วุฒิที่ไม่ได้วัด (ทักษะ): บทพูดคุยว่าด้วยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และใช้ทักษะแทนวุฒิการศึกษา

วริษา สุขกำเนิด


“คุณมีความสามารถอะไรบ้าง” คือคำถามยอดนิยมในการสัมภาษณ์งาน

ทักษะ ความสามารถ ผลงาน และประสบการณ์ คือปัจจัยหลักที่บ่งชี้ว่าใครคนหนึ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และทำงานออกมาได้ดีแค่ไหน หลายทักษะอาจมีสอนในสถาบันการศึกษาและวุฒิการศึกษารับรอง แต่หลายทักษะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนเรียนรู้เองจากความสนใจและประสบการณ์ชีวิต

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีความสามารถจะมีวุฒิการศึกษา หลายคนที่ก้าวเข้าสู่การทำงานจึงมีวิธีการพัฒนาทักษะและวัดระดับความสามารถเป็นของตัวเอง บทความนี้จึงพาทุกคนมาพูดคุยกับมนุษย์ 3 คนที่ออกจากระบบการศึกษา แต่แสวงหาความรู้เพื่อประกอบวิชาชีพด้วยตนเอง ผ่านมุมมองการพัฒนาทักษะแนวใหม่ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาก็รับรองความสามารถได้


จะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีทักษะอะไร?

ความสามารถและหน่วยวัดความสามารถที่ไม่ไปด้วยกันกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการทำงานของหลายภาคส่วน ณิชา พิทยาพงศกร (2024) เสนอว่า ปรากฎการณ์นี้เป็นปัญหากับผู้ไม่มีวุฒิการศึกษาที่แม้จะมีทักษะ แต่ไม่สามารถเข้าทำบางชนิดที่ใช้วุฒิได้ ผู้มีวุฒิการศึกษา แต่ทักษะของตนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และนายจ้าง (หรือภาคเอกชน) ที่ต้องการแรงงานคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถวัดได้ด้วยวุฒิ

การจะรู้ว่าใครมีทักษะอะไรบ้างไม่ใช่เรื่องง่าย ณิชาเสนอสิ่งบ่งชี้ 4 ประการที่บ่งบอกว่าคนคนหนึ่งมีความสามารถด้านใด และยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งมีโอกาสพัฒนาทักษะของตนได้ด้วย

  1. Performance – การแสดงและโอกาสในการแสดงฝีมือ
  2. Peer – ความยอมรับจากเพื่อนๆ ร่วมวงการ และโอกาสในการเติบโตจากการสนับสนุนของเพื่อน
  3. Private Sector – ความยอมรับจากภาคเอกชน เช่นประสบการณ์ทำงาน คอร์สอบรม และประกาศนียบัตร
  4. Public – วุฒิที่ได้รับการยอมรับโดยภาครัฐหรือออกให้โดยสถาบันการศึกษาที่รัฐรับรอง​


การทำงานและทักษะที่หลากหลาย

ภูมิปริญญ์ มะโน (ภูมิ) ปัจจุบันทำงานเป็นโปรแกรมอยู่ที่บริษัท Metabase และงาน event organizer และ community project ที่ Creatorgarten สมัยเรียนตอนนั้น ในช่วงประมาณ ม.4 ภูมิสนใจคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม และความรู้ทางซอฟต์แวร์ ภูมิเลยเข้าค่ายและฝึกเขียนโปรแกรม ทำให้ภูมิรู้สึกว่าการที่ตนทำสิ่งที่ตัวเองชอบได้เต็มเวลาอาจดีมากกว่า จึงลาออกจากโรงเรียน และหาที่ฝึกงานในบริษัทสตาร์ทอัพไทย หลังจากนั้น ภูมิจึงทำงานต่อมาเรื่อย ๆ 

งานโปรแกรมเมอร์ หรือ วิศวะซอฟต์แวร์ (software engineer) ที่ภูมิทำ คือการออกแบบและสร้างโปรแกรมจากความต้องการของลูกค้า รวมถึงพัฒนาโปรแกรมของบริษัทให้ตอบโจทย์มากขึ้น “โปรแกรมเมอร์คือคนที่ทำงานกับดีไซน์เนอร์ ทีมธุรกิจ เพื่อดูว่าเราอยากสร้างอะไร และสร้างมันขึ้นมาด้วยการเขียนโปรแกรม เราอยู่ในกระบวนการนี้ตลอด ตั้งแต่การออกแบบซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการทดสอบ” ภูมิบอก

