นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

โดย เดชรัต สุขกำเนิด


In Focus

  • ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการพักชำระหนี้ แต่รายได้ของเกษตรกรไทยยังลดลง 27% และหนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 22% หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564
  • ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ และยังมีเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้สูงอายุดังกล่าว มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) 
  • การที่หนี้สินของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อ (ก) การจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน (ข) การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร (ค) การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และ ง) การขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว
  • Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย และการรับซื้อหนี้สินของเกษตรกรมาปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม (ก) เกษตรกรที่ศักยภาพการชำระหนี้ต่ำ 2 ล้านราย และ (ข) เกษตรกรผู้สูงอายุ 1.4 ล้านราย (เกษตรกร 2 กลุ่มนี้อาจทับซ้อนกันบางส่วน) ให้มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนภายในระยะเวลา 2 ปี
  • ในส่วนของการรับซื้อหนี้สินของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย (จากปัจจุบันได้ปีละ 100 กว่าราย) หรือต้องมีงบประมาณสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
  • แนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ และรับซื้อหนี้ของเกษตรกรจะแตกต่างกันไปตาม (ก) ภาระหนี้สิน (ข) ทรัพยากรและหลักประกันที่เกษตรกร และ (ค) แนวทางการทำการเกษตรของเกษตรกร และทายาทในอนาคต
  • Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยดำเนินการรับซื้อหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางการปรับโครสร้างหนี้ของเกษตรกร เช่น กองทุนธนาคารต้นไม้ การเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การจ้างงานเพื่อลดหนี้ และ/หรือ ชำระหนี้สินให้หมด ในแนวทางและระยะเวลาที่กำหนด โดยควรมีเงินทุนที่เพียงพอจะครอบคลุมการแก้ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด (มูลหนี้ประมาณ 200,000 ล้านบาท)
  • นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีการติดตามการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการดำเนินการลดภาระหนี้ของเกษตรกรอย่างจริงจัง รวมถึงสำรวจ/ตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมาย/ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ด้วย




ผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ต่อปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน ข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์พบว่า ร้อยละ 90 ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยประมาณ 2.8 กองหนี้ โดยเกษตรกรร้อยละ 72 เป็นหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (หรือ ธกส.) ร้อยละ 63 เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 25 เป็นหนี้เช่าซื้อ (เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์) และร้อยละ 17 เป็นหนี้สหกรณ์ และประมาณร้อยละ 20 เป็นหนี้นอกระบบ

ปัจจุบันเกษตรกรมีสินเชื่อกับ ธกส. ทั้งหมดจำนวน 4.8 ล้านราย คิดเป็นเงินประมาณ 1.59 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีสินเชื่อที่กู้ยืมผ่านสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นจำนวนเงิน 178,473 ล้านบาท รวมแล้วเกษตรกรไทยน่าจะมีหนี้สินรวมกันมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

การเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรไทยร้อยละ 76 ที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากนอกภาคการเกษตร (ในจำนวนนี้มีร้อยละ 38 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมดพึ่งพิงเงินโอนจากลูกหลาน/ญาติที่ทำงานต่างจังหวัด) ต่างได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยพบว่า ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินการเกษตรที่มีกับ ธกส. และอีกประมาณร้อยละ 20 มีปัญหาสินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินอื่นๆ รวมถึงเงินกู้นอกระบบ

แม้ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลจะให้ ธกส. ออกมาตรการพักชำระหนี้ และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขมิให้กู้เงินเพิ่ม อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

ข้อมูลล่าสุดจาก ธกส. บ่งชี้ว่า หนี้สินของเกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2558 ขนาดหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยเท่ากับ 117,346 บาท/ครัวเรือน ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่าในเวลา 8 ปี หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 11 ต่อปี 

กล่าวโดยย่อ ภาพรวมของ 2 ปี ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (เปรียบเทียบระหว่างปี 2562 กับ 2564) รายได้ของเกษตรกรไทยลดลง 27% ขณะที่หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 22% 


