เศรษฐกิจสร้างสรรค์และข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่

ดานิช ดำรงผล
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ประเทศไทย  4.0” หรือ “Thailand 4.0” แต่ด้วยนิยามของรัฐบาลที่จำกัดความไว้ค่อนข้างคลุมเครือ ก็ทำให้ใครหลายคนต่างสงสัยว่า “แล้วอะไรคือประเทศไทย 4.0 กันแน่?”

โดยนิยามของ ประเทศไทย 4.0 ในปัจจุบัน คือ เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) โดยมีฐานคิดหลักคือ เปลื่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

จากนิยามข้างต้น จึงอาจสรุปได้ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ ต้องเริ่มจากการนำเอาข้อมูลจากการวิจัย ผนวกกับเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมภาคการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการ และตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้


ประกอบกับ วาระพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายประเด็น เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวว่า 

“ประเทศเรา (ประเทศไทย) พร้อมแล้ว สนับสนุนหน่วยงานที่ถูกต้อง เราจะได้มีอนาคตให้ลูกหลานได้มีทางเลือก”

เท่าพิภพ กล่าว

โดยทางออกคือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ของประเทศไทย เพื่อฟื้นศักยภาพทางเศรษฐกิจในเรื่องการท่องเที่ยว โดยหลังจากนี้ รัฐต้องไม่นำเงินไปอัดฉีดเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวหรืออุดหนุนนักท่องเที่ยวให้อยู่ยาวนานขึ้น แต่หันมาผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และงานบันเทิงเป็นตัวชูโรงให้คนจากทั่วโลกหันมาสนใจท่องเที่ยวประเทศไทย

อันที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เคยถูกระบุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 และ 12 หรือแม้แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ เพียงแต่ไม่มีการส่งเสริมที่เป็นรูปแบบและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งหากทำได้ จะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศ จากเดิมที่ผูกติดกับภาคการผลิตและการบริการที่มีการแข่งขันตลาดที่สูงมาก มาสนับสนุนทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพยากรมนุษย์


ทั้งนี้ เท่าพิภพ ยังได้เสนอหลักการ 4 O ที่จะทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศไทยได้ คือ

  1. Open mind หน่วยงานรัฐต้องยอมรับและเปิดใจว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ลื่นไหลไปตามกาลเวลาและเปลี่ยนไปได้ ยกตัวอย่างเช่น โขน ของไทยก็รับมาจากอินเดีย และผ่านขอม (กัมพูชา) อีกที หรือผัดไทในแต่ละจังหวัด แต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องปลดล็อกศักยภาพ ด้วยเสรีภาพ เปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงและพัฒนามันไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจริงๆ 
  2. Open Oportunity เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าสู่อุตสาหกรรมโดยใช้ต้นทุนที่ถูกที่สุด พวกฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การลงทุน business matching การเข้าถึงแหล่งทุน การเอาลิขสิทธิ์ไปเข้าธนาคารเพื่อขอกู้ได้โดยรัฐบาลอาจจะเป็นผู้ให้ค้ำประกัน เพื่อให้โอกาสผู้ผลิตหน้าใหม่ได้ลองทำ
  3. Open data จากวลี “Data is a king” รัฐบาลต้องจัดเตรียมข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลให้คนรับรู้ว่า ทำอะไรแล้วจะสามารถไปขายชาวต่างชาติได้ โดยไม่ไปยัดเยียด แต่เราต้องไปถามเขาก่อนว่าเขาชอบอะไร และปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของเขา
  4. Open Offet รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย ยกตัวอย่างเช่น ช่วยยังไงไม่ให้เป็นเบี้ยหัวแตกทุกปี โดยถ้าจะทำเรื่องนี้ อาจจะเริ่มจากการสร้างกองทุน Creative Fund ขึ้นมาก่อน และกองทุนนี้จะได้เงินมาจากการที่คนไทยซื้อตั๋วหนังนำมาทำจนเกิดเป็น Snowball Effect ถ้าอนิเมชันโต เกมโต หนังโต เพลงโต ทุกอย่างก็จะโตตามไปด้วย โดยไม่ต้องลำบากเอาอะไรไปค้ำจนเกินไป หรือนโยบายช็อปดีมีคืน ดูคอนเสิร์ตไทย หนังไทยและได้เงินคืน หรือนโยบายสนับสนุนให้คนไปขายของที่ต่างประเทศ ถ้าขายได้มา 100 ล้านบาท รัฐบาลยินดีเติมเงินให้เลยครึ่งหนึ่ง  


