‘ถูกต่อว่าเพราะฟ้าเป็นสีม่วง’ : ความไม่เข้าใจในโลกที่ผู้มีภาวะตาบอดสีอยู่ร่วมกับเรา

วริษา สุขกำเนิด

“โรงเรียนของผมไม่ได้มีนักเรียนตาบอดสีมากนัก และโรงเรียนของผมก็ไม่ใช่ที่สำหรับคนตาบอดสี เพราะในลานกีฬาที่มีการมาร์กจุดในคาบพละ แต่ผมมองไม่เห็นมัน”

อเล็กส์ ผู้มีภาวะตาบอดสี เล่าให้ Color Blind Awareness ฟังถึงปัญหาที่เขาพบเจอในโรงเรียน



แม้ภาวะตาบอดสี (Color Vision Deficiency หรือ Color Blindness) หรือภาวะที่เซลล์ทรงกรวยในจอประสาทตาไม่สามารถรับสีบางสีได้ จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากถึง 300 ล้านคนทั่วโลก แต่หลายครั้งสังคมก็ยังขาดความเข้าใจที่มีต่อภาวะของพวกเขา

เพราะสิ่งแวดล้อมถูกออกแบบมาสำหรับการรับรู้ทุกสี ผู้ตาบอดสีจึงต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่วัยเรียนที่สีเป็นเสมือนคะแนนและการยอมรับ จนถึงวัยผู้ใหญ่ที่การเดินทาง การทำงานสร้างสรรค์ จนไปถึงการหาความสุขอย่างการชมหรือเล่นกีฬา ต่างกีดกันพวกเขาออกจากคนอื่น

พวกเราจึงอยากชวนผู้อ่านทำความเข้าใจผู้มีภาวะตาบอดสี รวมไปถึงประสบการณ์ของพวกเขาในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาถูกมองข้าม เพื่อปูทางสู่การออกแบบที่เข้าใจผู้มีภาวะตาบอดสีในกาลต่อไป



ความเข้าใจผิดทั่วไป



ผู้คนจำนวนมากมักเข้าใจว่าภาวะตาบอดสีคือภาวะที่

  • มองไม่เห็นสีเขียวและแดง ‘เท่านั้น’
  • สับสนระหว่างสีเขียวและแดง ‘เท่านั้น’

แต่ความเป็นจริง ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแดงและสีเขียว (Red/Green Color Blindness) ยังไม่สามารถรับรู้สีที่มีเขียวและแดงผสมอยู่ เพราะเซลล์ทรงกรวยในจอประสาทตา (cones cells) ของเราจะรับรู้สีได้จากที่แสงสามสี คือ เขียว แดง น้ำเงิน ประกอบเข้าด้วยกัน การที่เซลล์ดังกล่าวไม่สามารถรับรู้สีแดงและเขียวจึงทำให้ไม่สามารถรับรู้สีอื่นๆ ที่มีสีแดงและเขียวเป็นส่วนประกอบ จนไม่สามารถแยกสีบางสีอย่าง ชมพู ม่วง น้ำเงิน ออกจากกันได้ 

ความเข้าใจผิดดังกล่าวทำให้พวกเขาเผชิญอุปสรรคการใช้ชีวิตในสังคมที่คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้ทุกสี เราจะกล่าวถึงปัญหาเหล่านี้ต่อไป



การเรียน


‘ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีม่วง’ คือประโยคที่นักเรียนตาบอดสีถูกถามบ่อยครั้ง

การเรียน คือ อุปสรรคแรกๆ ที่ผู้มีภาวะตาบอดสีต้องเผชิญ อุปสรรคดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนในวิชามีสีเป็นองค์ประกอบของการให้คะแนนอย่างวิชาศิลปะ ในวิชาดังกล่าว ผู้เรียนถูกคาดหวังให้สร้างชิ้นงานที่ ‘เหมาะสม’ หรือ ‘สมจริง’ จนทำให้งานของผู้เรียนที่มีภาวะตาบอดสีถูกตีกลับเมื่อเลือกสีที่ ‘ผิด’ เพียงเพราะเขาไม่สามารถแยกสีได้ (ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากอุปกรณ์ศิลปะไม่มีคำบอกสีกำกับ) 

อุปสรรคดังกล่าวไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับการเรียนศิลปะเท่านั้น การใช้สีในการเรียนการสอนโดยทั่วไปก็ทำให้พวกเขาเผชิญกับความยากลำบาก เช่น การทำความเข้าใจสื่อการเรียนการสอนที่มีสีสันจำนวนมาก การแยกสีของสารในหลอดทดลองวิชาวิทยาศาสตร์ การทำความเข้าใจแผนที่ ธงชาติ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ในวิชาสังคม หรือการแยกระหว่างปากกาแดง ปากกาดำ ปากกาน้ำเงิน ในการทำการบ้าน

