อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) โดยสมบูรณ์แล้ว ด้วยสัดส่วน 13 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66,057,967 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.68 จากจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะค่อยๆ เพิ่มในสัดส่วนร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ค่อยๆ ลดน้อยลง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 433,050 ราย ขณะที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 472,546 ราย และถือเป็นปีที่ 3 แล้วที่ประเทศไทยต้องพบเจอกับปัญหาอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย
อย่างไรก็ดี การมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งการมีผู้ป่วยที่มีความต้องการพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น โดยหากเราประเมินผู้ป่วยในระยะพึ่งพิงจากตัวชี้วัดเป้าหมายของกองทุนหลักประกันสุขภาพจะพบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนอยู่ประมาณ 686,823 คน และจากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นสัดส่วนร้อยละ 4 ต่อปี หากประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบการจัดการระบบการดูแลแบบพึ่งพิง (Long-term Care) และการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพตั้งแต่วันนี้ ก็นำมาซึ่งความยาลำบากในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะพึ่งพิงที่เพิ่มมากขึ้น
ประสบการณ์ Lone-term Care ภาพสะท้อนรัฐในวันที่ไม่มีระบบพึ่งพิงให้ผู้ป่วย
ภูริวรรธก์ ใจสำราญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 12 จากพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในวาระ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้ป่วยระยะพึ่งพิง และประคับประคองเอาไว้ว่า ประเด็นการดูแลผู้ป่วยทั้งระยะพึ่งพิง และประคับประคองนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและส่งผลต่อคนในครอบครัวของผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก ถ้าหากรัฐให้ความสำคัญกับการจัดการระบบการดูแลแบบประคับประคองได้ดี มีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ก็จะแบ่งเบาภาระทั้งทางกายและจิตใจของคนในครอบครัวไปได้อย่างมาก
ภูริวรรธก์ อภิปรายถึงเรื่องราวของเขาในช่วงเวลาที่ต้องดูแลคุณพ่อที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และมีโรครุมเร้าหลายด้าน ซึ่งถือเป็นการดูแลในระยะประคับประคอง เขาใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับพ่อเป็นหลักปีในการดูแลรักษาระยะนี้ ในขณะที่ทุกคนในบ้านไม่มีใครเป็นแพทย์หรือมีความรู้ที่เพียงพอในการรักษาพยาบาล และการไม่มีระบบการจัดสรรผู้ดูแล (Caregiver) มาคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับคนในครอบครัว ก็ทำให้ช่วงเวลานั้นเขาและทุกคนในครอบครัวผ่านไปได้อย่างค่อนข้างลำบาก
“ในช่วงเวลานั้น ครอบครัวเราไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการแผลกดทับ ซึ่งขณะนั้นมันใหญ่และลึกมากขึ้นทุกวัน เราไม่มีความรู้เรื่องการทริมเนื้อตาย ว่าทริมแล้วจะต้องใช้ผ้าก็อตแบบใดปิดเข้าไป และเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ยาประเภทใดถึงจะเหมาะกับคุณพ่อ และเราจะสู้ราคานั้นไหวหรือไม่? และที่สำคัญคือ เราต้องรับมือภาวะแปรปรวนทางอารมณ์ของคุณพ่อในจุดที่เขาตกต่ำที่สุด”
ภูริวรรธก์ กล่าว
ช่วงเวลานั้น ทำให้ ภูริวรรธก์ และครอบครัวต้องวางแผนการดูแลพ่อของเขาร่วมกันว่า ตนและครอบครัวจะต้องช่วยเหลือคุณพ่ออย่างไร และต้องวางแผนเพื่อพาคุณพ่อไปยังโรงพยาบาลทุกเดือนกว่าที่ร่างกายของคุณพ่อจะทนไม่ไหว หรือรักษาให้ดีขึ้นไม่ได้อีกแล้ว
“พ่อพยายามจะพูดด้วยเสียงที่ดัง แต่ว่าความเป็นจริงนั้นไม่ได้ดังมาก เพราะที่คอมีท่อช่วยหายใจ และท่อดูดเศษเสมหะ รวมถึงที่จมูกก็มีท่อออกซิเจน พ่อบอกว่า “อยากกลับบ้าน เพราะบ้านเป็นพื้นที่สงบและเป็นที่ๆ คุ้นเคย””
