คุยกับ “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” ในวันที่ทูตทางวัฒนธรรม คือ บุคคลผู้สร้างงานศิลปะ

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


หากเราบอกว่า เราจะสร้างอำนาจละมุน หรือ Soft Power ที่สามารถเปลี่ยนแปลงค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ของผู้คนในสังคมไทย ด้วยการหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Economy) ผ่านการส่งเสริมธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง “ซัน-จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ได้กล่าวกับเราในบทความที่แล้วว่า นอกจากรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอุดหนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์แล้ว การปลดล็อกกฎหมายที่กำกับและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำงานสร้างสรรค์ก็มีส่วนในการเพิ่มขีดจำกัดและจินตนาการให้กับผู้ผลิตงานสร้างสรรค์อย่างมากด้วยเช่นกัน

วันนี้ Think Forward Center จะมาต่อยอดความหวัง กับการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้ลงหลักปักฐานในประเทศไทยให้ได้กับ “เอิร์ธ-ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” อีกหนึ่งผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรี ในฐานะอดีตมือเบสวง Basher ที่วันนี้เข้ามาผลักดันประเด็นเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ผ่านการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และเป็นรองประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจออนไลน์และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาผู้แทนราษฎร

กับประเด็นที่ว่า “หากเราจะทำให้ Soft Power เกิดขึ้นในระดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางความคิดของสังคมได้ เราจะต้องผลักดันงานสื่อสร้างสรรค์ไปในทิศทางใด”



ประเด็นแรก: รื้อมายาคติที่ฉุดรั้งคำว่า “วัฒนธรรม”


ภายหลังที่เราเริ่มเปิดบทสนทนาและเข้าประเด็นคำถามที่ได้จั่วหัวไว้ข้างต้นแล้ว เอิร์ธ ได้ชี้ประเด็นให้เราเห็นก่อนว่า อันที่จริงแล้วอำนาจละมุน หรือ Soft Power เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และถูกใช้ในแทบจะทุกสังคมทั่วโลก เพื่อให้คนในสังคมนั้นๆ ธำรงไว้ซึ่งจิตสำนึกอะไรบางอย่างที่ส่งผลต่อความคิด การพูด และการกระทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ครั้งหนึ่งบ้านเรา (ประเทศไทย) เราก็เคยใช้ Soft Power ในรูปแบบของเพลงปลุกใจอย่าง “ต้นตระกูลไทย” “รักกันไว้เถิด” “หนักแผ่นดิน” และ “เราสู้” ทั้งหมดนี้คือการสร้างกรอบแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งให้กับสังคม” 

ผลที่เกิดขึ้นกับการใช้ Soft Power ผ่านการใช้เสียงเพลงขับเคลื่อนชุดความคิดของคนในสังคมเวลานั้น เราก็ได้เห็นภาพชัดแล้วว่า Soft Power คืออาวุธทางความคิดที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ของคนในสังคมได้ โดยไม่ต้องใช้อำนาจทางการทหาร หรือ Hard Power เลย

ดังนั้นแล้ว เอิร์ธจึงกล่าวว่า การจะสร้าง Soft Power ให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ก็อาจจำเป็นต้องสร้างงานศิลปะสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นความบันเทิงทางจิตใจให้กับผู้คนได้ก่อน จากนั้นจึงสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นไทยเข้าไปทีหลัง เพราะว่าการสร้าง Soft Power ที่ประสบความสำเร็จได้ในหลายประเทศ มาจากเขาทำในสิ่งที่เรียกว่า “การส่งออกทางวัฒนธรรม” 

ถ้าเช่นนั้น แล้ว “วัฒนธรรม” คืออะไรกันแน่? 