งานโปรแกรมใช้ทักษะที่หลากหลาย ภูมิอธิบายว่า “ Soft skill พื้นฐานคือการสื่อสาร ภาษาอังกฤษ การคุยกับคน พอทำงานมาสักประมาน 5-6 ปี เราต้องคุยกับคนเยอะ เพราะเราก็ต้องคุยกับโปรแกรมเมอร์และคนในทีม ถ้าเราเป็นคนที่ดูแลทีม เราต้องคุยกับคนที่เป็นฝ่ายดีไซน์ ฝ่ายธุรกิจ โปรแกรมเมอร์อยู่ตรงกลางของการสื่อสาร”

หากเป็น Hard Skill “หลักๆ เลยคือสกิลการเขียนโปรแกรม สกิลการเขียนโค้ด เขียนโค้ดยังไงให้คนอื่นเข้าใจ เขียนโค้ดอย่างไรให้เร็ว ซึ่งถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานในระบบใหญ่ๆ เรื่องสำคัญก็จะเป็นคณิตศาสตร์ อัลกอรทึม โครงสร้างข้อมูล” ภูมิบอก

เบนซ์ (นามสมมติ) อดีตนักศึกษานิติศาสตร์ที่ตัดสินใจเข้าสู่การทำงานก่อนจบการศึกษา ปัจจุบันรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรณรงค์และโครงการของกลุ่ม NGOs ด้านกระบวนการยุติธรรมแห่งหนึ่ง เขารู้จักงานนี้จากการร่วมงานเมื่อเขายังอยู่องค์กรเก่า เมื่อองค์กรเปิดรับสมัคร เขาจึบเข้าทำงานในองค์กรนี้

ตำแหน่งงานของเบนซ์ใช้หลากหลายทักษะ เบนซ์เล่าว่า “ในช่วงแรก ผมรับผิดชอบเรื่องการสื่อสารองค์กร การบริหารโครงการ และการดำเนินกิจกรรม ดังนั้น ทักษะที่ใช้ส่วนใหญ่คือการบริหารข้อมูล การเขียนเรียบเรียง การเขียนบทความ การทำกราฟิกเบื้องต้น การวางแผนการสื่อสารข้อมูล” 

และเนื่องจากองค์กรที่เบนซ์ทำงานดำเนินในเรื่องของการทำคดีโต้กลับ และการรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จึงต้องใช้ความรู้ทางกฎหมาย ทั้งในการสื่อสาร งานธุรการเพื่อจัดการคดี รวมถึงการติดตามผลและกำหนดแนวทางดำเนินการ

ฟอร์ด (นามสมมติ) อดีตนักศึกษาวิศวะกรที่เปลี่ยนเส้นทางมาทำงานสายดนตรี ปัจจุบันเขาทำงานแต่งเพลงฟรีแลนซ์ให้กับศิลปินต่าง ๆ ฟอร์ดเล่าให้ฟังว่า เคยมีงานอดิเรกเป็นการแต่งเพลง แต่เมื่อคนรู้จักมาจ้างให้แต่งเพลง เขาจึงมีโอกาสทำมันเป็นอาชีพ 

งานของฟอร์ด “คือการแต่งเนื้อเพลงกับเมโลดี้ ดีไซน์การร้องว่าต้องร้องแบบไหน” งานแต่งเพลงใช้ทักษะการร้องเพลง ทักษะทางดนตรี และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฟอร์ดเล่าว่า ผู้เพลงไม่จำเป็นต้องชำนาญทุกทักษะ เพียงแต่รู้กระบวนการทำงาน “เราไม่จำเป็นต้องร้องเพลงเพราะก็ได้ เราแค่รู้ว่าเพลงนี้ควรร้องด้วยเสียงแบบไหน ส่วนการแต่งทำนอง เราเพียงแค่แต่งเมโลดี้หลักว่ามันควรจะเป็นอย่างไร”