แต่สุดท้าย เรื่องราวก็จบลงที่ คุณพ่อต้องอยู่ในห้อง ICU ห้องที่จำกัดไปด้วยขนาดและระยะเวลาในการเข้าเยี่ยม พ่อไม่สามารถทำได้แม้แต่บอกลา หรือบอกรักกับคนที่ท่านอยากจะบอก และสุดท้ายพ่อก็ต้องจากไปในสภาพที่อยู่ในห้อง ICU ในขณะที่ ภูริวรรธก์ นั่งเฝ้าคุณพ่อของเขาอยู่เพียงคนเดียว
ครอบครัวของ ภูริวรรธก์ ไม่ใช่ครอบครัวเดียวประเทศนี้ ที่ต้องรับมือกับวาระสุดท้ายของคนในครอบครัวกันเอง ขณะที่รัฐไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมกับระบบการรักษาแบบประคับประคองที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่พวกเขาต้องอยู่ในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ และหากพวกเขาไม่มีเงินที่มากเพียงพอจะซื้อบริการการรักษาในโรงพยาบาลได้ คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกพาผู้ป่วยกลับไปดูแลที่บ้าน
ทุกครั้งที่ ภูริวรรธก์ เข้าไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่บางเขน สายไหม และลาดพร้าว สิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้งก็คือ บางครอบครัวไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกับผู้ป่วยภายในบ้าน จนกระทั่งต้องเอาโซฟามาแทนเตียงผู้ป่วย บางครอบครัวไม่มีคนดูแลทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลด้านกายภาพ แผลกดทับก็ไม่ได้ดู หรือแม้แต่ไม่ได้รับยาที่มีคุณภาพ เพราะว่ามันแพง และสิทธิการรักษาที่พวกเขามีอยู่วันนี้ก็ไม่เพียงพอให้พวกเขาได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ภูริวรรธก์ เล่าฟังว่า มีหลายครั้งที่เขาไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ และพบว่าบางบ้านอากาศถ่ายเทแย่มาก รวมถึงลูกหลานที่เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็เข้าไปดูแลเท่าที่พวกเขาทำได้ บางคนไม่ได้ดูแลตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพราะต้องออกไปทำงาน
และหากจะต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล การเรียกรถพยาบาลมาแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้หลายๆ ครอบครัวจำเป็นต้องอาศัยบริการแท็กซี่ และต้องขอความร่วมมือคนรอบข้างอีก 3-4 คน เพื่อช่วยกันแบกหามผู้ป่วยขึ้นรถไป ซ้ำร้าย หากผู้ป่วยบางรายอาศัยอยู่บนตึกชั้น 4-5 ก็ยิ่งทำให้เวลาจะเคลื่อนย้ายแต่ละครั้งนั้นเต็มไปด้วยความทุลักทุเลอย่างมาก ทำให้ในช่วงเวลาสุดท้ายของผู้ป่วยในหลายครอบครัวจะต้องเจอกับความยากลำบากทั้งจากอาการเจ็บป่วย และความกดทับจากสังคมที่ทับซ้อนลงมาอีก
การจัดการรักษาแบบพึ่งพิงและประคับประคองในปัจจุบัน
ภูริวรรธก์ ฉายภาพให้เห็นว่า ขณะนี้ ในเดือนๆ หนึ่ง โรงพยาบาลจะต้องรองรับผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลแบบพึ่งพิงและประคับประคองเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลสิรินธร มีผู้ป่วยที่ต้องการได้รับการดูแลแบบประคับประคองต่อเดือนอยู่ถึง 70 คน ขณะที่มีแพทย์ที่ให้ความดูแลในเรื่องนี้เพียง 1 คนเท่านั้น
สำหรับการดูแลแบบพึ่งพิงและประคับประคองนั้น หากมีคนไข้ที่มีความต้องการรักษาทั้งหมด 200 เตียง ก็ควรมีแพทย์ที่คอยให้ความดูแลอย่างน้อย 3-4 คน และต้องมีพยาบาลอยู่ที่จำนวน 2.5-4 คน
ภาพจากสไลด์ในการอภิปรายของ สส.ภูริวรรธก์ ใจสำราญ ในประเด็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568
เกี่ยวกับการจัดทำระบบ Long-term Care
(รับชมการอภิปรายได้ที่ https://youtu.be/wi_phnCvAu8?si=Va70jmm8vggKmdY8)
แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นั้น นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ภูริวรรธก์ ได้ให้ข้อมูลส่วนนี้ว่า ในอดีต กระทรวงสาธารณสุข เคยกำหนดเกณฑ์จำนวนบุคลากรไว้ว่า กำหนดให้จำนวนแพทย์ 1 คน และพยาบาล 1 คน ต่อจำนวนประชากร 5,000 คน แต่ปัจจุบัน เกณฑ์ที่ว่านี้กลับถูกปรับเป็น “แพทย์ 1 คน และพยาบาล 1 คน ต่อจำนวนประชากร 10,000 คน”
เกณฑ์นี้สร้างความน่ากังวลอย่างไรให้กับบุคลากรแพทย์และผู้ป่วย?