“ถ้าดูจากนิยามเลย เหมือนตอนนี้คำว่า “วัฒนธรรม” มันคือ “ประวัติศาสตร์” หรือเปล่า? แต่สำหรับเรา จริงๆ แล้ว “วัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไปตามกาลเวลาได้”


นี่จึงอาจเป็นปัญหา หากเรายังเอาคำว่า “วัฒนธรรม” ไปผูกโยงกับ “ประวัติศาสตร์” หน้าตาของวัฒนธรรมก็จะกลายเป็นเรื่องของการต้องสร้างสำนึกเพื่ออนุรักษ์และสืบสาน ดังเช่นวัฒนธรรมที่เราเคยส่งเสริม ผ่านการนำเงินจำนวนถึง 100 ล้านบาท ไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระนเรศวร” หรือล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง “ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน” ที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยแถลงข่าวว่า กระทรวงได้คัดเลือกให้ละครเรื่องนี้ไปฉายแสดงในงาน The Montanosa Film Festival (MFF) ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 19-27 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ตามคำบอกเล่าของ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ว่า

“เนื่องจากมีเนื้อหาส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ‘ผัดไทย’ เป็นอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับนานาชาติและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวต่างชาติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

อิทธิพล คุณปลื้ม กล่าว1

ขณะที่ ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์หลายแขนง รวมทั้ง เอิร์ธ มองว่า การส่งออก Soft Power โดยอ้างว่า เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ดีของไทยเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยัดเยียด ขาดกลวิธีในการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ รวมไปถึงปมของเรื่องราวที่ต้องปูพื้นมาดีและเมื่อรับชมแล้วชวนให้ผู้รับชมคล้อยตามไปกับวัฒนธรรมต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ภายในเรื่องได้

เอิร์ธ จึงกล่าวต่อว่า ถ้าเราเริ่มจากการทำความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” เสียใหม่ และตั้งเป้าให้ชัดเจนว่า ตกลงเราต้องการทำอะไร? หากต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาเติบโต หาคำตอบจนกระทั่งวนกลับมาที่เรื่องนี้ได้ มันถึงจะสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ได้ และต้องเริ่มจากการที่ประเทศไทยสามารถสร้างบุคลากรที่ผลิตงานสร้างสรรค์ในระดับโลกได้

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการสร้างมุมมองใหม่ว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ลื่นไหลไปตามกาลเวลาได้ เนื่องจากเราคงไม่สามารถนำนาฏศิลป์ หรือ รำไทยไปยัดเยียดให้กับชาวต่างชาติ เพื่อให้พวกเขาซาบซึ้งกับความเป็นไทยได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การนำสิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติรับรู้ถึงความสามารถพิเศษ (Talent) ที่น่าสนใจของคนไทย เฉกเช่นที่เกาหลีใต้ทำแล้วประสบความสำเร็จให้ได้


หลากหลายรายการวาไรตี้ และภาพยนตร์สารคดีต่างทำให้เราเห็นภาพว่า เด็กๆ เกาหลีใต้มีความสามารถทั้งเต้นเก่ง ร้องเพลงเก่ง มีระบบออดิชันเพื่อเข้าค่ายเพลงใหญ่ๆ และต้องมีการฝึกซ้อมอย่างหนักในทุกๆ ด้านเพื่อพร้อมสำหรับการเป็นศิลปินเต็มตัว จนกระทั่งมีโรงเรียนสอนศิลปะการแสดงและการร้องเพลงโดยเฉพาะอย่าง โรงเรียนศิลปะการแสดงแห่งกรุงโซล (SOPA) เพื่อเตรียมตัวไปออดิชันเข้าค่ายเพลงและฝึกซ้อมเพื่อเตรียมเดบิวต์ต่อไป

“สุดท้ายแล้ว เมื่อเราสามารถสร้างชื่อเสียงจากสิ่งเหล่านี้ได้ในเวทีนานาชาติ เม็ดเงินจากต่างประเทศจะเข้ามาผ่านวงการเพลง ละคร ศิลปะ ไปจนถึงการท่องเที่ยว เพราะมันมีอยู่จริง คนที่ไปเที่ยวเกาหลีใต้ เพียงเพราะว่า เขาชอบศิลปินเกาหลีใต้ และเมื่อเขาไปแล้ว เขาจะได้ไปซึมซับวัฒนธรรมอื่นๆ ได้เห็นชุดฮันบก เห็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เอง โดยไม่จำเป็นต้องเอาอะไรไปยัดเยียดเขา”