และการจัดทำเศรษฐกิจตามหลักการ 4 O ข้างต้น จะสามารถแบ่งระยะการทำงานได้เป็น 3 Phase คือ

  • Phase I – Infrastructure 3 ปีแรก รัฐต้องลงทุนในการสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้าง Open Mind และ Open Opportunity โดยประเทศไทยมีห้องสมุดประจำจังหวัดที่รกร้างหลายที่ โดยห้องสมุดเหล่านี้อาจถูกเปลี่ยนมาทำห้องสตูดิโอก้าวไกลได้ โดยใช้งบประมาณไม่ถึง 20 ล้านบาท เพื่อให้มีกล้องให้ประชาชนได้เช่า ให้มีแมคอินทอชให้ประชาชนได้เข้าไปตัดต่อภาพยนตร์ ให้มีห้องซ้อมเต้นที่ทำให้เด็กๆ ไม่ต้องไปซ้อมเต้นในห้าง ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ได้พาคนมาเจอกัน ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน และรัฐต้องส่งเสริมสวัสดิการเรื่องการสนับสนุนคนที่มีความสามารถให้เขาสานฝันในเรื่องนี้ได้นานที่สุด และในระยะแรก รัฐต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอยู่แล้ว มีตลาดในประเทศที่แข็งแรงอยู่แล้ว และสามารถไปเปิดตลาดที่ต่างประเทศได้ เช่น อาหาร ภาพยนตร์ และสามารถต่อยอดไปยังเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ ได้เยอะมาก
  • Phase II – Thai-nization 3 ปีต่อมา รัฐต้องนำวัฒนธรรมเดิม ไปผนวกเข้ากับ data ที่ได้ศึกษาเก็บข้อมูลว่า สินค้า/บริการไทยอันไหนสามารถขายคนทั่วโลกได้ รัฐต้องนำเอาข้อมูลความชอบของคนทั่วโลกและเอาวัฒนธรรมไทยเข้าไปปรับใส่ให้ได้ เพื่อให้สามารถต่อยอดไปเฟสต่อไปได้
  • Phase III – Thai-Colonization หรือ การสร้าง Big Win ในแง่ของการทำให้ทรัพยากรฐานรากเข้มแข็ง ซอฟต์แวร์เอนจีเนียร์เข้มแข็ง อนิเมเตอร์เข้มแข็ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะต่อยอด Big Win ให้กับสุดยอดปิรามิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมเกม และไปสู่การได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเราต้องวางเป้าหมายว่า “เราจะครองโลกในอีก 10 ปีให้ได้” และหากถามว่าต้องทำอย่างไร คำตอบคือ “เราต้องสร้าง Big Win ในแง่ของคุณค่า และมูลค่าให้กับผลผลิตของเราให้ได้” 


โดย Think Forward Center มองเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจ ผ่านการให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นเครื่องจักรใหม่ทางเศรษฐกิจ แต่การจะทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่สามารถลงหลักปักฐานได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง?



ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านนโยบายรัฐ

เนื่องจากว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การตลาด เทคโนโลยี งานสร้างสรรค์ การออกแบบ ศิลปะ และ สื่อ เป็นต้น นอกจากนี้บรรทัดฐานของเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์นั้นต้องมาจากประชาชน ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถที่จะยึดติดกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการทำโครงการเจาะจงแบบในอดีตอีกต่อไป ซึ่งรัฐบาลในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ได้พลิกนโยบายจากการทำโครงการ (Project-based) ซึ่งอาจจะได้ผลกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาเป็นการสร้างนโยบายที่มีห่วงโซ่คุณค่าจากส่วนกลาง (Infrastructure-based)

ภาพจาก Rosenzweig, Jacob, et al. “How Governments Are Sparking Growth in Creative Industries.” BCG Global, BCG Global, 22 Mar. 2018, www.bcg.com/publications/2018/how-governments-are-sparking-growth-creative-industries. Accessed 8 July 2022.


