กัลยพัชร รจิตโรจน์
ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center
ปี 2567 นับเป็นอีกปีที่คนไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และก็เป็นปีที่เราต้องสูญเสียบุคลากรอันมีค่าของสังคมหลายต่อหลายคน จากโรคมะเร็งร้ายที่เป็นผลสืบเนื่องจากมลภาวะทางอากาศ บทความนี้จะเปิดเผยว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นบ่อเกิดสรรพโรคใดบ้าง? (ไม่ใช่เพียงมะเร็งปอด) และภาวะฝุ่นพิษกับการเจ็บป่วยและการตายด้วยโรคมะเร็งสัมพันธ์กันเพียงใด? และสุดท้ายเราจะป้องกันตัวเอง และคัดกรองโรคมะเร็งปอดและโรคร้ายต่างๆ แต่เนิ่นๆ ได้อย่างไร?
PM2.5 บ่อเกิดสรรพโรค
ไม่น่าแปลกใจที่ ณ ขณะนี้ มะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น เพราะจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมลพิษและฝุ่นพิษ ในภาคเหนือของประเทศไทย มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากขึ้นกว่าเดิม หากมองย้อนไปเป็นเวลาหลายปี และที่น่าสังเกตคือ รอยโรคเริ่มเกิดในบุคคลที่อายุน้อยลงอย่างชัดเจน และพบในบุคคลที่ไม่ได้มีประวัติสูบบุหรี่ (หรือที่เรียกว่า non-smoking lung cancers)
จริงๆ แล้ว ขนาดของฝุ่นพิษที่เล็กจิ๋วซึ่งมีขนาด 2.5 ไมครอน นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังสามารถถูกดูดซึมผ่านเซลล์และชั้น mucosa ของระบบทางเดินหายใจเข้าสู่เส้นเลือด และไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกายได้ ฝุ่นพิษจิ๋วเหล่านี้จึงส่งผลให้หัวใจและหลอดเลือดสร้าง plague อุดตันในหลอดเลือด (หรือที่เรียกว่า atherosclerosis) หากการอุดตันเกิดขึ้นที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจโดยตรงจะเกิดภาวะหัวใจวายจาก Myocardial infarction ได้ หรือเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั่นเอง
นอกจากนั้น ฝุ่นพิษจิ๋วยังอาจนำไปสู่การเกิด ภาวะ platelet aggregation คือ ภาวะเลือดหนืด ซึ่งก็คือการเพิ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือดและเกร็ดเลือด จนอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่สมอง หัวใจ ขา เป็นต้น รวมไปถึงฝุ่นพิษจิ๋วยังมีขนาดเล็กมาก จนถึงขั้นที่ผ่านเข้า blood-brain-barrier ได้ จึงสามารถมีผลต่อเซลล์สมองในระยะยาวอย่างแน่นอน และสิ่งที่ประชาชนอาจยังนึกไม่ถึงในขณะนี้ก็คือ ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังมีผลต่อการกลายพันธุ์ของยีนส์ (Genetic mutations) ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็ง หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจแสดงออกในเด็กแรกเกิดได้อีกด้วย
ความชุกของโรคที่เพิ่มมากขึ้น
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับอัตราผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2563 -2566 พบกลุ่มโรคกลุ่มระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น 33.9% โรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 46% โรคตาเพิ่มขึ้น 20 % โรคผิวหนังเพิ่มขึ้น 9.1% และมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ปัจจุบันมะเร็งปอด ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนวัยอันควร และติด 1 ใน 5 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทย และแม้ไม่สูบบุหรี่ก็พบคนเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 1.6 ล้านคน และคาดว่าในปี 2030 จะพบคนเสียชีวิตจากมะเร็งปอดถึง 2.89 ล้านคน
ข้อมูลวารสารวิชาการสาธารณสุขระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 กับการกำเริบของอาการผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยศึกษาแบบ horizontal study ที่จัดทำขึ้นโดย รพ น่าน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ logistic regression ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ 851 คน ร้อยละ 63 เป็นเพศชาย ร้อยละ 93.7 มีอายุมากกว่า 60 ปี ผลงานวิจัยบ่งชี้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการกำเริบของโรค COPD คือประวัติการเคยสูบบุหรี่เพิ่มการกำเริบขึ้น 2.4 เท่า การได้รับ PM2.5 36-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มการกำเริบขึ้น 1.5 เท่า และการได้รับ PM2.5 > 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เตรเพิ่มการกำเริบของ COPD 1.4 เท่า โดยระยะเวลาการสัมผัสกับ PM2.5 ก่อนมา รพ ก็มีผลต่อการกำเริบของอาการ โดยสัมพันธ์กับระดับสูงมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงสี่วันแรกหลังการสัมผัสจะเพิ่มการกำเริบของโรคมากที่สุด