การศึกษาในโรงเรียน vs การเรียนรู้นอกห้องเรียน

การทำงานของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 3 คนใช้หลากหลายทักษะที่ไม่สามารถเรียนได้ในระบบการศึกษา การเรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการสืบค้น ฝึกฝน หรือทำงาน ทำให้พวกเขามองความรู้ของตนต่างจากกรอบความคิดที่ระบบการศึกษาจัดไว้

ภูมิมองว่าทักษะที่ภูมิใช้ไม่มีอยู่ในห้องเรียนเลย “จำได้ว่าย้อนกลับไปสมัยอายุ 15 วิทยาการการคำนวนยังไม่ได้มีในการศึกษาไทย โปรแกรมเมอร์ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับภูมิ หรือรุ่นก่อนภูมิ ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองหมด บางคนอาจเรียนจากโรงเรียนสอนเขียนโปรแกรม แต่โปรแกรมเมอร์ส่วนมากหาบล็อคในอินเตอร์เน็ต ซื้อหนังสือ ประติดประต่อความรู้ด้วยตัวเองมากกว่า โปรแกรมเมอร์ทุกคนเริ่มจากโปรเจ็กต์ที่ตัวเองสนใจ แล้วฝึกทีละวัน เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นงานฝีมือ ต้องฝึกทุกวันจนแข็งขึ้น” ภูมิบอก

มุมมองการเรียนคณิตศาสตร์ในระบบ กับคณิตศาสตร์เพื่อสร้างโปรแกรม เป็นมุมมองที่ต่างกันมาก ภูมิมองว่า “เวลาเราเป็นโปรแกรมเมอร์ เราผสมหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน คือศาสตร์ที่ไม่ได้มีมาก่อนในห้องเรียน” เช่น การนำความรู้คณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงกับการวางอัลกอริทึ่มและซอฟต์แวร์

การเรียนรู้จากการทำงานจึงต่างจากการเรียนรู้ตามหลักสูตร ภูมิบอกเราว่า “ถ้าเราเรียนในโรงเรียน บางทีเราไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม มันมีความ disconnect สูง แต่การเรียนรู้ด้วยตัวเองบังคับให้เรา connect ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้เราไม่รู้สึกว่าเรื่องไหนยากหรือน่ากลัว เพราะเมื่อทุกอย่างเอนไปตามสิ่งที่อยากทำ มันทำให้การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มันอาจจะยาก แต่เราไม่ยอมแพ้ และ engage อยู่ตลอด”

เบนซ์บอกว่า ในแง่ของความรู้ด้านกฎหมาย หลักสูตรมหาวิทยาลัยจะให้ความรู้พื้นฐานที่ครอบคลุม “การเรียนในมหาวิทยาลัยอาจเรียนแบบองค์รวมและพื้นฐานที่ แต่เมื่อนำมาใช้งานจริง บางความรู้ก็ได้ใช้ บางความรู้ก็ไม่ได้ใช้เลย” ซึ่งเมื่อเข้าทำงาน นักศึกษาจบใหม่ต้องเรียนรู้ความรู้ด้านกฎหมายที่ลงลึก “คนที่ทำงาน Law Firm ก็ต้องเรียนกฎหมายธุรกิจ เราเองก็เช่นกัน พอทำงานสายสิทธิมนุษยชน เราก็ต้องรู้กฎหมายหลายๆ อย่าง” เบนซ์บอก

เบนซ์มองว่า การเรียนกฎหมายในมหาวิทยายังจำเป็นอยู่ เพราะเป็นปูพื้นฐานการเรียนกฎหมายให้แข็งแรงและช่วย shape วิธีคิดและความเข้าใจ ทำให้ต่อยอดการเรียนกฎหมายเฉพาะทางได้ง่าย และด้วยความเป็นที่นิติศาสตร์เป็นสาขาเชิงวิชาชีพ ความรู้หลายอย่างจึงอิงกับทฤษฎีที่เข้มข้น และอาจหาไม่ได้จากชีวิตประจำวันทั่วไป

