อยุธยาเมืองมรดกโลก เมืองที่อาจจะบอกได้ว่า เปรียบเสมือน ‘เมืองโบราณที่มีชีวิต’

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์

Think Forward Center


เนื่องด้วย การพัฒนาบ้านเมืองในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้อยู่ร่วมกับโบราณสถาน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเมืองอยุธยาจำนวนมาก โดยเฉพาะภาพเกาะเมืองอยุธยา ที่หากมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ จะพบทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานสำคัญอย่าง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ถูกรายล้อมด้วยบ้านเรือนของผู้คน และวิถีชีวิตในปัจจุบันของประชาชน อีกทั้งในพื้นที่ชุมชนของเมือง เราจะพบเห็นโบราณสถานแทรกอยู่ในเมืองปัจจุบัน จนเป็นภาพจำกับผู้มาเยือนให้ได้ประทับใจหรือสงสัยอยู่บ้าง แต่นั่นแสดงก็ให้เห็นว่า อยุธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีพลวัตและพึ่งพาอาศัยกับโบราณสถาน ไม่ต่างกันกับชาวอยุธยาในอดีต 

แต่เหตุใด พระนครศรีอยุธยา ถึงได้มีชื่อเสียง และขึ้นชื่อว่าได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของประวัติศาสตร์ชาติไทย จนกระทั่งได้รับเลือกเป็น ‘มรดกโลก’ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์โดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO)?

องค์การยูเนสโก (UNESCO)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน โบราณสถาน หรือ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่อาจจะจับต้องไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์ ก็รวมอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ขององค์การ สร้างขึ้นเพื่อประเมินถึง “คุณค่า” ของสิ่งเหล่านั้นที่มีการศึกษาว่า มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและอารยะธรรมของมนุษย์ โดยกำหนดสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล’ หรือ Outstanding Universal Value; OUV ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดคุณค่าเหล่านั้น โดยไม่สามารถทำการประเมินเพียงแค่ด้านใดด้านเดียว หรือปราศจากด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้าน ดังนี้ 

ด้านที่ 1 คือ โบราณสถานหรือแหล่งธรรมชาติ ที่มีลักษณะที่ตรงหรือสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 1 ข้อ จากที่องค์การยูเนสโกได้กำหนดและแบ่งความละเอียดไปที่หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ไว้ทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน ตามแนวทางอนุวัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention)

(รายละเอียดข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะของโบราณสถานหรือแหล่งธรรมชาติ ทั้ง 10 ข้อ สามารถศึกษาได้ที่นี่: https://whc.unesco.org/en/criteria/)


ด้านที่ 2 คือการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประเด็นด้วยกัน อย่างแรกคือ ความถ่องแท้ (Authenticity) โดยมีความหมายว่า ความเป็นของแท้ดั้งเดิม ความชัดแจ้งของความจริงแท้ ความซื่อตรงของแหล่งโบราณสถานหรือประเพณีเหล่านั้นที่ยังคงหลงเหลือในช่วงเวลาร่วมสมัย ประเด็นต่อมาคือ ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) โดยหมายถึง ยังคงองค์ประกอบที่สำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ได้ หรือความเป็นองค์รวม และความเชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียว ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ใช้พิจารณาคุณค่าของแหล่งโบราณสถานอีกมากมาย


ด้านที่ 3 คือ มาตการการป้องกันและการบริหารจัดการ โบราณสถานหลายแห่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้องเพื่อจะสามารถอนุรักษ์และรักษาไว้ เพื่อการค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนการอนุรักษ์และมาตรการการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาและความเสี่ยงต่อโบราณสถานหรือพื้นที่มรดกโลก รวมถึงการประเมินว่าพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนมีโอกาสถูกผลกระทบด้านลบทั้งในเชิงการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบแหล่งมรดกโลกอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแนวปะการัง Aldabar ของประเทศเซเชลส์ ประเทศซึ่งเป็นหมู่เกาะทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ทำให้มีการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อเข้าเยี่ยมชมแนวปะการัง อีกทั้งยังคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรั่วไหลของน้ำมันจากเรือที่ใช้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากสภาวะโลกร้อนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องมีมาตรการการบริหารจัดการและดูแลรักษาอย่างประณีต เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในประวัติศาสตร์ของโลกได้อย่างถูกต้อง โดยทางองค์การยูเนสโกได้จัดทำคู่มือแนวทางการประเมินผลกระทบไว้ให้ผู้ที่รับผิดชอบดูแลมรดกโลกเหล่านั้นนำไปปฏิบัติ เพื่อปกป้องคุณค่าที่สำคัญของโบราณสถานหรือมรดกของโลกใบนี้


OUV ของอยุธยา คืออะไร ?