ผลกระทบของปัญหาหนี้สินในระยะยาว

แม้ว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะมองว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล โดยเกษตรกรลูกหนี้และสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะต้องทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหากันเอง แต่หากมองจากข้อเท็จจริงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ จะพบว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมในอนาคต ใน 4 ลักษณะด้วยกันคือ

  1. การจำกัดอำนาจซื้อของประชาชน การมีภาระหนี้สินครัวเรือนในสัดส่วนที่สูงจะส่งผลให้ “อำนาจซื้อ” ของครัวเรือนเกษตรกรลดน้อยลงไป ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศ (หรือการบริโภคภายในประเทศ) ทำได้จำกัด 
  2. การจำกัดการลงทุนในการปรับโครงสร้างการผลิต ที่มีประสิทธิภาพและ/หรือมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น การมีภาระหนี้สินภาคเกษตรที่สูง ส่งผลอย่างยิ่งในการจำกัดทางเลือกของเกษตรกรในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตใหม่ๆ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงขาดแรงจูงใจ/ขีดความสามารถในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนด้วย
  3. การส่งต่อภาระหนี้สินไปยังคนรุ่นต่อไป (ทายาทหรือลูกหลานของเกษตรกร) สืบเนื่องจากการเป็นหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรมีลักษณะที่ “ผูกพัน” และ “ทับถม” จนกระทั่งเมื่อเกษตรกรมีอายุมากขึ้น มูลหนี้คงค้างที่มีอยู่ก็ยังมีอัตราสูง ดังข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2564 ที่ระบุว่า ลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุของ ธกส. ทั้งหมด (หรือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มีจำนวนเกือบ 1.4 ล้านราย (และหากนับเฉพาะลูกหนี้อายุ 70 ปีขึ้นไป ก็ยังมีมากถึง 414,576 ราย) และในบรรดาลูกหนี้สูงอายุ 1.4 ล้านรายนี้ มีผู้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) ทั้งหมด 179,421 ราย และกลายเป็นความเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องผลักภาระหนี้สินนั้นข้ามรุ่นไปยังทายาทของตนต่อไป 
  4. การขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้ฝังลึกมากขึ้น โดยเฉพาะภาระทางเศรษฐกิจสำหรับลูกหนี้ ซึ่งในบางกรณีอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินและโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว และเลยไปถึงการเป็นภาระทางเศรษฐกิจของคนรุ่นต่อไป (หรือทายาทของลูกหนี้) ในขณะที่ผลประโยชน์ที่ได้จากลูกหนี้จะจำกัดอยู่ที่เจ้าหนี้จำนวนไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดได้ยากขึ้นเป็นอย่างมาก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้ประเด็นเรื่องหนี้สินของเกษตรกรผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะจากข้อมูลล่าสุดที่ระบุว่า จำนวนลูกหนี้สูงอายุของ ธกส. มีทั้งหมดเกือบ 1.4 ล้านราย เป็นผู้มีสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพ (NPL) มากถึง 179,421 ราย โดยสัดส่วนการเป็น NPL จะเพิ่มขึ้นตามอายุของลูกหนี้ และในกรณีที่ลูกหนี้มีอายุมากกว่า 80-89 ปี และ 90 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วน NPL ถึง 17.2% และ 24.4% ตามลำดับ



แนวทางการแก้ไขปัญหา 3 ขั้นตอน

เพราะฉะนั้น การปล่อยปัญหา “หนี้สินสะสม” ให้ดำรงอยู่ โดยมุ่งเพียงการควบคุมไม่ให้เกิด “หนี้เสีย” เท่านั้น จึงไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ โดยเฉพาะปัญหา “มรดกหนี้” ที่อาจมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงรุกเพื่อที่จะปลดปล่อยศักยภาพ (ทั้งอำนาจซื้อและการลงทุน) ของครัวเรือนเกษตรกร และภาคเศรษฐกิจการเกษตร รวมถึงโอกาสและอนาคตของลูกหลานเกษตรกรให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

