พสุธา โกมลมาลย์
Think Forward Center
“สกลนครเป็นพื้นที่สะสมทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์และร่องรอยชุมชนโบราณกระจายตัวในพื้นที่ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพังโคน อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และรอบๆ หนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร ซึ่งชุมชนโบราณดังกล่าวมีอายุประมาณ 600 ปีก่อนพุทธกาล
นอกจากภาพเขียนสีและร่องรอยชุมชนโบราณ ในเขตพื้นที่สกลนครยังพบโบราณสถานกระจายอยู่โดยทั่วไป โดยไล่สมัยได้ตั้งแต่โบราณสถานในยุคทวารวดีอย่าง กลุ่มใบเสมาหิน ที่มีช่วงอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 ซึ่งพบในพื้นที่บ้านท่าวัดในเขตอำเภอเมือง โบราณสถานในสมัยขอมหรือเจนละ ที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 ที่ปรากฎหลักฐานผ่าน รูปแบบการวางผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมของเมืองโบราณสกลนคร และสถาปัตยกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ อาทิ ปราสาทภายในองค์พระธาตุเชิงชุม ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทดุม หรือสะพานขอมในเขตเทศบาลนครสกลนคร
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองโบราณสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นการสร้างเมืองที่มีรูปแบบคูเมืองและแนวกำแพงเมือง ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยขอม (ที่มา : กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม)
เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21-22 ที่วัฒนธรรมแบบขอมเสื่อมลง พื้นที่สกลนครก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมแบบล้านช้าง ซึ่งปรากฏหลักฐานที่สำคัญได้ เช่น องค์พระธาตุเชิงชุม ที่เป็นการดัดแปลงปราสาทหินให้เป็นพระธาตุ พร้อมสร้างเรื่องเล่าอธิบายร่องรอยของวัฒนธรรมขอมเดิมผ่านวรรณกรรมและเรื่องอย่าง “พระเจ้าเลียบโลก” และ “อุรังคนิทาน” โดยในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ พื้นที่สกลนคร ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรีและได้รับการยกเป็นขึ้น “เมืองสกลนคร” ตรงกับสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสกลนครยังคงเป็นเขตพื้นที่สะสมทางวัฒนธรรมเรื่อยมา ทั้งจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมหรือการอพยพของผู้คนทำให้เกิดร่องรอยทางอารยธรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ เช่น อุโบสถ(สิม) วัดสะพานคำ วัดศรีสะเกษ วัดพระธาตุเชิงชุม ที่เป็นศิลปะแบบญวนที่เริ่มอพยพโยกเข้ามาในพื้นที่สกลนครช่วงรัชกาลที่ 4 นอกจากศิลปะฝีมือช่างชาวญวนในงานอุโบสถในพุทธศาสนา ช่างฝีมือชาวญวนยังได้สร้างตึกปูนทรงยุโรปแบบฝรั่งเศสผสมเวียดนามในพื้นที่บ้านท่าแร่ ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าในพื้นที่สกลนคร
ปัจจุบัน เขตพื้นที่เมืองสกลนครถือได้ว่าเป็นพื้นที่เมืองเก่าที่มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระธาตุดุม พระธาตุนารายณ์แจงแวง คูเมืองโบราณ สะพานขอม ที่ถูกปรับประยุกต์ให้เข้าบริบทของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนที่มีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จนกลายเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและโบราณสถานต่างๆ ภายในพื้นที่
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร โบราณสถานศิลปะล้านช้าง ภายในเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ปัจจุบันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางความเชื่อของชาวพุทธในสกลนคร ที่ใช้ประกอบศาสนพิธีสำคัญทางศาสนา
กรอบประตูปราสาทภายหินทรายศิลปะสมัยขอม ในองค์พระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมบริเวณภายใน (ยกเว้นสุภาพสตรี)
ภูน้ำลอด ตาน้ำธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับองค์พระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม มีต้นลำน้ำใต้ดินจากเทือกเขาภูพาน แล้วไหลมาผุดบริเวณนี้ก่อนผ่านไปที่สระพังทอง ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัจจุบันภูน้ำลอดถูกปรับปรุงโดยมีการสร้างรูปปั้นพญานาค ตามตำนานความเชื่อเรื่องพญาสุวรรณานาคราชที่ทำหน้าที่เป็นปกปักษ์รักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่พระธาตุเชิงชุม