เมื่อย้อนกลับมาสู่ เมืองอยุธยา หรือ กรุงศรีอยุธยา ในประวัติศาสตร์ เหตุใดพื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นมรดกโลก ? สถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของโลกตั้งแต่ ปี 2534 หากกล่าวโดยสรุปถึงความสำคัญด้าน “คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล” ทางองค์การยูเนสโก ได้จัดทำการรายงานสถานการณ์ของมรดกของโลกแต่ละที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเรียกว่า “แบบรายงานที่ประเมินความเป็นคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Statement of Outstanding Universal Value หรือ SOUV)” โดยใช้หลักเกณฑ์ OUV ในการประเมิน ซึ่งจะมีการพิจารณาถึง แผนการอนุรักษ์พื้นที่และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงผลกระทบด้านต่างๆ ในอนาคต พร้อมด้วยแผนการป้องกันและบริหารจัดการที่ต้องจัดทำและปฏิบัติอยู่ตลอด  

เมืองอยุธยา จึงจำเป็นต้องมีการดูแลอย่างพิถีพิถันและใช้ความเชี่ยวชาญค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล โดยได้รับการคัดเลือกตามหลักการประเมินด้านที่ 1 ในหัวข้อที่ 3 หรือ (iii) หมายถึง สิ่งที่สามารถเป็นประจักษ์พยานหรือความมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งแสดงถึงขนบทำเนียมหรือวัฒนธรรม วิวัฒนาการ และความเป็นมาของอารยธรรมในพื้นที่ ทั้งที่สูญหายไปแล้วหรือยังคงมีให้พบเห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมืองอยุธยาได้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่เปรียบเสมือนการแสดงภาพวัฒนธรรมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงของคนไทยในหน้าประวัติศาสตร์ แต่นั้นเป็นเพียงการผ่านแบบประเมินด้านที่ 1 แต่ คุณค่าของอยุธยามิได้มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น 

อยุธยา ยังผ่านการประเมินด้านที่ 2 ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญที่สุด นั้นคือ ความถ่องแท้ (Authenticity) อธิบายถึงคุณลักษณะความเป็นของแท้ดั้งเดิมของพระนครศรีอยุธยา ในฐานะนครประวัติศาสตร์ อดีตเมืองศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ในห้วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 19 – 21 อันมีประจักษ์พยานทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในพื้นที่นครประวัติศาสตร์แห่งนี้ 

และ ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) ซึ่งอธิบายถึงองค์ประกอบและคุณลักษณะที่แสดงให้เห็นถึง คุณค่าด้านความครบถ้วนของนครประวัติศาสตร์อย่างพระนครศรีอยุธยา ที่ยังมีสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นนครประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยเฉพาะองค์ประกอบของเมืองที่ปรากฏในแผนที่เก่าทั้งจากชาวต่างชาติและนักสํารวจชาวไทย เช่น ซากโบราณสถานในและนอกเมือง ผังเมือง พระราชวังโบราณ ถนน คูคลอง ศาสนสถานต่าง ๆ รวมถึงย่านที่พำนักของชาวต่างชาติต่าง ๆ เป็นต้น โดยทั้งหมดถือเป็นความครบถ้วนสมบูรณ์ของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 

และด้านที่ 3 ด้านการปกป้องคุ้มครองและแผนบริหารจัดการ (Protection & Management) โดยนําเสนอข้อมูลและระดับของการปกป้องคุ้มครองและบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลกนคร ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง อันประกอบขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย ระเบียบ เทศบัญญัติ ข้อกำหนด แผนแม่บทการกําหนดขอบเขตต่าง ๆ การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แผนบริหารจัดการที่มีความเกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และมาตรการควบคุมด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลอ้างอิงจากประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกจาก องค์การยูเนสโก (UNESCO)

โดยในแง่การศึกษาด้านการจัดการมรดกโลกและการท่องเที่ยว ข้อมูลจาก อาจารย์ ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการสรุปใจความคุณค่าของโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายในเมืองโบราณอยุธยา ไว้ทั้งหมด 6 หัวข้อ ประกอบด้วย