ขั้นตอนที่หนึ่ง การปรับเงื่อนไขเงินกู้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสนใจและเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขเงื่อนไขสัญญา และกฎกติกาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก้ไขเงื่อนไขในกติกาต่างๆ รวมถึงสัญญาเงินกู้ในหลายข้อ ซึ่งมีผลดีไม่น้อยต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ตัวอย่างเช่น

  • การเปลี่ยนสัญญาหนี้บัตรเครดิตซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง (ประมาณร้อยละ 16) ให้เป็นสัญญาสินเชื่อผ่อนระยะยาว (หรือ Term loan) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า (ประมาณร้อยละ 12) แทน
  • การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (หรือดอกเบี้ยปรับ) ใหม่ จากเดิมอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่เกินร้อยละ 15 (บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยเดิม) ได้ปรับเป็นการบวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยเดิมได้ระหว่างร้อยละ 1-3 เท่านั้น ทำให้ภาระดอกเบี้ยปรับของลูกหนี้ลดลงอย่างมาก
  • การปรับระบบการหักดอกเบี้ยและหักเงินต้นจากการชำระคืนของลูกหนี้ ซึ่งในอดีตเจ้าหนี้จะนำเงินที่ลูกหนี้ชำระคืน มา “หักเฉพาะดอกเบี้ย” ก่อน (หรือที่เรียกว่า การตัดเงินแนวตั้ง) ทำให้ยอดเงินต้นของลูกหนี้ไม่ลดลงเลย เปลี่ยนมาเป็นการหักใน “สัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย” (หรือที่เรียกว่า การตัดเงินในแนวนอน) นั่นแปลว่า ทุกครั้งที่ลูกหนี้ชำระคืนเงิน จะมีการหักเงินต้นลดลงด้วยทุกครั้ง
  • การกำหนดให้สถาบันการเงินแสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส มิใช่การแจ้งรวมไว้ในยอดหนี้รวมที่ลูกหนี้ต้องชำระเหมือนที่เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินบางแห่งเคยดำเนินการ
  • การเข้มงวดกับการห้ามทำสัญญาเงินกู้ใหม่ที่รวบเอาเงินต้นและดอกเบี้ยเดิมมาเป็น “ยอดเงินต้น” ก้อนใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการซ่อนเร้นปัญหาในการชำระหนี้ของลูกหนี้แล้ว ยังทำให้ลูกหนี้เสียสิทธิในการต่อรองในประเด็น “ดอกเบี้ย” ในการไกล่เกลี่ยหรือปรับโครงสร้างหนี้ เพราะดอกเบี้ยดังกล่าวได้ถูกทำให้เป็น “เงินต้น” ไปแล้ว ซึ่งในช่วง 2-3 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยเอาจริงเอาจังและมีการลงโทษกับสถาบันการเงินที่เคยทำสัญญาเงินกู้ใหม่เช่นนี้กับเกษตรกรลูกหนี้
  • การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่แม้จะสินทรัพย์จะถูกขายทอดตลาดไปแล้ว ยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้และทำสัญญากับเจ้าหนี้ในการเช่าใช้ประโยชน์ หรือทำสัญญาเช่าซื้อ หรือที่เรียกว่า พักทรัพย์-พักหนี้ (Asset Warehousing)
  • กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีการออกระเบียบใหม่ ในการซื้อสินทรัพย์ของลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ หลังจากที่ศาลพิจารณาคดีสิ้นสุดแล้ว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิม และผ่อนชำระเพื่อซื้อที่ดินเดิมกลับไปจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ในอนาคต