ภูริวรรธก์ ได้ยกตัวอย่าง จำนวนประชากรเขตบางเขน กรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 180,000-190,000 คน และเมื่อรวมกับจำนวนประชากรแฝงก็จะมีประมาณ 300,000 คน หากพิจารณาจากเกณฑ์ข้างบน บุคลากรแพทย์ในศูนย์สาธารณสุข 24 เขตบางเขน จะต้องมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คน
แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากไปดูที่ศูนย์สาธารณสุข 24 เขตบางเขน จะพบว่า มีเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 15 คน โดยแบ่งเป็น 7 คนอยู่ประจำการที่ศูนย์ฯ และอีก 8 คน จะลงพื้นที่ไปตามชุมชน ซึ่ง 8 คนนี้ จะทำหน้าที่ประสานกับโรงพยาบาลศูนย์ฯ และโรงพยาบาลชุมชน ให้กับผู้ป่วยระยะพึ่งพิงและระยะประคับประคองในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์สะท้อนให้เห็นมากขึ้น เมื่อแพทย์ที่จบเฉพาะทางด้าน Long-Term Care และ Palliative Care มีจำนวนเพียงปีละ 10 คนเท่านั้น และแม้ว่าพยาบาลที่เฉพาะทางด้าน Long-Term Care และ Palliative Care อาจมีจำนวนเยอะกว่า แต่เมื่อจบมาแล้วก็ไม่สามารถทำงานด้านนี้ได้โดยตรง เนื่องจากจนถึงขณะนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีวอร์ดรองรับพยาบาลที่จบมาสายนี้โดยเฉพาะ
รวมถึงฐานเงินเดือนที่ไม่สมเหตุสมผล สำหรับพยาบาลที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานโรงพยาบาลของรัฐจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 18,000 บาท ขึ้นไป หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 บาท ขึ้นไป ขณะที่ หากเลือกเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ สำหรับประเทศที่มีความต้องการบุคลากรด้าน Palliative Care มาก เงินเดือนก็จะพุ่งสูงไปถึง 300,000 บาท
เมื่อหัวใจหลักของการรักษาแบบพึ่งพิงและประคับประคอง อยู่ที่การกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ การมี Caregiver จึงถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการประสานการทำงานเพื่อดูแลผู้ป่วยระหว่างครอบครัวกับโรงพยาบาล ในต่างจังหวัดคนนิยมพาผู้ป่วยกลับไปบ้าน เพื่อให้ลูกหลานเข้ามาดูแล ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการเพียงแค่ยาและคำแนะนำการดูแลที่สม่ำเสมอ เพื่อพร้อมที่จะกลับไปที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมาย
แต่หากเป็นผู้ป่วยในชุมชนเมืองจะมีความต้องการอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า เนื่องมาจากสาเหตุของเวลา เศรษฐกิจ และค่านิยม ผู้ป่วยกลุ่มเรานี้จึงมีความต้องการวอร์ดในโรงพยาบาล หรือการมีอยู่ของสถานชีวาภิบาล หรือ Nursing Care ต่างๆ ที่เป็นบริการของเอกชน
เมื่อ Caregiver เป็นสิ่งที่สำคัญ รัฐก็ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนเหล่านี้ให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่ทุกวันนี้ ใครคือ Caregiver?