ประเด็นที่สอง: เปิดพื้นที่ให้โอกาสแสดงศักยภาพกับผู้คน

ประเด็นถัดมาที่ เอิร์ธ บอกว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ การเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้แสดงศักยภาพที่หลากหลายของตัวเองออกมา โดยเล่าว่า ถ้าวันนี้เราเดินอยู่ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สิ่งที่เราจะพบเห็นได้ในย่านธุรกิจหลายแห่งของเมืองจนเป็นเรื่องปกติเลยคือ การมีเวทีเปิดหมวกอยู่บนถนน เพื่อให้ผู้คนของเขาได้มาแสดงโชว์ ร้อง เล่น เต้นการเต้นคัฟเวอร์ (Cover Dance) 

ขณะที่ ในประเทศเรากลับมีน้อยมาก อีกทั้งนักดนตรีและนักร้องส่วนใหญ่ยังถูกผูกภาพจำไว้กับผับบาร์และสถานบันเทิง เพราะนักดนตรีเหล่านี้ไม่มีพื้นที่อื่นพอจะสามารถแสดงศักยภาพของตัวเอง และเป็นเหตุผลให้ต้องไปเล่นตามผับและบาร์ จนกลายเป็นว่า อาชีพนักดนตรีกลายเป็นอาชีพที่ยึดโยงกับสิ่งของมึนเมา สถานบันเทิง และธุรกิจสีเทาไปหมด 

“หากเรามีการออกแบบให้มีพื้นที่สาธารณะที่สามารถให้ผู้คนได้ออกมาแสดงศักยภาพที่หลากหลายของตนเองในหลายย่านหลายเมืองได้ นี่จะเป็นใบเบิกทางในการสร้างอาชีพและนำพาให้แมวมองค่ายเพลงและนักดนตรีมาพบเจอกันได้ง่ายขึ้น”

แต่สิ่งที่อาจเป็นตลกร้ายมากกว่าการที่นักดนตรีนักร้องในประเทศนี้ นอกจากไม่มีพื้นที่สำหรับการแสดงศักยภาพของตัวเองที่มากเพียงพอแล้ว แต่หากนักดนตรีนักร้องเหล่านี้พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมามีชื่อเสียงของตัวเอง เสรีภาพในการทำงานศิลปะสร้างสรรค์ของพวกเขาก็ยังคงถูกจำกัดกรอบให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ก้าวก่ายไปยังเรื่องการเมือง 

ดังเช่น กรณีของ มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินแร็ปเปอร์สาวที่เคยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าแจ้งความ มิลลิ กับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ในข้อหา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา จากกรณีโพสต์ข้อความตำหนิการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถึงเรื่องการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ภายหลังพบพนักสอบสวน ทนายความของ น.ส.ดนุภากล่าวว่า แร็ปเปอร์สาวถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท จากข้อหา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญา และไม่มีข้อหาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์2


ขณะที่ครึ่งปีต่อมา แร็ปเปอร์สาวคนนี้เอง กลับได้รับโอกาสเป็นศิลปินหญิงคนแรกของไทยที่ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต โคเชลลา (Coachella) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา และมีการถ่ายทอดสดผ่านยูทูบไปทั่วโลก โดยเธอได้หยิบยกเอาเพลงของเธอที่มีชื่อว่า 17 นาที ขึ้นแสดงก่อนปิดท้ายด้วยการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที พร้อมถามผู้ชมว่าใครอยากกินบ้าง และนี่เองที่ถือเป็นการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทยและขนมหวานไทยชนิดนี้ จนผู้คนพากันแห่ซื้อข้าวเหนียวมะม่วงกินตาม จนร้านค้าพากันขายดีแบบไม่หวาดไม่ไหว โดย The Standard ได้เผยข้อมูลว่า สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ MILLI กินข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้จำนวนออร์เดอร์บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า และส่งผลให้การสั่งซื้อเมนูข้าวเหนียวมะม่วงได้ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 15 จากเดิมที่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การสั่งเมนูข้าวเหนียวมะม่วงอยู่ในลำดับที่ 443

เป็นผลให้ท้ายที่สุด ตัวแทนรัฐบาลหลายคนก็ได้ออกมาแสดงความชื่นชมและขอบคุณมิลลิที่สนับสนุนให้ขนมหวานไทยไปผงาดในตลาดโลก รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาบอกว่า “เรามีของดีๆ อยู่เยอะแล้ว ผมย้ำอยู่เสมอในเรื่องของ Soft Power ทั้งอาหาร ธรรมชาติและสุขภาพ และจำเป็นต้องสนับสนุนเร่งรัดในการพัฒนา Soft Power ที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่เรามีจำนวนมากหลายๆ เพื่อทำให้คนสนใจและให้ความสำคัญกับประเทศไทย”4 พร้อมทั้งยังให้ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาขอโทษมิลลิภายหลัง จากเหตุนายกรัฐมนตรีเคยให้ทนายความของตนฟ้องร้องมิลลิ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา5

ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงออกซึ่งศักยภาพของตนอาจไม่ได้หมายรวมแค่เชิงพื้นที่ตรงตัว แต่รวมถึงเชิงการเมืองและกฎหมายที่ต้องปลดล็อกกรอบที่จำกัดจินตนาการและความคิดของประชาชน เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์สามารถรังสรรผลงานออกมาอย่างมีอิสรภาพได้


ประเด็นที่สาม: รัฐบาลต้องเป็นผู้สนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรม (แบบไม่จำกัดกรอบคิด)

เราชวนคุยกับ เอิร์ธ มาจนถึงประเด็นการส่งออกวัฒนธรรม ซึ่งเอิร์ธก็ได้บอกกับเราว่า เรื่องนี้รัฐจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ โดยอาจจะต้องมีมาตรการทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า บริการ องค์กร สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มาตรการในการหาตลาดเพื่อการส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และมาตรการการให้ความสนับสนุนทางเม็ดเงิน เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ทุกชนิด โดยการสนับสนุนชิ้นงานเหล่านี้ต้องไม่เป็นการตัดสินใจของรัฐ แต่ต้องเป็นการตัดสินใจของเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ

“ถ้ามองเรื่องนี้ในมุมของ Start Up มันจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Matching Fund เป็นกองทุนส่งเสริมให้ Start Up ที่กำลังมองหาเม็ดเงินลงทุนสำหรับมาทำโปรเจกต์หนึ่ง โดยให้เขาไปหานักลงทุนต่างชาติเพื่อร่วมลงทุน เมื่อหาได้แล้ว รัฐจะบวกเงินเพิ่มเข้าไป เช่น ถ้าโปรเจกต์นี้หาผู้มาลงทุนจากต่างประเทศได้ 1 ล้านเหรียญ รัฐอาจจะหางบประมาณมาสนับสนุนประมาณ 10% ของการลงทุน”

เราชวนเอิร์ธคุยต่อว่า หลายๆ ครั้งที่เราคุยเรื่องนี้ มันมักจะมีคำพูดที่ว่า “รัฐไทยชอบทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี เพราะคิดว่าตัวเองรู้มากกว่า ซึ่งการที่รัฐๆ หนึ่งจะเจริญขึ้นมาได้ รัฐต้องทำตัวโง่กว่าประชาชน และโง่กว่าเอกชน”

เอิร์ธ จึงเสริมว่า และถ้ารัฐจะตั้งกองทุนขึ้นมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมีอยู่แล้วหลายหน่วยงาน อาทิ Creative Economy Agency (CEA), National Innovation Agency (NIA) Office of Knowledge Management and Development (OKMD) และ Digital Economy Promotion Agency (DEPA) โดยรัฐอาจให้หน่วยงานเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งและดูแลกองทุนที่การสนับสนุนงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และกำหนดให้ชัดเจนว่า หน่วยงานผู้ดูแลกองทุนเหล่านี้ไม่มีสิทธิตัดสินใจในการให้ทุนใคร หรืออาจจะมีสิทธิตัดสินใจในส่วนหนึ่งได้ แต่ถ้านายทุนใหญ่อย่างเช่น Netflix หรือเทศกาลหนังต่างๆ ยินดีให้การเป็นผู้สนับสนุนงานสร้างสรรค์อย่างละครและภาพยนตร์แล้ว ทำหน้าที่ของคุณคือ ต้องให้เงินสมทบเพื่อสนับสนุนผลงานเหล่านี้ 