ดังนั้น Think Forward Center จึงเห็นว่า รัฐบาลควรที่จะดำเนินการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสัญญากู้ยืม และการบังคับคดีหนี้สิน ที่เคยมีแต่ตั้งเดิมเป็นเวลานาน ดังนี้ 

  1. การสร้างความรับรู้และความรอบรู้ทางการเงิน (หรือ Financial literacy) ของลูกหนี้ โดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรลูกหนี้จำนวนไม่น้อยอาจยังเข้าไม่ถึง/ไม่เข้าใจความสำคัญของการปรับเปลี่ยนกฎกติกาดังกล่าว ดังนั้นการสร้างแคมเปญรณรงค์ให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกรลูกหนี้ ผ่านช่องทางและวิธีการต่างๆ จึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญเร่งด่วนในขณะนี้ 
  2. การตรวจสอบการบังคับใช้กฎกติกาของสถาบันทางการเงิน ให้ปรับเปลี่ยนตามกฎกติกาใหม่และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงต้องครอบคลุมสถาบันการเงินในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากกว่า 1 ล้านคน แต่ยังมิได้อยู่ในการกำกับควบคุมโดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เกษตรกรมักมีปัญหากับการทวงหนี้และการยึดทรัพย์
  3. ในการบังคับคดีหนี้สินนั้น ยังพบความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ในอีกบางประการ เช่น (ก) การยึดทรัพย์เข้าสู่การประมูลเกินกว่าความจำเป็น กล่าวคือ เกินกว่ามูลหนี้ที่เข้าสู่การบังคับหนี้ (ข) การกำหนดราคาทรัพย์ของลูกหนี้ในการประมูลขายทอดตลาดที่อาจต่ำกว่าความเป็นจริง และมีราคาประมูลขายทอดตลาดที่ลดลงในแต่ละรอบ (ค) การกำหนดเกณฑ์ในการวางหลักประกันในการเข้าร่วมประมูล ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำหรับลูกหนี้ในการเข้าประมูลทรัพย์ (ของตนเอง) ที่ขายทอดตลาด (ยกเว้นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) เป็นต้น ซึ่งปัญหาความไม่เป็นธรรมเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขต่อไป


ขั้นตอนที่สอง การปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกรขนานใหญ่

จากรายงานข้อมูลตามเกณฑ์คุณภาพสินเชื่อ ธปท. ของลูกค้า ธกส. ทั้งหมด 4.8 ล้านราย พบว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ธกส. มีลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ (สีแดง) มากถึง 41% หรือเกือบ 2 ล้านราย และมีลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ปานกลาง (สีเหลือง) มากถึง 43% หรือมากกว่า 2 ล้านราย จะมีลูกหนี้ที่มีศักยภาพสูง (สีเขียว) ประมาณ 8 แสนรายหรือประมาณ 16% เท่านั้น

ในสถานการณ์ที่ครัวเรือน/ภาคธุรกิจมีหนี้สินสูงมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การปรับโครงสร้างหนี้จึงมีความสำคัญมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการ/โครงการในการปรับชำระหนี้หลายมาตรการ/โครงการ เช่น โครงการ “คลินิกแก้หนี้” “ทางด่วนแก้หนี้” และ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน” และคาดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับครัวเรือน (ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร) ได้มากกว่า 300,000 ราย ในปี 2564

อย่างไรก็ดี เรายังไม่ทราบความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกรของ ธกส. มากนัก แต่ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศ “แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน” ซึ่งรวมถึง ธกส. ด้วย โดยมีการระบุไว้ชัดเจนว่า การปรับโครงสร้างหนี้สามารถมีได้ 2 ลักษณะคือ

 (ก) การปรับกำหนดการชำระหนี้ โดยไม่ลดภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้  เช่น การปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว การมีเวลาปลอดหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย การลดค่างวดและขยายเวลาชำระหนี้