  1. ตำแหน่งของเมืองอยุธยา ถูกคัดเลือกมาอย่างเหมาะสม อยู่ในตำแหน่งบรรจบกันของแม่น้ำจำนวน 3 สาย และมีการวางผังเมืองอย่างประณีตและสวยงามเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำและแม่น้ำ เป็นการตั้งถิ่นฐานของที่แสดงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต โดยเฉพาะการใช้น้ำและแม่น้ำในด้านการป้องกันเมือง และการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรในอดีต
  2. เมืองอยุธยา เป็นต้นแบบสำคัญในการวางผังเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานในกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดวางอาคาร ชื่อสถานที่ต่างๆ ลักษณะอาคารบ้านเรือน ตลอดจนวิถีชีวิตกับสายน้ำของผู้คน และยังคงแสดงถึงความยิ่งใหญ่และสวยงาม
  3. เมืองอยุธยา มีองค์ประกอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก โดยเฉพาะโบราณสถานมากมายที่เป็นสถาปัตยกรรมและอารยธรรมที่ไม่มีพื้นที่ใกล้เคียงเป็นคู่เปรียบเทียบได้ ทั้งในเอเชียและทั่วโลก
  4. โบราณสถานแต่ละแห่งในเมืองอยุธยา เป็นที่รับรู้ด้านความมีเอกลักษณ์เฉพาะของเอเชีย สถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เจดีย์ พระราชวัง ที่ตั้งอยู่ทั่วเมือง มีองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยที่แตกต่างกันด้วย และไม่สามารถหาได้ที่ไหนอีกในพื้นที่อื่น แสดงถึงระยะเวลาของความเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองอันยาวนานของเมืองนี้ บางส่วนของโบราณสถานถูกสร้างก่อนมีการสถาปณากรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักร แสดงถึงวิวัฒนาการของอารยะธรรมไทยที่หาที่เปรียบมิได้
  5. นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว เมืองอยุธยายังคงประกอบด้วย ภาพเขียน ภาพวาดจิตรกรรม หรืองานศิลปะต่างๆ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นเดียวกัน ทั้งในด้านของรูปร่าง การออกแบบ ฝีมือของช่างศิลปะ วัสดุที่ใช้ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือในอดีต โดยมีการเผยแพร่ความคิดและวัฒนธรรมของอยุธยาสู่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างลาวและกัมพูชาอีกด้วย
  6. จำนวนของวัดและศาสนสถานในเมืองอยุธยาที่ปัจจุบันเป็นโบราณสถานมีจำนวนมาก แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรม และยังเป็นอารยธรรมที่ดำรงด้วยความสงบและมั่นคงเป็นระยะเวลานานแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


หากลงรายละเอียดว่า เพราะเหตุที่เมืองอยุธยานั้นสามารถผ่านหลักเกณฑ์หลากหลายขั้นตอนได้ ทางองค์ยูเนสโก ได้ชี้แจงไว้โดยสรุปว่า เมืองอยุธยาได้รับคุณค่าของมรดกโลก เพราะความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ นครโบราณที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ยังคงแสดงความเป็นนครที่เคยเจริญรุ่งเรืองอย่างเด่นชัดผ่านโบราณสถานมากมายในเมือง โดยมีรายงานของนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปกับแผนการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ที่จากเดิมมี 2 พื้นที่ จะถูกเพิ่มเป็นทั้งหมด 7 พื้นที่ด้วยกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบอย่าง กรมศิลปากร

ซึ่งความเป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คือ การเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับความเป็นเมืองกับลุ่มน้ำต่าง ๆ กรุงศรีอยุธยาครอบคลุมพื้นที่โดยรอบเกาะเมืองทุกทิศทุกทาง โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กระจายเป็นวงกว้าง ร่องรอยของประจักษ์พยานของอารยธรรมของกรุงศรีอยุธยาที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางและหลอมรวมผู้คน วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิทยาการการบริหารจัดการน้ำ การออกแบบเส้นทางน้ำเพื่อการเดินทาง และสิ่งต่าง ๆ เป็นเนื้อเดียวกัน จนพัฒนากลายมาเป็นประเทศสยาม และประเทศไทยในปัจจุบัน