แผนภาพแสดงประเภทนโยบายพื้นฐานข้างต้น เป็นแผนนโยบายที่ BCG Analysis ได้ทำให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่การมีระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งการประเมินและสร้างนโยบายในประเด็นดังกล่าวจะต้องทำตามห่วงโซ่คุณค่า เพราะแม้ว่าอุตสาห์กรรมสร้างสรรค์จะครอบคลุ่มหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาภาครัฐในการพัฒนา 3 ส่วนของห่วงโซ่คุณค่าตาม‌แผนภาพข้างต้น 

ก่อนที่จะเจาะลึกถึงปัจจัยเฉพาะแต่ละประการที่ต้องพัฒนาเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าใจกระบวนทัศน์สำหรับการพัฒนานี้คือ (1) รัฐบาลจะต้องใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์และการประสานงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และ (2) รัฐบาลจะต้องใช้แนวทางประสานงานเชิงกลยุทธ์อย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์โดยกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย เพื่อเตรียมขยายกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ วิชาการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่เพียงแต่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก แต่ยังมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของ GDP ในระยะยาวอีกด้วย



การมีกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กฎหมายที่เกี่ยวของกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะมีจุดสนใจอยู่ 2 ประเด็นคือ 1) การเปิดโอกาสให้คนมีโอกาสได้แสดงความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ และ 2) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาชึ่งเป็นผลผลิตหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชึ่งในแง่มุมของกฎหมายแล้วจะมีกฎหมายหลักอยู่ 2 ประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขคือ 1) กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และ 2) กฏหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

1. กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้สร้างสรรค์ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย ในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยความรู้เป็นศูนย์กลางสังคม กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยเพิ่มการลงทุนในผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อพัฒนาสังคม รวมถึงวัคซีนช่วยชีวิต ยารักษาโรค และพืชผลที่ทนแล้งให้ผลผลิตสูงขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารของโลก นอกจากนี้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังส่งผลต่อการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ ชึ่งหากรัฐสามารถเขียนกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมได้ สังคมจะได้รับประโยชน์จากฐานความรู้ที่กว้างขึ้น การลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มขึ้น การสนับสนุนศิลปะเชิงสร้างสรรค์ในวงกว้างมากขึ้น และการเข้าถึงตลาดเปิดและการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น

ความจำเป็นในการปรับปรุงระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัล ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและระดับภูมิภาค มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ในโลกที่การสร้างเนื้อหาและการบริโภคกลายเป็นสากล การพิจารณาประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาในบริบทสากลก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว แนวทางในการจัดการและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควรตระหนักถึงบทบาทสำคัญ เนื้อหาที่สร้างสรรค์ผ่านการแสดงความคิด เรื่องราว และแรงบันดาลใจของผู้คนจากทั่วประเทศ การปกป้องและเสริมสร้างบทบาทนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจทั่วโลกในระยะยาว

ทาง World Economic Forum ได้จัดทำรายงานคำแนะนำนโยบายที่ภาครัฐควรจะปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีเนื่อหาดังนี้1

