อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ชลธิชา จันแปงเงิน
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเศษวัสดุชีวมวลจากการทำการเกษตรอยู่ที่ 44.49 ล้านตันต่อปี แต่จากจำนวนนี้พบว่า ยังมีเศษวัสดุชีวมวลที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกประมาณ 35.75 ล้านตัน (คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80.36) ซึ่งก็นำมาสู่ปัญหาการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ทางการเกษตรกว่า 1.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เผาไหม้ คิดเป็น 12% จากพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมดทั่วประเทศ
เนื่องในวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นวันรีไซเคิลโลก (World Recycling Day) ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาปริมาณฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่บุคคลทั่วไปจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ Think Forward Center เห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องพูดถึงแนวทางจัดการกับเศษวัสดุชีวมวลอย่างจริงจัง เพื่อลดการเผาไหม้และลดปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศ
สถานการณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ทำการเกษตรที่ผ่านมา
ในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เผยข้อมูลว่า ประเทศไทยตรวจพบจุดความร้อนในพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 3,646 จุด ขณะที่ ปี 2567 รัฐบาลมีเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ทางการเกษตรให้เหลือเพียงร้อยละ 50 (หรือจำนวน 1,853 จุด)
แต่จากสถิติรวบรวมจุดความร้อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมากลับพบว่า ทั่วประเทศพบจุดความร้อนในพื้นที่ทำการเกษตรไปกว่า 1,978 จุด ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังไม่เกินจากจำนวนจุดความร้อนที่พบในปีที่แล้ว ยกเว้นในบางพื้นที่ เช่น สถานการณ์จุดความร้อนในเขต สศก.1 จังหวัดชัยนาท ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาตรวจพบจุดความร้อนได้ 158 จุด แต่ในปีนี้ตรวจพบได้ 188 จุด และในเขต สศก.4 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาตรวจพบจุดความร้อนได้ 791 จุด แต่ในปีนี้ตรวจพบได้ 910 จุด และนำมาสู่ข้อห่วงกังวลว่า สถานการณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ทำการเกษตรนั้นอาจไม่ดีขึ้นไปจากปีที่ผ่านมามากนัก
แนวทางลดการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตรที่ผ่านมา
จากจำนวนเศษวัสดุชีวมวลทั้งหมด 44.49 ล้านตัน ที่กล่าวมาข้างต้น มีการนำมาใช้ 8.73 ล้านตัน หรือคิดเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 19.64 เท่านั้น โดยจำนวนนี้นำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบ
- นำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร เช่น ไถกลบแทนการเผา ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก ใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ด และเพาะปลูกพืชอื่นๆ
- นำไปใช้ประโยชน์ด้านปศุสัตว์ เช่น แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และผลิตเป็นฟางอัดก้อน
- นำไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน เช่น ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือส่งไปยังโรงงานไฟฟ้าชีวมวล
- นำไปใช้ประโยชน์ด้านแปรรูป เช่น แปรรูปเป็นกระถางต้นไม้ แก้วน้ำ หรือกระดาษจากฟางข้าว เป็นต้น
โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในปี 2567 จำนวน 5 กิจกรรม งบประมาณ 8.96 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะส่งเสริม 1.ถ่ายทอดความรู้ 2.นำร่องสาธิต 3.สร้างเครือข่ายการหยุดเผา 4.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เครือข่ายหยุดการเผา และ 5.รณรงค์และประชาสัมพันธ์ระดับเขต โดยแผนดำเนินการเหล่านี้ ตั้งเป้าหมายการเข้าถึงโครงการของเกษตรกรไว้ 16,500 คน และมีผู้เข้าร่วมจริง 16,470 ราย (คิดเป็นร้อยละ 99.81) แม้จะบรรลุในส่วนของเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศที่มีกว่า 539,757 ราย จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้กลับคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.05 เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ผลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรไม่สัมฤทธิ์ผล
นอกจากนี้ ยังมีการลดปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผ่านการสนับสนุนโดยภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น SCG ที่ริเริ่มโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร” เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน และลดปัญหาการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
โดย Smart Green Solution by CPAC ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบไม่ถูกวิธีและก่อให้เกิดมลพิษ ผ่านการใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่สามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์โดยไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่น ๆ ประกอบไปด้วย
1) เปิดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หน้าโรงงานซีแพค (CPAC)
2) ใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet)
3) บริหารจัดการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling Management) ของการขนส่งปูนซีเมนต์
และ 4) นำเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ
อย่างไรก็ตามการเปิดเฉพาะจุด อาจส่งผลเสียในเรื่องของการรับซื้อไม่ทั่วถึง และการที่เกษตรกรมีกำลังไม่เพียงพอในการนำวัสดุทางการเกษตรมาขาย หากมองไปถึงเกษตรกรที่อยู่ตามชนบทแล้ว การนำเศษวัสดุหลายกิโลกรัมออกมาขายอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การเปิดรับซื้ออาจเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ในบางพื้นที่เท่านั้น
เพราะฉะนั้น Think Forward Center มองว่า เนื่องจากการจะแก้ไขปัญหาการจัดการเศษวัสดุชีวมวลจำเป็นจะต้องใช้ความเข้าใจและแก้ไขอย่างเป็นระบบ จึงเสนอให้รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เพิ่มเติมโครงการที่สนับสนุนการแปรรูปเศษวัสดุชีวมวล ดังนี้
- สนับสนุนให้รัฐบาลรับซื้อเศษวัสดุชีวมวลไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทำการเกษตร ปศุสัตว์ แปรรูปเป็นพลังงาน หรือแปรรูปเป็นวัสดุภัณฑ์อื่นๆ โดยรับซื้อในอัตรา 1,000 บาท/ตัน
- ปรับเปลี่ยนพืชและรูปแบบการทำการเกษตร แต่วิธีการจำเป็นจะต้องจัดทำควบคู่ไปกับ
- การพิสูจน์เอกสารสิทธิที่ดิน เนื่องจาก หากเป็นที่ดิน สปก. จะติดเงื่อนไขการกำหนดพันธุ์พืชในการเพาะปลูก
- การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร เนื่องจากปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นปัจจัยหลักให้เกษตรกรไม่กล้าเลิกทำการเพาะปลูก
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อการนำไปสู่การลดการเผาในภาคการเกษตรอย่างจริงจังคือ การที่ภาครัฐมีการกระจายความรู้ไปยังเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งจัดสรรแนวทางและโอกาสเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง ผ่านการนำภาคเอกชนและเกษตรกรมาพบกัน เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างแท้จริง