ปัจจุบัน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นั้นได้ค่าบริการสาธารณสุขจากงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกตั้งไว้ปีละ 25,877 ล้านบาท
และบางส่วนมาจากงบประมาณของ สปสช. โดยจะแบ่งจ่ายมากน้อยตามแต่ขนาดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ อสส./อสม. บางพื้นที่ได้เงินเป็นรายเคส เคสละ 50 บาท บางพื้นที่ได้เป็นรายชั่วโมง หรือบางพื้นที่เลือกจ่ายเป็นรายเหมาเดือนละ 1,000-1,500 บาท
แต่กระนั้น ระบบเบิกจ่ายของ สปสช. นั้นก็มีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เอกสารเยอะ และมีกำหนดระยะเวลาการเบิกจ่ายจำกัด ทำให้ Caregiver บางคนไม่ได้เบิกจ่ายเงิน และทำงานด้วยใจที่เป็นอาสาจริงๆ
นอกจากนี้ สำหรับ Caregiver ยังได้รับเงินสนับสนุนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1,188,900 บาท โดยตัวชี้วัดจะอยู่ที่จำนวนผู้ป่วยที่เลือกรับบริการที่บ้านเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5 แต่จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ได้กำหนดงบบริการครบวงจรไร้รอยต่อ สนับสนุนสร้างเสริมบริการชีวาภิบาล ขณะที่ตัวชี้วัดยังเท่าเดิม แต่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมานิดนึงคือ 2,295,000 บาท
นอกจากงบประมาณด้านบุคลากรแล้ว งบประมาณด้านสถานที่และอุปกรณ์ก็ไม่ได้ครอบคลุม สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข มีแผนงานขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาล งบประมาณ 339 ล้านบาท แต่จากจำนวนนี้ เป็นสัดส่วนงบครุภัณฑ์เพียง 40 ล้านบาท ขณะที่อุปกรณ์ด้านการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยบางชนิดนั้นมีราคาแพงมาก และบางอย่างไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบรายหัวของสปสช. ได้ สุดท้ายผู้ป่วยหลายคนจึงต้องจำใจออกเงินซื้อเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยภายในบ้านของตน
การตั้งงบประมาณ และตัวชี้วัดที่น้อยนิดเช่นนี้ มาจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ รวมถึงสถานชีวาภิบาลที่ยังไม่ได้มีทุกพื้นที่ ทำให้หลายๆ ครอบครัวเลือกที่จะพาผู้ป่วยกลับมาดูแลที่บ้าน และด้วย อสส. และอสม. คืองานอาสาสมัคร ทำให้ไม่สามารถมาทำงานได้เต็มเวลา นอกจากนี้ช่วงอายุของผู้ที่มาทำหน้าที่ อสส. และอสม. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบพึ่งพิงและประคับประคองที่มีรายละเอียดการดูแลเยอะ ทำให้การบริการบางครั้งของ Caregiver ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย
แม้จะมีการอบรม แต่โครงการพัฒนาศักยภาพของอสส. และอสม. ส่วนมากก็เป็นการอบรมแบบนั่งฟังคร่าวๆ ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ได้มีการฝึกปฏิบัติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกตัดลดเสมอ เช่น ปี 2568 นี้ ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำคำของบประมาณรายจ่ายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพ อสส./อสม. อยู่ที่ 1,274.21 ล้านบาท แต่ได้กลับมาเพียง 153.27 ล้านบาทเท่านั้น
หรือกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ทำคำของบประมาณรายจ่ายโครงการองค์ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมไปจำนวน 7,590.49 ล้านบาท แต่ได้กลับมาเพียง 2,761.96 ล้านบาท และจากจำนวนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นงบลงทุน ทำให้สุดท้ายเหลืองบประมาณสนับสนุนงานด้านวิชาการเพียงแค่ 13 ล้านบาทเท่านั้น
รวมถึง การเกิดขึ้นของวอร์ดชีวาภิบาลในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชน แม้จะเป็นหนทางที่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างมากไม่แพ้กันคือ การผลิตจำนวนแพทย์และพยาบาลเฉพาะด้านนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสถานชีวาภิบาลชุมชน หากสถานชีวาภิบาลจะเกิดขึ้นในทุกตำบลได้จริงภายในปี 2570 การจัดสรรคนให้เพียงพอ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับทีมชีวาภิบาลท้องถิ่นอย่างครบถ้วน และมีการทำงานให้เป็นโครงข่ายและเชื่อมกันอย่างเป็นระบบ ผู้ป่วยที่มีความต้องการปึ่งพิงและประคับประคองก็จะไม่ถูกทำให้ตกหล่นอีกต่อไป
งบประมาณ 68: อีกปีที่ผู้ป่วยพึ่งพิงและประคับประคองตกหล่น
ในการอภิปรายครั้งนี้ ภูริวรรธก์ ฉายภาพให้เห็นว่า จนถึงขณะนี้ มีโรงพยาบาลจำนวนน้อยมากที่มีการวางแผนระบบการดูแลผู้ป่วยที่เลือกกลับมารักษาตัวที่บ้าน และมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษากับคนในครอบครัวว่า การดูแลต่อเนื่องนั้นจะต้องทำอย่างไร? การวางแผนเรื่องการเงิน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร? รวมไปถึงเรื่องของการตาย การจัดหาสถานที่การตายด้วย
ถ้าหากมีการวางแผนมันช่วยเหลือทุกฝ่ายได้มากเช่นนี้ ทำไมหลายๆ โรงพยาบาลถึงไม่มีการจัดเตรียมแผนตรงนี้เอาไว้เลย?
