นโยบายป้องกันการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


ภาพยนตร์ซีรีส์ของเกาหลีใต้เรื่อง The Glory และข่าวการยกพวกตีกันของนักเรียนมัธยมต้น ได้ทำให้ประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ถูกนำกลับมาพูดคุยในสังคมไทยกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: korseries.com และ ch7.com


ปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในประเทศไทยเรา ผลการสำรวจ Global School-based Student Health Survey 2021 ขององค์การอนามัยโลก พบว่า หนึ่งในสี่ (หรือ 25%) ของเด็กไทยอายุ 13-17 ปี มีประสบการณ์การถูกกระทำจากการใช้กำลังทางกายในรอบหนึ่งปี และหากเป็นเด็กผู้ชายอัตราดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35% 

ความสำคัญของปัญหาการใช้ความรุนแรงไม่ได้ส่งผลเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่การศึกษาจำนวนมากพบว่า การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนจะสร้างบาดแผลระยะยาว ทั้งทางร่ายกาย และโดยเฉพาะทางจิตใจของเหยื่อที่ถูกกระทำ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิต สุขภาพจิต และสุขภาพกายของผู้ถูกกระทำในระยะยาว (เช่นเดียวกับผลที่เกิดขึ้นกับนางเอกใน The Glory)


ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันและการแก้ไขปัญหานี้ แต่จากประสบการณ์ในหลายประเทศพบว่า การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนก็ไม่สามารถแก้ไขโดยมาตรการใดมาตรการหนึ่งเพียงมาตรการเดียว และไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น

Think Forward Center รวบรวมแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนจากบางประเทศ (เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก) พบว่า นโยบายที่ควรนำมาปรับใช้กับประเทศไทยประกอบด้วย

1. การเตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงปฐมวัย การศึกษาในหลายประเทศพบว่า ประสบการณ์ในช่วงปฐมวัยของเด็กจะมีผลต่อการใช้ความรุนแรงหรือเคยชินกับการใช้ความรุนแรงเมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัว ในชุมชน และคุณภาพของการดูแลเด็กปฐมวัย (รวมถึงศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล)

เพราะฉะนั้น แนวนโยบายที่ควรจะเป็นคือ (ก) การสนับสนุนสวัสดิการในการเข้าถึงการดูแลในช่วงปฐมวัยที่มีคุณภาพ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาท/เดือน การสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนจนถึงช่วงโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา (ข) การรณรงค์แนวทางการเลี้ยงดูเด็กแบบที่ไม่ใช้การทำโทษที่รุนแรง (ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ) และ (ค) การบังคับใช้กฎหมายที่ป้องกัน/แก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (เช่น พรบ. คุ้มครองเด็ก) อย่างจริงจังและมีประสิทธิผล

2. ลักษณะวัฒนธรรมอำนาจนิยม และการตอกย้ำถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ในโรงเรียน เป็นบ่อเกิดสำคัญให้นักเรียนมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น 

เพราะฉะนั้น โรงเรียน/สถานศึกษาจะต้องลดการใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน เช่น การสื่อสาร การใช้ภาษา และการลงโทษของครู การให้รุ่นพี่มีอำนาจสั่งการ หรือแม้กระทั่ง การใช้วัฒนธรรมอำนาจระหว่างผู้บริหารสถานศึกษากับคุณครู ซึ่งจะมีผลให้คุณครูไปใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมกับนักเรียนอีกทอดหนึ่ง และโรงเรียน/สถานศึกษาจะต้องเสริมหลักสิทธิของการอยู่ร่วมกัน และการเคารพในสิทธิของกันและกัน และเข้าใจหลักและทักษะการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายแบบพหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะในเชิงเชื้อชาติ เชิงศาสนา เชิงเพศสภาพ และเชิงอัตลักษณ์อื่นๆ


3. การให้ความสำคัญกับรูปแบบการศึกษา/เรียนรู้ที่เน้นทักษะทางสังคม และทักษะทางอารมณ์ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทางร่างกาย และการพัฒนาทางวิชาการเป็นสิ่งที่ช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียนลงได้มากในทุกระดับชั้น แต่ในประเทศไทย รูปแบบการศึกษายังเน้นการแข่งขันทางวิชาการ และการยกย่องนักเรียนผู้ที่มีผลงานทางวิชาการและกีฬา ทำให้นักเรียนจำนวนมากขาดการพัฒนาทักษะทางสังคม และทางอารมณ์ รวมถึงยังผลักดันให้เกิดพฤติกรรมแปลกแยกจากสังคม หรือพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนต่อมา 

เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษา และโรงเรียนจึงควรให้ความสำคัญ ให้เวลา และจัดสรรและลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร (ครู และนักจิตวิทยา) เพื่อการพัฒนาทักษะทางสังคมและทักษะทางอารมณ์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ รวมถึง กิจกรรมของนักเรียนที่มีลักษณะการดูแลและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (รวมถึงระหว่างนักเรียนรุ่นพี่และรุ่นน้อง) แทนการสั่งการหรือการตัดสินใจแทนกัน ก็จะช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และลดความรุนแรงในโรงเรียนลงได้


