วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ หยุดมะเร็งด้วยการคัดกรองถ้วนหน้า

เดชรัต สุขกำเนิด


ปัจจุบัน มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2564 มะเร็งคร่าชีวิตคนไทย 83,795 ราย ถ้าเทียบโดยเฉลี่ยทุกๆ 6 นาที 16 วินาที จะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหนึ่งคน หรือวันละ 230 คนเลยทีเดียว

ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มที่ผ่านมาพบว่า ในปี 2557 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในอัตรา 107 รายต่อแสนประชากร แต่ในปี 2564 อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้เพิ่มขึ้นเป็น 129 ต่อแสนประชากร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงเวลา 7 ปี

ทั้งนี้ หากพิจารณาในกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) อัตราการตายจากโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเป็น 474 ต่อแสนประชากร หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าของประชากรโดยรวม เพราะฉะนั้น ยิ่งประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งก็ยิ่งเป็นภัยคุกคามสำหรับระบบสุขภาพและสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

นอกจากมะเร็งจะพรากชีวิตและคนที่เรารักจากไปจำนวนมากแล้ว มะเร็งยังเป็นโรคที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการรักษาและมีค่าใช้จ่ายสูง มีการประมาณการณ์กันว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งอาจสูงถึง 300,000-8,000,000 บาท/ราย

ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แพงมาก นอกจากจะเป็นภาระสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว และระบบบริการสุขภาพของประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยจำนวนมาก จนกลายเป็นคำขวัญของวันมะเร็งโลกในช่วง 3 ปีนี้ คือ Closing the care gap หรือลดช่องว่างในการได้รับการรักษาลงให้ได้

หนทางสำคัญที่สุดในการลดช่องว่างการรักษาลงคือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่มะเร็งจะขยายตัวลุกลามไป และกลายเป็นภาระและความยากลำบากในการรักษาพยาบาลและการดำรงชีวิตของผู้ป่วย

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งหลายประเภทได้ถูกรวมไว้ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีขั้นตอนและวิธีการที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งยังทำได้จำกัด และไม่ทันกับอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มมากขึ้น


Think Forward Center จึงเสนอแนวนโยบายที่จะเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก (ซึ่งครอบคลุม 52% ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งประเทศในปี 2564) ให้ครอบคลุมถ้วนหน้า โดยให้ลำดับความสำคัญตามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น อายุ พฤติกรรมเสี่ยง สายพันธุกรรม เป็นต้น (รายละเอียดอ่านด้านล่าง)

การตรวจคัดกรองมะเร็งถ้วนหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะช่วย (ก) เพิ่มโอกาสในการรักษา (ข) รักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย (ค) ลดภาระของแพทย์/พยาบาลในระบบบริการสุขภาพ และ (ง) ลดภาระค่าใช้จ่ายของระบบบริการสุขภาพด้วย

ทั้งนี้ ความสำเร็จในการตรวจคัดกรองมะเร็งถ้วนหน้าขึ้นอยู่กับการพยายามลดภาระในตรวจคัดกรองมะเร็งโดยโรงพยาบาลและแพทย์ ด้วยการจัดระบบให้มีการตรวจคัดกรองในหน่วยตรวจคัดกรองนอกโรงพยาบาล และโดยบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น นักรังสีวิทยา ในการอ่านผลการตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น Low dose CT Scan หรือ Mammography โดยสามารถเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอัตราที่เป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระของระบบบริการสุขภาพ/โรงพยาบาลแล้ว ยังถือเป็นการสร้างงานในระบบเศรษฐกิจและกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ไปทั่วประเทศด้วย

นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการตรวจคัดกรองมะเร็งยังสามารถนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการป้องกันโรคมะเร็ง ทั้งในส่วนของปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล และในส่วนของการดำเนินนโยบายในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตั้งแต่ต้นทาง เช่น นโยบายด้านโภชนาการ (กรณีมะเร็งลำไส้ใหญ่) การลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (กรณีมะเร็งปอด) เป็นต้น และยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลการรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้นด้วย

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเห็นว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งที่ครอบคลุมมากขึ้น และการออกแบบระบบการตรวจคัดกรองให้ลดภาระของโรงพยาบาลและแพทย์ จึงน่าจะเป็นทางออกสำคัญในการรับมือกับโรคมะเร็งที่จะเพิ่มขึ้นตามการเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องให้การรักษาพยาบาลนั้น รัฐบาลและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรมีการปรับปรุงรายการยาเคมีบำบัดและยาอื่นๆ ในบัญชียาหลักอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับพัฒนาการทางการแพทย์ และให้ประชาชนต้องเสียสิทธิในการรักษาพยาบาลด้วยยาและวิธีการที่เหมาะสมไป

หมายเหตุ ตัวอย่างการเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง 6 ชนิด มีดังนี้


