มนวมลบเหลี่ยมมุมเสาป้องกันอุบัติเหตุ) การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน หรือนำไปจ่ายเป็นเงินรายหัวเพิ่มเติมให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้
  • ใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็ก และสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่ ซึ่งในส่วนนี้ พรรคก้าวไกล ร่วมกับคณะก้าวหน้าจึงได้จัดทำพื้นที่ห้องให้นมบุตรสำหรับรองรับพนักงานและแขกผู้มาเยือนอาคารอนาคตใหม่
  • เพิ่มนโยบายจูงใจผู้ประกอบการรายย่อย เช่น การจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้จัดทำห้องให้นมบุตรจากค่าใช้จ่ายจริง 50% (ใช้งบประมาณอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท) เพื่อจัดทำห้องให้นมบุตร เนื่องจากปกติการจัดทำห้องให้นมบุตรจะพื้นที่ไม่เกิน 8-9 ตารางเมตร (ซึ่งใช้งบประมาณไม่เกิน 30,000 บาท/ห้อง) 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า