2 กุมภาพันธ์ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก แนวทางการรักษานิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำของพรรคก้าวไกล

ดชรัต สุขกำเนิด
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของมนุษย์ พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ทั้งยังทำหน้าที่สำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศในภาพรวม โดยเฉพาะการกักเก็บ การปลดปล่อยน้ำ และการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ทั้งหมดทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นบ่อเกิดและหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมของชุมชนจำนวนมาก 

แต่ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกลับถูกละเลย การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรม การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ การขาดการจัดการน้ำเสียที่ไหลลงพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ การทำประมงแบบไม่ยั่งยืน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ สลับกับน้ำท่วม และการเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำและทรัพยากรประมง จนกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว

เนื่องในวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก Think Forward Center และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ 5 แห่งจาก 5 ภูมิภาค เพื่อไปเรียนรู้ถึงสถานการณ์วิกฤตของพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ ไปจนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการกัน


ทะเลสาบสงขลา: ฟุบและฟื้น

ทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ทั้งในแง่ของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและการเกษตร การเป็นแหล่งน้ำอุปโภค/บริโภค และการเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา


แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่ต้นน้ำกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ระบบนิเวศในทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ทั้งจากตะกอนที่เพิ่มมากขึ้นจากการพังทะลายของดิน มลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรมและเมือง ภาวะไนโตรเจนล้นเกินจากการใช้ปุ๋ยเคมีของภาคการเกษตร และภาคปศุสัตว์ การรุกล้ำและปิดกั้นเส้นทางน้ำธรรมชาติระหว่างอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ทั้งหมดทำให้ทะเลสาบสงขลามีตะกอน มีภาวะเน่าเสีย และมีวัชพืชน้ำเพิ่มมากขึ้น จนเกิดความตื้นเขิน น้ำเค็มรุกล้ำมากขึ้น และมักทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาอยู่เสมอ

สำหรับกรณีอุทกภัยรอบพื้นที่ทะเลสาบ สุนิตย์ แก้วจินดา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สงขลา เขต 4 พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ชุมน้ำ บริเวณ ม.4 บ้านคูขุด ม.5 บ้านพังจาก ม.6 บ้านท่าเพา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบว่า 3 หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขนานไปกับทะเลสาบ ทำให้ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุม เนื่องจากทะเลสาบตื้นเขิน แต่ต้องรองรับฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำที่มาจากเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และจ.พัทลุง ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลามีปริมาณมากและไหลบ่าท่วมหมู่บ้านทุกปี เป็นผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ที่โรงเรียน หรือที่วัด ส่วนสัตว์เลี้ยงนำไปไว้ที่ถนนหลวงชนบท ซึ่งมีพื้นที่สูงกางเต็นท์ให้อาศัย มีอาหารและของใช้ส่วนราชการสนับสนุน

ขณะเดียวกัน การดำเนินโครงการของรัฐบาลก็มักสร้างผลกระทบทางลบที่ไม่ได้ออกแบบไว้อยู่เสมอ เช่น การทำคันกั้นน้ำเค็มกลับทำให้เกิดน้ำท่วมตามแนวคัน เพราะไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้ หรือการขุดลอกทะเลสาบสงขลาแล้วนำตะกอนดินไปทิ้งใกล้เกาะหนูเกาะแมว จนทำให้ตะกอนดินไปคลุมทับหญ้าทะเลและปะการังในบริเวณดังกล่าว จนเกิดภาวะเสื่อมโทรมในระบบนิเวศแหล่งน้ำบริเวณนั้น

ภาพน้ำท่วมรอบบริเวณทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ 3 ตำบล อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อปี 2560
ที่มา: news.gimyong.com


เพราะฉะนั้น แนวทางของ สุนิตย์ แก้วจินดา ร่วมกับพรรคก้าวไกลสงขลา และพรรคก้าวไกลพัทลุง จึงมุ่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาโดยยึดหลักการ 4 ข้อคือ (ก) ฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ โดยเฉพาะการฟื้นฟูลำคลองที่ช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในทะเลสาบสงขลา (เชื่อมโยงกับอ่าวไทย) ทำได้ดีขึ้น (ข) การลดมลพิษ และตะกอนดินที่จุดกำเนิด และการลดสาหร่ายและวัชพืชน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทะเลสาบตื้นเขินจากต้นทาง (ค) การศึกษาแนวทางการขุดลอกทะเลสาบสงขลา และการป้องกันผลกระทบจากการขุดลอกและการถมดินที่จะมีต่อระบบนิเวศและการทำมาหากินของประชาชน (ง) การพัฒนาระบบชลประทานและแหล่งน้ำการเกษตร โดยเฉพาะในคาบสมุทรสทิงพระ และ (จ) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา


น้ำจางที่บางปะกง

“บางปะกง น้ำคงขึ้นๆลงๆ” ประโยคหนึ่งในบทเพลงยอดนิยม รักจางที่บางปะกง บ่งบอกถึงลักณะพื้นที่ชุมน้ำของแม่น้ำบางปะกงที่เป็นระบบนิเวศปากแม่น้ำ หรือระบบนิเวศสามน้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) ที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเลและน้ำจืดเป็นอย่างดี จนทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศวัฒนธรรมการเกษตรเฉพาะตัว เช่น การทำนาเกลือ นาขาวัง สวนหมากยกร่อง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

ภาพการทำนาขาวัง ในพื้นที่แถบ จ.ฉะเชิงเทรา และจ.ชลบุรี


แต่การปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างถนน และการจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมด ได้ทำให้เกิดการแยกพื้นที่น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยประตูกั้นน้ำเค็มและถนนต่างๆ จนทำให้กระแสการขึ้นลงของแม่น้ำบางปะกง และลุ่มน้ำสาขาเปลี่ยนแปลงไป จนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่มีมูลค่าสูง เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปอย่างน่าเสียดาย

ชวาล พลเมืองดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ชลบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล จึงได้ลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำสาขา ทั้งในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า พี่น้องประชาชนอยากให้แม่น้ำบางปะกงกลับมามีน้ำขึ้นน้ำลง และมีระบบสามน้ำเหมือนดั้งเดิม โดยเสนอให้เริ่มปรับระบบการจัดการประตูกั้นน้ำเสียใหม่ให้มีการให้มีน้ำเค็มและน้ำจืดเข้าออกเป็นระยะ เพื่อ (ก) ลดความเน่าเสียของลำคลอง (ข) ฟื้นฟูระบบนิเวศริมคลอง เช่น ป่าจาก (ค) เพิ่มพื้นที่และเขตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว และกำหนดจุดอ้างอิงระดับความเค็มของน้ำในแต่ละคลอง เพื่อการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม


ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนเสนอให้มีการทดลองดำเนินการในพื้นที่คลองยายคำ คลองต้นหมัน ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา คลองพานทอง คลองบางนาง คลองตำหรุ และคลองบางหัก ในพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อเรียนรู้ ติดตามประเมินผล และสร้างความมั่นใจได้ว่า การทวงคืนน้ำขึ้นน้ำลง หรือการทวงคืนระบบนิเวศสามน้ำ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นความยั่งยืนของระบบนิเวศวัฒนธรรมอย่างแท้จริง


วัดไผ่ล้อม-วัดอัมพุวราราม พื้นที่นิเวศชุ่มน้ำ ที่ยังรองบบำรุงรักษา

พื้นที่ป่าชุ่มน้ำวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลาง ด้วยระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มาก ทำให้ในเดือนที่ 11 ถึงเดือนที่ 6 ของทุกปี จะมีนกปากห่างบินมาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ ก่อนจะบินกลับไปยังประเทศอินเดียและบังกลาเทศ และการมาของนกปากห่างนี่เอง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติแวะเวียนมาเพื่อชมความเป็นอยู่ และศึกษาวัฏจักรธรรมชาติของนกปากห่าง

ภาพบริเวณป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ วัดไผ่ล้อม-วัดอัมพุวราราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี


ขณะที่ปัจจุบัน การขยายตัวของผังเมืองและอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริเวณผืนป่าของปทุมธานีลดน้อยลง จนกล่าวได้ว่า พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบริเวณวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวรารามนี้ เป็นพื้นที่ป่าส่วนสุดท้ายที่ปทุมธานียังเหลืออยู่ ด้วยพื้นที่ตรงนี้ถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยเป็นเขตของวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวรารามกว่า 30 ไร่โดยประมาณ และพื้นที่อุทยานที่เหลืออีก 40 ไร่ รวมทั้งสิ้น 74 ไร่ และด้วยพื้นที่ตรงนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ในฤดูมรสุม หรือช่วงน้ำของแม่น้ำจะสูงขึ้นจนท่วมเข้ามาขังในพื้นที่ และถึงแม้จะเป็นเดือนมกราคมที่ฝนไม่ตกแล้ว แต่ร่องรอยชุ่มน้ำในพื้นที่นี้จะยังคงอยู่