ดังนั้น การพิจารณาขอบเขตของมรดกโลกของพระนครศรีอยุธยาจึงไม่ควรพิจารณาเฉพาะขอบเขตในพื้นที่แหล่งมรดกโลกฯ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน หรือพื้นที่เฉพาะเขตอุทยานประวัติศาสตร์ที่อยู่ใจกลางนครประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว หากควรพิจารณาความเป็นพระนครศรีอยุธยาที่ยังปรากฏมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานอันแสดงคุณค่าของความเป็นกรุงศรีอยุธยา โดยพิจารณาองค์รวมของความเป็นกรุงศรีอยุธยา เมืองที่มีพัฒนาการความเป็นเมืองในห้วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 24 ว่ามีวิถีชีวิตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และมีภูมิทัศน์ที่เชื่อมโยงกับบ้านเมืองอื่นในลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยคุณลักษณะที่เป็นพยานหลักฐาน หนาแน่นปรากฏในเกาะเมือง (พื้นที่เขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับพื้นที่โดยรอบทั่วเกาะเมือง) ค่อย ๆ หนาแน่นต่ำในพื้นที่นอกเกาะเมือง แต่ยังคงแสดงถึงความเป็นเมืองและซากอารยธรรมที่ชัดเจนอย่าง โบราณสถานที่ตั้งอยู่มากมาย และยังสามารถดำรงอยู่ให้ได้เห็นในปัจจุบัน

นั่นจึงเป็นสาเหตุทั้งหมดที่เมืองอยุธยา หรือกรุงศรีอยุธยาในอดีต แสดงถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทยและอารยธรรมของไทย โบราณสถานมากมายที่ตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่ทั่วเมืองอยุธยาเป็นจุดบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่สำคัญกว่านั้นคือ โบราณสถานที่ทรงคุณค่า มีจำนวนหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถานที่ทำให้เมืองอยุธยาเกิดเป็นนครโบราณได้ ไม่ได้อยู่เพียงในเขตอุทยาน นั้นส่งผลให้ กรมศิลปากร หน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลโบราณสถานของไทย ได้วางแผนการขยายพื้นที่อนุรักษ์โบราณสถานออกไปมาขึ้น เป็น 7 พื้นที่ โดยที่พื้นที่ที่ 1 – 2 คือ พื้นที่ทั่วเกาะเมืองอยุธยาทั้งหมด และ 3 – 7 คือ พื้นที่นอกเกาะเมือง ซึ่งเป็นขอบเขตโดยรอบของความเป็นนครโบราณตั้งแต่ในอดีต โดยครอบคลุมพื้นที่ล้อมรอบเกาะเมืองอยุธยาไว้ เพราะพื้นที่เหล่านั้นก็มีความสำคัญทางคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ที่หาที่เปรียบมิได้ เมื่อพื้นที่ทั้งหมดของกรุงศรีอยุธยารวมเป็นเนื้อเดียวกัน ความถ่องแท้ของความเป็นอารยะธรรมโบราณก็ยังคงสามารถดำเนินต่อ 

โดยในปัจจุบัน แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องประกอบไปด้วยขอบเขต ดังนี้ 

1) พื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก หรือพื้นที่หมายเลข 1 มีขอบเขตเฉพาะในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 

2) พื้นที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หมายถึง พื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง หมายเลข 2 – 7 ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้แผนการบริหารจัดการในโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 

ทั้งนี้ สาระสำคัญของพื้นที่มี 2 ส่วน

พื้นที่ดีเด่น (Nucleus Zone) พื้นที่ 1 มีกายภาพและบรรยากาศดีที่สุด

เขตกันชน (Buffer Zone) พื้นที่ 2 – 6 ภายในเกาะเมืองและชานเมืองทั้ง 4 ด้าน รวม 6 พื้นที่


ต่อยอดโบราณสถานสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ?

เมื่อเกิดคำถามว่า เมื่อเป็นมรดกโลกแล้วมีประโยชน์อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโบราณสถาน ก็จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการสร้างเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ หากนำประเด็นเรื่องวัฒนธรรมและประเพณีของไทยมาเกี่ยวข้องกับการสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้ จำเป็นต้องใช้ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อเป็นการผนวกรวมระหว่าง ความเป็นมาอันยาวนานของศิลปวัฒนธรรมให้เข้ากับการสร้างรายได้หรือการค้าขายแบบร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่งเมืองอยุธยาใช้ประโยชน์จากโบราณสถานเหล่านี้มากมาย เพื่อการสร้างรายได้และสร้างการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจนเกิดเป็นธุรกิจหลากหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในเมืองอยุธยา เช่น การให้เช่าจักรยานเพื่อชมโบราณสถานในเมืองอยุธยา ร้านขายของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และโบราณสถานของไทย รวมถึงบรรยากาศในการตกแต่งร้านอาหารหรือที่พัก ที่เชื่อมโยงกับองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ต้นทุนทางประวัติศาสตร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่? เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องวางแผนและมีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ เป็นเหตุให้เมืองอยุธยาจำเป็นต้องเจอความท้าทายใหม่ในการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และไม่สามารถสร้างทดแทนได้แล้วอย่าง สถาปัตยกรรมโบราณ และโบราณสถานทั่วเมือง ให้ยังสามารถอนุรักษ์และรักษาคงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เพื่อการค้นคว้าความรู้ด้านประวัติศาสตร์สืบต่อไป 

