งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


จากช่วงอภิปรายญัตติ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 วาระ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในสัดส่วนของกระทรวงศึกษาธิการไว้ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงประเทศไทยก็เป็นชาติหนึ่งที่นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนนานที่สุดในโลกถึง 56 ชั่วโมง/สัปดาห์  

ขณะที่ ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ได้กลับสวนทาง และผลสะท้อนยิ่งหนักมากขึ้น เมื่อคะแนนการสอบประเมินสมรรถนะนักเรียน 3 ด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่าน (Programme for International Student Assessment: PISA) ในรอบปี 2023 ตกต่ำลงทุกด้านมากที่สุดในรอบ 23 ปี

ผลที่ออกมา ทำให้เกิดความฉงนสงสัยอย่างมากว่า แท้ที่จริง งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดให้กระทรวงศึกษาธิการนั้นไปตกอยู่กับส่วนงานใด หรือแผนการจัดการใดบ้าง ทำไมถึงไม่สะท้อนออกมาผ่านผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ควรจะดีขึ้น ซึ่ง Think Forward Center ขอสรุปแนวทางการจัดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการมาให้ทุกท่านได้รับชม ดังนี้


งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น: งบแฝงที่ก่อเกิดประโยชน์ไม่ได้จริง

หากชำแหละงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการปี 2567 จะพบว่า งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด 328,384,658,100 บาท จากจำนวนทั้งหมดนี้เป็นงบส่วนดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แผนงานในชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น 

  1. แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ 
  2. แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 
  3. แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 
  4. แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 
  5. แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 8,256 ล้านบาท (คิดเป็น 13.41% จากงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการปี 2567)


ภาพที่1: งบส่วนแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ภายใต้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งหากจำแนกออกมาแล้วจะพบว่าเป็นงบโครงการพื้นฐานเพื่อการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่มา: https://wevis.info/thbudget67 


ภาพที่2: งบส่วนแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งหากจำแนกออกมาแล้วจะพบว่าเป็นโครงการพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่

ที่มา: https://wevis.info/thbudget67


ซึ่งเมื่อชำแหละเข้าไปดูในรายละเอียดของงบแต่ละโครงการจริงๆ จะพบว่า งบประมาณในหลายโครงการจะมีชื่อที่ทับซ้อนหรือใกล้เคียงกัน เพียงแต่กระจายตัวไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ดังเช่นภาพตัวอย่างที่เว็บไซต์ Wevis.info ที่ได้แจกแจงรายละเอียดงบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ค้นพบงบโครงการที่มีชื่อใกล้เคียงกันอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน โดยงบโครงการเช่นนี้ ยังพบได้ในงบของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เช่นกัน

โดยงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่นของกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะถูกตัดลดลงมาจากปี 2566 ที่แต่เดิมคือ 13,873 ล้านบาท (ซึ่งคิดเป็น 17.93% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการปี 2566 จำนวน 325,900 ล้านบาท) เหลือเพียง 8,256 ล้านบาท แต่กระนั้นจากงบประมาณตรงนี้ วิโรจน์ เสนอว่า ยังมีงบดำเนินงานและรายจ่ายอีกหลายส่วนที่ยังสามารถปรับลดได้อีก 2,117 ล้านบาท ดังภาพข้างล่างนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่มีเป้าหมายและดัชนีชี้วัดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน


รายละเอียดชื่อแผนดำเนินงานทั้งหมดที่อยู่ภายใต้งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่นกว่า 8,256 ล้านบาท
ที่ สส.วิโรจน์ ได้เคยอภิปราย

ที่มา: https://youtu.be/na9846aXBAE?si=0zcalbDKx8q0n9Tq 


นอกจากงบประมาณในส่วนนี้แล้ว วิโรจน์ ยังเสนออีกว่า งบประมาณอีกส่วนหนึ่งหากสามารถจัดการใหม่ได้ จะทำให้เราได้เงินกลับมาสร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิต ยกระดับสวัสดิการของนักเรียนได้อีกมาก โดยวิโรจน์เสนอให้จัดประมาณที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในงบประมาณแผนงานยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในชื่อโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับพื้นที่ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 