แต่สำหรับฟอร์ด ทักษะที่เขาใช้ในการแต่งเพลงไม่ได้มาจากการเรียนรู้เอง ฟอร์ดเล่าว่า “เราไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาเท่าไหร่ เราได้ทักษะจากประสบการณ์ทำงาน งานอดิเรกมากกว่า หรือดูคนอื่นทำในอินเตอร์เน็ต” ฟอร์ดยกตัวอย่างฝึกใช้โปรแกรมอัดเพลงของเขา “การใช้โปรแกรมอัดเพลง ทีแรกเราก็ไม่ได้เป็นคนทำ แต่เห็นเพื่อนทำ เราก็ดูเขาทำแล้วทำตาม”

ทักษะที่ฟอร์ดใช้ในการแต่งเพลงเป็นสิ่งที่ได้มาจากการเรียนในโรงเรียนเป็นส่วนน้อย แต่เป็นการนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้มากกว่า “ถ้าพูดว่านักแต่งเพลงทั่วไปเอาความรู้วิชามาใช้บ้าง ก็จะมีวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และดนตรี ซึ่งในการแต่งเพลง ภาษาอังกฤษกับไทยจะใช้มากกว่าดนตรี เพราะดนตรี แค่รู้เรื่องคีย์ เรื่องโน็ตพื้นฐานมันก็ได้แล้ว” อย่างไรก็ตามฟอร์ดเรียนรู้ทั้งสองทักษะจากนอกห้องเรียน

ฟอร์ดมองว่าความรู้ที่โรงเรียนให้ กับความรู้ที่ใช้ในการแต่งเพลง เป็นชุดความรู้ที่ต่างกัน “โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แต่สิ่งเรานำมาใช้คือความรู้ด้านไวยกรณ์และการเขียน สอนภาษาไทยที่เน้นหลักภาษา แต่ถ้าเป็นการแต่งเพลงจะเน้นเรื่องคำคล้องจอง หรือการแต่งกลอน” ส่วนทักษะการแต่งเพลง วิชาดนตรีจะความสำคัญกับพื้นฐานทางดนตรี การเล่นเครื่องดนตรีและการแสดงสด สิ่งนี้อาจจำเป็นในการอัดเพลง แต่บางครั้ง ผู้แต่งเพลงใช้คิดดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ได้


การทำงานโดยไม่มีวุฒิการศึกษา

การไม่มีวุฒิการศึกษา แม้ไม่มีผลต่อการทำงาน แต่มีผลต่อการสมัครงาน ภูมิมองว่าการไม่มีวุฒิมหาวิทยาลัยส่งผลต่อการทำงานต่างประเทศสูง “ผมว่าปัญหาหลักๆ คือการขอวีซ่า กับการสมัครงาน เรื่องวีซ่า คือถ้าเราอยากไปสหรัฐอเมริกา หรือขอกรีนการ์ด หรือวีซ่าทำงาน แล้วเราไม่มีวุฒิ โอกาสทำงานน้อยมากๆ หรือไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นข้อบังคับของวีซ่า ส่วนการหางาน ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเริ่มงานก็แทบจะผ่าน HR เข้าไปไม่ได้เลย เขาจะกรองเฉพาะคนมีวุฒิเท่านั้น” ภูมิเล่า

การสมัครเข้าทำงานของโปรแกรมเมอร์มีหลากหลายวิธี ส่วนมากมักเป็นการสัมภาษณ์ “โปรแกรมเมอร์ เขาจะใช้วิธีสัมภาษณ์ถามความรู้ หรือให้เขียนโปรแกรมให้ดู วิธีที่เวิร์คที่สุดคือการให้เขียนโปรแกรมเลย บางทีเขียนบนกระดานดำ เขียนบนไวท์บอร์ด แต่ส่วนมากเปิดคอมพิวเตอร์แล้วเขียนโปรแกรมด้วยกันเลย ที่เหลือจะเป็นคำถามการทำงานเป็นทีมและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” 