  • รัฐบาลควรดำเนินการทบทวนกรอบงานลิขสิทธิ์อย่างสม่ำเสมอในยุคดิจิทัล ในการทบทวนเหล่านี้ รัฐบาลไม่ควรเพียงศึกษาภูมิทัศน์ของเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบันที่ประชากรส่วนใหญ่มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง แต่ควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม  ในกรณีที่หลักฐานแสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แห่งชาติและประสานงานระหว่างประเทศต่างๆ
  • รัฐควรพัฒนากรอบการทำงาน ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยลดแรงจูงใจในการรับเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์
  • ควรมีการสร้างระบบสำหรับการจดทะเบียนเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตของเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ ในทางตรงกันข้ามกับการลงทะเบียนระดับชาติซึ่งสามารถทำหน้าที่สำคัญต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะเขตอำนาจศาล การลงทะเบียนทั่วโลกจะมุ่งเป้าไปที่การทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อและระบุวิธีการเพื่อออกใบอนุญาตที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากรัฐบาลไทยสามารถนำการทำสัญญานี้ได้ รัฐบาลจะสามารถประกาศตัวให้ทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาห์กรรมสร้างสรรค์
  • การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การระบุผู้ถือลิขสิทธิ์ได้ง่ายขึ้นมาก ดังนั้นแนวทางใหม่ในการจัดการงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (orphan works) และควรได้รับการปรับปรุงเพื่อนำมาใช้อย่างเป็นทางการ 
  • ภาครัฐต้องให้ความสนใจ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เล่นทุกคนในห่วงโซ่คุณค่ามีส่วนร่วม อย่างเหมาะสมกับแนวการจัดจำหน่ายในปัจจุบัน องค์กรจัดการร่วม ผู้ถือลิขสิทธิ์ และภาครัฐควรทำงานร่วมกันในการจัดหาและแจกจ่ายข้อมูลการใช้เนื้อหา
  • ภาครัฐและผู้ผลิต/ผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ควรสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการตลาดดิจิทัลระหว่างประเทศ ซึ่งอาจลดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ต่อการค้าในงานดิจิทัล
  • รัฐบาลและผู้ถือสิทธิ์ควรใช้หลักการด้านลิขสิทธิ์ดิจิทัลร่วมกัน (shared Digital Copyright Principles) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยุติธรรมระหว่างผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้


2. กฏหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

“รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสรีภาพในการพูด แต่จนถึงขณะนี้ คนไทยยังไม่มี… หากคุณเลือกใช้เสรีภาพ พวกเขาจะเรียกเก็บเงินจากคุณ นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาง่ายๆ แต่เป็นราคาที่คุณต้องจ่าย”

วัฒนา เมืองสุข, ตุลาคม 2560

ภาพจาก naewna, โพลชี้คนไทยร้อยละ 98.9 รับไม่ได้’ม็อบ 14 ตุลา’ คุกคาม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน https://www.naewna.com/politic/525228


ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 สถานการณ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็มีทิศทางแย่ลง โดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 112 และ 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกดขี่ผู้เห็นต่างกับรัฐบาล แม้ว่าประเทศไทยจะมีการทำประชามติเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมีมาตรา 36 วรรคแรก ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และมาตรา 44 (เช่นกัน) วรรคแรก ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุม รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อันเป็นผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นครั้งแรก แม้สุดท้ายจะยังได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ตาม 

ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นผลให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเพิ่มระดับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ภายหลังมีการชุมนุมโดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตย เมื่อเช้าสางของวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการใช้มาตรา 112 และมาตรา 116 กับแกนนำชุมนุมที่ออกมาปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 

การจับกุมพร้อมแจ้งข้อหาข้างต้นนี้ นอกจากจะขัดกับกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แล้ว ยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เนื่องจากเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน การโฆษณา การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การนำเสนอข่าวสารและข้อเท็จจริงผ่านสื่อ หรือการแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ ต่างก็เป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้การคุ้มครองประชาชน โดยการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนยังส่งผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย เพราะหากรัฐสร้างขีดจำกัดทางการแสดงออกของประชาชน ประชาชนก็จะไม่สามารถแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

Think Forward Center เห็นว่า หากรัฐต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ด้วยการนำเอาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามาปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอื่น เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิตสินค้า และภาคการบริการ ให้กลับมาเฟื่องฟูและพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบสนองต่อตลาดโลกได้ ต้องพึงปฏิบัติดังนี้

