เปิดเส้นทาง “ก้าวไกล” – อีสานสองเท่า


อีสานสองเท่า : เปิดเส้นทาง “ก้าวไกล” การพัฒนาภาคอีสานที่จะทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวและความยากจนลดลงในปี 2575



ภาคอีสานมีประชากรกว่า 20 ล้านคน มากที่สุดประเทศไทย แต่ชาวอีสานจำนวนมากยังต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งการมีรายได้น้อย ผันผวนไม่แน่นอน ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ขาดอาชีพการงานที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ ทำให้ชาวอีสานจำนวนไม่น้อยต้องออกจากภูมิลำเนา เพียงเพราะในพื้นที่บ้านเกิดไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากเพียงพอ

เศรษฐกิจในภาคอีสานยังมีความท้าทายอยู่มาก รายได้ต่อหัวของชาวอีสาน ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร มีค่า 85,658 บาท/คน/ปีตามข้อมูลล่าสุดในปี 2562 หรือเพียง 1/3 ของค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ (243,787 บาท/คน/ปี) อัตราส่วน 1/3 นี้ค่อนข้างคงที่ตลอดสิบปีหลังไม่มีทีท่าว่าจะไล่กวดภาคอื่น ๆ ได้ทัน

ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา (พ.ศ. 2553-2562)  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสานยังชะลอตัวจนไม่สามารถไล่กวดภาคอื่น ๆ ได้ ด้วยอัตราการเติบโตที่ช้าเช่นนี้ หลังปี พ.ศ. 2566 ที่ประเทศไทยฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ภาคอีสานจะเป็นภาคเดียวของไทยที่ยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เศรษฐกิจรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income) ในขณะที่กรุงเทพปริมณฑลและภาคตะวันออกมีรายได้ถึงเกณฑ์รายได้ขั้นสูงไปแล้ว และหากอีสานยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราประมาณ 4% เหมือนในอดีตที่ผ่านมา อีสานคงจะต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าจะถึงเกณฑ์รายได้ปานกลางระดับสูงดังกล่าว

ดังนั้น เราจะต้องเร่งพัฒนาภาคอีสาน ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) จึงเสนอแนวคิด “อีสานสองเท่า” ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ภาคอีสานมีอัตราการเติบโตในอนาคตเฉลี่ย 7% ซึ่งจะทำให้ชาวอีสานมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในเวลา 10 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2575 การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรานี้อีสานสามารถพัฒนาตามทันภาคอื่น ๆ ได้ และจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในเกณฑ์เศรษฐกิจรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงภายใน 5 ปี


การที่เราจะบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนั้นได้ เราจำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของอีสานทุกตัว แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคอีสานยังไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ เพราะสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจในภาคอีสาน (กลุ่ม 1 กลุ่มที่มีความสำคัญมาก แต่เติบโตน้อย-ปานกลาง) อย่างเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการศึกษา ยังมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก โดยเฉพาะภาคเกษตรมีอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก  

ในขณะเดียวกัน ภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ สาขาภัตตาคารและโรงแรม และสาขาไฟฟ้าและก๊าซ ก็ยังมีขนาดเล็กต่อเศรษฐกิจของอีสาน (กลุ่ม 2 เติบโตเร็ว แต่ความสำคัญยังน้อย) ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจในวงกว้างได้ และนั่นทำให้สาขาเศรษฐกิจสนับสนุนอื่นๆของอีสานจึงไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร (กลุ่ม 3 และ 4)


ดังนั้น เพื่อให้ภาคอีสานมีอัตราการเติบโตได้ในระดับ 7% Think Forward Center จึงเสนอทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนสำหรับสาขาเศรษฐกิจทั้ง 4 กลุ่มนี้

·       กลุ่มที่ 1 เป็นสาขาเศรษฐกิจสำคัญในอีสาน แต่ปัจจุบันเติบโตช้า จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา ปลดล็อคอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้เติบโตได้เร็วขึ้น โดยเราเห็นศักยภาพในรายสาขา เช่น ภาคเกษตรสามารถเติบโตได้ราว 4% ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตได้ 7% ภาคค้าส่งค้าปลีกเติบโตได้ 9% โดยมีประเด็นสำคัญของการพัฒนาดังนี้

o   สาขาเกษตร จำเป็นต้องเน้นการแก้ไขปัญหา 4 ด้านด้วยกันคือ (ก) ความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งเรื่องป่าไม้ที่ดิน (ข) การจัดการน้ำในไร่นา และระบบชลประทาน (ค) การปรับโครงสร้างหนี้สินการเกษตร และ (ง) การจัดการตลาด และราคา โดยเฉพาะ ห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น ในจังหวัด และในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

o   สาขาอุตสาหกรรมการผลิต จะเน้นการพัฒนาในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญได้แก่ (ก) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ข) อุตสาหกรรมสมุนไพรและสุขภาพ (ค) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน เช่น เสื้อผ้า แฟชั่น หัตถศิลป์ และ (ง) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน และในลุ่มน้ำโขง

o   สาขาการค้าส่งค้าปลีก จะเน้นการเสริมพลังของผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และสามารถเอื้อโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอื่นๆ ในท้องถิ่นและในจังหวัดได้ รวมถึงพัฒนาให้ภาคการค้าส่งค้าปลีกของภาคอีสานเป็นภาคที่มีบทบาทนำในการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

o   สาขาการศึกษา จะเน้นการลงทุนทางการศึกษา ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้ภาคอีสานมีระบบและทรัพยากรทางการศึกษา/เรียนรู้ที่ทั่วถึง มีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีความเท่าเทียม (กับภาคอื่นๆ) และมีความเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