ซึ่งหากจัดสรรใหม่จากการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ในบริบทพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลจากโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตรากำลังครูและทรัพยากรงบประมาณมายังโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่มากขึ้นแล้ว ยังทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณเพิ่มขึ้นมาอีก 12,985 ล้านบาท  


แนวทางที่เป็นไปได้ หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถปรับลดงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ และแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
กระทรวงศึกษาธิการจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น 15,102 ล้านบาท/ปี

ที่มา: https://youtu.be/na9846aXBAE?si=0zcalbDKx8q0n9Tq 


โรงเรียนขนาดเล็ก ไปต่อหรือพอเท่านี้?

แต่การจะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้นั้น จำเป็นจะศึกษาจากบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อออกแบบการจัดการเรื่องบุคลากรและภาระงาน โครงสร้างอาคารเรียน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชนมากที่สุด โดย Think Forward Center ได้เดินทางไปศึกษาบริบทโรงเรียนขนาดเล็กร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ในพื้นที่อำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาทั้งหมด ดังนี้

จากการลงพื้นที่ศึกษาบริบทโรงเรียนขนาดเล็ก ณ โรงเรียนบ้านเขาสัตตพรม ตำบลเกาะจันทร์ อำเภอเกาะจันทร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กำกับดูแลของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 2 พบว่า โรงเรียนแห่งนี้ มีจำนวนนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษารวมกันทั้งหมด 67 คน และมีเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภายในโรงเรียนอีก 9 คน ขณะที่มีครูระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษารวม 9 คน และมีครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 คน และไม่มีพนักงานธุรการ นักการภารโรง และพนักงานรักษาความปลอดภัย

จำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันของโรงเรียนบ้านเขาสัตตพรม จึงเรียกได้ว่า ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนได้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาในระดับชั้นประถมศึกษา ทำให้โรงเรียนบ้านเขาสัตตพรมต้องร่วมกับโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอเกาะจันทร์ เช่น โรงเรียนปรกฟ้า โรงเรียนบ้านเจ็ดเนิน โรงเรียนบ้านเนินทุ่ง โรงเรียนบ้านเขาวังแก้ว โรงเรียนบ้านโคกประดู่ ในการจัดสรรบุคลากรในรายวิชาที่ขาด เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้จัดเวลามาสอนนักเรียนในแต่ละโรงเรียน

ปัจจุบัน งบประมาณในการบริหารโรงเรียน จัดหาอาหารกลางวันเด็ก และเงินเดือนครูที่ได้รับจากกระทรวงศึกษาธิการนั้นไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนบ้านเขาสัตตพรมต้องจัดกิจกรรมหาเงินระดมทุนเพื่อนำมาเป็นรายจ่ายสำหรับจ้างบุคลากรครู เช่น กิจกรรมลอยกระทง เป็นต้น ขณะที่อีกปัญหาที่พบเจอคือ ครูที่มาบรรจุยังโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่อยู่เพียง 2 ปีแล้วย้ายไป ส่วนผู้บริหารนั้นอยู่ได้เพียง 1 ปีแล้วย้ายไป ทำให้แผนการพัฒนาโรงเรียนนั้นไม่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

ขณะที่ โรงเรียนบ้านไร่เสธ์ และกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แม้จะมีปัญหาในลักษณะคล้ายกัน แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่าคือ การมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กท่ามกลางโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านบุคลากร สื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ และสถานที่ที่มากกว่า ทำให้ผลสัมฤทธิ์รายวิชาของเด็กโรงเรียนขนาดเล็กผ่านการสอบ O-Net น้อยกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

โดยผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่อำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จึงฝากข้อเสนอให้ปรับระเบียบในการโอนย้ายบุคลากรครูจากเดิมต้องบรรจุครบ 2 ปีถึงจะสามารถย้ายได้ เป็นบรรจุครบ 4 ปีจึงจะสามารถย้ายได้ เนื่องจากระยะ 2 ปีแรก ควรเป็นช่วงเวลาในการเรียนรู้งานโรงเรียนขนาดเล็ก และ 2 ปีหลัง ควรเป็นระยะเวลาในการถ่ายทอดงานให้กับครูบรรจุใหม่รุ่นถัดไป รวมถึงการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กจากการให้งบรายหัวเป็นงบโครงการแล้วมีดัชนีชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (Key Performance Indicator: KPI)


ทางออกที่ดีที่สุดของโรงเรียนขนาดเล็ก?