เช่นเดียวกัน เบนซ์บอกว่าการไม่มีวุฒิมีผลต่อการสมัครงานแน่นอน แต่กรรมการและเจ้าหน้าที่ให้โอกาสเบนซ์นำเสนอด้วยผลงาน “เราเคยรับงานเสริมมาบ้าง เราเลยมีผลงานที่จับต้องได้ และนำเสนอเป็น portfolio สำหรับมุมมองกรรมการเขาอาจจะพอชดเชยในเรื่องของวุฒิได้บ้าง” เบนซ์บอก

ในเรื่องการทำงาน เบนซ์มองว่าการไม่มีวุฒิไม่เป็นปัญหา “ผมคิดว่า พอเราทำงาน เราได้เห็นคนหลากหลายหน้าตามากขึ้นและเห็นโลกกว้าง ผมคิดว่าวุฒิไม่ใช่สิ่งบ่งบอกศักยภาพการทำงานเท่าไหร่ หลาย ๆ อย่างต้องมาจากประสบการณ์ส่วนตัว การทำงาน การเรียนรู้ mindset ใหม่” เบนซ์เล่า

สำหรับสายงานของฟอร์ด การไม่มีวุฒิไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าสู่วงการแต่งเพลง “ขอแค่มีความสามารถก็ทำได้แล้ว ไม่ใช่แค่นักแต่งเพลงนะ แต่รวมไปถึงทุกอย่างใน Music Production เลย บางคนจบม.3 ก็มี ก็ทำได้ก็มี ม.6 ก็มี” ฟอร์ดบอก

สิ่งที่วัดระดับความสามารถในการแต่งเพลงไม่ใช่วุฒิ แต่เป็นผลงานที่เคยทำมา ฟอร์ดตอบว่า

“ดูที่เนื้องาน เนื้องานไม่ได้หมายความว่าแต่งเพลงมาแล้วดัง หรือมีคนจ้างเยอะ แต่เนื้องานที่แต่งออกมาดูดีไหม มันเป็นศิลปะ” ฟอร์ดยังขยายอีกว่า “ถ้ามองถึงความประสบความสำเร็จ เขาจะดูกันที่จำนวนงาน และความดัง แต่ถ้าวัดว่าเก่งไม่เก่ง ดูที่เนื้องานเลย”


Performance

Performance หรือการแสดงศักยภาพ หรือผลงานให้คนอื่นชื่นชม มีความสำคัญต่อแต่ละสายงานแตกต่างกันไป

performance ของการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์คือการเขียนโปรแกรม ภูมิมองว่า “เวลาโปรแกรมเมอร์วัดสกิลกันเอง เราดูจาก performance แทบทั้งหมด มันจะโยงกับ Peer เพราะเราให้เพื่อนเป็นคนประเมิน 

อีกอย่างหนึ่งที่ภูมิให้ข้อมูลได้ก็คือ โปรแกรมเมอร์เขาจะมีการฝึกเขียนโค้ดอัลกอริทึมอยู่ ฝั่งโปรแกรมเอมร์เขาเรียกว่าการฝึก lead code คือจะมีเว็บไซต์หนึ่งให้เราไปฝึก ซึ่งบริษัทท็อปๆ ของโลกใช้แบบเดียวกันหมด เขาจะหยิบข้อสอบมาจาก pool อันใหญ่อันนี้ เอาไปดัดแปลงนิดหน่อย แต่ในข้อสอบเขียนโค้ดนี้ยากมากๆ คนแก้ปัญหาจะถือว่าทำงานได้”

เบนซ์มองว่าการแสดงผลงานผ่าน portfolio เป็นเรื่องจำเป็น “ผมคิดว่าทุกคนคิดว่าควรมี Portfolio เก็บไว้ ทุกวันนี้ ผมขึ้นมาเป็นรักษาการผู้จัดการ ซึ่งอาจต้องรับคนมาทำงานในองค์กรต่อไป ผมอาจไม่ได้มองที่เรื่องวุฒิเป็นสำคัญ เราอาจมองเรื่องผลงานเป็นสำคัญ สำคัญว่าคุณเคยทำงานที่ไหนมาก่อน คุณเคยทำอะไรมาบ้าง คุณเป็นคนยังไง คุณสามารถ execute หรือนำเสนอขายตัวคุณได้อย่างไร” เบนซ์บอก

แต่สำหรับงานแต่งเพลง ที่ส่วนใหญ่จะทำคนคน หรือทำกับคนกลุ่มเล็กๆ การแสดงผลงานอาจเป็นที่ไม่สำคัญเท่าไหร่ “ถ้าเล่นดนตรีสดก็อาจจะพัฒนาในตอนอัดให้ลูกค้ามันจะอัดให้เร็วขึ้น การไปโชว์งานไม่ได้พัฒนาอะไรนอกจากคอนเน็คชั่น” ฟอร์ดเล่า


Peer

สำหรับภูมิ peer มีความสำคัญกับโปรแกรมเมอร์มากๆ เพราะ “โปรแกรมเมอร์มี community สมมติโปรแกรมเมอร์ที่เขียนภาษา java script มันจะมีงานคอนเฟอร์เรนซ์ มีงาน Meet up เล็กๆ แทบจะทุกวัน มีกลุ่มดิสคอร์ด มีกลุ่ม Facebook คือมันจะมี community ที่ใหญ่และรู้จักกันหมด และครอบคลุมทั่วโลก เหมือน peer จะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของโปรแกรมเมอร์ เพราะเรารู้ว่าเราเขียนโค้ดคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำงานกับคนอื่น โปรแกรมเมอร์เก่งๆหลายคนเลยเอาตัวเองเข้ามาในคอมมูนิตี้”  

“อีกประเด็นหนึ่งคือ open source ซอฟต์แวร์ที่เราใช้ในโลกทุกวันนี้จริงๆแล้ว หลายอันคือซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นโดยคนทั้งโลกช่วยกันเขียน ไม่ว่าจะเป็น Linux หรือเว็บอื่นๆ มันใช้คนจำนวนหลักพันหลักแสนหลักล้านคน ทำให้โปรแกรมเมอร์คุณเคยกับการทำงานเป็นทีม หรือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาจจะมีคนฟินแลนด์มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็ได้เรียนรู้จากเขา เขาก็ได้เรียนรู้จากเรา” ภูมิเสริม 

สำหรับเบนซ์ สังคมการทำงานที่ส่งเสริมกันส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการทำงาน “ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีการส่งเสริม มีแม่แรงให้ใช้ มีคนคอยสอนงานให้ทุกอย่าง ก็ส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเอง การเปิดกว้างทางโอกาสให้ได้ทำงาน ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดี เราก็อาจเติบโตได้ แต่ใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น”

ในการแต่งเพลง ความยอมรับจากเพื่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก แม้เพื่อนจะไม่ได้ช่วยเหลือในกระบวนการทำงานมาก เช่น “เพื่อนจะช่วยดูว่าเราผิดพลาดตรงไหน” แต่ฟอร์ดมองว่า “ ถ้าไม่รู้จักใครเลยมันไปไหนไม่ได้” ฟอร์ดขยายความ “สมมติว่าเรามีความสามารถมากๆ แต่เราไม่รู้จักใครเลย เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเริ่มอย่างไร หรือสมมติมีโปรดักต์ในมือ แต่เราไม่รู้จะขายใคร หรือให้ใครดู คอนเน็คชั่นจึงสำคัญมาก แค่รู้จักเพื่อนเยอะๆ แล้วเพื่อนเขาเห็นว่าเราทำอันนี้ได้ แค่นั้นมันก็รู้แล้วว่าเราเริ่มต้นได้” 


Private

ภูมิเล่าให้ฟังว่าการวัดระดับและพัฒนาทักษะที่จัดโดยเอกชน หรือ Private ของโปรแกรมเมอร์หลายระดับ “มีทั้งแบบพื้นฐานและแบบที่ลึกมากๆ ถ้าง่ายที่สุดก็คงเป็นโปรแกรมเมอร์บูธแคมป์ สมมติว่าเราไม่มีความด้านคณิตศาสตร์หรือภาษาอังกฤษแต่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ เขาจะเทรนเราให้ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน” ภูมิเล่า

“ที่นี้ลองไปดูอีกด้านหนึ่งบ้าง เอกชนก็มีคลาสหรือเวิร์คช็อปที่ลงลึกค่อนข้างเยอะ เช่นถ้าเราอยากรู้เรื่องอัลกอริทึม เอกชนจะมีเปิดคลาสที่หลายครั้งก็มีอาจารย์มหาลัยและคนที่เก่งมากๆ ในแวดวงมาสอน range มันกว้างมาก ถ้าเป็นคนนอกวงการเข้ามาก็เลือกยากเหมือนกันว่าแคมป์ไหนคุณภาพดี แคมป์ไหนคุณภาพไม่ดี ผมก็มองว่าสำคัญ เพราะบางทักษะหาอ่านในอินเตอร์เน็ตไม่ได้ ต้องให้คนเก่งๆมาสอน” ภูมิเล่าต่อ

เบนซ์มองว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่เป็นเรื่องที่ต้องทำตลอด “จริงๆ ต้องเป็นพลวัตใหม่ เพราะว่าทุกอย่างถูก disrupted เร็วมาก” โดยเบนซ์ให้ความสำคัญกับการลงเรียนทักษะอ่อน “ด้วยความที่ผมเป็น White Collar ผมต้องเรียนในสิ่งที่เป็น soft skill ทั้งเรื่องของการ manage ตนเอง project management, marketing, ภาษา, การใช้เทคโนโลยี, การคาดการณ์ และการใช้ AI เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เพราะเป็น key machine สำคัญที่ทำให้การทำงานของมนุษย์มันเปลี่ยนไป นอกจากนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิต” เบนซ์กล่าว

ส่วนงานแต่งเพลง เพื่อนๆ นักแต่งเพลงของฟอร์ดมักลงเรียนคอร์สการใช้โปรแกรมตัดแต่งเสียง และการผลิตเพลง


เลือกรับคนจากผลงาน

ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามคนมองว่า หากเขาจะรับใครคนหนึ่งเข้าทำงาน เขาอาจไม่พิจารณาจากวุฒิเป็นหลัก พวกเขาให้ความสำคัญกับผลงาน ความสามารถในการทำงานและเรียนรู้ รวมถึงบุคลิกภาพที่เป็นมิตร

ภูมิเคยมีรับสมัครคนเข้าทำงาน เขาวัดคนจากสิ่งเหล่านี้ “อย่างแรกเลยคือ Learning Curve หรือความเร็วในการเรียนรู้ เวลาเจอปัญหายากๆ แล้วไม่ยอมแพ้ ซึ่งโยงไปข้อที่ 2 คือคนที่อยากรู้อยากเห็น คนที่ไม่กลัวว่าจะต้อง investigation ต้องค้นคว้าอะไรเอง ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ และ Problem Solving อย่างที่ 3 คือคนที่สื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง และถ่อมตัว” 

การในรับสมัครคนเข้าทำงาน เบนซ์มองว่าวุฒิการศึกษาอาจบ่งชี้ความสามารถในการทำงานไม่ได้ทั้งหมด “เราเจอหลายคนเหมือนกันที่มีวุฒิแต่ไม่สามารถทำงานจริงได้ เพราะฉนั้น วุฒิไม่ใช่เครื่องการันตีความสามารถในการทำงานจริง เพราะเมื่อคุณเข้าสู่บริบทการทำงาน มันต้องการสกิลหลายอย่าง transcript ก็เป็นใบเบิกทาง” เบนซ์บอก

ในงานแต่งเพลง แม้ว่าฟอร์ดอาจไม่คุ้นเคยกับการจ้างงาน แต่หากเขาอยู่ในฐานะผู้จ้าง เขาจะพิจารณาจ้างจากสิ่งเหล่านี้ “อันดับแรกคือมองที่ผลงานว่าเนื้องานเขาดีมั้ย ถ้าเขาไม่มีผลงาน ต้องดูว่างานที่เขาทำมันดีไหม อย่างที่สองคือประสบการณ์ ถ้าเขามีประสบการณ์และผลงาน งานที่เขาทำมันเคย success บ้างไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อันดับแรกสำคัญสุด”


ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ข้อเสนอทางนโยบายของทั้งสามคนมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับงานที่เขาทำ ภูมิมองว่าอยากให้วุฒิการศึกษาในระบบเปิดกว้างมากขึ้น “เพราะนายจ้างเขามีวิธีวัดเองและเป็นวิธีวัดที่ไม่เหมือนกันด้วย เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถใช้ไม้บรรทัดที่เข้มงวดมากๆ ของ public มาวัดได้ว่าทุกบริษัทต้องการเด็กแบบนี้”