มะเร็งปอด – ปัจจุบัน ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยสามารถทำการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอดได้อยู่แล้ว (แต่ไม่ได้ทำทุกปี) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การทำเอ็กซ์เรย์ปอดยังขาดความไวในการตรวจพบมะเร็ง ดังนั้น ควรยกระดับมาใช้ Low-dose CT Scan มากกว่า โคยควรให้เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 55 ปีขึ้นไปโดยทำ low dose CT chest ทุกๆปี รวมถึงควรตรวจในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซอง-ปี หรือผู้ที่เลิกบุหรี่มาแล้วน้อยกว่า 15 ปี และในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (หรือ PM2.5) และมลภาวะทางอากาศสูง ก็ควรเริ่มการตรวจคัดกรองที่อายุน้อยลงเช่นกัน ทั้งนี้ ในรายละเอียด จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยการตรวตคัดกรองและการพบมะเร็งปอดในพื้นที่ที่มลภาวะทางอากาศสูง ประกอบกันไปด้วย


มะเร็งตับ – ปัจจุบัน การตรวจมะเร็งตับตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้การเจาะเลือดดูค่า AFP กับการ ultrasound upper abdomen แต่ไม่จำเป็นต้องทำในทุกกรณี เพราะว่ามะเร็งตับชนิด Hepatocellular carcinoma จะเกิดขึ้นจากผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการรักษาโรคดังกล่าวต้องพบแพทย์ และสามารถตรวจคัดกรองได้อยู่แล้ว

ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีมะเร็งตับหรือท่อน้ำดี อีกชนิดหนึ่งที่มีความชุกของโรคสูงมาก เรียกว่า Cholangiocarcinoma ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร สุกๆดิบๆ ที่มีพยาธิใบไม้ในตับจากปลาน้ำจืด เพราะฉะนั้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรมีการคัดกรอง ultrasound or CT abdomen เพิ่มเติม เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งตับ โดยอาจเริ่มต้นจากกลุ่ม/พื้นที่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก่อน


มะเร็งเต้านม – ควรขยายสิทธิการตรวจ mammography ให้ครอบคลุมผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องผ่านการสั่งตรวจโดยแพทย์ และในกรณี ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรง (หมายถึง มารดา พี่สาว น้องสาว ลูกสาว) ที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่เคยได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอกเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้มีประวัติการรับฮอร์โมนเสริมหลังหมดประจำเดือนติดต่อกันเกิน 5 ปี ระบบจะเร่งให้ได้รับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น โดยนับจากอายุญาติสายตรงขณะที่เป็นมะเร็ง ลบออกไป 5 ปี จะเป็นปีที่เริ่มตรวจ และควรตรวจเป็นประจำทุกๆ ปี


มะเร็งลำไส้ใหญ่ – ในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ stool occult blood test (หรือ การตรวจดูว่ามีเลือดในอุจจาระหรือไม่) ซึ่งยังอาจไม่ใช่วิธีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิผลดีที่สุด Think Forward Center เสนอว่า ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการส่องกล้อง Colonoscopy ทุกๆสิบปี หรือทำ CT Colonoscopy ในกรณีที่ไม่มีแพทย์ส่องกล้อง ทุกๆ 5 ปี ซึ่งการจะดำเนินการเช่นนั้นได้จำเป็นต้องกระจาย ศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ให้ครอบคลุมในทุกจังหวัด หรือแม้แต่ในทุกอำเภออำเภอ หากพบความชุกของประชากรที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้สูง อนึ่ง ในกลุ่มที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง) ควรเริ่มตรวจโดยนับจากอายุของผู้ที่เป็นมะเร็งในครอบครัว ลบ 10 ปี และควรตรวจติดตามถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 1-3 ปี


มะเร็งปากมดลูก – ปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความครอบคลุมอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของการตรวจคัดกรอง (หรือ Pelvic examination with pap smear) และในส่วนของวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิง อายุ 12-15 ปี เพราะฉะนั้นจะต้องรณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนมากขึ้น และในระยะต่อไป อาจพิจารณาการปรับกระบวนการทดสอบให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้น ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์


มะเร็งต่อมลูกหมาก – ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรอง เจาะเลือดดูค่า PSA (Prostate specific antigen) ทุกๆสองปี โดยไม่ต้องให้แพทย์สั่ง (ปัจจุบันทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องให้แพทย์สั่งตรงตามข้อบ่งชี้) โดยสามารถให้ผู้ที่จะรับการตรวจไปเจาะเลือด และตรวจในหน่วยที่ได้รับอนุญาต (เช่น แล็บเอกชน หรือ รพ.สต.) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และนำผลการตรวจมาให้แพทย์พิจารณา ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของแพทย์ และลดความคับคั่งในโรงพยาบาล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า