ท้ายที่สุด การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจำเป็นจะต้องดูบริบทให้ลึกลงไปในรายพื้นที่ แม้จะเป็นที่ทราบดีว่า ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนจะสูงขึ้นในโรงเรียนที่มีประชากรนักเรียนเบาบาง และหากจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นลดลง ความเสี่ยงในการปิดโรงเรียนก็จะเพิ่มมากขึ้น 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถยุบรวมกับโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ ด้วยบริบทของพื้นที่และระยะทางในการเดินทางมาโรงเรียน หากเป็นพื้นที่ชนบทและถิ่นทุรกันดารที่แต่ละชุมชนตั้งห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร การยังคงไว้ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนจึงเป็นการต่อลมหายใจให้เด็กในพื้นที่ยังสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาได้ 

Think Forward Center จึงสนับสนุนแนวทางที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้เสนอแนะไว้ในการอภิปรายญัตติ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 วาระ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงได้ทำการรวบรวมแนวทางที่เป็นไปได้ในการจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนี้



  1. ควบรวมโรงเรียนเล็กในบางพื้นที่ ซึ่งมีระยะทางไม่ห่างไกลกับโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ ในระยะทาง 5-20 กิโลเมตร เพื่อเร่งคืนงบประมาณที่เป็นไปได้จำนวน 12,985 ล้านบาท/ปี กลับคืนสู่กระทรวง เพื่อ:
    1. นำเงินไปอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศพัทยา และกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดหาบริการรถรับ-ส่งให้นักเรียนภายในจังหวัด
    2. เพิ่มงบประมาณให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน รวมถึงนำพาเด็กยากจนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคน ให้กลับสู่ระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน
    3. จัดสรรงบประมาณดังกล่าวไปสมทบเพิ่มในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ให้มีงบประมาณที่ส่งเสริมสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ และมีงบจ้างบุคลากรครู นักการภารโรง และพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
  2. การเปิดให้เอกชนหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น สามารถเช่าใช้พื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กเดิมที่ถูกควบรวมไปแล้ว ให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยอาจระเบียบควบคุมการเช่าพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ และให้ผลประโยชน์ในแง่ของการลดหย่อนภาษี ให้กับเอกชนที่นำงบประมาณที่จัดสรรมาเพื่อช่วยเหลือสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ผ่านการทำพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
  3. ออกระเบียบ ข้อบังคับกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอัตรากำลังคน ต้องมีการแลกเปลี่ยนอัตรากำลังคน หรือมีอัตรากำลังคนส่วนกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนหากมีกรณีย้ายอัตรากำลังคนไปยังสถานศึกษาอื่น 
  4. ผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับพรรคก้าวไกล เพื่อสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน
    1. วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง – จังหวัด – สถานศึกษา) และลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง
    2. กำหนดกลไกในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นและสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม
    3. กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี
  5. ผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับพรรคก้าวไกล เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจ 
    1. เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้จัดการศึกษาด้วยตนเองจะทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ได้ดีกว่า 
    2. ปลดล็อกหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายโอนภารกิจ และกำหนดบทบาทให้หน่วยงานในพื้นที่อำนวยความสะดวกในการถ่ายโอน
    3. กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายในการกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจทุกปีตามคำแนะนำของ ก.ก.ถ.
    4. ปรับให้เหลือ “คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด” (ผู้นำท้องถิ่นเป็นประธาน) ที่กำกับดูแล “สำนักงานการศึกษาจังหวัด” (ควบรวมศึกษาธิการจังหวัดกับเขตพื้นที่เพื่อลดความซ้ำซ้อน)
    5. ปรับบทบาท “สำนักงานการศึกษาจังหวัด” ให้เป็นหน่วยจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและสนับสนุนสถานศึกษาในพื้นที่ (เช่น ธุรการ บุคลากร พัสดุ)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า