ปัญหาการเรียนรู้ของผู้มีภาวะตาบอดสีไม่ใช่สายตาของเขา แต่คือการขาดความเข้าใจของผู้สอนและสถานศึกษาที่มีต่อผู้เรียน เมื่อคุณครูหรือโรงเรียนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างและเข้าใจความยากลำบากของผู้เรียนที่มีภาวะตาบอดสี รวมถึงขาดข้อมูลการวางเกณฑ์การวัดความรู้ที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม ก็เป็นไปได้ที่ผู้มีสภาวะตาบอดสีจะถูกกีดกัน ด้วยการหักคะแนน ปฏิเสธผลงาน ต่อว่า รวมถึงถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้น ส่งผลต่อความมั่นใจ การเข้าสังคม และพัฒนาการในระยะยาว 



การทำงาน


นอกจากอาชีพเชิงศิลปะแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สี’ ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานแทบทุกประเภท ตั้งแต่งานวิศวกรรมที่ใช้สีบ่งบอกสัญลักษณ์บนอาคารหรือเครื่องจักร ไปจนถึงงานบริหารและงานดิจิตัลที่สีใช้สีในการสื่อสารข้อมูล การออกแบบที่ไม่ครอบคลุมการมองเห็นของผู้มีภาวะตาบอดสีเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพวกเขา

กราฟ พายชาร์ต และตารางดิจิตัลส่วนใหญ่ล้วนใช้สีแสดงความความแตกต่างของข้อมูล เช่น สินค้าชนิด A แทนด้วยสีส้ม และสินค้า B แทนด้วยสีน้ำตาล ผู้มีภาวะตาบอดสีมีอุปสรรคในการทำความเข้าใจแผนภาพดังกล่าวหากไม่มีคำอธิบายหรือตัวเลขประกอบ ส่งผลต่อการทำความเข้าใจข้อมูล การนำเสนอข้อมูล หากหัวหน้าหรือแผนกบุคคลไม่เข้าใจความแตกต่างดังกล่าว พวกเขาอาจถูกดูแคลน หรือกระทบกับการจ้างงานได้

นอกจากนี้ ความไม่เข้าใจภาวะตาบอดสียังส่งผลต่อความปลอดภัยในที่ทำงาน เครื่องจักรขนาดใหญ่หรือเทคโนโลยีที่ต้องควบคุมความปลอดภัยส่วนมากมักใช้สีเป็นสัญลักษณ์ เช่น ‘สีเขียว’ แปลว่าปลอดภัย ‘สีเหลือง’ แปลว่าเสี่ยง ‘สีแดง’ แปลว่าวิกฤติ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้มีภาวะตาบอดสีในการทำความเข้าใจ เมื่อสัญญาณไม่มีคำบรรยาย และขาดคู่มือความปลอดภัยสำหรับผู้มีภาวะตาบอดสี ความผิดพลาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ที่ทำงานในหลายประเทศมักมีการแก้ปัญหาที่ยิ่งกีดกันผู้มีภาวะตาบอดสีมากกว่าเดิม เช่น การไม่รับผู้เข้าทำงาน หรือกฎหมายห้ามทำงานบางสายงาน ในขณะที่ที่ทำงานบางแห่งก็เลือกที่จะมองข้ามภาวะดังกล่าว ไม่มีการตรวจหรือเก็บข้อมูลพนักงานที่ตาบอดสี ก็เป็นการละเลยความยากลำบากของพวกเขาเช่นกัน

ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การ ‘กีดกัน’ หรือ ‘มองข้าม’ แต่คือการ ‘เข้าใจ’ เพื่อให้ ‘ครอบคลุม’ ความแตกต่างทางการมองเห็นของทุกคน



ชีวิตประจำวัน



หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ‘คนตาบอดสีห้ามขับรถ’ เพราะเขาไม่สามารถแยกสีสัญญานไฟจราจรได้ 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริง พวกเขามีปัญหาในการแยกไฟเขียว-เหลือง-แดง รวมทั้งป้ายบอกทาง และสัญลักษณ์บนพื้นถนน แต่ปัญหาเกิดจากภาวะตาบอดสีของเขา หรือการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่กีดกันพวกเขากันแน่ หากสัญญาณมีตัวเลขหรือสัญลักษณ์อื่นๆ ประกอบ พวกเขาก็คงจะเดินทางได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้มักกระจุกอยู่ในบางประเทศ หรือเขตเมืองหลวงเท่านั้น