  1. รัฐจำเป็นต้องยุติ/ไม่ดำเนินคดีเพิ่มเติมกับประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐ และเลือกใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
  2. รัฐต้องยกเลิก/ปรับแก้กฎหมายที่อาจสร้างขีดจำกัดในด้านเสรีภาพทางการพูดและการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการชุมนุมรวมกลุ่มของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัด และออกแบบกฎหมายให้คำนึงถึงวิธีที่จะยับยั้งไม่ให้รัฐบาลในอนาคตละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้อีก
  3. รัฐต้องส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออก และสร้างพฤติกรรมให้ประชาชนกล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออก รวมถึงแสดงทัศนะเชิงจินตนาการได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น
  4. รัฐต้องให้การสนับสนุนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการงานสร้างสรรค์ทุกสายงานอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติจากความคิดเห็นที่ต่างกันทางการเมือง เพื่อให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้แสดงทักษะความสามารถอย่างเต็มที่ และเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สามารถส่งออกงานสร้างสรรค์ รวมถึงสินค้า บริการ รวมถึงการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องให้เกิดขึ้นได้




ศูนย์รวมสร้างสรรค์ (Creative Clusters): กลไกในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มูลนิธินวัตกรรม หน่วยงานที่เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสหราชอาณาจักร ได้ให้นิยามของ ศูนย์รวมสร้างสรรค์ (Creative Clusters)2 ไว้ว่า เป็นการรวมตัวทางภูมิศาสตร์ของธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าที่คล้ายคลึงกัน ทำงานร่วมกันและแข่งขันกันเอง ศูนย์รวมสร้างสรรค์มักจะรวมถึงสถาบันอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า เช่น สถาบันอุดมศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรม สมาคมการค้า และหน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนศูนย์รวมสร้างสรรค์ในแต่ละมิติ นอกจากนี้ศูนย์รวมสร้างสรรค์ยังมีขนาดและคุณสมบัติที่หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร ตัวอย่างคุณสมบัติของศูนย์รวมสร้างสรรค์ ได้แก่ ตัวช่วยสร้าง (incubators), ตัวเร่งการเจริญเติบโต (catalysts), พื้นที่ทำงานที่ใช้ร่วมกัน (shared hub space and studios)

ความสำคัญของศูนย์รวมสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสหราชอาณาจักรมีขนาดเล็กลง โดยขนาดของบริษัทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2014 นั้นเล็กกว่าในปี 2007 ถึง 15% 3 การทำคลัสเตอร์ช่วยให้สามารถให้บริการสนับสนุนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบต่อไปนี้ผ่านการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และศูนย์รวมสร้างสรรค์:

  1. บริษัทที่ ‘หลอมรวม’ หรือ ‘fused’ companies มีประสิทธิผลมากกว่าและมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น บริษัทเหล่านี้คือบริษัทที่รวบรวมทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) โดยข้อมูลทางการระบุว่า (ในปี 2014) 27.3% ของคนทำงานสร้างสรรค์ตกอยู่ในหมวดหมู่นี้ แต่ผลิต GVA ให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้เพียง 43.5%4 รายงานของ Brighton Fuse พบว่าธุรกิจที่หลอมรวมเติบโตเร็วกว่าธุรกิจที่ไม่มีการหลอมรวม (การเติบโต 18 % เมื่อเทียบกับการเติบโต 7%) และมีแนวโน้มที่จะสร้างนวัตกรรมมากขึ้น (ในอัตรา 32% เทียบกับ 13%)5 การวิจัยของ Nesta ระบุว่าการหลอมรวมบริษัทและตำแหน่งร่วมที่กำหนดลักษณะของศูนย์รวมสร้างสรรค์ อาจมีประโยชน์อย่างล้นหลามสำหรับเศรษฐกิจในวงกว้างผ่านความรู้ ผลิตภัณฑ์ และเครือข่ายที่พวกเขาสร้างขึ้น
  2. การวิจัย “Place-shaping” ที่กำหนดโดย Michael Lyons ว่าเป็นการใช้อำนาจและอิทธิพลอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีโดยทั่วไปของชุมชนและพลเมืองของชุมชนบ่งชี้ว่า การมุ่งเน้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไม่ควรสนับสนุนแค่เศรษฐกิจ แต่ต้องให้ประโยชน์ทางสังคม เช่น การมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับท้องถิ่นด้วย6 เนื่องจากมีงานวิจัยที่แสดงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีและผลิตภาพของพลเมือง7 ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับภาควัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์


