สุขภาพจิตของทหารกองประจำการ: เรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

วริษา สุขกำเนิด


การเสียชีวิตของพลทหารที่ประจำกองใหม่ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องทบทวนปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายของบุคลากรในกองทัพให้มากขึ้น เพราะผลงานวิจัยในระดับนานาชาติปรากฏชัดแล้วว่า ทหารกองประจำการมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปมาก และทหารไทยก็มีภาวะความชุกของโรคซึมเศร้าสูงกว่าทหารของประเทศอื่นๆ

โรคซึมเศร้าไม่เพียงแต่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ยังได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการใช้ชีวิต การทำงาน และอาชีพ ทหารเป็นอาชีพหนึ่งที่เผชิญกับอาการซึมเศร้า ความคิด และความพยายามฆ่าตัวตายสูง ซึ่งแนวโน้มของปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้สูงมากในทหารประจำกองใหม่เป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 

จากงานวิจัยว่าด้วยความชุก (Prevalence) ของภาวะซึมเศร้า ความคิด และความพยายามในการฆ่าตัวตาย ของทหารในกองทัพ การศึกษาหนึ่งช่วงเวลา (Cross Sectional Studies) ผ่านการปริทัศน์เป็นระบบ (Systematic Review) และการวิเคราะห์เชิงอภิมาณ (Meta-analysis) ที่จัดทำโดย Yousef Moradi, Behnaz Dowran และ Mojtaba Sepandi พบว่า ความชุกภาวะซึมเศร้าในกองทัพคือร้อยละ 23 และความชุกของภาวะซึมเศร้าในทหารผ่านศึกคือร้อยละ 20 นอกเหนือจากนั้น ความชุกของความคิดอยากฆ่าตัวตายในกองทัพมีอยู่ร้อยละ 11 และความชุกของความพยายามในการฆ่าตัวตายมีอยู่ร้อยละ 11 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับความชุกของภาวะซึมเศร้าในประชากรทั่วไปที่มีประมาณร้อยละ 15-20 

ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวรายงานว่า ทหารในกองทัพถือว่ามีความชุกภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนภายนอก ภาวะซึมเศร้าในกองทัพประกอบด้วยหลายสาเหตุ ทั้งสภาพแวดล้อมของกองทัพหรือฐานปฏิบัติการ รวมถึงการภาวะหมดไฟในการทำงานที่นำไปสู่ความรู้สึกเชิงลบ ทหารบางรายยังเผชิญกับความผิดปกติด้านการนอนหลับ การกินอาหาร การออกกำลังกายอย่างหักโหม จนทำให้เกิดโรคคลั่งผอม หรือน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงจากการทำงาน อาการและพฤติกรรมข้างต้นส่งผลเสียต่อสภาวะทางอารมณ์จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

งานวิจัยยังพบว่า ภาวะซึมเศร้ามีความชุกมากที่สุดในหมู่ทหารเรือ ซึ่งเผชิญทั้งปัญหาในเชิงภารกิจพิเศษทางการทหารและปัญหาสุขภาพจิตที่มากกว่าทหารหน่วยอื่น สาเหตุของภาวะซึมเศร้าในทหารเรือเกิดจากความเครียดในการทำงาน ภารกิจที่อันตราย กฎที่เข้มงวด รวมทั้งความเสี่ยงในการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ปัญหาครอบครัวยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของปัญหาสุขภาพจิตในทหาร การที่ทหารเรือต้องจากบ้านนานและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ทำให้เกิดการตัดขาดจากครอบครัว ซึ่งนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ครอบครัวทหารยังมีความชุกของโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหวาดระแวงร้อยละ 5-13 ด้วย

นอกจากภาวะซึมเศร้าแล้ว การทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตายของบุคคลากรในกองทัพยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความชุกถึงร้อยละ 11 ทหารอากาศเป็นกองที่มีความชุกของความคิดฆ่าตัวตายสูงสุด และทหารผ่านศึกก็ความชุกมากกว่าทหารกองประจำการเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีการเปรียบเทียบความชุกของภาวะซึมเศร้าในกองทัพของแต่ละประเภท ผลการวิจัยพบว่า ทหารในกองทัพไทยมีความชุกของโรคซึมเศร้าอยู่ที่ร้อยละ 39 ซึ่งมากกว่าประเทศอังกฤษ (ร้อยละ 30) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 21) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 20)

ทั้งนี้ ยังงานวิจัยอีกชิ้นเรื่อง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในทหารกองประจำการใหม่ โดยวรัมพร ยั่งยืน และปัญจภรณ์ วาลีประโคน (2563) พบว่า ภาวะซึมเศร้าอาจสัมพันธ์กับการตัดขาดจากครอบครัวและเพื่อนฝูง เวลาการฝึกที่มากเกินไป การลงโทษที่รุนแรง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เหมาะสม

ภาวะซึมเศร้า ความคิด และความพยายามฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในหมู่ทหารส่งผลเสียที่ร้ายแรงต่อกองทัพและบุคคลากรของกองทัพไทย นอกจากนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคมไทยในวงกว้าง 

ถึงเวลาแล้วที่กองทัพต้องสนับสนุนการสร้างตระหนักรู้ และดูแลรักษาปัญหาสุขภาพจิตของคนในกองทัพ รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมภายในกองทัพในส่งเสริมสุขภาพจิตของบุคคลากร เพื่อรักษาชีวิตของคนในกองทัพและคนรอบข้าง1

ขณะนี้ การผลักดันให้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารยังอยู่ในระหว่างดำเนินการผ่านสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลได้เปิดโครงการ #พลทหารปลอดภัย เพื่อเป็นช่องทางร้องเรียน รูปแบบ LINE OA ที่เปิดให้พลทหารหรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่พบความไม่ยุติธรรม หรือถูกลงโทษที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการเป็นพลทหาร สามารถร้องเรียนเข้ามา เพื่อหามาตรการป้องกันและระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการทำร้ายทหารเกณฑ์ หรือความสูญเสียต่อร่างกายและจิตใจใดๆ ในค่ายทหาร




อ้างอิง

1. ที่มาข้อมูล:
https://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/65-2/65-2-01_Waramporn.pdf
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8520236/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า