คุยกับ “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” เมื่อระบบการศึกษาที่ตีกรอบ คือตัวการที่ทำให้ไม่เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ครั้งที่แล้ว Think Forward Center ได้พูดคุยกับ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ถึงหนทางในการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Economy) จนกระทั่งได้ทราบถึงต้นตอบางปัญหาที่อาจทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่พกเอาความสร้างสรรค์และแรงกำลังที่เต็มเปี่ยมจะเข้ามาลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้ท้องตลาดต้องมาสะดุดลง เพียงเพราะไม่สามารถเข้าถึงชุดข้อมูล สถานที่ราชการ รวมไปถึงการไม่ถูกสนับสนุนโดยรัฐบาล ก็ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยย่ำอยู่กับที่ไปไหนไม่ได้


วันนี้ Think Forward Center จึงจะมาคุยต่อยอดในประเด็นเดียวกันนี้กับ “กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่แม้ปัจจุบันจะผันตัวมาทำงานกับคณะก้าวหน้า และยังคงทำงานกับความคิด เพื่อขับเคลื่อนผู้คนในสังคมไปสู่จุดที่เข้าใจและโอบรับในความหลากหลายที่หลอมรวมกันจนเป็นประชากรในประเทศนี้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ผ่านงานละครและหนัง (ภาพยนตร์) ว่า “อะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้?”



การศึกษา ต้นตอของปัญหาการตีกรอบให้คำว่า “สร้างสรรค์”

“ถ้าจะถามว่า อะไรคืออุปสรรค กอล์ฟก็คงตอบว่า การศึกษา


คำตอบสั้นๆ นี้ กอล์ฟได้อธิบายให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงยึดโยงกับอำนาจนิยม การเรียนการสอนที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตั้งคำถาม คิดค้นวิธีหาคำตอบที่แตกต่างออกไป หรือวิพากษ์ถึงเนื้อหาในบทเรียนได้ ก็ทำให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะที่ไม่กล้าทำในสิ่งที่ครูไม่ได้สอน ไม่กล้ามีส่วนร่วมในชั้นเรียน ไปจนถึงไม่กล้าสอบถามครู แม้จะเป็นบทเรียนที่ตนเองไม่เข้าใจก็ตาม

ปัญหาที่นี้ เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่วิชาศิลปะ วิชาที่สร้างเสริมจินตนาการให้เด็กกล้าคิด ทำและออกแบบผลงานศิลปะของตนเองอย่างสร้างสรรค์ แต่การศึกษาไทยก็เลือกสอนวิชานี้ในที่ตีกรอบให้แคบ จำกัดจินตนาการของเด็ก และทำให้เด็กต้องหันมาลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น 

“ตราบใดที่ครูไทยยังคงทำตัวเป็นเจ้าชีวิตของเด็กเช่นนี้ เราอย่าหวังเลยว่าเด็กไทยจะฉลาดขึ้น”


แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กอล์ฟ ได้เอ่ยต่อว่า จนถึงขณะนี้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” หรือ “Human Rights” ยังไม่ถูกบัญญัติไว้ในบทเรียนของการศึกษาภาคบังคับของไทย ทั้งๆ ที่คำนี้มีบัญญัติขึ้นในทางสากลนับตั้งแต่ปี 1958 (พ.ศ. 2491) จากการที่สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 74 ปีแล้ว ระบบการศึกษาไทยก็ยังคงไม่ใส่คำนี้เข้ามาในวิชาสังคมศึกษา หรือวิชาหน้าที่พลเมืองเลย


เมื่อถ้อยคำที่เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายของผู้คน และอาจเป็นที่มาของการสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกนำมาสอนหรือบอกเล่าแก่เด็กๆ ในโรงเรียนแล้ว ในทางหนึ่ง มันได้ทำให้เด็กๆ ยึดติดกับการจัดประเภทบุคคลลงตามกล่องที่เคยมีประสบการณ์มา เนื่องจากทุกคนถูกจำกัดให้แต่งตัวแบบเดียวกัน คิด พูด และทำในลักษณะเดียวกัน 

แต่ผลอีกทางหนึ่งคือ มันได้ทำให้เด็กๆ ไม่มีความเข้าใจและเปิดใจว่า สังคมนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศ ซึ่งความไม่เข้าใจตรงนี้เอง เป็นที่มาของอคติในการต่าง และการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน เช่น การกลั่นแกล้งผู้อื่นให้อับอาย (Bullying) การแขวนประจานผู้อื่นให้เกิดความอับอายในโลกอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำอย่างมาก 

แล้วถ้าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มันมีปัญหามาตั้งแต่ฐานรากเช่นนี้ มันยังผลให้เกิดอะไรตามมาบ้าง?


เมื่อโรงเรียนจับฉันลงกล่อง “หนังและละคร” จึงภาพสะท้อนที่ชัดขึ้นถึงความคิดของสังคม

“หนังและละครไทย มันสร้าง Stereotype เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สีผิว การข่มขืนและความรักที่เกิดจากการไม่ยินยอมพร้อมใจ ภาพจำเรื่องความเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ ภาพจำเรื่องคนรวย-คนจน ภาพจำคนหน้าตาดี-หน้าตาไม่ดี ภาพจำคนมีการศึกษา-คนไม่มีการศึกษา ภาพจำคนกรุง-คนต่างจังหวัด ซึ่งมันทำให้เกิดเป็นภาพจำมุมมองให้กับคนในสังคม”


แต่กระนั้น กอล์ฟ ก็เผยอีกว่า แต่ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ภายหลังที่ผู้คนในสังคมเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การมีสตรีมมิ่งละครและภาพยนตร์แบบออนไลน์ รวมถึงการตื่นรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในสังคม ทำให้ผู้คนในสังคมมีโอกาสสะท้อนความคิดเห็น (Feedback) กลับมายังผู้ผลิตหนังและละคร เป็นผลให้ชุดความคิดเดิมของคนในวงการหนังและละครถูกตั้งคำถามมากขึ้น อาทิเช่น การไปข่มขืนคนอื่น ไม่ควรเป็นสิ่งที่ถูกทำให้โรแมนติก (Romanticized) ได้เลยว่าเป็นสิ่งที่ปกติ การที่พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วตอนจบรักกันอย่าง Happy Ending ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น

“เมื่อก่อนสิ่งเหล่านี้ (Feedback) มันถูกพูดถึงแค่ในวงสังคมระดับหนึ่ง เช่น ในห้องเรียน ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่วันนี้เรามีสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์อื่นๆ ทั้งหมดทำให้นำไปสู่การต่อยอดและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”



กอล์ฟเล่าให้เราฟังว่า ตอนนี้ตนมีโอกาสได้เข้าไปเป็นผู้กำกับการแสดงละครเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า “สั่งใจให้หยุดรักเธอ” ของช่อง GMM25 โดยบทละครเรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจากละครเรื่อง “เมียนอกหัวใจ” และนำมาทำใหม่ ซึ่งเนื้อหาในละครเรื่องเดิมนี้จะมีฉากที่พระเอกเป็นผู้กระทำการข่มขืนนางเอกทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก่อนจะมารักกันในตอนจบ

“ถ้าเป็นละครเรื่องนี้ (สั่งใจให้รักเธอ) มีฉากที่พระเอกข่มขืนนางเอกกอล์ฟไม่ทำนะคะ ถ้ามีฉากการเหยียดเพศกอล์ฟก็ไม่เอานะคะ ไม่รับงานค่ะ”

สิ่งที่กอล์ฟต้องการจะสื่อคือ หากว่าละครเรื่องนี้จะมีฉากเพศสัมพันธ์ จะต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการยินยอมพร้อมใจกันระหว่างสองฝ่ายเสียก่อน และทั้งสองฝ่ายจะมีอินเนอร์ที่ลึกซึ่งกว่านั้นในแบบไหนก็ค่อยว่ากันในรายละเอียด ซึ่งที่สุดแล้วเราก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมว่า ถ้าตัวละครจะมีเพศสัมพันธ์ต้องมีการตกลงยินยอมกันก่อน


ขณะที่ กอล์ฟได้เล่าถึงมุมมองของผู้ผลิตละครและหนังในเรื่องความหลากหลายทางเพศว่า ปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวกำลังจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากความเป็นเพศถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่จำเป็นจะต้องได้รับการเคารพ ตราบใดที่ความเป็นเพศนั้นไม่ได้ไปกระทำการละเมิดบนเนื้อตัวร่างกายหรือจิตใจของอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้เรื่องการเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืนบุคคล กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกมองเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป

“แม้ว่าตอนนี้ ช่องที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมบางช่องอาจยังไม่ยอมรับ แต่แน่นอนว่า ที่สุดแล้วเขาจะทนความเปลี่ยนแปลงไปได้อีกไม่นาน และต้องเปลี่ยนในสักวัน เพราะเขาอยู่ไม่ได้ ถ้าเขาเห็นว่า กลุ่มคนดูที่มันเริ่มใหญ่ขึ้นๆ แล้วเขาจะไปทัดทานได้อย่างไรว่า ช่องของเขาไม่มีเรื่องแบบนี้นะ ไม่สนใจเรื่องนี้นะ มันก็ทำไม่ได้ เราก็ต้องรอดูว่าเขาจะทนไปได้อีกนานแค่ไหน”

นอกจากการรื้อถอนภาพจำเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ และการเหยียดเพศแล้ว กอล์ฟยังต่อสู้กับการที่ผู้ผลิตหนังและละครยังยึดติดภาพจำว่า ผู้ที่กระทำการเป็นโจรจะต้องมีใบหน้าที่ดูแย่กว่ามาตรฐานสังคม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะทุกคนต่างมีหน้าตา บุคลิก และอุปนิสัยที่แตกต่างกัน และทุกคนสามารถเป็นคนดีและคนร้ายในชีวิตของใครสักคนก็ได้ นี่จึงเป็นหมุดหมายที่กอล์ฟพยายามจะผลักดันผ่านงานที่ตนเองผลิตออกมา


การศึกษาไทยจะต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

“ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมันก็ยังมีคนที่ยังคิดและเชื่อว่า วัฒนธรรมที่เป็นสิ่งดีงามที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยเขาไม่ได้สนใจว่า วัฒนธรรมเหล่านี้มันมีวัฒนธรรมย่อยที่ซ่อนอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมประชาธิปไตย”

ความคิดเหล่านี้ ถูกฝังรากลึกในหมู่ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกับหน่วยงานการศึกษาอย่าง โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะบุคคลจากฐานรากที่สุด แต่กลับเป็นพื้นที่ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอำนาจนิยม และแช่แข็งทางวัฒนธรรมให้อยู่กับที่มากที่สุด

“เราพยายามบอกพวกเขาว่า อย่างวิถีชีวิตปัจจุบันที่คนเรากินอยู่ในห้าง มันก็เป็นวัฒนธรรมแล้ว เพราะมันเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนปัจจุบัน จะมาเหมือนกับวัฒนธรรมเมื่อ 200 ปีที่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้”

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ กอล์ฟ ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และโฆษกคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เคยนำร่องเสนอแผนการทำงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับบุคคลหลากหลายทางเพศ และวัฒนธรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน โดยเฉพาะวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ปัจจุบันประเทศไทยจะมีสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วทั้งหมด 24 ชุด แต่กลับไม่เคยมีการพูดถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมนี้เลย

โดยสิ่งที่ กอล์ฟ เสนอในวันนั้นคือ การทำค่ายหนังที่เข้าถึงเด็ก เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2475 ทำไมเด็กจะเข้าถึงการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้? อีกทั้งทุกคนที่อยู่ร่วมกันในกรรมาธิการนี้ต่างก็ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมามิใช่หรือ? เมื่อจำนนซึ่งคำตอบ ทุกคนในกรรมาธิการจึงยินยอมให้ กอล์ฟ ทำแผนงานนี้


และในส่วนของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับบุคคลหลากหลายทางเพศ เมื่อภาพมันประจักษ์ชัดว่า ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนเราก็จะพบเจอบุคคลหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ ทั้งนั้น ฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมเราไม่มี LGBTIQ+ และเมื่อวัฒนธรรมหมายรวมถึงการอยู่ร่วมกัน พี่ก็เสนอโครงการ และเชิญผู้บริหารสถานศึกษาทั่วกรุงเทพ มาคุยกันถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้

แม้ทั้งหมดนี้ จะเป็นโครงการที่เริ่มต้นจาก กอล์ฟ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนความหลากหลายทางเพศของพรรคก้าวไกล ได้บุกเบิกเอาไว้ก่อนจะสิ้นสุดการทำหน้าที่ไป และไม่ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้จะยุติหรือถูกสานต่อหรือไม่ แต่อย่างน้อยการได้เสนอโครงการและเริ่มจัดทำไปในวันนั้น ก็ทำให้ผู้คนหลายส่วนตระหนักรู้ในสิ่งที่ไม่เคยถูกตระหนักได้แล้ว



สุดท้ายนี้ กอล์ฟ ได้ฝากทิ้งทวนถึงแนวทางที่จะสร้างอำนาจละมุน หรือ Soft Power ให้ต่อยอดความเป็นประชาธิปไตยและสร้างเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ โดยเริ่มจาก

  1. ต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากปัจจุบัน ระบบการศึกษาในไทยยังสอนให้ผู้คนรังเกียจ/เหยียดคนที่มีความคิด ความเชื่อ การดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคม อีกทั้งหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการของเรายังคงเหมือนเดิม แม้ว่าจะผ่านมา 20-30 ปีมาแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คำว่า “สิทธิมนุษยชน” จะต้องอยู่ในสารบบของโรงเรียน ซึ่งถ้ากำหนดให้มีคำนี้จริงๆ จะทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน การกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย การบุลลี่จะค่อยๆ หมดไป รวมถึงระบบอำนาจนิยม ที่จะเกี่ยวเนื่องไปกับการกำหนดยูนิฟอร์มและทรงผมของเด็ก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเด็กแล้ว
  2. การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ รวมถึงโครงสร้างทำงานของข้าราชการทีละเล็กทีละน้อย เนื่องจากระบบที่ฝังรากมาอย่างยาวนาน และข้าราชการระดับสูงส่วนมากคุ้นชินกับการทำงานด้วยระบบความคิดแบบเก่า การจะไปหักดิบคนเหล่านี้ให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในวันเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องค่อยๆ สร้างความรู้ความเข้าใจให้เขาไป ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเขาอาจตระหนักรู้และเปลี่ยนความคิดได้ ประกอบกับการที่คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ก็จะค่อยๆ นำแนวคิดใหม่เข้ามาแทรกซึมในองค์กรได้ ทั้งหมดจะทำให้สามารถเปลี่ยนระบบราชการได้
  3. ส่งเสริมการสร้าง/พัฒนาคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน ทำละคร ทำภาพยนตร์ ทำงานศิลปะ โดยจะต้องมีกองทุน และหน่วยงานที่เข้ามาดูแลกองทุน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนต้นทุนทางความคิด เพราะความคิดทุกความคิดจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น กองทุนจากผลงานศิลปะ กองทุนจากภาษี กองทุนจากตั๋วหนัง 1 บาท (โดยจะจัดเก็บจากราคาตั๋วหนังในสัดส่วน 1 บาท/ตั๋ว) เพื่อนำไปจัดตั้งกองทุน และนำเงินตรงนี้มาให้โอกาสคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่ไม่มีต้นทุนในการผลิต เพื่อสนับสนุนให้แนวคิดของเขามีคุณค่าและสามารถทำให้เป็นจริงได้มากขึ้น 
  4. ปรับแก้ข้อบทกฎหมายที่ลักษณะตีกรอบการทำงานสื่อสารมวลชน ละคร และภาพยนตร์ อาทิเช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมถึงกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษ เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3) มาตรา 11 (5) และ (6) พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 11 (2) (3) ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการเผยแพร่ข้อมูลสื่อในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  5. การบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับสิทธิในการลงทุนของผู้ประกอบการหน้าใหม่และผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการ
  6. มีนโยบายเพื่อให้ธุรกิจสื่อสารมวลชน ละคร และภาพยนตร์ไม่ถูกผูกขาด เช่น ธุรกิจโรงหนังที่ผูกขาด ธุรกิจค่ายหนังที่ผูกขาด เนื่องจากปัจจุบัน หากไปโรงหนังเราสามารถเลือกหนังดูได้ แต่ไม่สามารถเลือกหนังที่อยากให้เข้าได้ เพราะส่วนมากหนังที่ได้เข้าผูกขาดกับค่ายใหญ่ ทำให้ไม่มีความหลากหลายของเนื้อหา ทุกวันนี้ช่องทางในการฉายหนังเลยเติบโต เพราะหนีออกจากการผูกขาด จนเกิดเป็นโรงหนังอย่าง House และ Doc club & pub เพื่อนำเสนอหนังทางเลือก หนังอินดี้ และหนังแถมของค่ายต่างๆ โดย กอล์ฟ เสนอว่า 
    1. ต้องมี Local Theater เพื่อฉายหนัง Local โดยอาจจะริเริ่มจากโรงหนังในมหาวิทยาลัย ที่พัฒนามาจากห้องประชุมที่มีเวที มีโปรเจ็กเตอร์ มีที่นั่ง เพื่อนำหนังที่ผลิตโดยนักศึกษามาฉาย เก็บค่าตั๋ว จัดทำกองทุนในมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้การติชม เสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุง ก่อนจะต่อยอดให้เกิดการนำหนังนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยไปเวียนฉายให้ครบทุกโรงหนัง Local ด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า