กลไกภายในของศูนย์รวมสร้างสรรค์

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาของศูนย์รวมสร้างสรรค์นั้นไม่มีสูตรตายตัว และไม่มีวิธีเจาะจงเพื่อพัฒนาศูนย์รวมสร้างสรรค์8 อย่างไรก็ตามปัจจัยที่กำลังจะกล่าวถึงต่อจากนี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ศูนย์รวมสร้างสรรค์เติบโตขึ้นได้ และรัฐบาลกับอุตสาหกรรมสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่

  1. การสร้างศูนย์รวมสร้างสรรค์บนพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว
  2. การมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
  3. การพิจารณาเพิ่มทักษะและการปรับปรุงวิธีการเข้าถึงเงินทุน โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับศูนย์รวมสร้างสรรค์
  4. วิเคราะห์โครงสร้างทางกายภาพของธุรกิจ
  5. การสนับสนุนทางธุรกิจ


กรณีศึกษาการเร็งการเจริญเติบโต (โดยการเชื่อมโยงกันอย่างดีของอุตสาหกรรม) ของcreative cluster ในบริสตอล 

ในสหราชอาณาจักร กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เมืองบริสตอลสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ด้วยเครือข่ายที่รองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ดี นอกจากนี้การที่เทศบาลเมืองบริสตอลจัดให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันในกรุงบริสตอล ทำให้ความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ง่าย

ภาพจาก  Bristol Temple Quarter, Cabinet to consider proposals for further development of Bristol Temple Quarter Enterprise Zone, 26 Aug. 2016, https://www.bristoltemplequarter.com/cabinet-to-consider-proposals-for-further-development-of-bristol-temple-quarter-enterprise-zone/ 


ตามรายงานของ Nesta ระบุว่า บริสตอล ถือเป็นเมืองที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม อันดับที่ 10 ของสหราชอาณาจักร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่บริสตอลและบาธ ทำให้เกิดการจัดหางานเพิ่มขึ้นประมาณ 15,900 ตำแหน่ง โดย Nesta ประเมินว่า อุตสาห์กรรมสร้างสรรค์ภูมิภาคนี้มีประสิทธิผลมากกว่าค่าเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรถึง 50% นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2542 ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วบริสตอลและบาธ มีการผลิตเพิ่มขึ้น 106%9 โดยเขตนี้กำลังตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีเติบโตในแต่ละปีอยู่ที่ 20% หลังจากได้รับรางวัลบาฟต้า (Bafta) 14 รางวัล และออสการ์ (oscars) 4 รางวัล (เช่น อาร์ดแมนแอนิเมชั่น) พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับทีวี ภาพยนตร์และแอนิเมชัน ตลอดจนเทคโนโลยีและบริการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง

บริสตอล มีศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์มากมาย รวมถึงพื้นที่ทำงานร่วมกันที่หลากหลายและศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่ให้บริการ เช่น Bristol Temple Quarter Enterprise Zone (BTQEZ), Bristol’s Harbourside Mile, The Arnolfini Contemporary Art Gallery, Watershed และ Spike Island เป็นต้น

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นก็มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อที่บริษัทจะได้สามารถเข้าถึงความสามารถและความรู้ทางวิชาการได้อย่างสะดวก ตัวอย่างเช่น โครงการ The Bristol Cultural Development Partnership ซึ่งเป็นโครงการระหว่าง สภาเทศบาลเมืองบริสตอล ร่วม Business West University of Bristol และ University of the West of England โดยโครงการนี้ได้เปิดตัว ‘Bristol Festival of Ideas’ ซึ่งเป็น initiative ที่จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอภิปรายและการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นทางวัฒนธรรม

เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของภาคส่วนไฮเทคซึ่งรวมถึงผู้เล่นรายใหญ่จำนวนหนึ่งในด้าน ICT (เช่น HP, Toshiba) และภาคส่วนด้านเทคนิคอื่นๆ (เช่น การบินและอวกาศ) นอกจากนี้บริษัทเกมส์ เช่น Yogscast และ Bristol Games Hub กำลังใช้ประโยชน์จากความสามารถ โครงสร้างพื้นฐาน และคุณลักษณะในท้องถิ่น



การพัฒนาทรัพยากรบุคคล 

ปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนคือ การค้นหาและสร้างบุคคลที่มีศักยภาพทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยความสามารถที่ได้มาเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตและยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีเจริญเติบโตรวดเร็วอย่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดย Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลจะต้องพุ่งเป้าไปที่การสร้างความสามารถผ่าน 2 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

การศึกษา

Think Forward Center เห็นว่า การศึกษาและการส่งเสริมทักษะ/พรสวรรค์ที่เกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเริ่มจาก

  • โรงเรียนต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาศูนย์รวมสร้างสรรค์ รวมถึงพัฒนาทักษะ/พรสวรรค์ที่ถูกค้นพบและต้องได้รับการเจียระไนโดยผู้ชำนาญการในทักษะต่างๆ
  • พัฒนาระบบการฝึกอบรมแกนกลางวัฒนธรรม (ทั้งทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง) ซึ่งอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (เช่น เพลง สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์ และเกม) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (เช่น งานออกแบบ งานสถาปัตยกรรม งานโฆษณาและการตลาด) จะต้องได้รับการพัฒนาทั้งทักษะ/พรสวรรค์มากขึ้น
  • ทำให้อิทธิพลทางวัฒนธรรมกลายเป็นปัจเจกนิยม และทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้


ภาพจาก LinkedIn, A study about workplace integration of high-skilled migrant workers in Ireland.
https://www.linkedin.com/pulse/study-workplace-integration-high-skilled-migrant-workers-maripaz-diaz 


การเปิดรับแรงงานต่างชาติที่มีความสามารถ

หนึ่งในตัวแปรสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แรงงานทักษะสูง ขณะที่ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังเป็นแรงงานทักษะต่ำและราคาถูก การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จึงอาจต้องพึ่งการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต่างชาติทักษะสูงเข้ามา โดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประมาณการไว้ว่า ในช่วงปี 2563-2564 ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 177,606 ตำแหน่ง โดยจำนวนนี้เป็นแรงงานดิจิทัล จำนวน 30,742 ตำแหน่ง และเป็นแรงงานท่องเที่ยวรายได้สูง จำนวน 15,432 ตำแหน่ง

ขณะที่ อุปสรรคที่ทำให้แรงงานต่างชาติทักษะสูง รวมถึงนายทุนภาคการผลิตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงก็ไม่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยคือ ความล้าสมัยของกฎระเบียบและกฎหมาย ที่ทำให้การเข้าลงทุนและเข้ามาทำงานยังประเทศไทยเป็นเรื่องยากเกินความจำเป็น

Think Forward Center เห็นว่า   การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติทักษะสูง รวมถึงสร้างแรงจูงใจด้วยนโยบายที่โอบรับแรงงานต่างชาติทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น 



ทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคคลที่มีความสามารถ

ส่วนใหญ่ธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มักเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจรายย่อย และธุรกิจอิสระ ซึ่งจะเสียเปรียบมากขึ้น เมื่อได้ทุนเติบโตหรือเมื่อต้องแข่งขันกับวิสาหกิจขนาดย่อม และส่วนมากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคเทคโนโลยีจะมีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีความคล่องตัวสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และมีนวัตกรรมสูง 