ดังนั้นการที่ทางการไทยตั้งค่าวิกฤตที่จะประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติไว้ที่ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 5 วันติดต่อกันนั้น ก็น่าถือว่าอาจจะเป็นการกำหนดค่าวิกฤต (หรือ threshold) ที่สูงเกินไป สำหรับผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่แล้ว
หากพิจารณาอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งปอดแยกเป็นรายภาคของประเทศ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เผยตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในภาคเหนือสูงที่สุดในประเทศ และสูงกว่าภาคใต้เกือบหนึ่งเท่าตัว สถานการณ์ดังกล่าวสัมพันธ์กับค่าฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือที่สะสมมายาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จนส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาลในช่วงที่เกิดฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนหนุ่มสาวของประชากรภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่นๆ อันสอดคล้องกับงานวิจัยที่รองรับทั่วโลกว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ในภาคเหนือยังพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ส่วนบน เช่น เลือดกำเดาไหล, น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, เสียงแหบ, ไอ, allergic rhinitis, post-nasal drip ซึ่งเป็นอาการจาก PM2.5 ที่ไม่รุนแรง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นพ สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของ Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า สถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากในปี 2563 – 2565 มีผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย แต่ในปี 2566 พบผู้ป่วยสูงกว่า 20,000 ราย
ล่าสุด รศ.นพ. เฉลิม ลิ่วศรีสกุล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า โรคที่มีความรุนแรงและพบมากที่สุดสำหรับภาคเหนือ ในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คือ การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจและ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งล้วนเป็นอันตรายรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และจากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ได้ทำการศึกษาผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ที่สัมพันธ์กับระดับ PM2.5 พบว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.เมตรที่เพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวัน จะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของประชากรเชียงใหม่ 1.6% ในอีก 6 วันต่อมา
ผลกระทบของ PM2.5 ในพื้นที่อื่นๆของไทย
นอกจากภาคเหนือแล้ว ยังมีการการศึกษาเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นละออง ขนาดเล็กกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกและการเสียชีวิต ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นําข้อมูลมลพิษอากาศและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาจากกรมควบคุมมลพิษ และข้อมูลการเข้ารับ การรักษาพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกจากสปสช และข้อมูลผู้เสียชีวิตจากระบบบริการข้อมูลสถิติชีพประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงระหว่าง ตุลาคม 2556 – ธันวาคม 2562 โดยใช้การศึกษาแบบเคส-ครอสโอเวอร์ และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยแบบจําลองปัวซองแบบมีเงื่อนไข (Conditional Poisson Model)
