7 ศักยภาพที่จะเกิดขึ้น หากปลดล็อคการผูกขาดสุราและเบียร์

เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ… (หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า) ซึ่งจะมีผลให้สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ และอื่นๆ สามารถผลิต ลงทุน พัฒนาและต่อยอดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดด้านขนาดการผลิตที่ไม่สมเหตุสมผล แม้ท้ายที่สุดการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้จะมีมติให้คณะรัฐมนตรีไปพิจารณาร่างก่อนเป็นเวลา 60 วัน ด้วยมติ 207 เสียง ต่อ 195 เสียง ทั้งนี้ Think Forward Center เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผูกขาดดังกล่าวจะทำให้เกิดศักยภาพที่สำคัญ 7 ประการด้วยกัน คือ

  1. เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ได้มากมายหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย มัน ข้าวโพด มะพร้าว ตาล จาก ฯลฯ โดยรวมแล้วจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านี้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี
  2. สร้างงานและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี
  3. เสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
  4. เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อีกมาก ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลผลิตการเกษตร การหมัก การเก็บรักษา ไปจนถึงการตลาด
  5. ลดการนำเข้าสุราและเบียร์ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสุราและเบียร์ ทำให้เพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท/ปี
  6. เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตการเกษตรของชุมชน ด้วยการเก็บรักษาไว้ในรูปของสุราพื้นบ้าน จึงช่วยเพิ่มทางเลือกในการจัดการ และอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรและชุมชน
  7. กากจากกระบวนการหมักสุราและเบียร์ของชุมชน ยังสามารถนำมาใช้ในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของชุมชน และ/หรือการหมักก๊าซชีวภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย


พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คืออะไร? ทำไมต้องปลดล็อคการผูกขาดสุรา-เบียร์

เดิมที กฎหมายที่ควบคุมการผลิตสุราและเบียร์เข้าสู่ท้องตลาด เป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติสรรพสามิต (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560) มาตรา 153 ที่ระบุว่า บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองต้องขออนุญาตต่ออธิบดี และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด 

หากแต่ในกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ข้อ 4 อันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับสถานที่ในการผลิตสุราและเบียร์ ซึ่งกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเครื่องจักรและจำนวนการผลิตขั้นต่ำของสุราแช่และสุรากลั่นประเภทต่างๆ เอาไว้ตามภาพอินโฟกราฟิกดังต่อไปนี้ 


เนื่องจาก แต่เดิมกฎหมายระบุว่า ผู้ประกอบการต้องมีกำลังการผลิตเบียร์ขั้นต่อ 10 ล้านลิตรต่อปี หรือ 43 หมื่นขวดต่อวัน สุราต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 3 หมื่นลิตรต่อวัน (420,000 กลมต่อวัน) ดังนั้น เมื่อการผลิตเบียร์ต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และหากจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กต้องไปขออนุญาตสุราชุมชน แต่มีกฎเกณฑ์ว่า ต้องมีเครื่องจักรน้อยกว่า 5 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 7 คน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีโอกาสเติบโต และแข่งขันในตลาดสุราที่ถูกผูกขาดได้

มาตรการดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้ตลาดเบียร์และสุราในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 370,000 ล้านบาท (ข้อมูลในปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19) มีการผูกขาดสูงมาก โดยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 90 อยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทในเครือเพียง 2 กลุ่มใหญ่เท่านั้น และแม้กระทั่งในสถานการณ์โควิด-19 (ปี 2564) บริษัทที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดยังมีผลกำไรจากธุรกิจสุราและเบียร์มากกว่า 250,000 ล้านบาท/ปี

ดังนั้น การเสนอยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์ ตามร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ… (หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า) จึงเป็นทางออกที่จะทำให้สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ และอื่นๆ สามารถมีการผลิต การลงทุน การพัฒนา และการต่อยอดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดด้านขนาดการผลิตที่ไม่สมเหตุสมผล

Think Forward Center เห็นว่า การปลดล็อคสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ จะนำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ ใน 7 ประการ ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง (หรือมุ่งเน้น) การเพิ่ม/ขยายตลาด หรือขยายการบริโภคแอลกอฮอล์แต่อย่างใด


ศักยภาพ 7 ประการของการปลดล็อกการผูกขาดสุราและเบียร์ได้แก่

1. การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร

ประการแรก การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จากสินค้าเกษตรที่มีราคาไม่แพง เช่น ปลายข้าว กิโลกรัมละ 12 บาท เมื่อแปรรูปเป็นสุราพื้นบ้านและสุราคราฟท์แล้วจะมีมูลค่ามากกว่า 150-2,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุราที่แปรรูป