การให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคคลที่มีความสามารถจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีแรงผลักดันและกล้าออกแบบแผนงานสร้างสรรค์เพื่อเสนอขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกองทุนพํฒนาสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสนับสุนนผู้ผลิตสื่อทุกรูปแบบ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ผูกยึดกับความเป็นวัฒนธรรมไทย (ที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้) และความเป็นชาติ ทำให้มีผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทุนเหล่านี้

Think Forward Center ขอเสนอให้ รัฐบาลเลือกให้ทุนสนับสนุนจากผลงานสร้างสรรค์ที่ผู้ผลิตสามารถขายไอเดียให้กับนายทุนเอกชน (โดยเฉพาะนายทุนต่างชาติ) ได้ และหากผลงานนั้นประสบความสำเร็จได้รับกระแสตอบรับดี รัฐบาลจึงจะอัดฉีดเงินสนับสนุนไปให้ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์นั้นๆ 

การขยายธุรกิจ 

การขยายธุรกิจ ควรได้รับการแก้ไขด้วยแนวทาง “บันไดแห่งการเติบโต” ที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดต่างๆ การใช้ City-Deal Model จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการจาก “ล่างขึ้นบน” โดยที่นายกเทศมนตรีและสภาเทศบาลในฐานะผู้ที่มีความเข้าใจในศักยภาพในการเติบโต ความต้องการของท้องที่นั้นๆ รวมไปถึงสามารถชี้นำแนวทางเพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจปรับตัวตามเมืองและแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้มากกว่ารัฐบาลกลาง 

Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลส่วนกลางควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับทรัพยากรและความสามารถในท้องถิ่น และสามารถวาง Roadmap เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปตามศักยภาพของเมืองและประชาชนได้



การพัฒนาการวิจัย

นวัตกรรมเป็นส่วนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาจึงเป็นบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างนวัตกรรม โดยการวิจัยไม่เพียงแต่นำคุณค่ามาสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย

Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยในยุคสมัยต่างๆ ได้  


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การผูกขาดโลกาภิวัตน์และการสร้างระบบให้คนต่างชาติย้ายเข้ามาในประเทศได้ง่าย จะเป็นการสร้างศักยภาพสูงให้ประเทศในการเป็นรัฐอาณานิคมรูปแบบใหม่ ในแง่ของการนำกำลังคนและทรัพยากรจากประเทศอื่นมาพัฒนาประเทศชาติให้ดีขึ้น

Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องผลักดันนโยบายเพื่อเปิดรับทรัพยากรบุคคลทั้งแรงงานและผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อนำไอเดียของธุรกิจเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศได้

ทั้งนี้ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ลงหลักปักฐานในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด และการทำธุรกิจโดยยึดโยงกับคุณค่าของทักษะที่แตกต่างกันของมนุษย์ เพื่อนำมาหลอมรวมและปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนำพาให้คนไทยทุกคนหลุดพ้นกับดักรายได้น้อย ค่าครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตยังไม่ดีได้



อ้างอิง

1) World Economic Forum. Intellectual Property Rights in the Global Creative Economy”. World Economic Forum, Oct. 2013.

2) เดชอุ่ม, ภูริวัจน์. “การพัฒนาการท่องเทียวเชิงสร้างสรรค์: กรอบแนวคิดสู่แนวทางปฎิบัตรสำหรับประเทศไทย.” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, vol. 2, no. 33, Dec. 2013, pp. 329–364. E-Journal หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

3) Createch Report, Creative Industries Council (2017)

4) Createch Report, Creative Industries Council (2017)

5) Sapsed, J. Nightingale, P. The Brighton Fuse Report (2016)

6) Markusen, A. Gadwa, A. Creative Placemaking (2010)

7) Why Invest in Employee Wellbeing? (What Works Wellbeing, 2017)

8) คำจำกัดความและการแทรกแซงต่าง ๆ ที่สังเกตได้ระหว่าง Porters (1990), Pinch et al (2001) and Florida (2012)

9) Focus on the Creative Industries in Bristol and Bath (CIC)www.thecreativeindustries.co.uk/uk-creative-overview/facts-andfigures/focus-on-bristol-and-bath

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า