แต่สิ่งที่เป็นปัญหา ภายหลังจาก สกล สุนทรวาณิชย์กิจ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปทุมธานี เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่า นับตั้งแต่ช่วงที่ไข้หวัดนกระบาด นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวชมพื้นที่นี้น้อยลง ถึงแม้ว่าโรคไข้หวัดนกจะไม่ระบาดแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมา ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พบจากน้ำท่วมในระยะหลังมานี้คือ มวลน้ำได้พัดพาเอาขยะเข้ามาและติดค้างอยู่ในพื้นที่นี้มากขึ้น ทำให้สัตว์ในพื้นที่เสี่ยงที่จะกินขยะเข้าไป และเมื่อถึงฤดูแล้งจะพบปัญหาน้ำเค็มดันเข้ามา แม้ปีที่แล้วจะยังมาไม่ถึงวัดไผ่ล้อม แต่ถ้าการบริหารจัดการน้ำมีปัญหา ทำให้ไม่มีมวลน้ำจืดมาคอยดันน้ำทะเลจากปากแม่น้ำออกไป ก็จะทำให้น้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่ ต้นไม้ในป่าตาย และเป็นปัญหาให้พื้นที่ชุ่มน้ำในอนาคตได้


นอกจากนี้ สกล สุนทรวาณิชย์กิจ ยังบอกว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ได้รับค่าจ้างเพียง 9,000 บาท/เดือน เท่านั้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่หลายส่วนไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นเพียงพนักงานอัตราจ้าง และงบบำรุงรักษาจากกรมอุทยานแห่งชาติที่จัดสรรมาให้น้อยลงจนไม่สามารถบำรุงรักษาพื้นที่ได้ โดยกรณีงบประมาณที่จัดสรรมาให้พื้นที่และเจ้าหน้าที่น้อย กรมอุทยานแห่งชาติได้ตอบว่า “เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ทำรายได้ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ จึงไม่ค่อยมีเงินมาอุดหนุนดูแล”

ฉะนั้น แนวทางแก้ไขที่ สกล สุนทรวาณิชย์กิจ และ Think Forward Center เสนอคือ (ก) การบริหารจัดการน้ำ ที่เน้นการส่งน้ำไปยังคูคลองต่างๆ ตามประตูระบาย เพื่อให้น้ำไม่มาแออัดที่แม่น้ำสายเดียวมากเกินไป และการดูแลความสะอาดของแม่น้ำเพื่อไม่ให้มีขยะ เพื่อลดการพัดพาขยะมายังพื้นที่ชุ่มน้ำในช่วงฤดูมรสุม (ข) การสะสมน้ำไว้ในแหล่งต้นน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อให้ในช่วงฤดูแล้งน้ำที่กักเก็บไว้จะทำหน้าที่ดันไม่ให้น้ำเค็มหนุนเข้ามาในพื้นที่ช่วงฤดูแล้ง (ค) การเพิ่มสวัสดิการและเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้คุ้มกับค่ากับงานเสี่ยงภัยในป่า ที่อาจต้องปะทะกับผู้ล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และ (ง) การเพิ่มงบประมาณให้พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้มีงบประมาณมาดูแลระบบนิเวศและความสะอาดในพื้นที่ ปรับปรุงป้ายแนะนำสถานที่ สะพาน และหอชมนก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนมาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และเพิ่มช่องทางการจัดหารายได้ เช่น การเก็บค่าเข้าชมในอัตราที่เหมาะสม หรือการเก็บค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าในบริเวณดังกล่าว เป็นต้น 


กว๊านพะเยา ร่วมใจอย่างไรให้ยั่งยืน

ภาพในอดีตแสดงพื้นที่ชุมชนใกล้บริเวณกว๊านพะเยา จ.พะเยา


กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด โดยมีลำน้ำสาขาถึง 12 สาขา และยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือ โดยมีสัตว์น้ำหลากหลายชนิด จนกลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาชีพที่สำคัญของชาวพะเยา ยิ่งไปกว่านั้น กว๊านพะเยายังเป็นจุดศูนย์กลางของระบบนิเวศวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวพะเยาด้วย

แต่ วิสา บุญนัดดา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พะเยา เขต 1 พรรคก้าวไกล กำลังเป็นห่วงว่า ทุกวันนี้ กว๊านพะเยากำลังถูกคุกคามจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่กว๊านพะเยา ปัญหาน้ำท่วมรอบกว๊านพะเยาในช่วงหน้าฝน ปัญหาการขาดแคลนน้ำลงมาเติมในช่วงหน้าแล้ง ปัญหาวัชพืชน้ำที่ทำให้เกิดความตื้นเขินและภาวะน้ำเสียในกว๊านพะเยา และล่าสุด เกิดเป็นปัญหาสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินแพร่ระบาด และอาจส่งผลกระทบต่อการทำน้ำประปาสำหรับเมืองพะเยาอีกด้วย

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมชุมชนบริเวณกว๊านพะเยา


วิสา บุญนัดดา จึงเสนอว่า ทางออกที่สำคัญของการจัดการกว๊านพะเยาจะต้องเริ่มต้นจาก (ก) การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยมี (ข) การนำระบบ Big Data มาใช้ในการวางแผนจัดการน้ำ โดยเฉพาะในการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำท่วมและน้ำเน่าเสีย รวมถึง (ค) การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการวางแผนโดยการคำนึงถึงทางเลือกในการพัฒนาต่างๆ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบ อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ทางเลือกที่เป็นไปได้ อาจรวมถึงการพัฒนาพื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมภายในลุ่มน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง และการพัฒนาการเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่า และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรอบๆ พื้นที่กว๊านพะเยา เพื่อเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าของการอนุรักษ์กว๊านพะเยาต่อไป


บึงโขงหลง บึงที่คุณจะหลงรัก

บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (หรือแรมซาร์ไซต์) แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแห่งที่สองของประเทศไทย (รองจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลา) บึงโขงหลงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังมีทะเลบัวแดง มีต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงกระจายอยู่ และมีหาดคำสมบูรณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ ยิ่งเมื่อถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ทำให้ศักยภาพของบึงโขงหลงในด้านการท่องเที่ยวยิ่งปรากฏชัดขึ้น

ภาพความสวยงามของบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ


แต่ภายใต้ศักยภาพที่โดดเด่น บึงโขงหลงต้องเผชิญการคุกคามจากหลากหลายด้าน ทั้งการแพร่ขยายตัวของจอกหูหนู ซึ่งเป็นวัชพืชน้ำที่ขยายเข้าไปยึดครองพื้นที่ทะเลบัวแดง และพื้นที่เติบโตของสาหร่ายธรรมชาติ ทั้งยังส่งผลต่อทรัพยากรประมงและการทำประมงในพื้นที่ นอกจากนี้ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดคำสมบูรณ์ก็ยังไม่รับการพัฒนา และจัดการอย่างเหมาะสม เพราะชาวบ้านที่ประกอบกิจการการท่องเที่ยวขาดความมั่นคงในที่ดิน แม้ว่าจะตั้งรกรากในบริเวณนี้มาก่อนการสร้างอ่างเก็บน้ำและการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลงก็ตา

สำรวย ศรีทิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. บึงกาฬ เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้ชี้ว่า ปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงคือ การขาดเจ้าภาพหลักในการประสานงานดำเนินการกำจัดวัชพืชน้ำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมถึงการขาดงบประมาณในการดำเนินการ ดังนั้น ข้อเสนอนโยบายการกระจายอำนาจ หรือ “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ซึ่งจะมีการกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณลงมาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตอบโจทย์การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างตรงจุด เช่นเดียวกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ในประเด็นการตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิในที่ดินให้กับประชาชน จะช่วยให้ข้อพิพาทเรื่องสิทธิที่ดินซึ่งมีความขัดแย้งต่อเนื่องมายาวนาน จะได้รับการคลี่คลายอย่างเป็นธรรมด้วย

ภาพการกำจัดจอกหนูออกจากพื้นที่บริเวณบึงโขงหลง 


อย่างไรก็ดี ในระยะเร่งด่วนนี้ พี่น้องประชาชนรอบบึงโขงหลง รวมถึง สำรวย ศรีทิน ก็ได้ลงมือปฏิบัติการฟื้นฟูบึงโขงหลง ด้วยการกำจัดจอกหูหนูที่บริเวณวัดนันทรารามมงคล ก่อนช่วงเทศกาลลอยกระทง จนทำให้ดอกบัวแดงกลับมาในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนในระยะยาว การวางแผนการใช้พื้นที่ การจัดการน้ำ ทั้งน้ำดี (น้ำฝน) และน้ำเสีย (น้ำใช้ครัวเรือนและแหล่งท่องเที่ยว) และการติดตามคุณภาพน้ำในบึงโขงหลงอย่างใกล้ชิดจะเป็นคำตอบของการอนุรักษ์บึงโขงหลงอย่างยั่งยืนต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า