สระพังทอง หรือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นบารายแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมขอม ที่ใช้เพื่อการกักเก็บน้ำพบอยู่คู่กับปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระธาตุเชิงชุม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ที่ประชาชนในพื้นที่ใช้เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ ช่วงเช้าและเย็นจะมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้
คูสุด เป็นโบราณสถานแนวคันดินแสดงอาณาเขตรอบเมืองโบราณ ที่ถูกสร้างขึ้นในวัฒนธรรมขอม ตั้งอยู่บริเวณริมพื้นที่หนองหารทางด้านตะวันออก ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชมวิวอีกหนึ่งจุดชมวิวหนองหาร ประชาชนในพื้นที่ใช้สำหรับการพักผ่อนในช่วงเย็นๆ กับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน
วัดพระธาตุดุม ปราสาทในวัฒนธรรมแบบขอม เป็นปราสาทสามยอดปัจจุบันเหลืออยู่เฉพาะองค์กลาง สร้างด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเป็นวัดชื่อวัดพระธาตุดุม ใช้เป็นพื้นที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญทางศาสนาของคนในพื้นที่
พระธาตุนารายณ์เจงเวง โบราณสถานแบบขอมสร้างด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ องค์เจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมมีซุ้มประตูแต่ละด้าน ภายใต้ซุ้มข้างบนสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตามตำนานอุรังคธาตุพระธาตุแห่งนี้ถูกสร้างด้วยกลุ่มสตรีเพื่อบรรจุพระอังคารธาตุ ปัจจุบันเป็นวัดชื่อวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง ใช้เป็นพื้นที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญทางศาสนาของคนในพื้นที่ และจะมีการรำถวายองค์พระธาตุนารายณ์เจงเวง ในงานนมัสการพระธาตุนารายณ์เจงเวง ประจำทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม
นอกจากโบราณสถานสำคัญในเขตพื้นที่เมืองสกลนครที่กล่าวมา จะถูกปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตและคติความเชื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ แต่โบราณสถานหลายแห่งก็ไม่ได้ถูกรักษาและคงคุณค่าไว้ เช่น
สะพานขอม หรือ สะพานหิน เป็นสะพานสมัยขอมแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนนิตโยเส้นทางขาออกเมืองสกลนคร เดิมเชื่อว่า เป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหาร โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองโบราณสถานแห่งนี้เป็นหนึ่งในแห่งที่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน
แนวเขตคูเมืองที่มีการลุกล้ำและปรับปรุงโดยไม่ได้รักษาสภาพของโบราณสถานที่เคยมี
แนวคูเมืองสกลนครที่ถูกถมปรับเป็นถนนจนไม่เหลือสภาพความเป็นโบราณสถานและคูเมืองเก่า
นอกจากโบราณสถานต่างๆ ที่กระจายอยู่โดยรอบพื้นที่เมืองสกลนคร ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์ของผู้คนในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งที่ยังคงสภาพ การเปลี่ยนการใช้งาน การปรับปรุงให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ หรือการรื้อทำลาย เขตเมืองสกลนครยังปรากฏสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทอาคารและบ้านเรือนที่ทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงของโบราณสถานและงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองสกลนคร ทำให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้ประกาศให้เขตพื้นที่เมืองเก่าสกลนครเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อทำให้องค์ประกอบเมืองเก่าสกลนครยังคงคุณค่า และเอกลักษณ์ไม่ให้ความเป็นเมืองเก่าถูกทำลายและลดความสำคัญลง
แผนที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เรื่องประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พ.ศ.2559
การประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าสกลนคร ส่งผลเชิงบวกกับพื้นที่เมืองสกลนครที่วางอยู่บนพื้นที่เมืองโบราณเป็นอย่างมาก โดยการประกาศเขตดังกล่าวทำให้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ใดๆ ในเขตพื้นที่เมืองเก่าจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนคร ที่คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนคร จะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดทำแนวทาง มาตรการ ระเบียบต่างๆ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาในพื้นที่เมืองเก่า และพิจารณากลั่นกรองให้คำปรึกษาและให้ความเห็นโครงการของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของรัฐที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในบริเวณเมืองเก่า การดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างของภาครัฐจะต้องผ่าน คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนครเสียก่อน
การพิจารณาออกแบบพื้นที่เรือนจำให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเรียนรู้ของเทศบาลนครสกลนคร ซึ่ง คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนคร จะทำหน้าที่ในการจัดทำแนวทาง มาตรการ ระเบียบต่างๆ และให้ความเห็นเพื่อดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาในพื้นที่เมืองเก่าให้มีความเหมาะสม
การพิจารณาให้ความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนคร ในกรณีการออกแบบก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองในพื้นที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม
อย่างไรก็ตาม การประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าสกลนครได้ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ จากการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า เช่น ปัญหาการซ้อนทับของที่ดินทั้งในส่วนของภาคราชการและเอกชน ที่วางอยู่บนเขตพื้นที่คูน้ำและคันดินที่เป็นโบราณสถานตามประกาศเขตเมืองเก่า
แนวเขตคูน้ำคันดินตามประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า(สีเขียว) ที่ซ้อนทับกับอาคารบ้านเรือนของประชาชนในเขตพื้นที่เมืองสกลนคร โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
จากปัญหาการทับซ้อนของเขตพื้นที่เมืองเก่าสกลนคร มีการคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนที่จะต้องได้รับผลกระทบจากประกาศนี้กว่า 500 ครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนต่างๆ เหล่านี้ต่างมีเอกสารสิทธิที่รัฐออกให้เป็นหลักฐานในการแสดงสิทธิในการครอบครองพื้นที่ที่ซ้อนทับกับแนวโบราณสถานเดิมตามหลักฐานของกรมศิลปากร
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
จากข้อขัดแย้งเรื่องการพยายามรักษาและพัฒนาโบราณสถานในเขตพื้นที่เมืองสกลนคร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีและเป็นต้นทุนในการพัฒนาพื้นที่เมืองสกลนคร และสิทธิในการครอบครองพื้นที่ของผู้ถือครองที่ดินในเขตพื้นที่โบราณสถาน โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่และตัวโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้ โดยทางเลือกในการอยู่ร่วมกันจะต้องมาจากผู้คนในพื้นที่ที่เป็นทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้รับผลประโยชน์ และรับผลกระทบ ซึ่งรัฐอาจต้องเริ่มพิจารณาจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเขตเมืองเก่าสกลนคร ที่มีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับบทบาทการบริหารของท้องถิ่นในฐานะตัวแทนของผู้คนในพื้นที่ ที่ไม่ใช่เพียงคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าสกลนคร ที่ได้รับการแต่งตั้งตามองค์ประกอบที่กำหนดมาจากส่วนกลาง แต่การวางแผนแม่บทในการอยู่ร่วมกันของคนกับโบราณสถาน จะต้องเป็นการให้ความสำคัญกับผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ผู้คนจะอยู่ร่วมกันกับโบราณสถาน เพราะมันคือเมืองที่ไม่ใช่โบราณสถานหรือสิ่งก่อสร้าง แต่มันคือ ผู้คนที่ก่อให้เกิดชีวิตและสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้น
ป้ายสัญลักษณ์คูเมืองที่ถูกปรับสถาพเป็นถนนและที่จอดรถของโรงพยาบาล ตัวอย่างการประณีประนอมของการอยู่ร่วมกันของผู้คนกับโบราณสถาน ที่พื้นที่ยังคงบ่งบอกถึงความสำคัญและอดีตที่เป็นมา และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเป็นไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง