7 นโยบาย ยางพารา ก้าวไกล

เดชรัต สุขกำเนิด


สถานการณ์ยางพาราไทย

ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจการเกษตรของไทยอย่างมาก ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรชาวสวนยางอยู่กว่า 1.7 ล้านคนทั่วประเทศ (มีจำนวนเกษตรกรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากข้าว) และมีผลผลิตออกสู่ตลาดคิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทในแต่ละปี 


แต่ปัจจุบันนี้ เกษตรกรชาวสวนยางกลับมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรชาวสวนยาง มีอายุเพิ่มมากขึ้น และไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ และชาวสวนยางจำนวนมากไม่มีความมั่นคงในชีวิต รวมถึงไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินของตนเองด้วย

ตลาดยางพาราของไทยมีความผันผวนสูง และกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดส่งออกเพียงไม่กี่ตลาด การแปรรูปภายในประเทศยังน้อย ในภาวะตลาดปัจจุบัน ยางพาราของไทยยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่อย่างน้อย 3-400,000 ตัน (ประมาณ 5-6%) รวมถึงสถานการณ์ทางการค้ายังมีอุปสรรคต่อเนื่อง จากโควิด-19 ที่ผ่านมา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นอยู่และในอนาคต


ในอนาคต อุตสาหกรรมยางพาราไทยยังต้องเผชิญกับมาตรฐานและข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาตรฐานการดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) ซึ่งมาตฐาน/มาตรการเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำคัญของยางพาราไทยในอนาคต แต่หากรัฐบาล ผู้ประกอบการ และชาวสวนยาง ได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง และปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่ เงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทยก็เป็นได้ 


7 นโยบายหลักยางพาราก้าวไกล

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัญหาทั้งหมดที่รุมล้อมพี่น้องชาวนาสวนยางอยู่ พรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบายหลัก 7 ประการในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวสวนยาง

  1. สวัสดิการเกษตรกรถ้วนหน้า
  2. การออกเอกสารสิทธิเพื่อความมั่นคงในที่ดินของชาวสวนยาง
  3. การปลดหนี้เกษตรกรชาวสวนยาง
  4. การสนับสนุนการปลูกพืชร่วมยาง/พืชเสริมยาง/พืชแทนยาง
  5. การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (ปุ๋ยสั่งตัด, โซลาร์เซลล์, เครื่องจักร)
  6. การเพิ่มอุปสงค์สำหรับการแปรรูปยางอีก 3 แสนตัน ในปี 2570
  7. การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่เป้าหมายและข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อมใหม่ (เช่น FSC, Carbon Neutrality และอื่นๆ)

โดยเนื้อหารายละเอียดของนโยบายทั้ง 7 ข้อประกอบด้วย

1. สวัสดิการชาวสวนยางถ้วนหน้า

เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีสวัสดิการเพียงพอ ยิ่งเกษตรกรของไทยเริ่มมีอายุเพิ่มมากขึ้น และประมาณครึ่งหนึ่งของเกษตรกรไทยก็อยู่ในวัยสูงอายุ เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับชาวสวนยางดังต่อไปนี้

  • เด็กเล็ก (0-6 ปี) 1,200 บาท/เดือน
  • เด็กโต (7-18 ปี) เพิ่มค่าเดินทาง (200-300 บาท/เดือน) และค่าอาหาร (30 บาท) สำหรับนักเรียนจนถึงมัธยม
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ภายในปี 2570 และกองทุนดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกคน (อัตรา 9,000 บาท/เดือน/ราย)
  • ระบบประกันสังคมถ้วนหน้าสำหรับชาวสวนยางทุกคน
    • ได้รับค่าชดเชยรายได้และค่าเดินทางไปสถานพยาบาล 300 บาท/วัน
    • ได้เงินชดเชยการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
    • ได้รับเงินช่วยค่าจัดการศพ 10,000 บาท/ราย

การมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น และหากคิดเป็นรายได้ ชาวสวนยางก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี


2.การออกเอกสารสิทธิเพื่อความมั่นคงในที่ดินของชาวสวนยาง

พี่น้องชาวสวนยางจำนวนไม่น้อยยังขาดเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยประมาณการณ์ว่า พื้นที่สวนยางประมาณ 5 ล้านไร่ จากทั้งหมดประมาณ 25 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาในการทำสวนยางพาราอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ซึ่งทำให้พี่น้องชาวสวนยางจำนวนมากถูกจับกุมดำเนินคดี บางส่วนถูกหักโค่นต้นยางพาราที่ถูกไว้ และบางส่วนไม่สามารถตัดโค่นต้นยางเพื่อปลูกทดแทนได้

ในอนาคต พี่น้องชาวสวนยางในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์อาจต้องประสบปัญหาจากมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานการดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน เพราะที่ดินของพี่น้องชาวสวนยางยังไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อตลาดและราคายางพาราตามมา พรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จ ดังต่อไปนี้ 

  • การแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และกระจายที่ดินของรัฐเพื่ออกเป็นโฉนดให้กับเกษตรกร โดยรัฐบาลก้าวไกลจะตั้งกองทุนในการพิสูจน์สิทธิและรับรองสิทธิในที่ดินของเกษตรกร 10,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายพิสูจน์สิทธิและมอบเอกสารสิทธิให้ได้ประมาณ 5 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี
  • พรรคก้าวไกลจะแปลงที่ดิน สปก. ให้เป็นโฉนด เพื่อความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกร โดย
    • เกษตรกรที่ได้รับสิทธิจาก สปก. โดยตรงและยังใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอยู่ จะได้รับโฉนดที่ดินภายใน 2 ปี
    • ส่วนเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน สปก. มาจากผู้อื่น จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนด หากเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเกินกว่า 10 ปี โดยจะได้รับไม่เกิน 50 ไร่ และเป็นผู้มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องถือครองโฉนดที่ดินนั้น 10 ปีขึ้นไป

การออกเอกสารสิทธิ์ให้พี่น้องชาวสวนยาง เป็นผลดีสำหรับการเข้าถึงแหล่งทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปลูกไม้ยืนต้นเพื่อการออม และที่สำคัญคือ การสามารถขอรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานป่าไม้ยั่งยืนหรือ FSC ได้ (มิฉะนั้น ชาวสวนยางจะถูกตั้งเงื่อนไขว่า ที่ดินอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ) เพราะฉะนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่ดินในระยะยาว


3.การปลดหนี้ชาวสวนยาง

ราคายางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้พี่น้องชาวสวนยางตกเป็นหนี้สินจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวสวนยางสูงอายุจำนวนไม่น้อยก็ยังติดอยู่ในวงจรหนี้สินที่ยังไม่เห็นหนทางดิ้นหลุดได้ และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องส่งต่อหนี้สินให้คนรุ่นต่อไป และ/หรือ สูญเสียทรัพย์สินที่ตนสร้างมา

พรรคก้าวไกลเสนอทางเลือกในการปลดหนี้ในระบบ (ธกส.) และหนี้นอกระบบ ดังนี้

  1. การลดหนี้ (หรือ Hair Cut) ลงครึ่งหนึ่ง (หนี้ ธกส.) สำหรับเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปในปีแรก และ 60 ปีขึ้นไปในลำดับถัดมา
  2. การให้เช่าที่ดินระยะยาว (ไม่เกินครึ่งหนึ่งของที่ดินที่มี) เพื่อรัฐนำมาบริหารสินทรัพย์และชำระหนี้ทั้งหมดแทน
  3. การแบ่งรายได้จากการโซลาร์เซลล์ที่รัฐบาลติดตั้งให้ เพื่อนำมาตัดชำระเงินต้นทุกเดือน
  4. การรวบ/รับซื้อหนี้นอกระบบระยะสั้น มาเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนชำระในระยะปานกลาง (3-5 ปี) และระยะยาวแทน (เช่น 10 ปี)

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังเพิ่มวงเงินสินเชื่อสำหรับการประกอบกิจการยางพารา (เช่น การจำหน่ายปุ๋ย การรวบรวม/แปรรูปยาง) รายละ 100,000 บาท โดยการปลดหนี้ชาวสวนยางทั้งหมด พรรคก้าวไกลมีเป้าหมาย จะปลดหนี้เกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 300,000 ราย ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรวมกันได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี


4.การสนับสนุนการปลูกพืชร่วมยาง/พืชเสริมยาง/พืชแทนยาง

แม้ว่า ยางพาราจะเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างเป็นประจำ แต่ยางพาราก็ยังมีช่วงเวลาที่ไม่สามารถกรีดยางเช่น ช่วงยางผลัดใบ แถมราคายางพารายังผันผวนไม่แน่นอนส่งผลกระทบให้รายได้เกษตรกรไม่แน่นอนตามไปด้วย การมีพืชแซม/พืชเสริม/การเลี้ยงสัตว์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวสวนยางได้ เพียงแต่ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ค่อยดำเนินการในลักษณะที่รับประกันทางด้านตลาดให้ ซึ่งพรรคก้าวไกลจึงเสนอแนวทางที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการ 

  • เน้นพืชอาหารเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่น โดยประกันการรับซื้อเพื่อนำส่งตลาดโรงเรียน โรงพยาบาล และตลาดท่องเที่ยว
  • ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า เพื่อการออมระยะยาว แถมยังเป็นการเสริมคุณค่า/มูลค่าทางสิ่งแวดล้อมสำหรับการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ในตลาดพรีเมี่ยมต่างประเทศด้วย

โดยพรรคก้าวไกลจะประกันรายได้สุทธิสำหรับผู้เข้าร่วมนโยบายปลูกพืชร่วมยางที่ 6,000 บาท/ไร่/ปี รายละไม่เกิน 5 ไร่ รวมเป็น 6,000-30,000 บาท/ราย และมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 2.5 ล้านไร่ (10% ของพื้นที่ปลูกยาง) และคาดว่าจะมีชาวสวนยางเข้าร่วมประมาณ 500,000 ราย ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสวนยางรวมกัน 15,000 ล้านบาท/ปี


5. การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ก็เป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาวสวนยาง โดยเฉพาะในการรวมตัวเพื่อเพิ่มทางเลือกทางการตลาด และเพิ่มอำนาจต่อรองให้พี่น้องเกษตรกร พรรคก้าวไกลเห็นถึงความสำคัญนี้จึงเสนอนโยบายในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ดังนี้

  • สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ในการทำปุ๋ยสั่งตัดให้กับเกษตรกร โดยรัฐบาลร่วมสมทบแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง และรัฐบาลลงทุนสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ในการตรวจวิเคราะห์ดินด้วย
  • สนับสนุนสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับกลุ่ม/วิสาหกิจ/สหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการในการรวบรวม/แปรรูปยาง
  • สนับสนุนการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการแปรรูป อัตราดอกเบี้ย 0% 
  • สนับสนุนเงินหมุนเวียนในการจำหน่ายปุ๋ย การรวบรวมยาง และการแปรรูป 20,000 ล้านบาท

พรรคก้าวไกลคาดว่า มาตรการทั้งหมดจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี


6. การเพิ่มอุปสงค์สำหรับการแปรรูปยาง เพิ่มอีก 3 แสนตัน ในปี 2570

แม้ว่า ปัจจุบัน การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 600,000 ตัน (12% ของยางทั้งหมด) ในปี 2561 มาเป็น 900,000 ตัน (18%) ในปี 2565 แต่ก็ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อย เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกล จึงมีนโยบายในส่งเสริม/สนับสนุนให้เพิ่มการลงทุนในการแปรรูปต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะแปรรูปยางให้ได้ 1,250,000 ตัน (ประมาณ 25%) ในปี 2570 ผ่านมาตรการสนับสนุน 4 รูปแบบ คือ

  • มาตรการการจัดซื้อภาครัฐ เช่น ยางสำหรับขนส่งสาธารณะEV และการพัฒนาคุณภาพถนนแอสฟัสต์
  • มาตรการการสนับสนุน อปท. และเกษตรกรผลิตภัณฑ์ยางเพื่อปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง และการเก็บกักน้ำในไร่นา
  • มาตรการร่วมลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเช่น ยางล้อสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ
  • มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุน/หมุนเวียนสำหรับผู้แปรรูปยาง วงเงิน 50,000 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยสามารถเพิ่มการแปรรูปยางจนถึงเป้าหมาย 1,250,000 ตัน จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 12,000 ล้านบาท/ปี


7. การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่เป้าหมายและข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อมใหม่

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยางกำลังเข้าสู่มาตรฐานการค้าแบบใหม่ที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานการดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน หรือ FSC, เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยควรจะเป็นผู้นำในด้านนี้ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับตลาดพรีเมี่ยมใหม่ๆ(เช่น ยาง EV ยางที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ยางที่รีไซเคิล/ซ่อมแซมได้) อันจะทำให้พี่น้องชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากการเจาะตลาดผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ และตลาดที่ต้องระบุ/ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ

เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมความพร้อมในพื้นที่นำร่อง 2.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 500,000 ตัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับรองเอกสารสิทธิในที่ดินตามนโยบายข้อที่ 3 และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรับรองมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยมี กลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ในแต่ละพื้นที่ เป็นแกนกลางในการบริหาร/การเจรจา/และการรับผลประโยชน์จากการได้รับมาตรฐานดังกล่าว 

พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า การได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และการเข้าถึงตลาดพรีเมี่ยมใหม่ๆ จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท/ปี


อนาคตชาวสวนยางพาราไทย

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลเชื่อว่า ด้วยแนวนโยบายทั้ง 7 ข้อ ลดผลผลิตส่วนเกินประมาณ 400,000 ตัน (จากการปลดหนี้/ปลูกพืชเสริมยาง) เพิ่มอุปสงค์ยางพาราจากการแปรรูปในประเทศ 400,000 ตัน และการพัฒนายางพาคาที่ได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอีก 500,000 ตัน ภายในปี 2570 จะทำให้ราคายางพาราในประเทศอยู่ในระดับ 75 บาท/กก.

และเมื่อรวมนโยบายทั้ง 7 ข้อเข้าด้วยกัน เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งหมดประมาณ 79,000 ล้านบาท/ปี ในปี 2570 (หรือประมาณ 45,000 บาท/ปี/ราย ในปี 2570) ซึ่งรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะเท่ากับ 30% ของรายรับรวมของชาวสวนยางในปี 2564 ทั้งนี้ยังไม่รวมมูลค่าของที่ดินและไม้ยืนต้นในพื้นที่ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย

กล่าวโดยสรุป 7 นโยบายยางพาราก้าวไกลไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องชาวสวนยางเท่านั้น หากแต่ยังประกันสิทธิในที่ดินและในสวัสดิการพื้นฐานให้กับพี่น้องชาวสวนยางด้วย พร้อมกันนั้น นโยบายทั้ง 7 ข้อยังช่วยเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยสามารถรับมือกับการแข่งขัน และอุปสรรคทางการค้าได้อย่างมั่นใจในอนาคต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า