แต่ในขณะเดียวกัน สามารถเป็นแหล่งรายได้สำคัญและดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องกับคนในท้องถิ่นด้วย อยุธยายังมีศักยภาพอีกมากในการต่อยอดให้พื้นที่โบราณสถาน ในปัจจุบันอยุธยาเป็นสถานที่ที่ดึงดูดให้มีการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่อย่างกระจายตัวมากขึ้น มีประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมมากขึ้น ตราบใดที่มีการค้นพบเจอโบราณสถาน หรืออาณาเขตของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการสร้างเมืองที่ดึงดูดนักเดินทางอย่างการเพิ่มจำนวนของพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นการจัดแสดง สิ่งของหรือผลงาน ที่เฉพาะเจาะจงพื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เสมอ เนื่องจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการเดินทางเยือนต่างถิ่น ต้องการได้ประสบการณ์การเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมสมัยในพื้นที่นั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น มีโบราณสถานแห่งหนึ่งนอกเกาะเมืองอยุธยาที่ไม่เคยถูกประชาสัมพันธ์มาก่อน และเริ่มมีต้นไม้ขึ้นปกคลุกมากขึ้น รวมถึงมีซุ้มประตูทางเข้าวัดที่มีลักษณ์ที่อยู่ติดต้นไม้ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดมนต์เสน่ห์งดงาม เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ใหม่ ทำให้คนตั้งชื่อให้รู้สึกน่าค้นหาว่า “ประตูแห่งกาลเวลา” ซึ่งได้รับความนิยมเสริมมาจากการละครย้อนยุคอย่าง “พรหมลิขิต” ที่บอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาของกรุงศรีอยุธยาด้วย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ผนวกเอาชื่อที่ประชาสัมพันธ์กับสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญหรือความนิยมมาใช้ ทำให้วัดร้างเก่าแก่ที่สงบเงียบและไม่เป็นที่รู้จักเป็นเวลานานกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง 

ภาพจาก http://go.ayutthaya.go.th/


และด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมากมายที่เข้าไปเยี่ยมเยือนและท่องเที่ยวเพื่อเก็บภาพที่ประทับใจ ก็ทำให้เส้นทางก่อนที่จะถึงโบราณสถานแห่งนี้ เกิดเป็นร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงเส้นทางรถรับจ้างและรถตุ๊กตุ๊กใหม่ หรือแม้แต่ที่พักขนาดเล็ก เกิดเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นในตำบลนั้นได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่แน่นอนว่า จำเป็นต้องมีการวางแผนและมาตรการการแก้ปัญหาผลกระทบเชิงลบหลายด้าน ที่จะกระทบต่อทั้งโบราณสถานและชุมชน รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในพื้นที่นั้น 

เมืองอยุธยาสามารถต่อยอดและสร้างเศรษฐกิจจากโบราณสถานและประวัติศาสตร์ได้อีกหลายประเด็น หรือแม้แต่ในอนาคต เมื่อเทียบกับนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่สามารถใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศเกิดการบริโภคภายในของประเทศที่หล่อเลี้ยงตนเองได้ นั่นจึงเป็นบทเรียนที่ไทยควรต้องเดินหน้าเพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าอันถ่องแท้ของความเป็นไทย และพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ร่วมสมัยต่อไป 





อ้างอิง:

https://whc.unesco.org/en/criteria/

https://whc.unesco.org/document/195559

https://whc.unesco.org/en/list/576

https://worldheritagesite.onep.go.th/conservation

อาจารย์ ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร https://drive.google.com/file/d/1ZU1xOd9k217ota9GG3V-Nh3AIeTEueLq/view?usp=sharing

รายงานฉบับสมบูรณ์ นครประวัติศาตร์ พระนครศรีอยุธยา https://drive.google.com/drive/folders/1m8piUt-pKIlhpd7aazUY9zDk-zj4dUiB?usp=sharing

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า