ภูมิเสริมว่า “อยากให้มองว่าเรื่องการเทียบโอน การเก็บหน่วยกิต การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่ทำได้ และเปิดกว้างให้เอกชนมามีบทบาทมากกว่านี้ เพราะเกณฑ์เหล่านี้เปลี่ยนเร็วในระดับที่ภาครัฐอาจตามทันได้ยาก”

ภูมิยังเสนออีกว่า “เอกชนมีความคิดที่ต่างกันมากๆ บางรายให้มองว่าควรผลิตโปรแกรมเมอร์เฉพาะทาง บางรายมองว่าต้องปูพื้นฐานให้แน่นเพื่ออนาคตที่เปลี่ยนไป ผมเลยมองว่าภาครัฐควร support ให้เอกชนสามารถทดลองว่าอนาคตที่แต่ละคนมองจะเป็นอย่างไร แต่ให้เอกชนแต่ละคนมีแพลตฟอร์ม หรือว่ามี regulation ที่ support เขา เช่น ถ้ามหาวิทยาลัยนี้อยากหลักสูตรแบบนี้ หรือเอกชนอยากเปิดให้คนสามารถเก็บหน่วยกิตจากเขาได้”

เบนซ์มองว่า “หากเรามีศูนย์เพาะบ่ม หรือพื้นที่ให้คนได้ทดลองการ perform งานของตัวเอง ในการสร้างสรรค์ หรือการแสดงให้เห็นว่าศักยภาพเราเป็นอย่างไร ผมคิดว่าจะช่วยได้เยอะมาก และในตลาดแรงงานผมคิดว่าเป็นจุดที่จะมาชดเชยเรื่องวุฒิได้เพราะว่าถ้าผลงานคุณแน่ชัดอยู่แล้ว เรื่องวุฒิก็ไม่ต้องถาม แต่เพราะเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณเลย เขาเลยต้องถามวุฒิ”

เบนซ์ยังเสนอว่า ค่านิยมการเข้ามหาลัย และการด้อยค่าสายอาชีพอาจส่งผลให้นักเรียนหลายคนไม่ได้พัฒนาทักษะที่ตนสนใจ และใช้ในการทำงานได้ ดังนั้นระบบการศึกษาควรแบ่งสายให้ชัดเจนระหว่างวิชาการและสายอาชีพ รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์และอุดหนุนงบประมาณแก่สายอาชีพ

นอกจากนี้เบนซ์ยังเสนอให้มีการสอบวัดความสามารถ ซึ่งรองรับความรู้ที่เรียนรู้เอง ให้กลายเป็นใบอนญาติประกอบอาชีพได้ “คุณสามารถใช้ประสบการณ์ต่าง ๆ และสามารถเปลี่ยนเป็นวุฒิได้ หรือสอบ certificate ความสามารถต่าง ๆ ซึ่งได้จากความสามารถในการสอบ ผมคิดว่าเรื่องการเรียนรู้มันมีหลากหลายมากขึ้น และการเรียนสถาบันก็มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ว่าการองค์กรหรือระบบที่สามารถ certify ความสามารถของคนได้จริง หรือการทดสอบรูปแบบต่างๆ ใช้การันตีในการประกอบ ผมว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน และไปทุ่มเทให้การตรวจสอบคุณภาพในการประกอบอาชีพ”

สำหรับการแต่งเพลง ฟอร์ดมองว่า “แค่ได้มีเวลาว่างให้เราได้ลองผิดลองถูก มีเวิร์คช็อป ก็โอเคแล้ว บางคนเขาไม่มีอุปกรณ์ แค่มีอุปกรณ์ทิ้งไว้ และมีชั่วโมงว่างให้เขาไปทำ แค่นั้นก็ได้แล้ว ไม่ต้องมีคอร์สอะไรเยอะแยะมากมาย เพราะว่าทุกวันนี้ ผมเองก็ไม่ได้เทคคอร์สอะไร”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า