ตามที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยระยะพึ่งพิง มีอยู่ประมาณ 686,823 คน ขณะที่ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้รับอยู่ที่เพียง 2,760.55 ล้านบาท แม้กองทุนหลักประกันสุขภาพจะมีความพยายามเพิ่มคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ไว้ที่ 3,435.15 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับประเมินรายจ่ายรายหัวของผู้ป่วยระยะพึ่งพิงไว้เพียง 334,823 คน แต่ก็ได้รับการอนุมัติในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 กลับมาเพียง 2,900.24 ล้านบาท หรือคิดเป็นงบประมาณรายหัวเพียง 245,648 คนเท่านั้น ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยระยะพึ่งพิงที่ตกหล่นจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลทั้ง 2 รอบทั้งสิ้น 441,171 คน
นี่จึงกลายเป็นคำถามที่ ภูริวรรธก์ ได้ให้ไว้ ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า แล้วรัฐบาลจะรองรับผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ตกหล่นจากงบประมาณที่ถูกตัดลดนี้อย่างไร? ในเมื่อทุกวันนี้ ระบบสาธารณสุขไทย ยังไม่มีการเตรียมความเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบพึ่งพิง และทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะต้องหลุดไปอยู่ในรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้น
และเมื่อมาดูงบประมาณสำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจะพบว่า ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา สปสช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายเงินรายหัว สำหรับผู้ป่วยที่เลือกพักรักษาที่บ้านจำนวน 9,000 บาท โดยจ่ายติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือนต่อราย
ขณะที่ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 นั้นมีการนำงบประมาณการดูแลประคับประคองไปเพิ่มในส่วนของ LTC ทำให้อัตราเหมาจ่ายต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 10,442 บาท ซึ่งแม้งบประมาณรายหัวจะสูงขึ้น แต่จากการประมาณการจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะต้องดูแลแบบประคับประคองนั้นมีอยู่ 229,817 คน ซึ่งจากงบประมาณที่ได้รับนั้นสามารถดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองได้เพียง 152,935 คน ทำให้มีผู้ป่วยตกหล่นจากระบบการดูแลประคับประคองอยู่ที่ 76,882 คน
ทั้งหมดจึงสะท้อนว่า การให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองของรัฐบาลในปีนี้นั้นลดน้อยลง ทั้งๆ ที่ 2 ระบบนี้ สำคัญมากกับผู้ป่วย
ภูริวรรธก์ อภิปรายเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่า ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง กับผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองก็จะพบว่า ผู้ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง จะสามารถช่วยลดรายจ่ายครอบครัวได้ถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบปกติ ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคองก่อนเสียชีวิตอย่างน้อย 7 วัน หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เยอะมาก ไม่ใช่แค่มิติของผู้ป่วย (ที่จะเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าห้อง ICU ลดลง) และรวมถึงมิติอื่นได้
“นอกจากนี้ยัง ลดความทรมานของผู้ป่วย และลดการรักษาที่ไม่จำเป็น ขณะที่การดูแลแบบประคับประคองนี้ ยังเพิ่มในส่วนของ คุณภาพชีวิต และโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้ตายดีในที่ๆ ปรารถนา”
ภูริวรรธก์ กล่าว
ในช่วงท้ายของการอภิปรายงบประมาณ ภูริวรรธก์ และพรรคก้าวไกล จึงได้เสนอแนวนโยบายเพื่อการจัดการระบบสาธารณสุขไทย ดังนี้
- จัดตั้ง ธนาคารอุปกรณ์ สำหรับผู้ป่วยที่บ้าน (รพ.สต. จัดซื้อเข้ามา และรับบริจาคจากประชาชนหรือเอกชนที่สนับสนุนเข้ามา) โดยที่ใช้เสร็จแล้วนำมาคืน
- สนับสนุนนโยบาย ชีวาภิบาลทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงมนุษย์ ที่ตั้งใจจะเข้ามาดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องการการพึ่งพิงอื่นๆ ด้วยการเพิ่มบทบาทให้กับนักสังคมสงเคราะห์ และสหวิชาชีพอื่นๆ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น
ท้ายที่สุดนี้ งบประมาณเพื่อการสร้างระบบดูแลแบบพึ่งพิงและประคับประคองนี้ ไม่ใช่งบประมาณที่รัฐลงทุนไปแล้วเสร็จภายในปีเดียว แต่ต้องอาศัยการวางรากฐานทั้งในแง่บุคลากร เช่น แพทย์ พยาบาลที่มีความรู้เฉพาะด้านที่จะอบรมพัฒนาศักยภาพ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในหน้าที่การงานให้กับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและอาสาสมัคร และต้องวางรากฐานในด้านสถานที่ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ทันสมัยและตอบโจทย์กับผู้ป่วยระดับพึ่งพิงและประคับประคองได้จริง