เช่นเดียวกับการทำอาหาร หลายครั้งพวกเขาไม่สามารถสีวัตถุดิบต่างๆ หรือแยกว่าอาหาร ดิบ-สุก-ไหม้ ได้ ทำให้พวกเขาต้องเพิ่งการดมกลิ่น การชิม หรือรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ การออกแบบที่คำนึงถึงปัญหาดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน



ทางออก


ตาบอดสีเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาได้ แม้จะมีแว่นช่วยมองเห็นสี แต่งานวิจัยจากหลายแห่งก็กล่าวว่ามันมีผลกระทบด้านลบหลายประการ รวมไปถึงเป็นจุดเด่นต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ทางออก สำหรับภาวะตาบอดสีจึงไม่ใช่การรักษา แต่คือ ความเข้าใจ ทั้งในปัญหาที่เขาเผชิญ และการออกแบบเพื่อลดอุปสรรคในชีวิตประจำวัน

‘การตรวจภาวะตาบอดสี’ คือขั้นตอนแรกของการช่วยเหลือ ลูก นักเรียน ลูกจ้าง หรือเพื่อน ที่เผชิญข้อจำกัดจากภาวะตาบอดสี เริ่มต้นจากการสังเกตการพฤติกรรมที่ผิดปกติ อย่างการเลือกสี การไม่อยากเรียนศิลปะ โดยพูดคุยกับเขาและคนใกล้ชิดเพื่อตรวจรักษา คุณครูและแผนกบุคคลควรได้รับคู่มือ (Guideline) ในการสังเกตและช่วยเหลือผู้มีภาวะตาบอดสี สถานศึกษาและที่ทำงานต่างควรสนับสนุนโปรแกรมการตรวจด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การตรวจรักษาไม่ได้เป็นไปเพื่อการตีตรา แต่เพื่อปรับปรุงการใช้งานเพื่อตอบสนองการเข้าถึงของผู้มีภาวะตาบอดสี เช่น สื่อการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนตาบอดสี หรือการออกแบบสนามกีฬาที่ใช้สีแตกต่างกันชัดเจน

เมื่อเราอยู่ร่วมกับนักเรียน เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานที่มีภาวะตาบอดสี เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้เขาสามารถใช้งานในสิ่งที่เราใช้งานได้อย่างไม่มีอุปสรรค ‘การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล’ จึงเป็นแนวคิดที่ใช้ในการปรับสภาพแวดล้อมและเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อลดข้อจำกัดของทุกคนในการเข้าถึง ในกรณีของผู้มีภาวะตาบอดสี ข้อมูลต่างๆ ควรสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ หรือข้อความแทนสี การใช้สีที่มีความแตกต่างสูง เพื่อให้สัญลักษณ์ หรือข้อความเป็นจุดเด่นและไม่กลืนจากพื้นหลัง

‘ลดการเลือกปฏิบัติ’ คือทางออกสำคัญที่สอดคล้องกับการปรับการออกแบบ หลายครั้งที่ผู้มีภาวะตาบอดสีถูกกีดกันออกจากการทำงาน หรือกิจกรรมบางประการ ส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่สอดคล้องกับผู้มีภาวะตาบอดสี เช่นสัญญาณสีบนเครื่องจักรที่อันตราย สภาพแวดล้อมในการทำงานจึงควรถูกออกแบบเพื่อครอบคลุมการทำงานของทุกคน มากกว่ากีดกันใครบางคนออกไป



“ทุกครั้งที่เราบอกว่าเราตาบอดสี ชอบมีคนบอกว่า เฮ้ย สีความจริงมันสวยมากนะ หรือถ้ามึงเห็นสีที่แท้จริง ทุกอย่างจะดีงามมากๆ ซึ่งเราก็ไม่เคยเข้าใจ เพราะสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ว่ามันไม่สวย มันแค่มีฟิลเตอร์”

มอส – นภัส ตั้งโชติสกุล กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีภาวะตาบอดสี ให้สัมภาษณ์กับ Mutual


ไม่เพียงในโลกศิลปะ ในโลกทั่วไปของคนที่ตาไม่บอดสี ภาวะตาบอดสีเป็นทั้งสิ่งที่ทำให้คนหนึ่งถูกกีดกันออกจากการมีชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็ถูกละเลย และมองว่าเป็นเรื่องปกติ มากกว่าความผิดปกติรูปแบบอื่นๆ มากกว่าปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ครอบคลุมพวกเขา

สิ่งที่เราต้องการคือความเข้าใจ โอบรับ และเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียน ที่ทำงาน และเมืองเป็นพื้นที่ของทุกคน



อ้างอิง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า