ซึ่งถ้าหากทำให้เกิดขึ้นได้ นับจากนี้เราอาจพบเห็น ภาพยนตร์ที่มีพลังขับเคลื่อนสังคมเหมือนกับ ภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย ที่เป็นกระแสของผู้คนอยู่ขณะนี้อย่าง “Gangubai Kathiawadi” หรือ คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกหลอกมาขายเป็นโสเภณีที่เมืองกามฐิปุระ แต่แล้วก็มีอะไรบางอย่างมาสะกิดใจเธอ ทำให้เธอได้เปลี่ยนความคิดและทัศนคติในการเป็นโสเภณี จนกระทั่งเธอลุกขึ้นมาเล่นการเมืองเพื่อรักษาสิทธิของเธอและผู้หญิงในกามฐิปุระกว่า 4,000 คน ให้ได้รับการคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นตัวอย่างในการสร้าง Soft Power ผ่านงานสร้างสรรค์ ที่มีเข้าไปส่วนเข้าไปจัดการกับระบบความคิดของผู้คนที่รับชม และเกิดเป็นวงพูดคุยเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนถึงสภาพปัญหาและสิทธิที่ผู้ประกอบอาชีพบริหารควรได้รับมากขึ้นอีกครั้ง 

เอิร์ธ เสริมว่า หรือแม้แต่ดนตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไปดูแนวเพลง K-pop ของเกาหลีใต้มันก็ไม่ได้มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์เกาหลีอยู่เลย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนทำงานเพลงแล้วได้ฟังเพลงไทยทุกแนว ฮิปฮอปของไทยมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมาก มันมีเอกลักษณ์อะไรบางอย่างที่มันไม่เหมือนกับ ฮิปฮอปมากกว่าของชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอปสากลหรือ ฮิปฮอปเกาหลี ซึ่งตรงนี้ถ้าเราสามารถทำให้อัตลักษณ์ของฮิปฮอปไทยมันเด่นชัดขึ้นมากว่านี้และส่งออกไปได้ มันอาจจะดังเหมือนกับ K-Pop และต้องบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาเป็นคำว่า T-Hiphop ก็ได้


และอีกอย่างที่สำคัญคือ ในวัฒนธรรมดนตรี อย่างเช่น K-Pop สุดท้ายแล้ว เราต้องมองศิลปินเป็นตัวแทนของประเทศ ส่งเขาไปเป็นทูตทางวัฒนธรรม คือเมื่อเราผลักดันให้เขามีชื่อเสียงได้แล้ว เราต้องขายตัวบุคคล ทำให้เขาเป็นตัวแทนในเวทีระดับนานาชาติให้ได้ 

ดังเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ส่งศิลปิน BTS (Bangtan Sonyeondan) ไปขึ้นเวทีสหประชาชาติ (UN) คือเขาไม่ได้มองว่า ศิลปินเป็นคนเต้นกินรำกิน หรือศิลปินที่ทำการแสดงบนหน้าจอเท่านั้น แต่ศิลปินคือทูตวัฒนธรรมของประเทศ เป็นหน้าตาของประเทศ ถ้าจะขายวัฒนธรรมจึงต้องไปถึงจุดนั้น


หรือแม้แต่วง Everglow ที่เมื่อเดือนสิงหาคม ปี2564 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ UNICEF ทำเพลงที่มีชื่อว่า “Promise” เพื่อโปรโมตแคมเปญที่มีชื่อว่า “Promise Campaign” ซึ่งเป็นแคมเปญที่สนับสนุนให้ชาวเกาหลีใต้การช่วยเหลือเด็กๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาในการได้รับบริการสาธารณสุขและการศึกษาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เอิร์ธ จึงทิ้งทวนกับเราว่า ถ้าเราเอาโมเดลนี้มาใช้ได้ ก็จะเท่ากับว่า รัฐจะไม่ใช่ผู้ตัดสินใจโดยเด็ดขาดว่าจะสนับสนุนชิ้นงานใด แต่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในการไปขายงานให้ชาวต่างชาติเห็นว่า งานชิ้นนี้มีดีอะไร และเมื่อพิสูจน์ได้ว่างานชิ้นนี้มันดีแล้ว รัฐจะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนผู้ผลิตงานเอง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการตัดวงจรปัญหาที่งานสร้างสรรค์ที่รัฐสนับสนุนมักมีรูปแบบเดิมๆ เนื้อหาเดิมๆ ซึ่งทีมส.ส.พรรคก้าวไกลก็เคยกันว่า ถ้าการเปลี่ยนทัศนคติข้าราชการเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เราไม่ต้องรอให้เขาเปลี่ยนทัศนคติ แต่ต้องใช้ระบบให้นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ตัดสินใจ