·       สำหรับกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นสาขาดาวรุ่งมีอัตราการเติบโตในอดีตที่ดีอยู่แล้ว แต่ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวมน้อย จะต้องรักษาระดับการพัฒนาให้ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้กลายเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอีสานมากขึ้น และกลายเป็น soft power ที่สำคัญของภาคอีสานโดยเฉพาะการรักษาอัตราการเติบโตของภาคศิลปะ บันเทิง นันทนาการในระดับ 19% และภัตตาคารและโรงแรมในระดับ 14% ตามแนวโน้มเดิม ส่วนการพัฒนาภาคไฟฟ้าและพลังงานจะเน้นพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ

·       กลุ่มที่ 3 คือสาขาเศรษฐกิจสนับสนุนที่มีอัตราการเติบโตในระดับปานกลางอยู่เดิม จะต้องทำให้มีการเติบโตและมีความสำคัญมากขึ้นไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของภาคอีสาน โดยการพัฒนาในส่วนนี้อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่

o   กลุ่มพัฒนาทางเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาสาขาวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และเทคนิค เพื่อรองรับต่อการยกระดับผลิตภาพและนวัตกรรมของภาคการผลิตในอีสาน การพัฒนาโทรคมนาคมและข้อมูล ตลอดจนโลจิสติกส์ให้เข้าถึงและมีประสิทธิภาพพอที่จะเอื้ออำนวยให้ภาคเศรษฐกิจหลักทั้งการผลิตและบริการให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

o   กลุ่มพัฒนาระบบบริการทางสังคม เช่น ระบบสุขภาพและการดูแลทางสังคม และระบบประปาและการสุขาภิบาล ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคอีสานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการจ้างงานในการดูแลผู้สูงอายุและอื่นๆ ได้มากกว่า 70,000 คน

·       ในกลุ่มสุดท้าย ภาคเศรษฐกิจสนับสนุนพื้นฐานในอีสาน เช่น การบริหารราชการ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการบริการอื่น ๆ จะต้องได้รับการพัฒนาเช่นกันเพื่อรองรับต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักในอีสาน แต่สำหรับกลุ่มนี้จะต้องเน้นที่คุณภาพและประสิทธิภาพของบริการโดยเฉพาะ ภาคการบริหารราชการต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาของภาคส่วนอื่นๆ หรือภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องสามารถตอบโจทย์ที่พักอาศัยและที่ทำกินของคนทุกกลุ่มรายได้ มิใช่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงเช่นที่ผ่านมา

Think Forward Center ได้สรุปเป้าหมายการเจริญเติบโตและสัดส่วนความสำคัญของสาขาต่างๆ ในภาคอีสานไว้ในตาราง การกำหนดเป้าหมายนี้จะช่วยทำให้การวางแผนรายละเอียดของแต่ละสาขา ของแต่ละกลุ่มจังหวัด และแต่ละจังหวัดในภาคอีสานมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี การจะพัฒนาตามเส้นทางก้าวไกลเพื่อยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของภาคอีสานให้ได้เป็น 2 เท่าจำเป็นจะต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญอีก 2 ประการ นั่นคือ

·       การกระจายอำนาจ และการปรับระบบงบประมาณให้สนับสนุนการกระจายอำนาจ เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาของสาขาต่างๆ ในระดับพื้นที่ทำได้อย่างทันการณ์ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดย Think Forward Center เคยเสนอระบบงบประมาณที่รองรับการกระจายอำนาจ ด้วยการจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ร้อยละ 20 ของรายได้ภาษีของรัฐสุทธิ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของรายได้ภาษีของรัฐสุทธิในปีพ.ศ. 2570

·       การพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับเด็กเล็ก เด็กโต ผู้สูงอายุ และแรงงานนอกระบบ เพื่อรองรับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของชีวิต โดยการพัฒนาระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้สอดคล้องกับระบบงบประมาณของรัฐบาลโดยภาพรวม ซึ่งเมื่อดำเนินการจนครบถ้วนในปี พ.ศ. 2570 คาดการณ์ว่า สัดส่วนความยากจนทั้งประเทศจะลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อนำ 3 แนวทางมาประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งแนวทางอีสานสองเท่า การกระจายอำนาจ และการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า จะช่วยทำให้เส้นทางการพัฒนาอีสานเปลี่ยนไป กลายเป็นเส้นทางที่ชาวอีสานสามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง และสามารถก้าวหน้าและก้าวไกลทัดเทียมกับภาคอื่นๆ ของประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า