(ข) การช่วยลดภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายการเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีเช่น การลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) ลดลง, การลดอัตราดอกเบี้ยค้างชำระลง เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามกำหนด, การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ เช่น การตัดชำระเงินต้นก่อนดอกเบี้ย, การรับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้, การปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว, การให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิต โครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรายงานความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อคณะกรรมการสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วย

ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรอย่างจริงจัง รัฐบาลควรขยายแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุมสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ด้วย และควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรในภาพรวมทั้งประเทศ และของแต่ละสถาบันการเงินด้วย


ขั้นตอนที่สาม การเพิ่มทางเลือกในการจัดการหนี้สินของเกษตรกร

นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะดำเนินการแล้ว Think Forward Center เสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มแนวทางที่เป็นทางเลือกในการจัดการหนี้ของเกษตรกร ใน 3 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนั้น จะมีความแตกต่างกันไปตาม (ก) ทรัพยากร/สินทรัพย์ที่เกษตรกรลูกหนี้มี และ (ข) ความต้องการและความพร้อมของเกษตรกร ในการเข้ามาจัดการการผลิตรูปแบบใหม่ เพื่อแก้ไขหนี้สินเดิมของตน โดยแนวทางทั้ง 3 แนวทาง (ดูภาพประกอบ) ประกอบด้วย

  1. กรณีที่เกษตรกรยังมีที่ดินเป็นของตนเอง (แม้จะติดจำนอง หรือใช้เป็นหลักประกันสินเชื่ออยู่) และยังต้องการบริหารจัดการที่ดินแปลงนั้นด้วยตนเอง โดยนอกจากการเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เดิม ตามกลไกที่ได้กล่าวไว้ในขั้นตอนที่ 1 แล้วนั้น รัฐบาลอาจเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร ด้วยการตั้งหรือการสนับสนุนให้กองทุนต่างๆ (เช่น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือกองทุนใหม่ที่อาจจะตั้งเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนท้าย) เข้ามาซื้อหนี้จากเจ้าของหนี้เดิม และทำการปรับโครงสร้างหนี้ และ/หรือ แปลงให้เป็นการที่เกษตรกรเช่าซื้อที่ดินกลับคืนจากกองทุนที่เข้ามาซื้อหนี้ เพื่อให้เกษตรกรยังสามารถดำเนินการผลิตในที่ดินเดิมของตนต่อไป (แม้จะเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของกองทุน) พร้อมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพและความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ เกษตรกรยังสามารถซื้อที่ดิน (หรือไถ่ถอนที่ดิน) กลับคืนมาได้ในระยะยาว หรือในกรณีที่เกษตรกร (หรือทายาทของเกษตรกร) เปลี่ยนใจไม่ทำเกษตรหรือไม่ต้องการเช่าซื้อที่ดินในอนาคตภายภาคหน้า ก็จะได้เงินออมที่เช่าซื้อไว้ ส่วนหนึ่งกลับคืนมา

ในภาพรวมที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ช่วยเหลือเกษตรกรจนสามารถชำระหนี้สินได้หมดสิ้น และได้กลับเป็นเจ้าของที่ดินอีกครั้งจำนวน 7,506 ราย คิดเป็นแปลงที่ดิน 9,012 แปลง จำนวนรวมกันทั้งสิ้น 66,771 ไร่ โดยภาพรวมเกษตรกรที่ได้รับชำระหนี้แทน ประมาณร้อยละ 30 ได้รับชำระหนี้กับกองทุนฟื้นฟูจนหมดแล้ว (สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, 2564)

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากองทุนฯ จะประสบความสำเร็จพอสมควรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยเฉพาะสำหรับหนี้สินที่มีกับสหกรณ์การเกษตร แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะเงินทุนที่ได้รับจากรัฐบาล ก็ทำให้กองทุนฯ ยังช่วยชำระหนี้สินให้กับเกษตรกรได้จำกัด โดยที่ผ่านมา กองทุนฯ สามารถรับซื้อหนี้สินของเกษตรกรได้เพียง 30,374 ราย หรือประมาณร้อยละ 6 ของเกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียนกับกองทุนจำนวน 516,965 ราย เท่านั้น(ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) 