โดยสุดท้ายแล้ว ถ้าเราไปถึงจุดที่สังคมตระหนักรู้ และทำให้ผู้ผลิตหน้าใหม่สามารถเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการผลิตงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องง่ายขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ หนึ่ง มันจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้คนสามารถประกอบอาชีพที่ตนเองฝันได้ เพราะการทำงานศิลปะแขนงเหล่านี้มันเป็นอาชีพของคนมีฝัน ถ้าเราสามารถผลักดันให้เขาทำตามความฝันและสร้างอาชีพผ่านงานที่เขาใฝ่ฝันได้ โอกาสที่พวกเขาจะสามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศและทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตขึ้นได้ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม


ปิดท้าย

Think Forward Center จึงขอทำการสรุปข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้าง Soft Power ให้ประสบความสำเร็จผ่านกลไกการสนับสนุนการผลิตงานสร้างสรรค์เพื่อพิชิตใจผู้คนทั่วโลกของ เอิร์ธ-ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เป็น 3 ประเด็นดังนี้

  • รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมและข้าราชการจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” เสียใหม่ว่า วัฒนธรรมคือ รูปแบบพฤติกรรมของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่ง และพึงระลึกไว้ว่า วัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนไปได้เสมอตราบใดที่พลวัตสังคมโลกยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยกระบวนการคิดที่เปลี่ยนไปจะทำให้การจำกัดกรอบการผลิตสื่อสร้างสรรค์ลดลงและเพิ่มจินตนาการเข้าไปได้มากขึ้น จนกระทั่งสามารถสร้างสื่อที่พิชิตใจผู้รับชมทั่วโลกได้
  • รัฐบาล รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรสนับสนุนให้เกิดพื้นที่แสดงศักยภาพ/ทักษะงานสร้างสรรค์ในชุมชนให้กับประชาชน โดยอาจให้มีตามย่านธุรกิจ ตลาด และชุมชนที่มีผู้สัญจรพลุกพล่าน รวมถึงต้องปลดล็อกกรอบทางความคิดในมิติการเมืองและกฎหมาย เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะสามารถทำงานอย่างไร้ขีดจำกัด
  • รัฐบาล ต้องวางตัวเป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ โดยอาจจะต้องมีมาตรการทางภาษี เช่นการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ มาตรการในการหาตลาดเพื่อการส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และมาตรการการให้ความสนับสนุนทางเม็ดเงิน เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ทุกชนิด รวมถึงโดยการสนับสนุนชิ้นงานเหล่านี้ต้องไม่เป็นการตัดสินใจของรัฐ แต่ต้องเป็นการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ และการทำให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ว่าจะด้านภาพยนตร์ ละคร เพลง หรือเกม ถูกมองว่าเป็นทูตทางวัฒนธรรมของประเทศในการส่งออกวัฒนธรรม




เชิงอรรถ

1. The Standard, จับตา! กระทรวงวัฒนธรรมจะผลักดัน Soft Power ไทย ส่งละคร ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน ฉายในงาน Montanosa Film Festival ที่ฟิลิปปินส์ https://thestandard.co/m-culture-pushing-thailand-soft-power-sending-series-to-montanosa-film-festival/

 2. BBC-Thai, ดารา call out: ทนายนายกฯ แจ้งความ “มิลลิ” ข้อหาหมิ่นประมาท หลังวิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ https://www.bbc.com/thai/thailand-57925336

3. The Standard, MILLI Effect: มิลลิกิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ บนเวที Coachella แค่ 1 คำ ทำยอดสั่งซื้อบนเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า! https://thestandard.co/milli-effect/

4. WorkpointTODAY, นายกฯ เร่งหนุน Soft Power พร้อมผลักดัน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ เป็นมรดกวัฒนธรรม หลัง ‘มิลลิ’ ทำให้ดังทั่วโลก https://workpointtoday.com/mango-sticky-rice/

 5. มติชน, นิโรธ เผย นายกฯยอมรับผิดพลาด เคยฟ้องเอาผิดมิลลิ เหตุทำงานเยอะ จากนี้จะทบทวนตัวเอง https://www.matichon.co.th/politics/news_3301308

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า