นอกจากข้าวแล้ว การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ ยังสามารถนำมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด อ้อย มัน มะพร้าว ตาล ต้นจาก และยังนำสมุนไพรของไทยอีกหลายชนิดมาร่วมเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยน “โภคภัณฑ์” ที่มีราคาถูก ให้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่มีราคาแพงขึ้นได้

เพราะฉะนั้น หากยกเลิกการผูกขาดสุราและเบียร์ได้สำเร็จ และเปิดตลาดให้สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ได้มีส่วนแบ่งการตลาด 10% (โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มยอดขายรวมของทั้งตลาด) ศักยภาพของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลการเกษตรจากการแปรรูปสุราคราฟท์จะมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี

2. การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ประการที่สอง การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ จะทำให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย (เงินลงทุนประมาณ 1-2 ล้านบาท) กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ตามแหล่งผลิตพืชผลการเกษตร และชุมชนต่างๆ รวมถึงเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วย เกิดเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี

3. การเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวของแต่ละท้องถิ่น

ประการที่สาม นอกจากจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร และการจ้างงานโดยตรงแล้ว สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยว ในแต่ละท้องถิ่นด้วย ทั้งในแง่ของภูมิปัญญาและเรื่องราวที่น่าสนใจ ของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ และการสังสรรค์และนันทนาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เช่น การแคมปิ้ง เทศกาลอาหารเครื่องดื่ม เทศกาลดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

4. การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา

ประการที่สี่ เมื่อมีการยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์แล้ว จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา และองค์ความรู้เพื่อการแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การวิจัยกระบวนการหมัก การปรับปรุงคุณภาพข้าว (เช่น การขัดสีเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีสัดส่วนแป้งสูงมาก) และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพรอื่นๆ ไปจนถึงการตลาด

ทั้งนี้ หนึ่งในศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาคือ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพของสุราและเบียร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่จะต้องสามารถรักษาและเพิ่มระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย

5. การลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกของสุราและเบียร์

ประการที่ห้า การยกเลิกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์ ยังช่วยลดการนำเข้าสุราและเบียร์จากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าการนำเข้าปีละกว่า 7,000 ล้านบาท ลงได้ด้วย เพราะเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคในประเทศ แทนการบริโภคแต่สุราและเบียร์ยี่ห้อเดิมๆ นอกจากนี้ การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเชียตะวันออกด้วย

ทั้งนี้ หากการแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ สามารถลดการนำเข้าสุราและเบียร์จากต่างประเทศได้ 20% และช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสุราและได้เพิ่มขึ้น 20% ก็จะช่วยเพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้เกือบ 3,000 ล้านบาทในแต่ละปี

6. การเพิ่มทางเลือกในการเก็บรักษาและสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร

ประการที่หก การแปรรูปสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตร ในช่วงเวลาที่ผลผลิตเกินความต้องการของตลาด และเน่าเสียง่าย โดยการจัดเก็บและการถนอมอาหารนั้น สามารถทำได้ทั้งการแปรรูปเป็นสุราโดยตรง (เช่น สุราจากข้าว หรือข้าวโพด) หรือการใช้สุราเป็นเทคนิคในการถนอมอาหาร เช่น การใช้สุราในการดองเหล้าบ๊วย เหล้าลูกหว้า หรือเหล้าลำไย เป็นต้น

ดังนั้น การแปรรูปสุราพื้นบ้านจึงเป็นการเพิ่มตัวเลือกและขีดความสามารถในการจัดการตลาดให้กับเกษตรกร และชุมชน รวมถึงยังเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดให้กับเกษตรกรและชุมชนด้วย

7. การใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ในการผลิตสุราและเบียร์

ประการสุดท้าย กากที่เหลือจากกระบวนการหมักสุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ และเบียร์คราฟท์ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากพอที่จะสามารถนำมาพัฒนาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ และ/หรือ การทำก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือนหรือในการแปรรูป ได้อีกทางหนึ่งด้วย


สรุป

เพราะฉะนั้น การยกเลิกการผูกขาดสุราและเบียร์ จึงเท่ากับเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับการเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรจำนวนมาก เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับการจัดการตลาดสำหรับผลิตผลการเกษตร และเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในภาพรวม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า