ผลการศึกษาพบว่า การรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุก 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มี ความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ด้วยโรคระบบทางเดิน หายใจในแผนก ผู้ป่วยนอก อันเนื่องมากจากการรับสัมผัส PM10 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 และมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเสีย ชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมากจากการรับสัมผัส PM2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 หากควบคุมความเข้มข้นของ PM ไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งของค่ามาตรฐานในขณะนั้น (หรือเท่ากับ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสําหรับ PM10 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสําหรับ PM2.5) จะสามารถช่วยลดจํานวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมาจาก การรับสัมผัส PM10 ได้จํานวน 29,813 ราย และลดจํานวนผู้เสียชีวิตสาเหตุจากโรคระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากการรับสัมผัส PM2.5 ได้ จํานวน 983 ราย ข้อมูลจากการศึกษานี้สามารถใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนนโยบายการจัดการปัญหา PM ในระดับจังหวัดเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบของฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อไป
การป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5
“ป้องกันได้ (preventable) ได้โดยรัฐ”
สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล รวมถึงมี ปัญหาหมอกควันข้ามแดน การเกิดไฟในพื้นที่ป่า และการเผาพื้นที่ทางการเกษตร จนทำให้ประชาชนในหลายจังหวัดภาคเหนือต้องทนอยู่กับปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดค่ามาตรฐานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศไทย มีคุณภาพอากาศในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่แย่กว่าค่ามาตรฐานเกือบทุกวัน ยกเว้นเพียง 2 วันที่มีฝนตกในกลางเดือนมีนาคมเท่านั้น
สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากแรงกดดันที่มาจาก (ก) การเผาพื้นที่ทางการเกษตร ที่ยังขาดกลไกการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง (ข) การเกิดไฟในพื้นที่ป่า ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและทันการณ์ และ (ค) ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะรัฐบาลยังกังวลใจเรื่องข้อกติกาการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาทั้งสามประการจึงกลายเป็นแรงกดดัน (หรือ Pressure) ตามแนวคิดของ DPSEE Model (หรือ Driving Forces > Pressure > State > Exposure > Effects) ขององค์การอนามัยโลก ให้เกิดสภาวะ (หรือ Sate) ที่คุณภาพอากาศมีความไม่ปลอดภัยสูงและต่อเนื่องยาวนาน
แน่นอนว่า การลดแรงกดดันจากปัญหาทั้งสามประการข้างต้น เพื่อให้คุณภาพอากาศมีสภาวะที่ดีขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง แต่หากในปัจจุบันที่การแก้ไขทั้งแรงกดดันและสภาวะดังกล่าวยังไม่ลุล่วงหรือปรากฏผลชัดเจนนัก สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การลดการสัมผัส (หรือลดการ exposure) ด้วยการ (ก) ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติ (ข) ประกาศมาตรการที่จะลดการออกไปในพื้นที่โล่งแจ้งของประชาชนลง (เช่น การทำงานที่บ้าน การประกาศหยุดโรงเรียน) และ (ค) การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากป้องกันฝุ่นพิษ (หรือ หน้ากาก N95) หรือมุ้งลดฝุ่น สำหรับผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง หรือผู้ป่วย/ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงตามที่กล่าวไปข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า (ก) เกณฑ์การประกาศภัยพิบัติที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ค่า PM2.5 เฉลี่ย 150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 5 วัน ก็น่าจะเป็นค่าวิกฤตหรือ threshold ที่สูงเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อค่าคุณภาพอากาศสูงเกินเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ แต่ (ข) ผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคเหนือหลายจังหวัดก็ยังรีรอที่จะประกาศเขตภัยพิบัติ โดยอ้างว่ารอระเบียบจากกรมบัญชีกลาง และ (ค) การแจกอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวก็ยังทำได้จำกัด ทำให้ประชาชนในภาคเหนือก็ยังต้องรับสัมผัสฝุ่นพิษต่อไป ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพียงพอ
การคัดกรองโรค
เมื่อประชาชนยังคงต้องรับสัมผัสฝุ่นพิษต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลกระทบทางสุขภาพ (หรือ Health Effect) จึงยังคงเพิ่มขึ้น ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ขั้นตอนสุดท้ายที่รัฐจะสามารถดำเนินการได้คือ การคัดกรองโรค ให้เร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อจะได้รักษาได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะนั่นคือ การลดผลกระทบทางสุขภาพที่จะมีต่อประชาชนและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในระยะยาว
ล่าสุด นพ สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการมอบอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด ที่ใช้คัดกรองได้โดยง่ายในชุมชน (Peak Flow Meter) จากเครือข่ายคลินิกโรคหืดและ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุขกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้น ในผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการกำเริบรุนแรงจน ต้องเข้าห้องฉุกเฉินหรือต้องนอนโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเป็นกังวลว่า โรงพยาบาลอื่นๆ นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น อว กลาโหม มหาดไทย หรือแม้แต่รพ.สต. ที่ถ่ายโอนออกไปสังกัด อบจ. แล้ว (ประมาณ 4000 แห่ง) และรพ.สต. ที่สังกัดกระทรวงสธ แต่ไม่ได้สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ประมาณ 5000 แห่ง) จะได้รับอุปกรณ์นี้หรือไม่? และผู้ป่วยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นยิ่งนี้โดยถ้วนหน้ากันหรือไม่? เพราะฉะนั้น ทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (หรือ สปสช.) ควรกำหนดแนวปฏิบัติหรือ guidelines ในการดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในพื้นที่เสี่ยงอย่างชัดเจนไปเลยจะดีที่สุด
ในส่วนของการคัดกรองโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันแนวปฏิบัติเดิมของราชวิทยาลัยแพทย์อายุรกรรมช่องอก ระบุเพียงให้เริ่มคัดกรองที่อายุ 55 ปีขึ้นไปโดยทำ low-dose chest CT scan ทุกๆปี ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack-year หรือแม้แต่เลิกบุหรี่แล้วน้อยกว่า 15 ปี ดังนั้น แนวปฏิบัตินี้จึงยังมิได้รวมความเสี่ยงในเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ไว้ด้วยแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น แนวปฏิบัติหรือ guideline ดังกล่าวเป็นแนวทางการคัดกรองของแพทย์ ที่ยังมิได้รวมเข้าไว้ในสิทธิประโยชน์ของประชาชนในการคัดกรองมะเร็งปอด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ แต่พบว่า ภาครัฐยังไม่เคยจัดบริการสิทธินี้แก่ประชาชนทั้งสามสิทธิการรักษาเลย นั่นแปลว่า หากประชาชนในกลุ่มเสี่ยงจะเข้าตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดก็จะต้องเสียค่าการตรวจคัดกรองเอาเอง ดูเสมือนจะเป็นความเท่าเทียมกันในการได้รับการละเลยจากรัฐ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า การทำ Chest x-ray ก็ยังขาดความไว (หรือขาด sensitivity) ในการตรวจพบโรคมะเร็งปอด กล่าวคือ อาจตรวจไม่พบความผิดปกติ ทั้งที่เป็นโรคแล้วได้ (หรือที่เรียกว่า false negative นั่นเอง) ผู้เขียนเห็นว่าควรใช้ Low-dose CT scan จะมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอาจมีการคัดกรองเบื้องต้นได้ โดยใช้อุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะตรวจคัดกรองด้วยวิธีการอื่นๆ ต่อไป
แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเว้นจะมีอาการเบื้องต้น เช่น ไข้ ไอ หอบ เหนื่อย และมีแพทย์สั่งให้ทำการตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก ซึ่งนอกจากการมีอาการอาจล่าช้าเกินไปแล้ว และผลตรวจเอกซ์เรย์ปอดอาจไม่ไวพอในการตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ ด้วย
สรุป
ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังกลายเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่สำคัญสำหรับคนไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรเตรียมมาตรการในการลดแรงกดดัน ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ด้วยการเสริมขีดความสามารถ ทรัพยากร และงบประมาณสำหรับท้องถิ่นในการจัดการไฟป่า และการเพิ่มทางเลือกสำหรับเกษตรกรในการลดการเผาในภาคเกษตร ไปพร้อมกับการควบคุมและห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนอุปกรณ์ในการป้องกันสำหรับชุมชนและประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงและความเปราะบางทางสุขภาพ และสุดท้าย ก็ควรสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรค พร้อมทั้งการวางระบบการติดตามภาวะสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นพิษที่ชัดเจนขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น และตรวจพบได้เร็วขึ้นในอนาคต