Think Forward Center จึงเสนอให้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อการชำระหนี้แทนเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 

  1. กรณีที่เกษตรกรยังมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เกษตรกร (และ/หรือทายาท) ไม่ประสงค์จะจัดการทำการเกษตรในที่ดินแปลงนั้นต่อไป ที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนนี้อาจอยากเลิกทำเกษตรกรอยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถเลิกทำได้ เพราะยังไม่สามารถชำระหนี้จนหมดสิ้นได้ กลายเป็นความจำเป็นต้องทนทำการผลิตต่อไป แม้จะไม่ค่อยมีความหวังและแรงจูงใจมากนักก็ตาม ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้จึงเน้นที่การนำ “ที่ดิน” มาแปลงเป็นรายได้ ใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ 
    • ลักษณะแรก คือ เกษตรกร (และ/หรือทายาทของเกษตรกร) อาจยังต้องการเก็บที่ดินดังกล่าวไว้ในระยะยาว แต่ไม่ประสงค์จะทำการผลิตทางการเกษตรในช่วงนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาผู้เข้ามาจัดการที่ดินแปลงนั้นแทน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้คืนของเกษตรกร โดยอาจดำเนินการได้อีก 2 ทางเลือก คือ 
  • การมี/จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ เช่น กองทุนต้นไม้แห่งชาติ มาทำการ “เช่าที่ดิน” และ “ใช้ประโยชน์ที่ดิน” แปลงดังกล่าวในระยะยาว โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าเนื้อไม้ในระยะยาว เพื่อแบ่งส่วนหนึ่งมาใช้ในการชำระหนี้ และส่วนหนึ่งก็คืนต้นไม้ให้กับเกษตรกร (หรือ ทายาทเกษตรกร) ต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการ เกษตรกรยังสามารถได้รับค่าเช่าที่ดิน และค่าจ้างแรงงานในการดูแลธนาคารต้นไม้ ตามภาพประกอบ
  • การมี/จัดตั้งหน่วยงานเช่น ธนาคารที่ดิน มาเป็นตัวกลาง ในการหาผู้เช่าที่ดิน (เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่) เพื่อมาเช่าที่ดิน และนำค่าเช่าที่ดินนั้น มาชำระหนี้สินเดิมที่เกษตรกรเจ้าของที่ดินมีอยู่
  • ลักษณะที่สอง คือ เกษตรกร (และทายาทของเกษตรกร) ไม่ประสงค์จะเก็บที่ดินนั้นแล้ว รัฐบาลก็จะมีกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ (เช่น กองทุนที่ดิน) มาทำการซื้อที่ดินแปลงนั้น และนำส่วนหนึ่งมาชำระหนี้สินเดิม และอีกส่วนหนึ่งคืนให้กับเกษตรกร 
    • นอกจากนี้ ในกรณีที่เกษตรกร (และ/หรือ ทายาทเกษตรกร) ต้องการจะเปิดทางเลือกในการรักษาที่ดินแปลงนั้นเผื่อไว้ในอนาคต รัฐบาลก็สามารถเสนอทางเลือกในการขายที่ดินและบ้านแบบ reverse mortgage ให้กับสถาบันการเงินต่างๆ (หรือสถาบันเฉพาะที่จะมาทำหน้าที่นี้เช่น ธนาคารที่ดิน) โดยสถาบันการเงินจะชำระค่าบ้านแบบผ่อนชำระมาให้เกษตรกรเป็นหลายเดือน ซึ่งก็จะเป็นรายได้หนึ่งของเกษตรกร และส่วนหนึ่งก็จะนำไปชำระหนี้เดิม (ตามมูลค่าของที่ดินและโครงสร้างการผ่อนชำระ) และเมื่อเกษตรกรเสียชีวิต ทายาทของเกษตรกรจึงค่อยมารับเงินส่วนที่เหลือ (ส่วนที่สถาบันการเงินยังไม่ได้ผ่อนชำระให้กับเกษตรกรและเจ้าหนี้เดิม) จากสถาบันการเงิน หรือทายาทเกษตรกรก็อาจจะนำเงินมาซื้อที่ดินแปลงนั้น (หรือบ้านหลังนั้น) กลับคืนจากสถาบันการเงินตามที่ตกลงกันไว้
  1. กรณีเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง (เช่น เกษตรกรผู้เช่าที่ดิน) หรือ มีที่ดินที่มีมูลค่าน้อยกว่าปริมาณหนี้สินที่มีอยู่เป็นอย่างมาก ในกรณีนี้ การนำ “ที่ดิน” มาใช้เป็นสินทรัพย์เหมือน 2 กรณีแรกจึงทำได้จำกัดมาก แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการ “สร้างงาน” ใหม่ๆ ที่มีรายได้แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร แล้วจึงทยอยผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่ (ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า กรณีที่ไม่ที่ดินค้ำประกัน วงเงินกู้ของเกษตรกรมักจะไม่สูงมากนัก) โดยตัวอย่างของลักษณะงานที่รัฐบาลจะสร้างงานขึ้น เช่น
    • การทำงานในกองทุน/กิจการ ในทางเลือกที่สองที่ได้กล่าวถึงข้างต้น เช่น การเพาะชำกล้าไม้ และการดูแลแปลงปลูกของธนาคารต้นไม้ที่กล่าวถึงในข้อที่แล้ว
    • การทำงานในกิจการอื่นๆ ที่รัฐบาลพัฒนาขึ้น เช่น การทำงานในสาขาแบบกึ่งอาสาสมัครในการดูแลทางสังคม (หรือ care-giving sector) ที่จะรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ 
    • การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่จะให้รายได้ (เพื่อการชำระหนี้) ในระยะยาว ในลักษณะของ passive income เช่น การลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของผู้ที่มีหนี้สิน และแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า (ที่เกินมาจากการใช้ภายในครัวเรือน) เพื่อมาชำระหนี้สิน

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (2564) ก็คือ เกษตรกรกลุ่มที่ใช้การค้ำประกันกลุ่ม (ซึ่งมักจะเป็นเกษตรกรกลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกินด้วย) มักจะมีมูลค่าหนี้ไม่สูงนัก กล่าวคือ ขนาดหนี้สินโดยเฉลี่ย 68,771 บาท/ราย (เทียบกับเกษตรกรที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีขนาดหนี้สินโดยเฉลี่ย 381,989 บาท/ราย) เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลร่วมกับสถาบันการเงิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสร้างงานที่มีรายได้เพิ่มเพื่อมาชำระหนี้ประมาณ 20,000 บาท/ปี ก็น่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ก็จะชำระหนี้สินดังกล่าวหมดสิ้นได้ 

ทั้งนี้ ทางเลือกทั้งหมดนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ด้วยการกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และบุคคลอื่นๆ (ถ้ามี) จัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ภายในปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเป็นทางเลือกของสถาบันการเงินในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และให้กิจการร่วมทุนนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 15 ปี

Think Forward Center เห็นว่า แนวทางการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สามารถนำมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ด้วยการที่รัฐบาลร่วมกับ ธกส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการทางสังคมเฉพาะเรื่อง จัดตั้งกิจการร่วมทุนฯ ในลักษณะกิจการเพื่อสังคม เพื่อเป็นผู้ดำเนินการตามทางเลือกที่เสนอข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในส่วนของกองทุนธนาคารต้นไม้แห่งชาติ การเช่าใช้ที่ดินเกษตรกร หรือการจ้างงานเกษตรกรลูกหนี้ ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น




