สุขภาพดีใกล้บ้าน: พลิกโฉมระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วย Telemedicine


เดชรัต สุขกำเนิด


ที่ผ่านมา ระบบสุขภาพปฐมภูมิอาจถูกมองข้ามความสำคัญไป เพราะหากมองในมุมของระบบตลาดหรือเอกชน ก็จะมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่ารักษาพยาบาลแพง และมีส่วนในการดึงดูดบุคลากรทางการแพทย์ไปจากระบบของรัฐ ส่วนในระบบรัฐเองก็ประสบปัญหาการกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่ดี เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่นๆ ระหว่างเมืองใหญ่และเมืองรอง และระหว่างเมืองกับชนบท อีกทั้งยังเกิดความสับสนในกระบวนการนโยบายกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ส่งผลเสียหายทำให้ในด้านหนึ่ง ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สมดุลจนแทบไม่มีเวลาพัก


การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล : กรณีตัวอย่างเทศบาลหนองแคน



ในความพยายามพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิขึ้นมา หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine ที่เทศบาลหนองแคน อ. ดงหลวง จ. มุกดาหาร โดยเทศบาลหนองแคนซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารประมาณ 50 กิโลเมตร ได้มีนโยบายการติดตั้งจุดวัดสัญญาณชีพขึ้น 4 จุดในตำบล โดยในแต่ละจุด ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถตรวจวัดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ดัชนีมวลกาย และอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง รวมถึงสามารถพูดคุยวิดีโอคอลล์กับแพทย์/พยาบาลวิชาชีพ เพื่อสอบถามและบันทึกอาการได้โดยสะดวก รวมถึง แพทย์/พยาบาลสามารถสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ด้วย

ผลปรากฏว่า พี่น้องประชาชนชาวหนองแคนสะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องอดข้าวอดน้ำและเดินทางไปตรวจเลือดและพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอ แต่สามารถตื่นและเดินออกมาตรวจได้ที่หมู่บ้านของตนได้เลย รวมถึงสามารถรอรับยาได้ที่บ้านเลย เพราะทางเทศบาลจะมาจัดส่งยาให้ตามที่แพทย์/พยาบาลแจ้ง

นอกเหนือจากความสะดวกของพี่น้องประชาชนแล้ว การใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาของระบบสุขภาพในภาพรวม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิใน 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

ทางที่แรก ความแออัดในโรงพยาบาลอำเภอดงหลวงก็ลดลง หลังจากที่มีการใช้การแพทย์ทางไกล จำนวนผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลจากเทศบาลเทศบาลตำบลหนองแคลดลง 20% การลดความแออัดของโรงพยาบาลอำเภอ/โรงพยาบาลศูนย์หมายถึงการลดภาระงานที่หนักอึ้งของแพทย์/พยาบาลลง พร้อมๆ กับการลดภาระค่าใช้จ่าย/เวลา/การเสียโอกาสในการทำงานของประชาชนลงด้วย



ทางที่สอง ความสะดวกและการดูแลอย่างใกล้ชิดนี่เอง ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการ และติดตามความคืบหน้าของอาการจากโรคเรื้อรังต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองโรค และประสิทธิผลในการรักษาพยาบาล รวมถึงการลดต้นทุนในการรักษาพยาบาลในภาพรวมด้วย

ทางที่สาม การพัฒนาระบบอาสาสมัครสาธารณสุขและแนวหน้าสุขภาพ เพราะการทำงานในลักษณะนี้ ทำให้สามารถติดตาม/สนับสนุน/ส่งเสริมการทำงานของอาสาสมัครเฉพาะแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น โดยการเสริม/เพิ่ม/พัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอาสาสมัครแต่ละรายและผู้ป่วยแต่ละคน (หรือแต่ละกลุ่มอาการ/โรค) ได้โดยตรง และสามารถพัฒนาเป็นระบบการให้ค่าตอบแทนตามผลงานที่ดำเนินการได้ในอนาคต

ทางที่สี่ ฐานข้อมูลในระดับตำบลจะมีส่วนสำคัญต่อการออกแบบการสร้างเสริมสุขภาพภายในท้องถิ่น ทั้งในส่วนของการเพิ่มขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุข ในการช่วยดูแลผู้ป่วยและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น และการสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายและพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีโรค NCDs (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง และโรคหัวใจและหลอดเลือด) หรือการแก้ไขปัญหามลภาวะในพื้นที่ที่มีการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจหรือโรคที่เกี่ยวข้องสูง เป็นต้น


ระบบสุขภาพในระดับจังหวัด

สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว เช่น มุกดาหาร ย่อมสามารถใช้ระบบการแพทย์ทางไกล ในการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลแต่ละโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี โดย อบจ. อาจพัฒนาต่อยอดแนวทางการเสริมหนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดังนี้

  • ปรับ อบจ. ให้เป็น hub ของบริการปฐมภูมิในจังหวัด
  • ประสานงานในการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้คล่องตัวกับการบริหารงานและให้บริการของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล
  • สร้างทีมงานแนวหน้าสุขภาพที่ทำงานเฉพาะด้าน ในชุมชน หรือ อำเภอ หรือในองค์กร
    • อสม. plus
    • ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะยาว
    • ผู้ช่วยงานกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู
    • นักจิตวิทยาในชุมชน ในองค์กร และในโรงเรียน
    • ทีมห้องปฏิบัติการสุขภาพ
    • ทีมหรือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทางการแพทย์
  • เชื่อมโยงระบบการแพทย์ปฐมภูมิถึงทุติยภูมิ/ตติยภูมิให้ได้ทั้งในเชิง
    • หมอครอบครัว หมอประจำตัว
    • การเชื่อมต่อข้อมูล
    • การส่งต่อผู้ป่วยที่ทันเวลาและสะดวก
  • สร้างเทคโนโลยีหรือระบบซอฟท์แวร์สนับสนุนโดยผู้ประกอบการไทย


ยิ่งไปกว่านั้น หากในระดับจังหวัด มีการใช้การแพทย์ทางไกลในทุกโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลก็จะทำให้ลดภาระของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลอำเภอได้มาก ขณะเดียวกันก็สามารถวางแผนนโยบายสาธารณสุขในระดับจังหวัดได้อย่างรอบด้าน ทันท่วงที และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ย่อยๆ และที่สำคัญอีกประการคือ เป็นการสร้างงานและเศรษฐกิจภายในจังหวัด/ภายในท้องถิ่นอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใด ที่รัฐจะเหนี่ยวรั้งการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น การกระจาย/จัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการเสริมพลังการบริหารจัดการสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพราะระบบสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นระบบที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เข้าถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพได้รวดเร็วและทั่วถึงที่สุด และลดภาระการกระจุกตัวของงานและความแออัดของผู้คนในระบบสุขภาพทุติยภูมิและตติยภูมิลงได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า