4. สภาพแวดล้อมและกิจกรรมในโรงเรียนก็มีผลโดยทางอ้อม (แต่มีนัยสำคัญ) ต่อการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่หนาแน่นมาก หรือมีจุดอับสายตาหรือพื้นที่ทรุดโทรม หรือขาดกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดในโรงเรียน จะมีผลต่อการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากขึ้น 

เพราะฉะนั้น จึงควรสนับสนุนให้โรงเรียนปรับสภาพแวดล้อมให้มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ปราศจากพื้นที่อับสายตาหรือทรุดโทรม โดยอาจประยุกต์แนวคิด CPTED (หรือ Crime Prevention through Environmental Designs) มาใช้ และมีคณะกรรมการความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินและให้คำแนะนำในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ (อย่างน้อยทุกภาคการศึกษา) และควรพัฒนากิจกรรมสันทนาการหลากหลายรูปแบบตามความสนใจที่แตกต่างกันของผู้เรียน


5. การจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน (หรือ case management) เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ในการยับยั้งหรือเสริมหนุนการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนในทางอ้อม การจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงที่ล่าช้า และไม่เป็นธรรม (เช่น เกรงใจผู้ปกครองของผู้กระทำ เช่นในซีรีส์ The Glory) จะส่งผลให้ผู้กระทำความรุนแรงยังคงกระทำความรุนแรงต่อไป และส่งต่อการใช้ความรุนแรงไปสู่ผู้อื่น (รวมถึงเหยื่อที่ถูกกระทำในบางกรณี) แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติ การจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงแต่ละกรณีจะมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังแตกต่างกันไป 

เพราะฉะนั้น แนวทางและแนวปฏิบัติในการจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนต้องมีความชัดเจนว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายในโรงเรียนจะต้องเข้าใจบทบาท/แนวปฏิบัติของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อให้เข้าระงับเหตุและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทันท่วงที ในกรณีนี้ ทางประเทศเกาหลีใต้ได้จัดทำคู่มือขึ้นมาเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียน คุณครู และผู้ปกครองได้ปฏิบัติ (มีลิงก์ในเอกสารอ้างอิง) เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้น รวมถึงการมีศูนย์ประสานงานและให้คำปรึกษาสำหรับโรงเรียนด้วย (รวมถึง การเข้ามาช่วยเหลือในกรณีที่มีความรุนแรงและความซับซ้อนในการจัดการปัญหา) 


6. การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในขั้นตอนนี้ จะมิใช่การป้องกันการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน แต่ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการยับยั้งผลกระทบทางลบจากการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน มิให้ลุกลามบานปลาย (เช่น การหลุดออกจากระบบการศึกษา การแปลกแยกจากสังคม การซึมเศร้า และ/หรือการฆ่าตัวตาย) 

เพราะฉะนั้น โรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (เช่น พ่อแม่ แพทย์ รพ.สต. นักจิตวิทยา และอื่นๆ) จะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยาและการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะบาดแผลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะทางจิตใจ อาจดำรงอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้ การพัฒนาประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับ แนวทาง/แนวปฏิบัติที่มีประสิทธิผลในการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ถูกกระทำก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน

สรุปแนวทาง/นโยบายการป้องกันการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน

  1. การสนับสนุนสวัสดิการในการเข้าถึงการดูแลในช่วงปฐมวัยที่มีคุณภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู และการไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว/ชุมชน 
  2. การลดการใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน และการส่งเสริมหลักสิทธิของการอยู่ร่วมกัน และการเคารพในสิทธิของกันและกัน และทักษะของการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม
  3. การให้ความสำคัญกับรูปแบบการศึกษา/เรียนรู้ที่เน้นทักษะทางสังคม และทักษะทางอารมณ์ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทางร่างกาย และทางวิชาการ
  4. การสนับสนุนให้โรงเรียนปรับสภาพแวดล้อมให้มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ปราศจากพื้นที่อับสายตาหรือทรุดโทรม และมีกิจกรรมสันทนาการหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการของนักเรียน
  5. การจัดทำแนวทางและแนวปฏิบัติในการจัดการกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน (หรือ case management) ให้ชัดเจน และทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ทันท่วงที เป็นธรรม และสามารถระงับเหตุได้ (รวมถึงเหตุที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต)
  6. การใส่ใจในการเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าบาดแผลในจิตใจจะคลี่คลาย และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข




เอกสารอ้างอิง

ความรุนแรงในโรงเรียน การป้องกันและการแก้ไข (ฉบับผู้ปกครอง) ศูนย์การศึกษาหลากวัฒนธรรมแห่งชาติ ประเทศเกาหลีใต้ https://www.gne.go.kr/upload_data/board_data/BBS_0000300/160522737623397.pdf 

Preventing Adverse Childhood Experiences (ACEs): Leveraging the Best Available Evidence, National Center of Injury Prevention and Control, CDC, USA.
https://www.cdc.gov/violenceprevention/pdf/preventingACEs.pdf 

Global School-based Student Health Survey 2021 (NCD surveillance activity for Thailand), World Health Organization.
https://www.who.int/teams/noncommunicable-diseases/surveillance/data/thailand 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า