สรุป

กล่าวโดยสรุป เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์ภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 และการมีภาระหนี้สินคงค้างจำนวนมากสำหรับเกษตรกรผู้สูงอายุ Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลมีการดำเนินการ ดังนี้

  • ตั้งเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้และการรับซื้อหนี้สินของเกษตรกร อย่างน้อยที่สุดให้ครอบคลุม (ก) เกษตรกรที่ศักยภาพการชำระหนี้ต่ำ 2 ล้านราย และ (ข) เกษตรกรผู้สูงอายุ 1.4 ล้านราย (กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มนี้อาจทับซ้อนกันบางส่วน) ให้แผน แนวทาง และมาตรการปรับโครสร้างหนี้ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี
  • สนับสนุนงบประมาณในการรับซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรให้เพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย หรือต้องมีงบประมาณสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566-2570 
  • สนับสนุนการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธกส. สหกรณ์ และกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร เช่น กองทุนธนาคารต้นไม้ การเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การจ้างงานเพื่อลดหนี้ และ/หรือ ชำระหนี้สินให้หมด 
  • เตรียมเงินลงทุนเริ่มต้น หรืองบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ ที่จะตั้งขึ้น โดยในเบื้องต้นควรมีเงินทุนให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด
  • ติดตามการดำเนินการในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการดำเนินการลดภาระหนี้ของเกษตรกรอย่างจริงจัง รวมถึงสำรวจ/ตรวจสอบว่ามีการดำเนินการตามกฎหมาย/ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของการคิดดอกเบี้ยปรับ และตัดชำระหนี้สิน ว่ามีการบังคับใช้กันอย่างจริงจังหรือไม่ เพียงใด เพราะอะไร และให้เกษตรกรลูกหนี้รับทราบและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งสามารถติดตามตรวจสอบภาระหนี้และการชำระหนี้ของตน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงการดำเนินงานในเรื่องนี้ต่อไป






เอกสารอ้างอิง

  • กรุงเทพธุรกิจ, 2563. ธ.ก.ส.เร่งปรับหนี้ยืนหนี้เสีย4% (6 พฤศจิกายน 2563)  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/906527 
  • ชญานี ชะวะโนทย์, 2564. บริการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการแก้หนี้ของเกษตรกร. มูลนิธิชีวิตไท
  • ชญานี ชะวะโนทย์ และสฤณี อาชวานันทกุล, 2562. พฤติกรรมการเงินของชาวนาและความไม่เป็นธรรมของสัญญาสินเชื่อขอ ธ.ก.ส. ใน เพราะเธอคือชาวนา. มูลนิธิชีวิตไทย
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2564. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/PRNews13Feb2021.aspx 
  • นภนาง เอกอัคร, 2564. บทสัมภาษณ์ใน ประเทศไทยหนี้ท่วม! แบงก์ชาติแก้อย่างไร มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้คืออะไร, Executive Espresso EP.184 https://www.youtube.com/watch?v=DKIZiT7ENXI&list=PLZ0vRaBzdrQ12KViTY71wi4bzrgsCA_TI 
  • โพสต์ทูเดย์, 2563. ‘เกษตร’ ช่วยลูกหนี้กลุ่มสหกรณ์ลดผลกระทบโควิด 19 ยืดจ่าย-พักชำระ มีเงินหมุนครัวเรือนละ2หมื่นบาท (2 เมษายน 2563). https://www.posttoday.com/economy/news/619624?fbclid=IwAR1CsiSMrnj5iTmHezdztp8uKDMgEO2fMnLQ9KggTCM-oKcwKK94yLVrjMM
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์, 2565. จากงานวิจัยสู่การออกแบบแนวทางแก้หนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
  • สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, 2562. รายงานประจำปี 2562 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร https://frdfund.org/ 
  • สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, 2564. ผลการดำเนินงานด้านการจัดการหนี้ ณ วันที่ 31 มกราคม 2564
  • สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, 2565. ข้อมูลการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า